เส้นทางสู่นิพพาน
สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากินพิจารณาเป็นอาจิณ จะทำให้เข้าถึงซึ่งนิพพาน
การสวดมนต์นั้น เป็นไปเพื่อระงับความวุ่นวาย แม้ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรม แต่ก็สามารถทำให้จิตสงบ ระงับความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจในระดับหนึ่ง (ขณิกสมาธิ อาจได้ถึงอุปจารสมาธิ ถ้าสวดแล้วจิตไม่ซัดส่ายไปไหน)
ในการปฏิบัติธรรม กรรมฐาน การกำหนดคำบริกรรม ก็เป็นอุบายการรวมจิตให้สงบ เมื่อจิตสงบระงับแล้ว ก็สามารถจะเข้าปฐมฌาน เพื่อละตัวติดยึด กิเลสที่เป็นเสมือนกาวเหนียว ของตัวยึดมั่นถือมั่น ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ธาตุ๖ ที่ยึดดักเราไว้
การพิจารณาสังขาร พิจารณาบ่อย ๆ ดูธาตุ ถ้าลองพิจารณาความเสื่อม ธาตุเหล่านี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งโรคเช่นกัน ขอยกตัวอย่างธาตุทั้ง ๔
ก. ปฐวีธาตุ ๒๐ (ธาตุดิน) ก็คือของแข็งที่เป็นก้อนแท่งในร่างกาย มีดังต่อไปนี้
๑. เกษา (ผม) ๒. โลมา (ขน)
๓. นขา (เล็บ) ๔. ทันตา (ฟัน)
๕. ตะโจ (หนัง) ๖. มังสัง (เนื้อ)
๗. นหารู (เอ็น) ๘. อัฐิ (กระดูก)
๙. อัฐมัญชัง (เยื่อในกระดูก) ๑๐. วักกัง (ม้าม)
๑๑. หทยัง (หัวใจ) ๑๒. ยกกัง (ตับ)
๑๓. กิโลมกัง (พังพืด) ๑๔. ปิทถัง (ไต)
๑๕. ปับผาสัง (ปอด) ๑๖. อันตัง (ไส้ใหญ่)
๑๗. อันตคุนัง (ลำไส้น้อย) ๑๘. อุทริยัง (อาหารใหม่)
๑๙. กรีสัง (อาหารเก่า) ๒๐. มัตตเกมัตถลุงกัง (มันสมอง)
ข. อาโปธาตุ ๑๒ (ธาตุน้ำ) ก็คือ สิ่งที่เอิบอาบ ไหลไปมาในร่างกาย มีดังต่อไปนี้
๑. ปิตตัง (น้ำดี) ๒. เสมหัง (น้ำเสลด)
๓. ปุพโพ (น้ำหนอง) ๔. โลหิตัง (น้ำโลหิต)
๕. เสโท (น้ำเหงื่อ) ๖. เมโท (น้ำมันข้น)
๗. อัสสุ (น้ำตา) ๘. วสา (น้ำมันเหลว)
๙. เขโฬ (น้ำลาย) ๑๐. สังฆานิกา (น้ำมูต)
๑๑. อสิกา (น้ำมันไขข้อ)๑๒. มุตตัง (น้ำปัสสาวะ)
ค. เตโชธาตุ ๔ (ธาตุไฟ) ก็คือ ความอบอุ่นที่ปรากฏภายในร่างกาย มีดังต่อไปนี้
๑. สันตัปปัคคี (ไฟสำหรับอบอุ่นกาย)
๒. ปริทัยหัคคี (ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย)
๓. ธิรถอัคคี (ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า)
๔. ปริณามัคคี (ไฟสำหรับย่อยอาหาร)
ง. วาโยธาตุ ๖ (ธาตุลม) ก็คือ สิ่งที่พัดไปมาในร่างกาย มีดังต่อไปนี้
๑. อุทธังคมาวาตา (ลมพัดขึ้น)
๒. อโธคมาวาตา (ลมพัดลง)
๓. กุจฉิสยาวาตา (ลมในท้อง)
๔. โกฏฐานยวาตา (ลมในลำไส้)
๕. อังมังคานุสาริวาตา (ลมพัดในกาย)
๖. อัสสาสะ ปัสสะวาตา (ลมหายใจ)
พิจารณาความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เช่น
* ธาตุดิน ผมสีดำ อยู่ไปร่วงบ้าง เปลี่ยนเป็นสีขาวบ้างเนื้อหนังที่เอยอิ่มตึง ก็หย่อนคล้อย ย้อยยาน
ถ้าจะกล่าวถึงโรคของธาตุดิน ก็เช่นโรคไขข้อเสื่อม ตาเป็นต้อ ฯลฯ
* ธาตุน้ำ ขับถ่ายดี ผิวพรรณสดชื่น พออายุมาก ถ่ายไม่ออก หนังก็แห้ง แตกระแหงหาความน่าดูไม่มีเลย
ถ้าจะกล่าวถึงโรคของธาตุน้ำ ก็เช่น อาการบวมตามข้อ เลือดข้น เบาหวาน ฯลฯ
* ธาตุไฟ ที่เคยทนความหนาว ความร้อนดี พอแก่ตัว หนาวก็โอย ร้อนก็โอย มันทนไม่ค่อยไหว
ถ้าจะกล่าวถึงโรคของธาตุไฟ ก็เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ร้อนใน
* ธาตุลม ที่เคยหายใจคล่องแคล่วไม่เหนื่อยเวลาเดิน หรือวิ่ง พอแก่ตัวแค่นั่งก็ยังหายใจเข้าลำบาก ไม่ต้องถึงกับวิ่งหรอก
การสวดมนต์ถึงแม้จะแค่สงบระงับเบื้องต้น ก็เป็นหนทางแห่งการเดินทางเข้าสู่มรรคสู่ผลได้ เป็นการฝึกจิตฝึกค่อย ๆ ฝึกมาก ๆ ก็เหตุให้ถึงทางแห่ความสิ้นทุกข์ได้ แต่ถ้าจะบอกว่าเพราะเหตุใดเน้นสวดมนต์ก่อน ลองคิดอย่างง่าย ๆ ว่าจะให้ผู้คนมานั่งสมาธิเป็น ครึ่งชั่วโมง เป็นชั่วโมงเลยนั้น เป็นไปได้ยากยิ่ง เพราะเคยมีเรื่องเล่าขำ ๆ ว่า ทางการส่งนายทหารมาปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติไปในช่วงแรก ๆ นั้น ขอกลับค่ายเลยทีเดียว แจ้งว่าขอไปแบกปูน แบกปืนในป่าดีกว่า เพราะมาเดินช้า ๆ นั่งไม่กระดุกกระดิกอย่างนี้ ทนไม่ไหว หนักยิ่งกว่าแบกปืนสู้ข้าศึก เห็นไหมมันยาก เพราะแบกขันธ์ เห็นขันธ์ มันเลยทุกข์หนัก ดังนั้น กล่อมใจด้วยการสวดมนต์ก่อน แล้วค่อยๆ พัฒนาร่วมกันไปกับการนั่งสมาธิ และกำหนดสติ
ขอบคุณมากครับ
หน้า:
[1]