กังหันลมออกแบบโดย AI เพื่อการใช้งานที่ตรงจุด ผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ในประเทศอังกฤษ พัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมสุดล้ำ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยออกแบบรูปร่างให้เหมาะสมสำหรับใช้ติดตั้งในแต่ละพื้นที่ โดยระบุว่าด้วยวิธีการออกแบบนี้ทำให้ได้กังหันลมที่ให้อัตราการผลิตพลังงานสูงกว่ากังหันลมแบบดั้งเดิมถึง 7 เท่ากังหันลมนี้มีชื่อว่า “เบอร์มิงแฮม เบลด” (Birmingham Blade) เป็นผลงานของ อีโวเฟส (EvoPhase) ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปของมหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างต้นแบบด้วย AI เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาโดยได้ปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานตามสภาพภูมิศาสตร์เฉพาะจุด เพื่อให้กังหันลมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดแม้จะเจอกับแรงลมต่ำ
โดย ดร. คิต วินโดว์-ยูล (Dr. Kit Windows-Yule) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เผยว่าทุกรายละเอียดของรูปทรงของกังหันลมนี้ ไม่ว่าจะเป็นมุมการบิด ขอบ ความโค้งในทุก ๆ มุม ได้รับการปรับแต่งด้วย AI ทั้งสิ้น เพื่อให้เหมาะกับความเร็วลมและภูมิประเทศเฉพาะของเบอร์มิงแฮม
โดย AI ได้รับคำสั่งเพียงอย่างเดียวคือต้องออกแบบให้ใบพัด “ชี้ขึ้น” จากนั้นซอฟต์แวร์ก็เริ่มต้นการออกแบบ และพัฒนาต้นแบบของกังหันลมราว 2,000 ดิไซน์ โดยใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ในการสร้าง ทดสอบ และปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เร็วมากเมื่อเทียบกับกระบวนการสร้างโดยใช้แรงงานมนุษย์
สำหรับดิไซน์สุดท้ายของกังหันลม “เบอร์มิงแฮม เบลด” (Birmingham Blade) ประกอบด้วยใบพัดโค้งรูปตัว S ที่หมุนรอบจุดศูนย์กลาง เพื่อสร้างแรงลมแบบหมุนวน ช่วยให้กังหันสามารถทำงานได้ในสภาวะแรงลมต่ำเพียง 3.6 เมตรต่อวินาที ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของกังหันลมแบบดั้งเดิม
ปัจจุบันนี้บริษัทกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาดิไซน์ใหม่สำหรับสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) เมืองหลวงของประเทศสก็อตแลนด์ และจะนำ AI ไปใช้ในการออกแบบระบบและเครื่องจักร เพื่อขยายการใช้งานไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป
แท็งกิ้ว
หน้า:
[1]