candylady โพสต์ 2024-12-15 15:50:48

นักวิจัยส่ง “เซลล์จิ๋ว” ท่องจักรวาล ไขปริศนาชราภาพในอวกาศ

ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการทดลองจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ในประเทศอังกฤษ ส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อมนุษย์จิ๋ว ขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยหวังว่าจะสามารถไขปริศนาว่าทำไม “กระบวนการแก่ชรา” (ageing process) ถึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วบนอวกาศ


การทดลองนี้ ดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการนวัตกรรมอวกาศ (Space Innovation Lab - SIL) ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดย ดร. กาดา อัลซาเลห์ (Dr. Ghada Alsaleh) หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า กระบวนการทดลองจะทำให้พวกเขาสามารถศึกษาผลกระทบของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงและอวกาศ ที่มีต่อกระบวนการชราภาพได้ โดยการเปรียบเทียบและวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากเซลล์บนสถานีอวกาศนานาชาติและบนโลก
กระบวนการทดลองที่เกิดขึ้น เป็นไปแบบอัตโนมัติ และควบคุมทางไกลจากทีมวิจัยบนโลก โดยไม่ต้องให้นักบินอวกาศเข้ามาดูแล โดย ออร์แกนอยด์” (Organoids) หรือเซลล์แบบจำลอง 3 มิติ ที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง ที่ใช้ในกระบวนการศึกษานี้ จะถูกเก็บไ้ว้ในห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ในลูกบาศก์ ที่มีความยาวเพียงไม่กี่เซนติเมตร และติดตั้งเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติโดยตรง เพื่อส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ กลับไปที่อ็อกซ์ฟอร์ด
ทั้งนี้ทีมวิจัยกล่าวว่า ประสบการณ์การเดินทางในอวกาศของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เผยให้เห็นว่าสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร รวมถึงการทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อ่อนแอลงด้วย


ดังนั้นทีมวิจัยจึงหวังว่า ผลลัพธ์จากการศึกษาในครั้งนี้ จะต่อยอดไปสู่การไขปริศนากระบวนการแก่ชรา และให้ข้อมูลผลกระทบที่มีต่อร่างกายมนุษย์ได้มากขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาช่วยรักษาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับนักบินอวกาศ รวมถึงทำให้ร่างกายของพวกเขา ไม่แก่ชราเร็วจนเกินไป
นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ ยังอาจนำมาใช้ช่วยพัฒนาวิธีชะลอปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น โรคกระดูกพรุน และระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม และยังมีประโยชน์กับการส่งมนุษย์ไปทำภารกิจอวกาศที่ไกลออกไป เช่น การศึกษาดาวอังคาร ที่มนุษย์จำเป็นต้องใช้เวลาอยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงนานขึ้น
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: นักวิจัยส่ง “เซลล์จิ๋ว” ท่องจักรวาล ไขปริศนาชราภาพในอวกาศ