อัศจรรย์พระบรมสารีริกธาตุ ที่ “พิพิธภัณฑ์พุทธธรรมฯ”
http://i2.sqi.sh/s_3/anS/l_1.jpegบรรยากาศภายในห้องเขมร
คนไทยเราส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา มีพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพุทธบริษัทเป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระศาสดา และเพื่อสืบทอดพระธรรมแห่งพุทธศาสนา
โดยก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้อธิษฐานให้เหลือพระอัฐิไว้หลังจากการถวายพระเพลิงพระสรีระ ณ เมืองกุสินารา ซึ่งพระอัฐิตามส่วนต่างๆของร่างกายเรียกว่า “พระบรมสารีริกธาตุ” ส่วนอัฐิของพระอรหันตสาวกจะเรียกว่า “พระธาตุ”
http://i2.sqi.sh/s_3/anT/l_2.jpeg
การกวนเกษียรสมุทร
ซึ่งในวันนี้ฉันได้มีโอกาสไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ที่ “พิพิธภัณฑ์พุทธธรรม พระบรมสารีริกธาตุ” (Buddha Dharma Relics Museum) ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุทางศาสนา พระพุทธรูป เทวรูป และพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตธาตุ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก
เมื่อมาถึง“พิพิธภัณฑ์ พุทธธรรม พระบรมสารีริกธาตุ” จะต้องถอดรองเท้าไว้ด้านหน้า เมื่อเข้าไปด้านในจะเจอกับเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ ซึ่งเราจะต้องแลกบัตรประชาชนเพื่อเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์ฟรี เมื่อทำตามขั้นตอนแล้ว ก็เวลาเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์
บนเนื้อที่ทั้งหมด 1,500 ตารางเมตร นั้นจัดแสดงในส่วนของพิพิธภัณฑ์บนชั้นที่ 2 โดยแบ่งส่วนจัดแสดงเป็น 9 ห้องด้วยกัน ซึ่งในแต่ละส่วนก็จะมีเจ้าหน้าที่ค่อยให้เรื่องราว หรือตอบข้อซักถาม และทำพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาในบางจุดอีกด้วย
http://i2.sqi.sh/s_3/anU/l_3.jpeg
พระตรีมูรติพระประธานในห้องอินเดีย
เรามาเริ่มกันที่ห้องแรก คือ “ห้องเขมร” ที่จัดให้มีบรรยากาศขรึมขลังคลายปราสาทหิน ผนังทั้งสองข้างเป็นรูปปั้นนูนต่ำรูปนางอัปสร ภายในส่วนนี้มีจัดแสดงแผนที่ของเขมรที่บอกไว้ว่ามีการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่จุดใดบ้าง และยังมีรูปจำลองการกวนเกษียรสมุทร ห้องนี้ยังแสดงถึงว่าพระพุทธศาสนาได้เดินทางผ่านมาทางเขมรก่อนจะมาถึงประเทศไทย
ส่วนก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแผ่มาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีจุดกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเล่าให้เราฟังในห้องถัดไปคือ “ห้องอินเดีย” ภายในจัดแสดงพุทธศิลปะแบบอินเดีย มีองค์พระตรีมูรติลงทองเป็นองค์ประธานของห้อง นอกจากนี้ยังมีองค์เทพเคารพอีกมากมาย เช่น พระพิฆเนศที่ทำจากลาวาจากประเทศอินโดนิเซีย พระทุรคา พระแม่กาลีเหยียบพระศิวะ พระศิวะ พระขันธกุมารเทพเจ้าแห่งนักรบ พระกฤษณะ พระลักษมี เป็นต้น
http://i2.sqi.sh/s_3/anV/l_4.jpeg
พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานบนบุษบก
จากนั้นเป็น “ห้องศิลปวัฒนธรรมเอเชีย” จัดแสดงศิลปวัฒนธรรมของเอเชีย ในพุทธศิลปะรูปแบบต่างๆ เช่น เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู ศิวลึงค์และโยคีที่เป็นหินอ่อนสีขาว นำมาจากอินเดีย ซึ่งในห้องนี้และห้องอินเดียที่ฉันเพิ่งเดินผ่านมานั้นมีพราหมณ์จากอินเดียมาเป็นผู้ทำพิธีทางศาสนาสำหรับผู้ที่สนใจด้วย
http://i2.sqi.sh/s_3/anW/l_5.jpeg
บรรยากาศของห้องจีน
โซนต่อไปเป็น “ห้องบุษบก” ซึ่งตั้งแต่ห้องนี้ไปเป็นโซนพระบรมสารีริกธาตุ ภายในส่วนนี้มีพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนกระดูกหน้าอก พระโลหิต และพระสมอง บรรจุในเจดีย์ทองบนบุษบกจัดแสดงให้เราได้กราบไหว้ขอพร
http://i2.sqi.sh/s_3/anX/l_6.jpeg
พระบรมสารีริกธาตุในห้องทิเบต
จากนั้นไปต่อที่ “ห้องจีน” หรือ “ห้อง 18 อรหันต์” ซึ่งห้องนี้ก็ตกแต่งในสไตล์จีนตามชื่อห้องเช่นกัน ภายในจัดแสดงพระอรหันต์ทั้ง 18 องค์ จากประเทศจีน ที่พระพุทธเจ้าส่งไปเผยแพร่ศาสนา และเท้าจตุโลกบาลทั้ง 4 เจ้าแม่กวนอิม และพระยูไล ซึ่งห้องนี้กล่าวถึงเรื่องราวการเผยแพร่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่องค์พระศาสดาได้กำหนดพระธรรมคำสอนไว้ในพระไตรปิฎก โดยมีศิษย์ยานุศิษย์หลากหลายกลุ่มที่ยึดมั่นศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์
บริเวณส่วนท้ายของห้องจีนจะมีสะพานมงคลให้เราเดินข้ามไป ระหว่างข้ามสะพานด้านข้างจัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุของพระปัจเจกพุทธเจ้าหลายรูปพรรณสัณฐาน จากนั้นสะพานมงคลพาฉันข้ามไปสู่ “ห้องทิเบต” ซึ่งภายในจำลองคล้ายกับวัดในทิเบต ผนังเจาะเป็นช่องๆแต่ละช่องประดิษฐานพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์กวนอิม
http://i2.sqi.sh/s_3/anY/l_7.jpeg
องค์พระเขี้ยวแก้วและองค์วัชรคุรุ
ภายในห้องทิเบตนี้มีพระโพธิสัตว์กวนอิม ศิลปะแบบทิเบต ทำจากไม้จันทร์ ส่วนพระประธานของห้องนี้คือองค์วัชรคุรุ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ชาวทิเบตนับถือเสมือนพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังมีองค์ตารา อันเกิดจากน้ำตาของเจ้าแม่กวนอิม และยังมีพระบรมสารีริกธาตุมากกว่า 600 องค์ จัดแสดงให้เราได้เห็นอย่างใกล้ชิด
http://i2.sqi.sh/s_3/anZ/l_8.jpeg
ห้องพระราชวังประดิษฐานพระแก้วมรกต
ห้องถัดไปคือ “ห้องพระราชวัง” ซึ่งถือเป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์ ภายในห้องนี้จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนาสวดมนต์ไหว้พระในทุกวันพระ สิ่งที่จัดแสดงได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเขี้ยวแก้ว ที่ประดิษฐานอยู่ซุ้ม ยักษ์ 2 ตน ที่เชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา อยู่ระหว่างพระแก้วมรกตทรงชุด 3 ฤดู รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธเจ้าปางสุบิน พระธาตุสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต หรหมรังสี วัดระฆัง และหิ้งกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
http://i2.sqi.sh/s_3/ao0/l_9.jpeg
ขอพรพร้อมเดินหมุนวงมณีที่ห้องวงมณี
ติดกันเป็น “ห้องวงมณี” ห้องนี้สำหรับผู้ที่ต้องการให้ประสบความสำเร็จตามสิ่งที่ปรารถนา โดยเดินหมุนวงมณีที่ มีบทสวดภาษาทิเบตอยู่บนเสา 3 รอบ เชื่อว่าจะช่วยในเรื่องของการประสบความสำเร็จ เพื่อให้จิตใจสงบ และมีบุญญานุภาพที่ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากชีวิต
http://i2.sqi.sh/s_3/ao1/l_10.jpeg
พระอุรังคธาตุ
เดินชมมาจนถึงห้องสุดท้ายคือ “ห้องพระเกศาพระพุทธเจ้า” ภายในส่วนนี้มีการตกแต่งคล้ายพม่า จัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุของพระอรหันตสาวกในส่วนต่างๆและหลากหลายสัณฐานที่รวบรวมไว้มากกว่า 1,000 องค์ อาทิ พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระหลอดลม พระอุรังคธาตุ พระเกศาธาตุ และยังมีพระธาตุเสด็จเป็นต้น
http://i2.sqi.sh/s_3/ao2/l_11.jpeg
พระบรมสารีริกธาตุจัดแสดง ณ ห้องพระเกศา
นอกจากนี้ด้านในสุดของห้องยังประดิษฐานพระมหามัยมุนีจำลอง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองพม่า ที่เปิดให้ผู้เข้าชมร่วมสักการะด้วยเช่นกัน และภายในห้องนี้ยังบอกเล่าประวัติพระพุทธศาสนาให้เรารู้ซึ้งกันอย่างจุใจ ส่วนด้านนอกอาคารได้ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศองค์ใหญ่ให้ประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้ขอพร หรืออยากจะทำพิธีก็มีพราหมณ์จากอินเดียทำพิธีให้ได้อีกด้วย
http://i2.sqi.sh/s_3/ao3/l_12.jpeg
ด้านในสุดของห้องพระเกศาประดิษฐานพระมหามัยมุนีจำลอง
วันนี้ฉันได้เต็มอิ่มกับการชมและสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุอย่างใกล้ชิดที่ “พิพิธภัณฑ์ พุทธธรรม พระบรมสารีริกธาตุ” แห่งนี้ ซึ่งถือเป็นบุญของชาวพุทธอย่างเราๆยิ่ง และนอกจากการบูชาองค์พระบรมสารีริกธาตุด้วยดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ก็ต้องไม่ลืมที่จะบูชาด้วยการปฏิบัติบูชาอันได้แก่การบูชาด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ก็จะยิ่งดีขึ้นๆไปอีก
http://i2.sqi.sh/s_3/ao4/l_13.jpeg
พระพิฆเนศประดิษฐานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ให้กราบไหว้ขอพร
“พิพิธภัณฑ์ พุทธธรรม พระบรมสารีริกธาตุ” ตั้งอยู่ภายในบางกอกสแควร์ ถ.พระราม 3 กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมฟรี(เพียงแสดงบัตรประชาชนหรือใบขับขี่) ทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น. และโปรดแต่งกายสุภาพ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-2295-3398, 0-2295-4233, 0-2295-1433 ขอบคุณครับ ขอบคุณมากครับ
หน้า:
[1]