กระดูกใครคิดว่าไม่สำคัญ
โรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกพรุน เกาต์ รูมาตอยด์ข้อกระดูกเสื่อม หรือข้อกระดูกอักเสบ จะเกิดขึ้นตอนอายุมากจึงถูกมองว่าเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ แต่รู้หรือไม่ว่าเราสามารถชะลอความเสื่อมของกระดูก ซึ่งเป็น “โครงสร้าง” ของร่างกายได้ด้วยอาหารที่มีประโยชน์ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตามถ้าดูเผินๆ เราอาจจะเข้าใจว่า กระดูกไม่ต้องทำหน้าที่อะไรมากนัก ทั้งๆที่กระดูกมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง ได้แก่
- เป็นเกราะป้องกันอวัยวะภายใน
- ทำให้แขน ขา เคลื่อนไหวและพับได้
- ทำให้ลำตัวตั้งตรง
- เป็นที่เก็บสะสมแคลเซียมและแมกนีเซียม
- เป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือด และสเต็มเซลล์
โดยกระดูกจะมีการสร้างเนื้อกระดูกใหม่ตลอดเวลาและดึงแคลเซียมมาเก็บสะสมไว้ แต่พออายุ 35 ปีขึ้นไป
กระดูกจะหยุดเจริญเติบโต และเริ่มมีการสูญเสียมวลกระดูกซึ่งอาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้ โดยไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้นแต่อาจจะโผล่มาตอนกระดูกหักไปแล้ว กระดูกที่หักได้ง่ายจากโรคกระดูกพรุน คือกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ
กลุ่มเสี่ยงและปัจจัยเร่ง
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระดูกพรุน คือ สตรีวัยหมดประจำเดือนหรือมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งทำหน้าที่ช่วยรักษามวลกระดูกส่วนกระดูกพรุนในผู้ชายสูงอายุจะเกิดขึ้นตอนอายุประมาณ 75 ปีขึ้นไป
สำหรับปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกคือ
-เคยกระดูกหักในวัยผู้ใหญ่
- สูบบุหรี่
- มีน้ำหนักตัวน้อย หรือในทางตรงกันข้ามคือ อ้วน
- รับประทานยาบางตัวที่เร่งให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก เช่น สเตียรอยด์เฮปาริน เป็นต้น
- เป็นโรคลำไส้ โรคตับ หรือโรคไตวาย
- ดื่มสุราหนัก
- บริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ
- ไม่ออกกำลังกายใดๆ
- ออกกำลังกายหนักหรือหักโหมเกินไป เช่น ผู้ที่วิ่งมาราธอนบ่อยๆหรือนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมหนัก ซึ่งจะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง
- ผู้ที่อดอาหารเพื่อลดน้ำหนักบ่อยๆ หรือเป็นโรคอะนอเร็กเซีย บูลิเมียซึ่งทำให้ขาดสารอาหาร และทำให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงด้วย
อาหารที่เป็นมิตรกับกระดูก
สำหรับอาหารที่จะช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกได้แก่
- อาหารที่มีแคลเซียมสูง อาทิ นมพร่องไขมัน โยเกิร์ตรสธรรมชาตินมถั่วเหลืองชนิดเสริมแคลเซียม เนยแข็งหรือชีส ปลาเล็กปลาน้อย ปลาซาร์ดีน งาดำผักใบเขียว
- อาหารที่มีวิตามินดีสูง อาทิ ปลา ไข่แดง เห็ด
- อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง อย่างผักใบเขียว ถั่วธัญพืชต่างๆ
- เต้าหู้ ถั่วเหลือง ที่มีทั้งโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งจะทำงานร่วมกันและลดการสลายของกระดูก
อาหารที่ไม่เป็นมิตรกับกระดูก
สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นตัวเร่งการสูญเสียแคลเซียมได้แก่
- น้ำอัดลมสีดำ
- อาหารเค็มจัด
- การกินเนื้อสัตว์ในปริมาณมากโดยเฉพาะผู้ที่ใช้วิธีลดน้ำหนักโดยเน้นกินโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ
- เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน โดยเฉพาะกาแฟ
การลดการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้นอกจากจะช่วยรักษามวลกระดูกแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพด้านอื่นๆ ดีขึ้นด้วย
การดูแลข้อต่อ
ข้อต่อ คือ ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่สามารถพับได้ทั้งหัวเข่า ข้อศอก นิ้ว หัวไหล่ สะโพก โดยบริเวณข้อต่อจะมีกระดูกชิ้นเล็กๆเส้นเอ็นและน้ำหล่อเลี้ยงในบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกใหญ่ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น น้ำหล่อเลี้ยงจะลดน้อยลงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อต่อเกิดการติดขัดไม่ราบรื่นเหมือนเช่นเคยบางรายอาจจะรู้สึกเจ็บเหมือนกระดูก 2 ชิ้นมาชนกันซึ่งหากทิ้งเอาไว้จะทำให้เกิดการอักเสบได้โดยข้อต่อที่ถูกใช้งานและเป็นที่ที่เกิดการบาดเจ็บมากที่สุดคือหัวเข่าเพราะต้องแบกรับน้ำหนักร่างกายทั้งตัว ยิ่งถ้ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตอนสูงอายุหัวเข่าที่ถูกใช้งานมานานก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้นตามไปด้วยฉะนั้นจึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่พอดีหากมีน้ำหนักเกินก็ควรลดน้ำหนักลงมา เพื่อลดการเสื่อมของข้อเข่า
นอกจากนี้เรายังช่วยชะลอความเสื่อมของหัวเข่าและข้อต่ออื่นๆ ได้ด้วยอาหารเหล่านี้
- อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 อย่างเช่นปลาทะเล ถั่ววอลนัท น้ำมันถั่วเหลือง สาหร่ายทะเล เมล็ดแฟล็กซ์ อะโวคาโดและน้ำมันที่ให้กรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ อย่างน้ำมันมะกอกซึ่งอาหารที่มีไขมันสูงเหล่านี้จะทำหน้าที่เหมือนน้ำมันหล่อลื่นของข้อต่อโดยกรดไขมันโอเมก้า 3 ยังทำหน้าที่ลดการอักเสบภายในร่างกายได้ด้วยจึงขอแนะนำให้บริโภคปลาที่ไม่ทอดสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งแต่ถ้าไม่ชอบรับประทานปลา ควรเสริมด้วยน้ำมันปลา ประมาณ 2000 มิลลิกรัมต่อวัน
- อาหารที่มีวิตามินซีสูงซึ่งอยู่ในผักและผลไม้สดหลายชนิดอย่างเช่นฝรั่ง เพราะวิตามินซีมีส่วนช่วยในกระบวนการซ่อมแซมเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงยังมีงานวิจัยใหม่ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าวิตามินซีมีส่วนช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและการเสื่อมของกระดูกข้อต่อต่างๆที่มีสาเหตุจากอายุที่มากขึ้นได้ด้วย จึงขอแนะนำให้รับวิตามินซีวันละประมาณ 1000 มิลลิกรัม ทั้งจากอาหารและอาหารเสริมซึ่งมีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรเสริมวิตามินซีมากกว่าวันละ 2000 มิลลิกรัม เพราะอาจจะทำให้เกิดนิ่วนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบางชิ้นที่บ่งชี้ว่าเมื่องดการกินผักบางชนิดอาจจะช่วยลดอาการปวดข้อลงได้ ซึ่งผักเหล่านี้ ได้แก่มันฝรั่ง พริกทุกชนิดทั้งหวานและเผ็ด มะเขือเทศ และมะเขือ
การดูแลโรคเกาต์
โรคเกาต์ เป็นโรคหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมากเกิดขึ้นจากมีกรดยูริคสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะบริเวณข้อต่อต่างๆงานวิจัยใหม่ๆ พบว่า วิธีการรักษาโรคเกาต์ที่ดีที่สุดคือการลดน้ำหนักโดยลดการบริโภคอาหารประเภทแป้งขัดขาวและน้ำตาลให้มากที่สุดเลือกรับประทานข้าวกล้องและธัญพืชต่างๆ แทนซึ่งจะช่วยได้มากกว่าการลดการบริโภคสัตว์ปีกอย่างที่เคยแนะนำกันในอดีต
สำหรับอาหารที่มีส่วนช่วยโรคเกาต์ ได้แก่
- นม และผลิตภัณฑ์นมพร่องมันเนย
- กรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งพบในปลาถั่ววอลนัท เมล็ดแฟล็กซ์
- กระเทียม
- เต้าหู้ เนื่องจากสารพิวรีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มกรดยูริคอันนำไปสู่โรคเกาต์จะถูกสลายไปในกระบวนการผลิตเต้าหู้
ส่วนอาหารที่เพิ่มกรดยูริคในร่างกาย ได้แก่
- เนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่ใช่แค่สัตว์ปีกเท่านั้น แต่รวมถึงเนื้อแดงด้วย
- อาหารทะเลยกเว้นปลา
- ยอดผัก เช่น กระถิน
- เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทั้งหลาย เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
เพียงแค่หมั่นดูแลร่างกายด้วยอาหารการกินที่เหมาะสมรักษาน้ำหนักตัวให้พอดี และออกกำลังกายอย่างพอเหมาะเป็นประจำกระดูกก็จะแข็งแรงและอยู่กับเราไปได้นาน ลงมือทำกันเสียวันนี้เลยนะคะ
ขอบคุณมากครับผม ขอบคุณครับ ขอบคุณครับ ขอบคุณครับ
มีประโยชน์มากคับ ขอบคุณครับ
หน้า:
[1]