numkong2011 โพสต์ 2012-1-8 11:57:36

ที่มาของตุงล้านนา

ตุง และ จ้อ เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ธง เหมือนกับทางภาค
กลาง โดยที่ ตุง จะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยม ในขณะที่ จ้อ เป็นรูปสามเหลี่ยม

ชาวล้านนาแต่โบราณมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงค์การทานตุงอยู่มาก
ซึ่งเล่าสืบต่อกันมา หลายชั่วอายุคนดังตัวอย่างเล่าว่า

มีกาเผือกคู่หนึ่งออกไข่มา ๕ ฟอง อยู่บนต้นไม้ เมื่อเกิดลมพายุ ไข่ทั้งหมดได้พลัดตกลงมา ครั้นพ่อแม่กาเผือกกลับมาไม่เห็นไข่ของพวกตน ก็เกิดความโศกเศร้า จนตรอมใจตายแล้วได้ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์

ไข่ทั้งห้าใบต่างถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้านำไปเลี้ยง จนเติมโตเป็นชายหนุ่มทั้งห้าคน ต่างคนต่างก็มีจิตใจอยากบวช จึงบวชจนสำเร็จญาณและมาพบกันโดยบังเอิญ

ทั้งห้าองค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ให้กำเนิด จึงได้สร้างตุงถวายอุทิศให้ กะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยงสร้างรูปไก่ โกนาคมนะรูปนาค กัสปะรูปเต่า โคตมะรูปวัว และอริยะเมตรัยรูปค้อนทุบผ้า

เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้ว ก็ทำถวายอุทิศ แต่ไปไม่ถึงผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงต้องมาบอกให้ทำเป็นประทีปรูปตีนกาจุดไปจึงจะอุทิศไปถึง

ตุงสมัยก่อนของชาวเหนือ จึงสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าทั้งห้าองค์ การทำตุงถวายจึงเปรียบเสมือนตัวแทนสักการะของการแผ่กุศล กตัญญูกตเวทีไปถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว เราอาจเห็นตุงที่มีรูปไก่ยืนอยู่บนหัวตุงหมายถึงไก่ ส่วนลำตัวและใบของตุงแทนรูปนาค ลวดลายต่าง ๆ เป็นตารางเกล็ด หรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หมายถึงเต่า และส่วนประดิษฐ์เป็นรูปกลมหมายถึงตาวัวหรือวัว

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อกันว่าวิญญาณผู้ตายนี้สามารถยึดหรือปีนป่ายตุงขึ้นสวรรค์ได้
ดังเรื่องเล่าว่า

กาลครั้งหนึ่งมีนายพรานซึ่งเข้าไปล่าสัตว์ในป่านานนับสิบ ๆ ปี ผ่านไปที่วัดเห็นตุงที่แขวนอยู่โบกสบัดสวยงามมาก เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงได้ทำตุงขึ้นเพื่อที่จะไปถวายวัดบูชาพระประธาน

ครั้นเมื่อเขาตายไป ถูกตัดสินส่งลงนรก เนื่องจากไม่เคยทำความดีเลย มีแต่ฆ่าสัตว์ ยกเว้นแต่ทำตุงถวายวัดเท่านั้น เมื่อถูกตัดสินให้ตกนรก ตุงผืนที่เขาทำนั้นได้มาพันดึงเขาให้พ้นจากนรก นำขึ้นสู่สวรรค์ได้

ชาวเหนือจึงมีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นมีอานิสงค์หรือได้บุญอย่างมาก

"ตุง" ของล้านนา
มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสาห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา
วัสดุที่ใช้ทำตุงนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไม้ สังกะสี ผ้า กระดาษ ใบลาน เป็นต้น

ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา
โดยมีขนาด รูปร่าง และ รายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งแตกต่างกันไป
ตามความเชื่อและพิธีกรรมตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย

ในปัจจุบันที่การสื่อสารไร้ขอบเขต และมีการผสมผสานวัฒนธรรมประเพณีของตุงแต่ละท้องที่ ทำให้เราสามารถพบจ้อและตุงบางชนิดในภาคอื่นของไทยได้ อาทิ ตุงตะขาบและตุงนางเงือก จ้อนำทาน เป็นต้น

เก้าจังหวัดตอนบนของประเทศไทยเรานั้น สามารถพบจ้อได้สามแบบ และตุงอีกกว่าสิบหกชนิด คือ จ้อนำทาน จ้อช้าง จ้อ (ตุง) ร้อยแปด ตุงสามหาง ตุงแดง ตุงค่าคิง ตุงขอนนางผาน ตุงข้อนก๋ม ตุงใบไม้ ตุงเรือ ตุงไชย (ตุงไจย) ตุงใยแมงมุม ตุงดอกบ๊อง/ตุงไส้หมู/ตุงไส้ช้าง ตุงพันวา ตุงตะขาบ/จระเข้/นางเงือก/เต่า ตุงเปิ้ง/ตุงสิบสองราศี ตุงราว/ตุงใจ ตุงพระบฏ และตุงกระด้าง

ความงามของตุงจะวัดกันที่ลวดลาย และ สีสรรที่แต่งแต้มประดิษฐ์ลงไปที่ผืนตุง
โดยจำแนกตามวัสดุที่ใช้ทำตุงดังนี้

   1. ตุงผ้าทอ โดยทั่วไปมีขนาดกว้าง 15-50 ซม. ยาว 1-6 เมตร โครงสร้างประกอบด้วย ส่วนหัว-ตัว-หาง นิยมทอด้วยฝ้ายสีขาว มีลวดลายขิตสีดำและแดงเป็นเส้นพุ่ง
อาจสอดสีอื่น ๆ เพื่อความสวยงาม

   2. ตุงใย ใช้เส้นฝ้ายสีขาวมัดหรือถักคล้ายแมงมุมชักใย มีไม้ไผ่สอดเป็นโครงยึดเป็นช่วงๆ ทำด้วยวัสดุต่าง ๆ เป็นดอกไม้ หรือพู่ห้อย

   3. ตุงกระดาษ เช่น ตุงไส้หมู ไส้ช้าง ตุงพญายอ โดยการนำกระดาษแก้วสีต่าง ๆ อย่างน้อยแผ่นละสีมารวมกัน พับไปมาแล้วตัดสลับไม่ให้ขาดจากกันเมื่อคลี่ออก และจับหงายขึ้นจะเป็นช่อพวงยาว ผูกติดกับไม้ยาวประมาณ 1 เมตร ปักตกแต่งหรือใช้ร่วมขบวนแห่ครัวทานเข้าวัดหรือปักเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์

ตุง กับงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานปีใหม่ หรือประเพณีสงกรานต์ของชาวล้านนา
ประชาชนจะทำเครื่องสักการะ คือ ธูป น้ำส้มป่อย ตุง และ ช่อตุงหรือธุง อันเป็นเครื่องสักการะ มี 4 ประเภท คือ

1. ตุงเดี่ยว หรือตุงค่าคิง สำหรับบูชาแทนตนเอง
2. ตุงไส้หมู บูชาพระเจดีย์ พระธาตุทั้งหลาย
3. ตุงไจยหรือธุงไชย ถวายบูชาพระพุทธรูป เพื่อสร้างความสวัสดีมีชัย
4. ช่อหรือธงชัย สำหรับปักเครื่องบูชาต่าง ๆ

ตุงจัดเป็นเครี่องสักการะของล้านนาไทย
มีตุงหลายชนิดที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น งานฉลอง หรืองานปอย งานสืบชะตา
หรือขบวนแห่ต่าง ๆ เป็นต้น

แม้จนกระทั่งปัจจุบัน ตุงก็ยังมีหน้าที่สำคัญผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนา
นอกจากนั้นก็ยังมีหน้าที่ใหม่เพิ่มเข้ามาได้แก่
การแห่แหนหรือการประดับประดาเพื่อเฉลิมฉลองงานการท่องเที่ยว
ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้นไปอีก

armmerza12 โพสต์ 2019-5-25 20:23:36


ขอบคุณครับ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ที่มาของตุงล้านนา