ทำอย่างไร?.. เมื่อคนที่คุณรัก ...นอนกรน…ZZZ
นอนกรนเป็นอาการที่พบบ่อยมาก และเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ แท้จริงแล้ว เสียงกรนเป็นอาการที่บ่งบอกว่า กำลังมีการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่ จมูก ช่องลำคอ โคนลิ้น หรือ บางส่วนของกล่องเสียง ซึ่งเกิดการหย่อนตัวลงเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ จนทำให้เมื่อลมหายใจ ผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าว เกิดการสั่นสะเทือนและมีเสียงดังขึ้น อาการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้นนี้อาจเป็นเพียงบางส่วน หรือบางครั้งรุนแรงจนอุดกั้นลมหายใจทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถหายใจเข้าออกได้เป็นระยะ ๆ ซึ่งเราเรียกลักษณะดังกล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea, OSA) หรือที่นิยมเรียกง่าย ๆ ในปัจจุบันว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น เป็นสาเหตุและความเสี่ยงของ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือ อัมพฤกษ์และอัมพาต ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุอันเนื่องมาจากความง่วงนอนมากผิดปรกติ หรือ อาจก่อให้เกิดความรำคาญอย่างมาก ต่อผู้นอนร่วมห้อง เกิดเป็นปัญหาทางครอบครัว หรือสังคม ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอาย และเสียบุคลิกภาพได้ ที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ ถ้ามีการหยุดหายใจขณะหลับในเด็ก อาจทำให้มีความผิดปรกติของพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย และสติปัญญา เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวซุกซน ปัสสาวะรดที่นอน มีผลการเรียนแย่ลง หรือมีปัญหาสังคมสำหรับเด็กได้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ คาดว่าอาจพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 และเชื่อว่าพบได้มากกว่านี้ในผู้สูงอายุ ในเด็กพบประมาณร้อยละ 1อาการที่บ่งบอกว่า อาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย หรือ รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย คอแห้ง ปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า มีอาการไม่สดชื่น ง่วงนอนมากผิดปรกติระหว่างวันหงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และนอกจากนี้บางครั้งอาจรู้สึกหายใจไม่สะดวกเวลานอน หรืออาจมีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอและมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วง ๆ ขณะนอนหลับ เป็นต้น
ในเด็ก อาจนอนกรนดังคล้ายผู้ใหญ่ได้ หรืออาจนอนกระสับกระส่าย หายใจลำบาก คัดจมูกเป็นประจำต้องอ้าปากหายใจบ่อย ๆ อาจมีปัสสาวะรดที่นอนเป็นประจำหรือมีพฤติกรรมซุกซนก้าวร้าว ผลการเรียนแย่ลง เติบโตช้ากว่าวัย เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย
ถ้ามีอาการนอนกรนเป็นประจำ หรือสงสัยว่าอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรมาพบแพทย์ด้านการนอนหลับ หรือแพทย์หู คอ จมูก พร้อมกับคู่สมรสหรือผู้ที่สังเกตเห็นอาการ โดยจะมีขั้นตอนต่อไปนี้
1. ก่อนตรวจควรทำแบบสอบถามประวัติที่เกี่ยวกับสุขภาพและการนอน (Medical and sleep history) จากนั้นจึงเข้าพบแพทย์เพื่อเล่าอาการเพิ่มเติม ในส่วนที่สำคัญและเกี่ยวข้อง
2. รับการตรวจร่างกาย ตั้งแต่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดชีพจรและความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอ หรือรอบเอว หลังจากนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายบริเวณ ศีรษะ ใบหน้า คอ จมูก และช่องปาก อย่างละเอียด เพื่อประเมินลักษณะทางเดินหายใจส่วนต้น รวมถึงตรวจร่างกายทั่วไป เช่นปอด และหัวใจ หรือระบบอื่น ๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้อง
3. ในหลายกรณีอาจต้องตรวจทางจมูกและลำคอของทางการส่องกล้อง (Endoscopy) ทีแผนกหู คอ จมูก และส่ง X-ray บริเวณศีรษะ ลำคอ หรือ การตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจและอื่น ๆ ตามความจำเป็น
4. โดยกรณีทั่วไป ควรทำการทดสอบการนอนหลับ (sleep test) หรือเรียกว่า Polysomnography ร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG), คลื่นไฟฟ้าหัวใจ(EKG), คลื่นไฟฟ้าการเคลื่อนไหวลูกตา(EOG), คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อบริเวณคางและขา (EMG), วัดระดับการหายใจผ่านทางจมูก, การวัดการเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง, รวมถึงการวัดระดับออกซิเจนในเลือด โดยการทดสอบการนอนหลับนี้สามารถตรวจในห้องโรงพยาบาลได้ หรือตรวจด้วยเครื่องตรวจแบบไร้สายและเคลื่อนที่ได้(mobile test) โดยมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจตามห้องพิเศษ หรือที่บ้านก็ได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสะดวกสบาย และหลับได้เป็นธรรมชาติมากกว่า โดยคลินิกนอนกรน แผนกหู คอ จมูก ที่ รพ.ศิริราช ให้บริการด้วยเครื่องตรวจครบทุกแบบ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการตรวจมีหลายแบบและมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับว่า การตรวจแบบใดเป็นการตรวจที่เหมาะสมกับแต่ละราย
แนวทางการรักษา นอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
แผนก หู คอ จมูก รพ.ศิริราช ได้มีบริการตรวจและรักษา แบบครบวงจร โดยแนวทางการรักษาซึ่งมีหลายวิธีดังจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรง รวมถึง สาเหตุหรือปัจจัยที่พบซึ่งแพทย์จะให้คำอธิบายหลังจากตรวจยืนยันในข้างต้นแล้ว และพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสมกับแต่ละราย
1. การดูแลปฏิบัติเบื้องต้น ได้แก่ การปรับสุขอนามัยการนอน เช่นใช้เวลานอนพักผ่อนให้พอเพียง การเข้านอนและตื่นนอนอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ การงดเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนนอน การหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ และยาที่มีฤทธิ์กดประสาท หรือคลายกล้ามเนื้อ งดเว้นดื่มชา กาแฟ และหยุดสูบบุหรี่ ในช่วงบ่าย ที่สำคัญในรายที่อ้วน หรือ น้ำหนักเกิน ต้องลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2. การรักษาปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น ถ้าท่านมีโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ต่อมทอลซิลอักเสบ เนื้องอกบริเวณทางเดินหายใจ โรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หรืออื่น ๆ ซึ่งควรรับการรักษาโรคเหล่านี้ควบคู่กันไป
3. การรักษาด้วยความดันลม ( Positive Airway Pressure Therapy) โดยเครื่องมือที่เรานิยมเรียกรวม ๆ กันว่า “ ซีแพ็บ ” (CPAP) โดยมีหลักการคือ เครื่องจะเป่าลมผ่านทางช่องจมูก และหรือทางปาก เพื่อให้มีความดันลมแรงพอที่ จะเปิดช่องคอซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้นได้ตลอดเวลาขณะนอนหลับ ในกลุ่มนี้ มีหลายแบบ อาจเป็นแบบธรรมดา แบบความดันลม 2 ระดับ (BiPAP) หรือแบบอัตโนมัติ (Auto-PAP) การรักษาด้วยวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีและมีความปลอดภัยสูงหากใช้เครื่องอย่างถูกต้องและต่อเนื่องตลอดทุกคืน แต่ละแบบมีค่าใช้จ่าย และข้อดี ข้อเสียหรือข้อจำกัดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
4. การใช้เครื่องมือในช่องปาก (oral appliances) หลักการคือ ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายฟันยางหรือเครื่องดัดฟัน เพื่อป้องกันลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจ วิธีนี้ได้ผลดีในรายที่เป็นไม่รุนแรง ปัจจุบันมีหลายชนิด มีข้อดีข้อเสียหรือข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ท่านควรปรึกษาแพทย์ด้านนี้ก่อน
5. การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgical Treatment) ปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดหลายวิธีซึ่งมีข้อดี ข้อเสีย หรือความเสี่ยงต่าง ๆ กัน ตัวอย่างเช่น
5.1 การผ่าตัดจมูก เช่น ใช้คลื่นวิทยุเพื่อลดขนาดของเยื่อบุเทอร์บิเนตอันล่าง (Radiofrequency ) หรือผ่าตัดเพื่อดัดผนังกั้นช่องจมูกในรายที่คดมาก (Septoplasty) รวมไปถึง การผ่าตัดริดสีดวงจมูก หรือไซนัสอักเสบ เฉพาะในรายที่มีปัญหาดังกล่าว
5.2 การผ่าตัดต่อมทอลซิล (Tonsillectomy) และหรือต่อมอะดีนอยด์ (Adenoidectomy) วิธีนี้มีประโยชน์กับผู้ป่วยทีมีต่อมทอลซิลโตมาก หรือในเด็กที่มีต่อมอะดีนอยด์และทอลซิลโต
5.3 การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน (Uvulopalatopharyngoplasty, UPPP) ปัจจุบันการผ่าตัดแบบนี้มีหลายวิธี และไม่จำเป็นต้องตัดลิ้นไก่ของท่านออกทั้งหมด หลักการคือการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของลิ้นไก่และขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอ วิธีนี้มีเหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเพดานหย่อน หรือ ลิ้นไก่ยาวกว่าปกติ
5.4 การผ่าตัดบริเวณโคนลิ้น เช่น การใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อลดขนาดของลิ้น หรือ การผ่าตัดดึงขากรรไกรล่างบางส่วนมาด้านหน้า วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอุดกั้นบริเวณโคนลิ้น
5.5 การผ่าตัดเลื่อนกรามและขากรรไกรทั้งบนล่างมาด้านหน้า วิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ได้ผลดีในผู้ที่มีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาอย่างอื่น อย่างไรก็ตามเป็นการผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ และอาจทำให้รูปหน้าเปลี่ยนได้ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างเหมาะสมในแต่ละราย
5.6 การเจาะคอ (Tracheostomy) เป็นการรักษาที่ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องมีรูด้านหน้าลำคอและใส่ท่อเพื่อการหายใจ
5.7 การรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ และไม่ต้องดมยาสลบ ได้แก่ การฝังไหมพิลล่า (Pillar Implantation) และ การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency หรือ RF) ซึ่งเป็นการรักษาที่มีความปลอดภัยสูงและนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ขั้นตอนการรักษาด้วยวิธีนี้คือจะใช้เข็มชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถปล่อยพลังงานวิทยุ สอดเข้าไปในเยื่อบุผิวหรือตกแต่งบางส่วนของเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้องการ เช่น จมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น จะช่วยให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างและตึงตัวกว่าเดิม ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ได้ผลดีถึงดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการรักษาบริเวณจมูก อาการเจ็บปวดจากการรักษาน้อยลงใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ใช้ยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องดมยาสลบและส่วนมากไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถทำซ้ำได้อีกหลายครั้งและมีผลข้างเคียงน้อยมาก นอกจากนี้การรักษาด้วยความถี่วิทยุ ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเครื่องมืออื่นๆ รวมถึงการผ่าตัดชนิดอื่นๆด้วย เป็นต้น
กล่าวโดยรวมแล้วการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แต่ละวิธีได้ผลดีไม่เท่ากัน และอาจมีข้อดีข้อเสียและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน ดังนั้นดีที่สุดจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจ
สรุป
การนอนกรนนั้น อาจเป็นสัญญาณ เบื้องต้นของอันตรายที่ซ่อนอยู่โดยท่านไม่รู้ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งสามารถรักษาได้ และช่วยลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ที่ตามมาภายหลังไม่มากก็น้อย ดังนั้นหากท่าน หรือ คู่สมรส และบุตรหลานของท่าน นอนกรนดังมากเป็นประจำ ท่านอาจพิจารณาเข้าปรึกษาคลินิคผู้ป่วยนอนกรนเพื่อรับคำแนะนำและ การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป ขอบคุณครับ ขอบคุณครับผม ขอบคุณครับผม
หน้า:
[1]