เปิดบันทึก เสี่ยธนินท์ เคล็ดลับขับเคลื่อน เครือซีพี สู่ความสำเร็จ
CP E-NEWS ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2554ได้เปิดข้อเขียนของ" ธนินท์ เจียรวนนท์ " ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เรื่อง “นโยบาย 3 ประโยชน์” สุดยอดนวัตกรรม ขับเคลื่อน“เครือเจริญโภคภัณฑ์”สู่ความสำเร็จ ข้อเขียนดังกล่าวมีความน่าสนใจเนื่องจากสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย มติชนออนไลน์ จึงนำมาเสนอต่อผู้อ่าน ดังนี้..............
อีกไม่นาน เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซี.พี.เติบโตก้าวหน้าสู่บริษัท 100 ปีเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรงได้เพราะยึดมั่นปรัชญา “3 ประโยชน์” เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง
กล่าวคือ ประเทศที่ซี.พี.เข้าไปลงทุนต้องได้ประโยชน์ ประชาชนในประเทศที่ซี.พี.เข้าไปลงทุนต้องได้ประโยชน์ และบริษัทซึ่งหมายถึงซี.พี.ก็ต้องได้ประโยชน์ด้วย
ปรัชญา 3 ประโยชน์จึงเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการลงทุนของซี.พี.ทั้งยังก่อให้เกิดการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” แก่ ซี.พี.อย่างมากมาย
ที่ผ่านมาการเข้าไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยากจน ธุรกิจของซี.พี.ตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ต้องทำให้เกษตรกรที่ยากจนมีรายได้มากขึ้นโดยซี.พี.ต้องเป็นผู้ให้ก่อน แล้วค่อยรับทีหลังจากรายได้ที่เกิดขึ้น
ทุกครั้งที่ซี.พี.ไปลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศที่ยากจน รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะห่วงที่สุดว่า นักธุรกิจได้ให้ประโยชน์กับเกษตรกรของเขาหรือไม่ ทำประโยชน์ให้กับประชาชนของเขาหรือไม่ ?
นี่คือสิ่งที่ซี.พี.ได้สัมผัส และพบว่าผู้นำทุกประเทศต่างมีความห่วงว่านักธุรกิจเข้ามาทำประโยชน์ให้กับประเทศ และประชาชนของเขาหรือไม่ ...
ด้วยเหตุนี้ ซี.พี.จึงเข้าใจว่าประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศยากจนนั้น รัฐบาลของเขาต้องการอะไร ประเทศเหล่านี้ต้องการคนที่ไปลงทุนแล้วทำประโยชน์ให้กับประเทศ ไปลงทุนแล้วประชาชนของเขาได้ประโยชน์ แน่นอนว่าเมื่อประเทศเขาได้ประโยชน์ ประชาชนเขาได้ประโยชน์ สินค้าที่บริษัทฯผลิตออกมาได้ก็มีคนซื้อ
พอประเทศได้ประโยชน์ รัฐบาลก็สนับสนุน ประชาชนก็มีกำลังเงินซื้อสินค้า ซี.พี.ก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ส่วนจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่ที่ว่า สินค้าที่ผลิตต้นทุนถูกลงหรือเปล่า คุณภาพดีหรือเปล่า เพราะเราขายสินค้าที่ “ค่าของสินค้า” ไม่ใช่ขายที่ราคา เราขายที่มูลค่า เพราะฉะนั้นถ้าทำให้มีประสิทธิภาพ ราคาย่อมเยาว์ ถูกและคุณภาพดี ก็แน่นอนว่าต้องขายได้ รัฐบาลเห็นว่าซี.พี.มาทำประโยชน์ให้กับประชาชนเขาก็สนับสนุน ซี.พี.จึงมีโอกาสไปลงทุนหลายประเทศ
“เราต้องให้ก่อนแล้วได้ทีหลังซึ่งถือเป็นหลักใหญ่ และเป็นนโยบายของซี.พี.”
ท่ามกลางโลกยุคดิจิตอลที่ไร้พรมแดน การพัฒนาการต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกแห่งธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นในปัจจุบัน เนื่องจากมีการแย่งชิงตลาด วัตถุดิบ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์
“ปรัชญา 3 ประโยชน์ของซี.พี.” จึงเป็นจุดที่ก่อกำเนิด“นวัตกรรม หรือ INNOVATION” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นพลังขับเคลื่อนซี.พี.ให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
นวัตกรรม มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ นวัตกรรมจะทำให้แข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก คนซี.พี.ทุกคนจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเก่าเพื่อให้ตัวเองและองค์กรก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง
ซี.พี.เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้กำหนดให้ “การสร้างสรรค์สิ่งใหม่(Innovativeness)” เป็น 1 ใน 6 ค่านิยมของซี.พี.
ค่านิยมซี.พี. ประกอบด้วย
1.สามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ต่อประเทศชาติ ประชาชน บริษัท (Three Benefits).
2.ทำเร็วและมีคุณภาพ(Speed&Quality)
3.ทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย(Simplication)
4.ยอมรับการเปลี่ยนแปลง(Embrace Change)
5.การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovativeness)
6.มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์(Integrity & Honesty)
ซี.พี.เชื่อในนวัตกรรม เราเป็นผู้บุกเบิก สร้างสรรค์นวัตกรรม มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์ “นวัตกรรม”
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ “ตราเรือบิน” ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของเมล็ดพันธุ์ผักเจียไต๋
ในยุคนั้นเมื่อปีพ.ศ.2464 ผู้ก่อตั้งเจียไต๋(นายเจี่ย เอ็กชอ-บิดา)มีแนวคิดว่า “เกษตรกรคือคู่ชีวิต” พ่อค้าต้องซื่อสัตย์ ไม่หลอกหลวง เพราะหากเกษตรกรอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ จึงมีตราสินค้าเพื่อรับประกันคุณภาพและยังมีการพิมพ์วันหมดอายุไว้บนซองเมล็ดพันธุ์ หากซื้อไปแล้วปลูกไม่ขึ้น ไม่งอก หรือ หมดอายุก็สามารถนำมาคืนได้
ตราเรือบินซึ่งเป็นตราสินค้าของเจียไต๋ มีความหมายในตัวเอง เพราะในขณะนั้นเรือบินเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก การเลือกใช้เรือบินเป็นสัญญลักษณ์จึงสื่อให้เห็นถึงความทันสมัย และความก้าวหน้า(สมัยก่อนเรียกเครื่องบินว่าเรือบิน)
เมล็ดพันธุ์ “ตราเรือบิน”จึงเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการค้าของเมืองไทยในยุคแรกๆ ที่กล่าวได้อย่างเต็มความภาคภูมิใจว่าเป็นนวัตกรรมที่เป็นจุดเริ่มต้นความเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ในทุกวันนี้
และเพื่อให้คนซี.พี.เข้าใจว่านวัตกรรมมีความสำคัญเพียงใด ? จึงจัด “มหกรรมนวัตกรรมบัวบาน 2554” ขึ้นมาเป็นพิเศษ เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ซี.พี.ที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ และเปิดให้ชมเฉพาะคนซี.พี.เท่านั้น เพื่อเป็นการเชิดชูบุคคลที่เป็นนวัตกร และหวังอย่างยิ่งที่จะให้เกิดการผนึกกำลังเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้นซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้แข็งแกร่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก
ทั้งนี้เพราะเป้าหมายของซี.พี.คือการเป็นบริษัทไทยชั้นนำระดับโลกที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ชาวไทยทั้งประเทศนั่นเอง
หน้า:
[1]