รักยิ่งใหญ่ของ"ยาย"สู้ชีวิต ขายลูกชิ้นทอดเลี้ยงหลานลำพัง
"จะทนขายของไปเพื่อดูแลหลานไปอย่างนี้แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ยังไม่รู้เลยจะทำอย่างไร"คำพูดเรียบๆบนสีหน้านิ่งๆ คิ้วขมวดเล็กน้อยบอกถึงความวิตกในใจของหญิงวัยกลางคน ที่ต้องรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิตวัยเพิ่งพ้นสิบขวบมาไม่ถึง2ปี เพียงลำพังมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว
ย่านชานเมืองกรุงเทพฯ มหานครแห่งความศิวิไลค์รอยต่อสมุทรปราการ เมืองท่าแห่งอุตสาหกรรม ความเจริญถูกตัดผ่านด้วยสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถนนราดยางมะตอยอย่างดีแต่ทว่าความยากแค้นของคนหาเช้ากินค่ำ ก็ยังคงต้องดำเนินหาเลี้ยงชีพเพื่อความอยู่รอดต่อไป
รถเข็นขายไส้กรอก-ลูกชิ้นทอด ของ "อังคณา คำหอม" หรือป้าใหญ่ จอดนิ่งอยู่ภายใต้ร่มอันใหญ่ริมฟุตบาธใต้ทางขึ้นสะพานภูมิพล 1 ในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะตั้งแต่ช่วงสายๆ หลังเสร็จสิ้นภารกิจส่งหลานสาววัย11 ขวบ ไปโรงเรียนแต่เช้าตรู่ กระทั่งใกล้พลบค่ำยามโพล้เพล้ เป็นอย่างนี้ทุกๆวันเว้นวันอาทิตย์
"ลูกสาวป้าก็ยังอยู่แต่เขาไปมีแฟนใหม่ ครอบครัวเขาก็ลำบาก ป้าสงสารเอาต่ายมาเลี้ยงตั้งแต่2ขวบแม่เขาก็มาดูบ้างนะแต่นานๆครั้งเขาไม่ค่อยมีให้หรอก เราก็ส่งเสียหลานคนเดียวนี่ขายลูกชิ้น บางวันก็หมดบ้าง ไม่หมดบ้างยิ่งตอนนี้ฝนตก ถ้าเหลือนิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าบ้านแล้ว แค่ประมาณ หกโมงครึ่ง ต้องรีบกลับ เป็นห่วงหลาน" หญิงวัยย่าง60บอกเล่าความเป็นอยู่อย่างมิใคร่จะสบายนัก
นับตั้งแต่ลูกสาวเตลิดเปิดเปิงหนีออกจากบ้านไปด้วยเพราะติดเพื่อนอย่างหนัก รวมถึงตกทาสยาเสพติดเมื่อกว่าสิบก่อนทั้งยังสามีก็มาด่วนจากไป เธอเที่ยวตามหาทายาทคนเดียวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวคืนมาและขออุปการะหลานสาวมาไว้ดูแลเองด้วยหวังเป็นข้อต่อรองให้กลับมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกัน
จวบวันนั้น ถึงวันนี้ความหวังของป้าใหญ่เป็นแค่เพียงความฝันบ้านเล็กๆ บนที่ดินไม่กี่ตารางวาสมบัติจากความตรากตรำของเธอมีเพียงแค่สองชีวิตยายหลานอาศัยอยู่จุนเจือช่วยเหลือกันตามมีตามเกิดโดยยึดอาชีพค้าขายที่เธอลองผิดลองถูกไม่รู้กี่ครั้งเป็นทุนชีวิตหากำไรมาเป็นค่าใช้จ่ายปากท้อง
ภัคพรทิพย์สมุทรนาวิน หรือน้องต่ายในวัย 11ขวบ กำลังเติบโตเป็นเด็กวัยรุ่นและเรียนอยู่ชั้นป.6 แล้วเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1ปีก็ต้องไปต่อในระดับมัธยมซึ่งนั่นแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนย่อมมีสูงขึ้น ป้าใหญ่ ผู้เป็นทั้งยายและทำหน้าที่ในฐานะแม่ ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เพื่อให้หลานสาวได้ศึกษาในระดับชั้นสูงสุด เท่ามาตรฐานสังคม(ส่วนใหญ่)กำหนดไว้
"หาเลี้ยงคนเดียว ลำบากพอทน เพราะเคยลำบากกว่านี้ สมัยก่อนก็ช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา เราตากแดดตากฝนตอนนี้ ก็นึกถึงว่า เราเคยลำบากอย่างนี้ อยู่กับฝน อยู่กับแดด แค่นี้ทำไมเราทนไม่ได้ คิดอย่างนี้เคยบอกต่ายเอ๊ย ที่ยายขายของ เก็บตังค์นี้ก็เพราะกลัวต่ายไม่มีเงินเรียนหนังสือ ทุกวันนี้คิด และห่วงอยู่อย่างเดียว เพราะแม่เขาไม่ได้เรียนอยู่แล้ว ตอนนี้เมือนคนกังวลกลัวไม่มีให้หลานเรียน นี่ขายของก็ได้เงินให้เขาไปกินโรงเรียน พอเราหยุดขายเงินก็ขาดต้องใช้แบบระวังมาก เงินเก็บมีนิดหน่อยจริงๆ โชคดีบ้านที่อยู่เป็นของตัวเอง ค่าไฟก็ยังได้ใช้ฟรีที่รัฐบาลออกให้ แต่ค่าน้ำต้องออกเอง" ป้าใหญ่ว่า
ไม่มีเวลา เพียงเพราะความจน ต้องดิ้นรนกันไป
ความผิดพลาดที่ป้าใหญ่โทษตัวเองอยู่ทุกวันนี้ คือเพราะเธอไม่มีเวลาดูแลลูก ส่งผลมายังปัจจุบันที่ลูกสาวกลับกลายเป็นคนไม่มีอนาคตด้วยเพราะฐานะทางครอบครัวที่ไม่สู้ดีมาตั้งแต่แรก เมื่อเธอคลอดลูกสาวคนเดียวขณะมีอายุได้ 32 เสร็จ ก็ทำแต่งานในโรงงานทอผ้า มุ่งแต่จะหาเงินจ้างให้คนอื่นเลี้ยง พอลูกสาวโตขึ้น มีสังคมเรียนหนังสือก็ติดเพื่อน และไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ทำให้เธอและสามีกลุ้มใจอย่างหนัก สุดท้ายแล้วความหวังที่จะให้ลูกเรียนจบชั้นม.3 ยังทำไม่ได้ ต้องปล่อยให้ดวงใจเพียงดวงเดียวหลุดลอยไปแบบกู่ไม่กลับ
"ตอนเด็กจ้างเขาเลี้ยง เราไม่ค่อยได้อยู่กับเขา บางทีก็โทษตัวเองเหมือนกันว่าไม่มีเวลาอยู่กับลูกเลยไม่ได้ใกล้ชิดพอเขาติดเพื่อนเราก็เอาไม่ออก เราเลี้ยงธรรมชาติเกินไป ตอนนั้นกลุ้มใจมากที่เขาหายไปช่วงนั้นตามหาตลอดคิดในใจเรานี่เหมือนคนบ้า ตามหาลูก สองสามทุ่มก็ไม่เข้าบ้านที่ไม่มีเวลาเพราะพ่อแม่จน ทำแต่งาน หาเช้ากินค่ำ พี่น้องก็ว่า แกก็เอาแต่งาน พอลูกเป็นงี้ดึงไม่อยู่สุดท้ายตามหาไม่เจอ กู่ไม่กลับก็ปล่อยเขาไป ทำใจ"ป้าใหญ่เล่าถึงความข้นแค้นในชีวิต โดยไม่มีน้ำตาแม้แต่สักหยดให้เห็น
สอนหลานอย่างไร ?
"อยู่กันสองคน มีอะไรก็คุยกันมีอะไรต่ายก็มาเล่าให้ฟัง เรื่องเกเรไม่มี เพราะเราพูดฝังสมองมาตั้งแต่เด็กแต่เราก็ไม่มีเวลาให้เขา เพราะต้องทำงานเขาก็เข้าใจแม้จะเริ่มมีดื้อบ้าง ซนบ้างตามประสาคอยช่วยทำงานบ้าน เขาก็เคยบอกยายว่า ต่ายทำอะไรจะทำให้ยาย จะดูแลยาย แต่ก่อนต่ายยังออกมาช่วยขาย แต่ตอนนี้เริ่มโต เริ่มเรียนหนังสือ ก็มีกิจกรรมต่างๆ บ้าง ส่วนเรื่องเรียนโอเค เกรดสี่เยอะ เป็นหัวหน้าห้องด้วย เล่นกีฬา งานอะไรมาเขาก็รับเล่นหมด " ป้าใหญ่ว่า
ท้อ ?
"ถ้าเราพูดอะไรแล้วหลานดื้อก็ท้อนะ แต่ป้าไม่เคยร้องไห้เลย เป็นเพราะอะไรไม่เข้าใจ อาจเพราะเป็นคนปลงได้ บางทีไม่ค่อยได้ปรึกษาใครเรามีเหตุผล ดูโลกภายนอก คนอื่นเป็นยิ่งกว่าเรา เราคิดอย่างนี้ ไม่คิดเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า มีกว่าเรา มองแต่คนที่แย่กว่าเราเพื่อให้ตัวเองมีกำลังใจ"
สังขารที่ค่อยร่วงโรยไปตามกาลเวลา กับภาระที่หนักอึ้งขึ้นทุกวันๆ เราถามย้ำ ว่าป้าใหญ่จะยังไหวมากน้อยแค่ไหน เธอว่าจะทนขายของไปเพื่อดูแลหลานไปอย่างนี้ ส่วนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็มีปวดหลัง ปวดเอว แถมยังเผชิญความดันต่ำ ไม่ค่อยได้พักผ่อน แต่โรคประจำตัวไปแล้วของเธอคือ ไมเกรน ที่ยากจะหายหากยังเครียด
"พูดตรงๆ เวลาป้ากลุ้มใจ ป้าจะหัวเราะ กลัวปวดหัวหาเรื่องพูดให้สนุกสนานเข้าไว้ บางคนก็ว่า ป้านี่ตลกนะ" แม่ค้าขายลูกชิ้น ผู้เลี้ยงหลานสาวคนเดียว ยอมรับแบบคนไม่(อยากจะ)ถือสาโลก(เท่าไหร่)
"ทุกวันนี้ ให้ตังค์หลานไปโรงเรียนวันละ 40-50 บาทโรงเรียนเขามีข้าวเลี้ยงกลางวัน แต่ต่ายเขาอยากมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เราก็ยังไม่มีเงินซื้อให้เขาหรอกไม่นานมานี้เพิ่งเอาเงินเก็บจากขายของซื้อโทรศัพท์มือถือมาหนึ่งเครื่องให้หลานเป็นคนใช้เพราะที่บ้านไม่มีโทรศัพท์ เผื่อมีอะไรจะได้ติดต่อญาติพี่น้องได้บ้าง
กลัวไหมว่าวันหนึ่งถ้าเป็นอะไรจะดูแลหลานไม่ได้
ป้าใหญ่ตอบ ทันที "ก็คิดอยู่นะ คิดว่า ต่ายเอ๊ย ยายเป็นอะไรไปจะทำอย่างไร บางทีก็โมโหที่เขาเริ่มดื้อเลี้ยงเด็กสมัยนี้ต้องอดทนกับเขามาก อย่างที่อ่านหนังสือ หรือที่เขาพูดออกโทรทัศน์เรื่องการดูแลเลี้ยงเด็ก พูดคุยกับเด็กบางครั้งเราต้องเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ว่า เด็กสมัยนี้เป็นอย่างไรอย่างนักวิชการ หรือใครเอาอะไรมาพูดเราก็ฟัง แล้วเอามาคิดเอาเอง ต้องปรับปรุงตัวเองเหมือนกัน ดูจากสื่อ บางทีเขาแนะนำพ่อแม่ต้องอย่างนั้อนย่างนี้ เราก็จำมา ขายของอย่างนี้จะเอาเวลาที่ไหน "
ดุ - ตี บ้างไหม?
"ดุ บางครั้งอั้นไม่อยู่ก็ตีจนไม้แขวนเสื้อหักเลย แม่เขาเราไม่เคยตีขนาดนี้สมัยนั้นเราไม่มีเวลาใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่ คนทำแต่งานไม่ดีเลยจริงๆ ไม่มีเวลาสอนลูก อยู่กับลูก เวลาลูกเกิดปัญหาอะไรเราก็ไม่รู้เรื่องแต่หลานนี่นิสัยเขาจะเหมือนผู้ใหญ่นะ บางครั้ง คำพูดคำจา ใครพูดอะไรก็ฟังเมื่อก่อนหลานก็พูดว่า ต่ายจะแต่งชุดปริญญาให้ยายเวลาเรียนเขาก็ตั้งใจเรียน บอกเขาแล้วว่า ถ้าจบม.3 แล้ว ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ได้"
ปิดท้าย กับความรู้สึกที่ให้ป้าใหญ่ฝากถึงลูกสาวด้วยสายใยของความเป็นแม่ แม้จะเคยโกรธ โมโหผิดหวัง เสียใจที่ลูกทำตัวไม่ดี แต่เธอก็ยังคงเป็นห่วงก้อนเนื้อมีชีวิตที่อุ้มท้องมาถึง 9 เดือนด้วยความเอื้อาทร โดยบอกว่า"อยากให้เขาทำตัวให้ดี รักครอบครัว สิ่งที่ผ่านมาก็ทำให้มันดีขึ้นที่ผ่านมาสร้างปัญหาให้เราแก้ตลอด ถามว่ายังโกรธก็โกรธ ที่ทำตัวอย่างนั้น แต่ก็สงสารเพราะยังไง ก็เป็นลูก"
ส่วนกับหลานสาวคนเดียวป้าใหญ่ ไม่หวังอะไรมากไปกว่าแค่ให้เด็กน้อยตั้งใจเรียนหนังสือเชื่อฟังยาย ขยันและเป็นคนดี เพียงแค่นั้น...
รักแท้มีอยู่จริง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เรียกว่า....แม่{:5_116:} ต้องแวะไปช่วยแกอุดหนุนหน่อยอยู่ไม่ไกลจากบ้านด้วย อ่านแล้วซึ้งครับ ยายทำเพื่อหลาน และหวังว่าสักวันหลานคงตอบแทยบุญคุณยายมั้งเน้อ อ่านแล้วซึ้งครับ ยายทำเพื่อหลาน และหวังว่าสักวันหลานคงตอบแทยบุญคุณยายมั้งเน้อ แม่ ยังไงก็คือแม่ ขอบคุณครับ ขอบคุณครับ
หน้า:
[1]