เรื่องเล่า ของเด็กดริ้งค์
ในโลกของคนกลางคืนไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ‘สุรา นารี ดนตรี’ ล้วนเป็นสามเรื่องที่ตัดกันไม่ขาด ‘สุรากับดนตรี’ ในที่เที่ยวก็ล้วนปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามความนิยมของยุคสมัย ในด้านของ ‘นารี’ เองก็เช่นกัน การปรากฏกายขึ้นของบรรดาเหล่าผีเสื้อราตรีสาวในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างหลากหลายกันไปจากยุคของ พาร์ตเนอร์ หลังสงครามเวียดนาม มาสู่ยุคโฮสเตส เอสคอร์ด ของบาร์ญี่ปุ่น และพัฒนามาเป็น ไคโยตีและเด็กดริงก์ในปัจจุบัน
เมื่อมีกระแสข่าวแว่วออกมาว่า จะห้ามไม่ให้สถานบันเทิงมีบริการ ‘นั่งดริงก์’ ก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในวงกว้าง ถึงแม้ว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จะออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการแล้วว่า สถานบริการยังคงมีสาวนั่งดริงก์ได้ แต่ต้องไปขอใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 3(4) ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ให้เรียบร้อย
ทุกสิ่งล้วนมีประวัติศาสตร์ กว่าจะมาเป็นเด็กดริงก์ในวันนี้ วงการผีเสื้อราตรีได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาตลอดเวลา และที่สำคัญ พวกเธอไม่เคยห่างหายไปจากโลกกลางคืนของบ้านเราเลย
กว่าจะมาเป็นเด็กดริงก์
“การเกิดมาของเด็กนั่งดริงก์นี่ มันต้องมองย้อนหลังไปในยุคของไนต์คลับกับพาร์ตเนอร์ ที่เป็นกากเดนหลงเหลือมาจากสงครามเวียดนาม ร้านโลลิต้า กาแลคซี่ ฯลฯ คือต้นแบบ ซึ่งที่เหล่านี้ จะมีดนตรี มีการเต้นรำแบบบอลรูม มีการติดเบอร์พาร์ตเนอร์ ซึ่งพาร์ตเนอร์นั้นต้องเป็นคู่เต้นรำให้เรา ต้องเต้นเป็นทุกจังหวะ และเมื่อเต้นเสร็จแล้ว เขาจะไปนั่งที่อื่นก็ได้ ไม่เหมือนกับการซื้อดริงก์สมัยนี้ที่เขาต้องนั่งกับเราตลอด”
‘เดอะ จ่า’ สมศักดิ์ อ่อนศรี ซีอีโอแห่งโลกกลางคืน ผู้มีประสบการณ์ยาวนานบนถนนเส้นนี้มากว่า 27 ปี ย้อนรอยเล่าถึงความเป็นมาของเด็กนั่งดริงก์ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนกลางคืนเมืองไทยในขณะนี้
“อีกภาพหนึ่งนั้นปรากฏอยู่ที่บาร์ญี่ปุ่น ที่นั่นมี ‘โฮสเตส’ ซึ่งเป็นเพื่อนดื่มที่มากไปด้วยคุณภาพ คุกเข่าเสิร์ฟ ใส่ถุงน่อง แต่งตัวมิดชิด เพราะโดยธรรมเนียมแล้ว ต้องมีความประณีตและความสุภาพ มันเป็นกระแสใหม่ที่กลายมาเป็นกระแสหลัก เพราะช่วงนั้น มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากมาลงทุนทำธุรกิจในไทย ฉะนั้นถ้ามีการติดต่อธุรกิจกับคนญี่ปุ่นก็ต้องไปบาร์ญี่ปุ่น ร้านที่เป็นที่รู้จักกันดีก็เช่น ร้านไออิ, โคปา คาบานา, มโนราห์, ฮอกกะเดโร
“นอกจากโฮสเตสแล้ว บาร์ญี่ปุ่นยังมีคนอีกพวกหนึ่งคือ ‘เอสคอร์ด’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ โฮสเตส แต่เอสคอร์ดนั้นสามารถพาออกไปเที่ยวต่างจังหวัดได้ ต้องจองเวลาเป็นรายวัน รายอาทิตย์ ซึ่งคนที่มาทำงานจะเป็นคนที่มีอาชีพการงานตอนกลางวันอยู่แล้ว ตกกลางคืนก็มาทำเป็นงานเสริม ซึ่งในบาร์ญี่ปุ่นแท้ๆ สมัยก่อนจะไม่มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้อง”
หลังจากการเฟื่องฟูของบาร์ญี่ปุ่นไม่นาน กลุ่มบาร์คนไทยก็เปิดตัวขึ้น รองรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นคนไทยด้วยกัน ซึ่งหลังจากเจรจาธุรกิจบนโต๊ะอาหารแล้ว ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติว่าต้องไปดื่มกันต่อ แมนดารินา ค็อกเทลเลานจ์, แอน แอน ค็อกเทลเลานจ์ จึงถือกำเนิดขึ้น ตอนนั้นเริ่มมีเด็กนั่งดริงก์เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งเป็นการรวมเอาลักษณะของพาร์ทเนอร์และโฮสเตสเข้าด้วยกัน และถึงแม้ว่าจะไม่มีการขายบริการอย่างโจ่งแจ้งอย่างอาบอบนวด แต่ก็ต้องยอมรับว่ามี
“ในช่วงนั้น โอสเตส เอสคอร์ดแท้ๆ เริ่มหายไป เพราะควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ ทำให้คุณภาพเหมือนเมื่อก่อน ความสุภาพในการเที่ยวหายไป และตลาดมันก็เปลี่ยน สมัยนั้นเริ่มมีดิสโก้เธคเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นจุดพลิกผันของวงการกลางคืนเลยนะ ‘เดอะ พาเลซ’ เข้ามาในตลาด บาร์และไนต์คลับก็ต้องปรับตัวกลายเป็นค็อกเทลเลานจ์ ‘โฮสเตส’ ‘พาร์ตเนอร์’ ‘เอสคอร์ด’ ก็กลายมาเป็นเด็กนั่งดริงก์ในค็อกเทลเลานจ์
“ยุคนั้น ผมเข้ามาในวงการแล้ว ผมเริ่มทำโดยเอารูปแบบของสถานที่เที่ยวไฟสลัวมาแอปพลาย ดิสโก้เธคนั้น หนุ่มๆ สาวๆ จะพากันไปเที่ยว แต่ค็อกเทลเลานจ์นั้น มีสาวๆ รอไว้ให้บริการ ยอมรับว่าเมื่อก่อน อาจจะมีการขายบริการอยู่ด้วย”
และที่ค็อกเทลเลานจ์นี่เอง ที่มีการพัฒนาระบบดริงก์ขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากระบบคิดเงินเป็นชั่วโมงของบาร์ญี่ปุ่นและพาร์ตเนอร์ โดยแต่ละดริงก์ที่แขกซื้อนั้นก็คือจำนวนเวลาที่เด็กดริงก์นั่งคุยและอยู่ให้บริการที่โต๊ะนั่นเอง ซึ่งกลุ่มลูกค้าในยุคแรกนั้นจะเป็นนักธุรกิจล้วนๆ เพราะลักษณะของวงการกลางคืนในช่วงนั้นจะมีการแบ่งแยกชัดเจน วัยรุ่นจะไปอยู่ที่ดิสโก้เธคอย่าง เดอะ พาเลซ, นาซ่า สเปซซี่โดม, อาฟเตอร์ ดาร์ก, โคล่า ฯลฯ ส่วนลูกค้านักธุรกิจกระเป๋าหนักจะมาสังสรรค์กันที่ค็อกเทลเลานจ์ พร้อมๆ กับซื้อดริงก์จากบรรดาเด็กดริงก์สาวสวย
“ก่อนปี 2539 นั้นการเงินโฟล์มาก เพราะนักธุรกิจต่างๆ ล้วนเข้ามาใช้ตรงนี้เป็นที่คุยงานกัน แรกๆ พนักงานนั่งดริงก์ ก็แต่งตัวกันเรียบร้อย แต่ต่อมาเริ่มมีพนักงานใส่ซีทรูมาทำงานบ้าง โนบรามาบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นกลยุทธ์ในการทำธุรกิจมากกว่า
“แต่ในปี 2540 ที่เป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ค็อกเทลเลานจ์ล้มกันระเนระนาด เหลือรอดมาเพียงแค่ 30 เปอร์เซนต์เท่านั้น แต่ตอนนั้นผมไม่ได้รับผลกระทบ คนอื่นเขาปิดร้านกัน แต่ผมเปิดร้านใหม่ มีการคิดค้นระบบเมมเบอร์ขึ้นมาใช้เป็นเจ้าแรกของไทย ซึ่งจริงๆ แล้วผู้จัดการของผมเป็นคนคิด และผมก็พัฒนาต่อ นั่นเพราะเราไม่ต้องการให้พนักงานของเราอยู่ในภาวะเสี่ยงเกินไป ระบบเมมเบอร์มันทำให้รู้ที่มาที่ไปของลูกค้า”
มาถึงวันนี้ ‘เดอะ จ่า’ ก็ยังมองว่าวงการกลางคืนนั้น ไม่ต่างอะไรกับ 20 ปีที่แล้ว ในแง่ของเนื้อหา จะเปลี่ยนไปบ้างก็ในรายละเอียดของรูปแบบเท่านั้น
“วิถีของวงการไม่ได้แตกต่างจากเดิมในแง่เนื้อหาเท่าไหร่ มีแต่รูปแบบที่แตกต่างไป คนดื่มก็เหมือนเดิม คนเมาก็ยังเหมือนเดิม มีดนตรีเหมือนเดิม กลุ่มลูกค้าก็ยังเป็นระดับกลางถึงสูง ส่วนมากยังเป็นการดื่มเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ แต่สมัยนี้อาจจะดื่มกันหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน
“ส่วนเด็กที่มาทำงานเป็นพนักงานดริงก์นั้น โดยรวมมีการศึกษาสูงขึ้น ใฝ่การเรียนมากขึ้น สนใจเรื่องคุณภาพชีวิตของตนมากขึ้น การเข้ามาทำอาชีพนี้นั้น สังคมมักมองว่าเป็นเรื่องที่มีแต่ข้อไม่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่ง เด็กๆ เหล่านี้ ได้เรียนรู้และรับแรงเสียดทานทางสังคมมาตลอด นั่นทำให้เขามีภูมิค่อนข้างเยอะ เขารู้ดีว่าวิถีชีวิตที่เขาทำอยู่มันทำให้เขาปลดเปลื้องภาระทางสังคมได้ เขามีเงินไปเรียนหนังสือจนจบ มีเงินให้ที่บ้าน เขามีวิถีทางของเขา หลังจากนี้ไป เขาก็จะไปมีครอบครัว เอาสตางค์ที่เก็บไว้เป็นทุนรอน ไปประกอบอาชีพ
“และสิ่งสำคัญที่ได้จากการทำงานอย่างนี้ก็คือ ประสบการณ์ หลังจากนี้เขาจะไปทำอะไรก็ได้ เพราะมีความหนักแน่นมากพอที่จะดำเนินชีวิตต่อ เขาเรียนรู้ที่จะพัฒนาทัศนะคติ บุคลิก วิธีคิดแก้ปัญหา ใจเย็นและอดทน”
เปลือยอก ‘สาวนั่งดริงก์’
เบลล์ (นามสมมติ) วัย 25 ปี สาวดริงก์ในผับญี่ปุ่น ย่านถนนสุขุมวิท ที่ผ่านมาเธอทำอาชีพนี้มาได้ 2-3 ปีแล้ว ส่วนรายได้ต่อเดือนก็ถือว่าเยอะพอควร คืออยู่ที่ประมาณ 30,000-40,000 บาท
“โดยส่วนตัวแล้ว เบลล์คิดว่าเป็นงานที่ทำได้ไม่ยากอะไร รายได้ก็เยอะด้วย แถมยังเป็นอาชีพสุจริต เพราะงานของเราก็แค่คุย ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง ไม่มีการขายบริการ หรือทำอะไรกับแขก”สำหรับเรื่องที่รัฐบาลจะออกนโยบายห้ามมิให้มีบริการนั่งดริงก์ เบลล์กล่าวว่า ตอนที่ได้ยินข่าวครั้งแรก ก็รู้สึกไม่พอใจมากๆ เพราะที่ผ่านมาคิดว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด
“สิ่งที่เบลล์ทำก็แค่นั่งคุยกับลูกค้าเฉยๆ ไม่ได้ไปขายตัวสักหน่อย แถมนั่งอยู่ในร้านด้วย ถ้าออกไปนั่งหน้าร้าน แบบร้านคาราโอเกะที่ชอบเอาผู้หญิงมาแต่งตัวโป๊ๆ ใส่แค่ยกทรง กางเกงในมานั่งหน้าร้านเรียกแขก ถ้าแบบนั้น โอเคเลย เห็นด้วย เพราะมันไม่เหมาะสม มันน่าเกลียดจริงๆ แต่ของเบลล์ไม่ใช่อย่างนั้นสักหน่อย เพราะฉะนั้นก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอามาเหมารวมกัน เพราะสิ่งที่เราทำมันคนละเกรด คนละชั้นกับร้านพวกนั้นเลย”
การทำงานเป็นพนักงานนั่งดริงก์นั้น ยากที่จะหลีกเลี่ยงคนเมา อย่างที่กล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า พนักงานนั่งดริงก์ไม่ใช่คนที่มุ่งหวังจะขายบริการทางเพศ ดังนั้นพวกเธอจึงต้องมีวิธีดูแลและป้องกันตัวเองจากบรรดาลูกค้า
“ก็มีบ้างเหมือนกัน ที่มีลูกค้าหื่นเข้ามาใช้บริการ แต่เราอยู่ที่ร้านก็ทำอะไรไม่ได้มากต้องตามใจลูกค้า ที่เคยโดนเต็มที่ก็แค่พยายามจะจับหน้าอกเรา แต่เลยเถิดไปถึงขนาดล้วงควัก ยังไม่เคยมี”
ออย (นามสมมติ) พนักงานนั่งดริงก์ในสถานบันเทิงชั้นสูงแห่งหนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ในการทำงานกับคนเมา แต่ทั้งหมดทั้งมวล อาจจะเป็นเพราะเธอโชคดีที่เข้ามาทำงานในสถานที่เที่ยวที่ค่อนข้างมีระดับ ดังนั้น แขกที่เข้ามาก็ย่อมเป็นคนที่พูดรู้เรื่องกว่าที่อื่นๆ
“คนที่มาเที่ยวทีร้านทำงานระดับสูงกันทั้งนั้น ระดับกลางๆ จะน้อย เขาจะมีมาดของเขา อย่างมากก็ขอกอดหน่อย ประมาณนี้ แต่ก็มีบ้างนะที่พอเมาแล้วเราเอาไม่อยู่ เคยมีครั้งหนึ่ง แขกดึงเสื้อในออยจนขาดเลย เราก็ปัดมือเขาออกทันที เขาก็โมโหสต็อปดื่มเรา (หยุดซื้อดริงก์) แต่เราก็ไม่สนใจนะ เพราะถ้าเขาเมาขนาดนั้นแล้วจะให้นั่งอยู่ด้วยก็คงไม่ไหว
“การทำงานแบบนี้ ข้อสำคัญเลย คือเราอย่าใจอ่อนกับลูกค้า คนที่มาเที่ยว หายากที่จะมาจริงใจกับเรา ถ้าเราพลาดไปทีเดียวก็จะลำบากเลย มันจะทำให้เรารู้สึกแย่ มีเพื่อนบางคนไปชอบลูกค้า แล้วไปมีอะไรกัน เมื่อเขาได้แล้ว พอมาเที่ยวอีกที เขาก็เปลี่ยนคนนั่ง มันก็เสียความรู้สึก เกิดอาการหึงหวงลูกค้าขึ้นมา”
วงจรชีวิตเด็กดริงก์
มาลี (นามสมมติ) ผู้ดูแลสาวพนักงานนั่งดริงก์ของผับย่านทองหล่อ เล่าถึงชีวิตของเด็กดริงก์ว่า จริงๆ แล้วผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากมาทำอาชีพนี้ คนที่มาทำส่วนมากจะเป็นพวกมีปัญหาชีวิต ทะเลาะกับที่บ้าน หรือไม่ก็ไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีอาชีพเสริม ซึ่งอาชีพสาวนั่งดริ๊งค์นั้น ถือเป็นทางเลือกที่ดูไม่น่าเกลียดนัก และไม่เปลืองตัว เพราะสิ่งที่ทำก็คือการนั่งกินเหล้ากับแขก ไม่มีการให้บริการทางเพศ สำหรับอายุของคนที่ทำงานแบบนี้ มาลีบอกว่า ส่วนใหญ่จะเริ่มกันตั้งแต่อายุน้อยๆ ตั้งแต่ 18-19 และส่วนใหญ่ก็เลิกทำตอนอายุ 30 ปี เพราะหากยังทำต่อไป สุขภาพก็จะทรุดโทรม เพราะเด็กพวกนี้ต้องดื่มเหล้ากับแขกทุกวันตลอด 10 ปี
“ถ้าพูดกันจริงๆ เด็กที่ทำงานแบบนี้ก็มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ถ้าเป็นเด็กไม่ดีเอาเงินไปเที่ยวก็มีอยู่บ้าง แต่ถ้าเป็นเด็กดีที่เขาต้องเอาเงินส่งให้พ่อแม่ หรือส่งเสียตัวเรียนหนังสือ ถ้าเลิกไป เขาจะเอาอะไรกิน เพราะถ้าพูดกันตรงๆ บอกไว้เลยว่างานปกติเวลากลางวัน ไม่มีที่ไหนให้เงินเด็กได้มากเท่านี้แน่นอน”
หลายคนอาจจะมีทัศนะคติที่ไม่ดีนักต่องานกลางคืนอย่างงานนั่งดริงก์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพนี้ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่คนทำอย่างมหาศาล จนทำให้ใครหลายคนอิจฉา
“เงินที่ได้จากการทำงานต่อเดือนของออย ก็เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 บาท แต่ที่เคยรู้มา ในสมัยก่อนที่เศรษฐกิจยังดีอยู่ ได้กันถึงเดือนละ 300,000 ก็มี บางทีแขกประจำเราไปเมืองนอกกลับมาก็ซื้อข้าวซื้อของมาฝากบ้าง”
ออย เล่าถึงตัวเลขรายได้ที่มาจากการทำงาน ซึ่งตัวเลขที่ออกมาจากปากของออยว่าน่าตกใจแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับเรื่องราวจากประสบการณ์ 27 ปีในโลกกลางคืนของ เดอะ จ่า
“เด็กของผมบางคนได้ ทิปเป็นรถบีเอ็มทั้งคันเลยก็มี บางคนก็ได้ สี่ห้าหมื่นในหนึ่งคืน มันขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้าเอง คือคนที่เขามาเที่ยว เขามีเงินเป็นพันล้าน การที่เขาจะเอาเงินแค่หลักหมื่นมาให้คนที่เขาคุยด้วยแล้วสบายใจมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา
“ผมเคยไปที่ซิดนีย์ เจอเด็กที่เคยทำงานกับผมอยู่ที่นั่น เขามีชีวิตครอบครัวที่น่ารัก มีบ้านใหญ่โตโอ่โถง เขาชวนผมไปกินข้าวที่บ้านเขาด้วยซ้ำ”
ผีเสื้อราตรีในสายตาของคนกลางวัน
สุวิมล จินะมูล พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพนักงานนั่งดริงก์ว่า คนที่ทำงานด้านนี้ ก็ถือเป็นอาชีพที่สุจริต แล้วคนที่ทำส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กนักศึกษาที่ต้องการหารายได้เพิ่มเติม และการที่มีพนักงานนั่งดริงก์ในสถานบันเทิงนั้น ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผู้ชายที่ทำงานหนักๆ มักจะมีความเครียด แล้วก็ต้องการความผ่อนคลาย แต่ถ้าหากมองในมุมของสังคม ก็ต้องยอมรับว่า พนักงานนั่งดริงก์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมีปัญหา อย่างเรื่องของการแต่งตัว ที่เกินคำว่าโป๊ไปไกล
“ถ้าเกิดห้ามไม่ให้มีพนักงานดริงก์ในสถานบันเทิงจริง คิดว่าพวกเธอก็คงจะไปทำอาชีพที่ใกล้เคียงกันนี่แหละ บางคนที่เรียนอยู่ มีคนรู้จักเยอะก็จะหันไปเป็นพริตตี้ แต่ถ้าบางคนไม่ได้เรียน ไม่มีทางเลือกก็อาจจะไปขายบริการทางเพศ แต่เราจะไปประณามเขาก็ไม่ถูก มันเป็นทางเลือกของใครของมัน ผู้หญิงเราทุกคนมีศักดิ์ศรี แต่ถ้าพวกเธอเลือกแล้วก็เป็นสิทธิ์ของเธอ
“ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจเก็บสาวนั่งดริงก์ที่แต่งตัวไม่เหมาะสม ไปไว้ในร้าน แล้วเอาพนักงานที่แต่งตัวที่ดูพอดี อาจจะเป็นเครื่องแบบที่ร้านมีหรืออะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่เสื้อชั้นในกับกางเกงใน ดูแล้วไม่อุจจาดตามานั่งน่าร้านก็คงจะรับได้ อยากให้พบกันคนละครึ่งทาง จะได้ไม่มีปัญหา อย่างที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เคยบอกว่า ถ้าเราขายข้าวมันไก่ ก็ต้องเอาไก่ตัวอวบๆ ขาวๆ ออกมาโชว์ คนซื้อจะได้อยากกิน ก็เหมือนกับผู้ที่ประกอบธุรกิจก็ต้องเอาของดีๆ น่ามอง ออกมาเรียกแขกเขาจะได้อยากเข้าร้าน คือมันเป็นทฤษฎีที่ใช้ได้นะ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องไม่ลืมว่า นิยามของคำว่า ‘น่ามอง’ ของแต่ละคนนั้น มีความแตกต่างกันไป บางทีความเป็นระเบียบเรียบร้อยงามตา อาจจะไม่ได้มีความ ‘น่ามอง’ ประกอบอยู่เลยก็ได้
อย่างน้อยๆ ก็ในสายตาของคนกลางคืนด้วยกัน ขอบคุณครับ
หน้า:
[1]