ประวัติ การฟ้อนผีมด
ผีมด เป็นผีประจำตระกูล หรือผีบรรพบุรุษ สันนิษฐานว่า เป็นผีที่ทำหน้าที่มด คือดูแลลูกหลานในตระกูล อย่างคำว่ามดลูก คือส่วนที่ดูแลทารกในครรภ์ เป็นต้นจากการสังเกตพฤติกรรมการละเล่นที่ปรากฏในขบวนการฟ้อนผีมด เช่น การปัดต่อปัดแตน ยิงนก ยิงกระรอกกระแต คล้องช้างคล้องม้า ชนไก่ ทำไร่ทำสวน ทอดแห ฟ้อนดาบ และถ่อเรือถ่อแพ ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมของชาย หรือพ่อบ้าน ที่พึงกระทำในการดำรงชีวิต
จึงเห็นว่า ผีมด น่าจะเป็นผีฝ่ายพ่อ หรือการสืบจากฝ่ายบิดา ซึ่งต่างไปจาก ผีเมง ที่แสดงพฤติกรรมแง่การคลอดบุตร และการปรุงอาหารเป็นกิจกรรมเด่น ซึ่งส่อแสดงว่า ผีเมง เป็นผีของฝ่ายหญิง
การฟ้อนผีมด เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรม การเลี้ยงผี หรือสังเวยผี ซึ่งการ เลี้ยงผี จะมีทั้งการ เลี้ยงดัก คือ ทำพิธีสังเวยอย่างเงียบๆ ภายในตระกูล ส่วนที่ทำพิธี ฟ้อนผี นั้น โดยมากกำหนดจัดเลี้ยงสามปีต่อครั้ง หรือในกรณีแก้บนให้ลูกหลาน ผู้ประสงค์จะแก้บน จะนำเงินไปมอบให้ เค้าผี ( “ เก๊าผี ” ) หรือผู้ดูแลผีประจำตระกูล ดำเนินการต่างๆ ให้
แต่หากเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสืบทอดประเพณีแล้ว เค้าผี คือหญิงอาวุโสของกลุ่มสกุล ที่นับถือผีเดียวกัน และเป็นผู้ครอบครองบ้านที่มีหอผีของสายสกุลตั้งอยู่ จะรวบรวมเงินจากลูกหลานเครือญาติใน ผีเดียวกัน คือตระกูลเดียวกัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย
เมื่อถึงวันกำหนด ซึ่งอยู่ในระหว่างช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนแล้ว เค้าผี จะได้บอกกล่าวให้แก่ ผีปู่ย่า ได้ทราบว่าจะมีพิธีกรรม การฟ้อนผีมด พร้อมทั้งไป ไฅว่ผี หรือแจ้งข่าวแก่คนทั้งหลายที่เป็น ผีเดียวกัน ได้ทราบ ขณะเดียวกันจะเชิญผีในตระกูลอื่นให้ไปร่วมงานด้วย โดย เค้าผี จะนำพานข้าวตอกดอกไม้ หรือผลไม้และอาหารไปบอกกล่าวแก่ เค้าผี ในสกุลที่ใกล้ชิด เพื่อเชิญไปร่วมงาน ผู้ที่ได้รับการ ไฅว่ผี ก็จะนำพานหรือสิ่งที่นำไปเชิญนั้น วางบน หิ้งผีปู่ย่า ในเรือนของตน พร้อมกับบอกกล่าวให้ ผีปู่ย่า ประทับทรงไปในงานนั้น
วันแรกของการฟ้อนผีมด คือ วันดา หรือวันเตรียมการ หรือ วันข่าว คือประชาสัมพันธ์งาน โดยกิจกรรมทั้งหลายจะเริ่มตั้งแต่ประมาณ ๐๗.๐๐ นาฬิกาเป็นต้นไป ลูกหลานผีเดียวกันที่เป็นชาย ก็จะไปร่วมกันเตรียมสถานที่ในบริเวณบ้าน โดยปลูก ผาม หรือ ผามเพียง (“ ผามเปียง ” ) คือปะรำทำด้วยไม้ไผ่เป็นโรงหลังคาราบ มุงด้วยหญ้าคา หรือทางมะพร้าว
พื้นปูด้วยเสื่อรำแพน ภายในผามจะมีหิ้งวางเครื่องสังเวย ซึ่งสูงจากพื้นประมาณ ๑.๕๐ เมตร ต่ำลงมาจากหิ้งนั้น จะมีราวสำหรับพาดผ้า เครื่องแต่งตัวของผีแต่ละตน เมื่อเสร็จจากการสร้างผามก็จะเตรียมทำอุปกรณ์ เครื่องละเล่นของผี เช่น เรือ ธนู และอุปกรณ์ต่างๆ
เวลาประมาณเที่ยงวัน เมื่อกินอาหารกลางวันแล้ว ดนตรีที่ว่าจ้างมาบรรเลง คือวงกลอง เต่งถิ้ง หรือ กลองถืดถึ้ง ก็จะเริ่มบรรเลง
โดยหัวหน้าวงจะ ขึ้นขันกลอง (“ ขึ้นขัน ก๋อง ” ) คือนำ ขันกลอง หรือพานครู ที่จัดให้มานั้น บูชาครูของตน แล้วเอาเหล้าลูบที่หน้ากลอง เพื่อให้ผีกลองได้กิน ซึ่งจะช่วยให้เสียงจากกลองนั้น เป็นที่ประทับใจแก่ผู้ได้ยิน
ถัดจากนั้นจึงจะเริ่มพิธีปัดไก่ โดย เค้าผี จะยกขันตั้งเพื่อเชิญผีเจ้าตนหลวง และเจ้าระดับรองลงไปอีก ๔ องค์ ประทับทรง เมื่อเจ้าพ่อเข้าประทับทรงนั้น ม้าขี่ หรือคนทรงของเจ้าพ่อต่างๆ จะฟุบหน้าลงกับพื้น เค้าผี จะนำน้ำส้มป่อยจากหิ้งเครื่องเซ่นมาพรมให้แล้ว ม้าขี่ จะลุกขึ้นฟ้อนในผาม ม้าขี่ ที่นั่งอยู่ก็จะเริ่มแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่จัดให้ทับชุดที่นุ่งอยู่ จากนั้นร่างทรงของ เจ้าตนหลวง ซึ่งเป็นผีปู่ย่าของตระกูลจะใช้หอกที่เตรียมไว้ ทำท่าแทงไก่ ๒ ตัวที่ขังไว้ในชะลอม เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งอัปมงคลทั้งหลายและเพื่อให้พิธีกรรมดำเนินไปด้วยดี บรรดาลูกหลานในตระกูลจะเข้าไปในผามเพื่อกราบไหว้เจ้าพ่อตนหลวง เจ้าพ่อจะผูกข้อมือและอวยพรแก่ทุกคน แล้วผีทั้งหลายจะเริ่มประทับทรงแล้วฟ้อนไปมาในผามโดยไม่มีท่ารำที่เป็นรูปแบบ ฟ้อนไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาประมาณ ๑๖.๐๐ นาฬิกา ก็จะเริ่ม ลาทรง ม้าขี่ จะล้มลงบนเสื่อและฟุบกับหมอนที่จัดไว้บน หอผี เป็นอันจบกิจกรรมในวันแรก
วันที่สองเป็นวันฟ้อนผีจริง กิจกรรมจะเริ่มประมาณ ๐๘.๓๐ นาฬิกา โดย เค้าผี จะนำเครื่องสังเวย ประกอบด้วยหัวหมูดิบ พร้อมขาทั้งสี่ เพื่อสมมติเป็นหมูทั้งตัว ไก่ ๔ ตัว ลาบ แกงอ่อม หมูปิ้ง ตับปิ้ง ยำไส้ ไส้อั่ว ขนม คือข้าวต้มมัด สุราและมะพร้าว ไปวางไว้ที่หอผี แล้วกล่าวอัญเชิญผีปู่ย่า ให้มารับเครื่องสังเวย พร้อมกับร่วมสนุกสนานในพิธีนั้น
เมื่อถึงเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ นาฬิกา บรรดาลูกหลานเครือญาติจะชุมนุมในผาม เค้าผี จะจุดธูปบอกกล่าวแก่แม่ธรณีประตูบ้าน เพื่อขออนุญาตให้ผีอื่นที่เชิญไว้เข้ามาในบ้าน เสร็จแล้ว เค้าผี จะยก ขันตั้ง ที่เตรียมไว้ไปเชิญ เจ้าตนหลวง หรือผีปู่ย่าให้ประทับใน ม้าขี่ หรือร่างทรงซึ่งเป็นคนในสายสกุลเท่านั้น ม้าขี่ จะมีอาการเปลี่ยนจากปกติ แล้วจะวิ่งเข้าในผาม ที่นั่งผาม หรือหญิงที่ชำนาญในพิธีกรรมและคอยควบคุมพิธีอยู่ จะช่วยแต่งตัว โดยนำโสร่ง เสื้อและผ้าโพกศีรษะที่เตรียมไว้สวมทับชุดเดิม เสร็จแล้ว เจ้าตนหลวง จะทักทายลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีโดยใช้สรรพนามเรียกลูกลานว่า “ เหลนหน้อย ” ในช่วงนี้ดนตรีจะหยุดบรรเลง ลูกหลานอาจเข้าไปขอให้ผีปู่ย่าช่วยรักษาโรค หรือปัดเป่าเคราะห์ โดยการเสกคาถาเป่ากระหม่อมให้ หรือขอให้ผีปู่ย่าช่วยทำนายโชคเคราะห์ต่างๆ ต่อจากนั้นเจ้าองค์อื่นๆ และผีที่ได้รับเชิญจะเริ่มประทับทรง และเข้าร่วมในการฟ้อน
พอถึงเวลาเที่ยงวัน ก็จะมีการเลี้ยงอาหารผี ลูกหลานในสายสกุลจะลำเลียง ขันโตก คือตุลุ่มบรรจุอาหารเป็นชุดๆ ประกอบด้วยอาหารในโอกาสพิเศษ เช่น ลาบ แกงอ่อน ยำชิ้นไก่ เนื้อย่าง ไส้อั่ว เหล้า หมาก พลู บุหรี่ ขนม ข้าวต้มมัด ฯลฯ ประมาณ ๓๐ ชุดเท่าจำนวนผีในร่างทรง ขันโตกนั้นจะจัดวางในผามแล้วเชิญให้ร่วมกินข้าว ผีในร่างทรงโดยมี เจ้าตนหลวง หรือผีปู่ย่าจะถือดาบที่มีเทียนไขจุดไฟติดที่ปลายดาบนำเหล่าผีเดินวนตามจังหวะดนตรีไปรอบๆ ขันโตก พร้อมทั้งเอาดาบจี้ไปที่ ขันโตก สองถึงสามรอบเป็นสัญลักษณ์ว่าผีกินอาหาร จากนั้นผีจะออกจากร่างทรง แล้วลูกหลานและคนทรงจะร่วมรับประทานอาหารกลางวัน
กิจกรรมในภาคบ่ายจะเริ่มในเวลาประมาณบ่ายโมงหรือกว่านั้นเล็กน้อย เสียงดนตรีจากวงกลอง เต่งถิ้ง หรือ ถืดถึ้ง จะดังกระหึ่ม ผีทั้งหลายจะเข้าประทับทรงแล้วฟ้อนต่อไป บ้างจะแสดงอิทธิฤทธิ์บ้างกระโดดโลดเต้น บ้างก็จะ “ จ๊อย ” คือขับเพลงแบบล้านนา และเมื่อได้เวลาก็จะดำเนินพิธีกรรมและการละเล่นตามขนบโบราณ ดังนี้
พิธี โท้งฟ้า ( “ โต้งฟ้า ” ) ซึ่งเจ้าพ่อ พระญาเบี้ย จะเป็นเจ้าพิธี เจ้าพ่อนี้จะนุ่งโสร่งมีผ้าโพกศีระษะและสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยหอยเบี้ยร้อยสลับกับใบพลู ในมือมีกระบอกไม้ไผ่บรรจุน้ำท่อนหนึ่ง ซึ่งมีใบตองปิดรัดไว้ ถือกวัดแกว่ง ฟ้อนตามจังหวะเพลง เมื่อได้จังหวะก็จะใช้นิ้วกระทุ้งใบตองให้เป็นรูแล้วสลัดน้ำให้กระเซ็นไปถูกคนที่รุมล้อมอยู่โดยรอบ ขณะเดียวกัน กำลัง จะเดินตาม พระญาเบี้ย คนหนึ่งตีฆ้องทำด้วยไข่ต้มปอกเปลือกร้อยด้วยตอก อีกคนหนึ่งเป่า “ แน ” คือ ปี่ปากผายที่ทำด้วยกล้วยหรือใบมะพร้าวขด การทำพิธีนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ และคนที่ได้รับน้ำในพิธีจะปราศจากโรคภัยทั้งปวง
จากนั้นจะเป็นพิธี ปัดต่อปัดแตน ( “ ปั๊ดต่อปั๊ดแต๋น ” ) คือปัดตัวต่อตัวแตน กำลัง จะแจกทางมะพร้าวที่มัดเป็นกำให้ผีที่กำลังฟ้อนอยู่นั้น แล้วเอาข้าวสารโปรยเข้าไปในผามพร้อมกับตะโกนว่า “ ต่อแตนมาแล้ว ” ผีทั้งหลายจะเอาผ้าที่คล้องคออยู่นั้นขึ้นคลุมศีรษะ พร้อมกับใช้กำทางมะพร้าวฟาดไปที่ เข้าแฅบเข้าแตน คือข้าวเกรียบและขนมนางเล็ดที่แขวนไว้กับขื่อผาม และใช้ธนูหรือหน้าไม้ยิงไปยังนกที่ทำแขวนไว้ในผาม กำลัง จะคอยติดตามเก็บนกที่ผียิงตกลงมาใส่ย่ามไปจนหมด
พิธีการยิงรอกยิงกระแต ( “ ญิงฮอกญิงขะแต๋ ” )กำลัง จะถือรูปกระรอกกระแตที่แกะสลักจากหยวกมาถือแล้วฟ้อนไปมาเพื่อล่อให้ผีใช้ธนูหรือหน้าไม้ยิง บางครั้งเมื่อผียิงไม่ถูกก็จะติดสินบนกำลังด้วยสุราจนมึนเมาเพื่อให้ “ กระรอกกระแต ” เคลื่อนไหวน้อยลงและจะยิงได้โดยง่าย พิธีนี้ถือว่าช่วยทำลายศัตรูที่เบียดเบียนผลผลิตทางการเกษตรและยังทำลายผีร้ายและศัตรูได้ด้วย
การ ฟ้อนดาบ ถือว่าเป็นการแสดงฝีมือเชิงดาบ โดยผีระดับหัวหน้าจะจับคู่กันฟ้อนดาบแสดงฝีมือท่ามกลางเสียงดนตรีที่เร้าใจ บางครั้งผีในร่างทรงอาจมีการฟันแทงกันบ้าง เพื่อทดสอบความขลังและความคงกระพันอีกด้วย
การ ถ่อเรือถ่อแพ เป็นการละเล่นชุดสุดท้ายก่อนที่ผีจะอำลาจากกัน จะใช้หุ่นจำลองขนาดพอเหมาะเป็นเรือและแพอย่างละลำ ผีทั้งหลายจะถือพายและถ่อจำลองทำท่าพายเรือและถ่อแพจากลานบ้านเข้าสู่ผาม ผีทั้งหลายจะต้องช่วยกันประคับประคองเรือแพให้ไปถึงที่หมาย โดยมี กำลัง คอยบอกทางและอุปสรรคตามระยะทาง อีกทั้งยังคอยแจกสุราให้แก่ผีด้วย ในระหว่างการถ่อเรือถ่อแพนั้นก็จะมีการสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานด้วย การละเล่นชุดนี้เป็นสัญลักษณ์ว่าไปค้าขายได้เงินทองกลับบ้าน
การละเล่นจะจบลงในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ นาฬิกา ผีทั้งหลายจะร่วมฟ้อนอำลากันอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับบอกกล่าวกันว่าจะพบกันใหม่ในการฟ้อนผีครั้งต่อไป หลังจากนั้นผีจะทยอยกันออกจากร่างทรงโดยไปฟุบหน้าลงกับหมอนบนหอผี เมื่อร่างทรงรู้สึกตัวแล้วก็จะนำน้ำส้มป่อยลูบหน้าและศีรษะพร้อมกับแสดงท่าอ่อนเพลีย ภายในผามยังคงมี เจ้าตนหลวง หรือผีปู่ย่าให้พรแก่ลูกหลานอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น ที่นั่งผาม จะดับเทียนที่ ขันเทียนหลวง แล้วยก ขันเทียน หรือพานเทียนให้แก่ผีปู่ย่าเพื่อมอบแก่เจ้าภาพที่ประกอบพิธี แล้วยกขันตั้งบนหิ้งเครื่องสังเวยให้ผีปู่ย่ามอบให้แก่ม้าขี่หรือร่างทรงของผีต่างๆ ที่มาในพิธี พร้อมกับมอบห่อผ้าเครื่องแต่งตัวให้ลูกหลานเก็บรักษาไว้ จากนั้นผีปู่ย่าก็จะออกจากร่างทรงโดยวิธีการเดียวกับผีตนอื่นๆ ดนตรีหยุดบรรเลง ก็เป็นจบพิธีกรรมในการฟ้อนผีมด ลูกหลานจะช่วยกันรื้อผามและแบ่งเครื่องสังเวยกลับไปยังบ้านของตนต่อไป
ขอบคุณครับ
หน้า:
[1]