สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับการออกกำลังกาย
สิ่งที่ต้องพึงระวังสำหรับการออกกำลังกายhttp://www.dailynews.co.th/content/reporter/d112081112_57_43.jpg
การออกกำลังกาย ในที่นี้หมายถึง การที่คนใดคนหนึ่งจะมีกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกาย (กล้ามเนื้อแขน/กล้ามเนื้อขา/กล้ามเนื้อหน้าท้อง/กล้ามเนื้อหลัง) ส่วนต่าง ๆ ทำงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จนทำให้ หัวใจทำงานมากขึ้น เพื่อส่งเลือดที่มีสารอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงกล้ามเนื้อ เหล่านั้นที่ทำงานหนักขึ้น สามารถที่จะทำงานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง แล้วแต่ความสามารถหรือการฝึกซ้อมที่แต่ละคนเคยมีประสบการณ์มามากน้อยเพียงใด และท่านที่ออกกำลังกายเป็นประจำหรือไม่เป็นประจำก็ตาม ท่านจะต้องทราบว่า เมื่อหัวใจทำงานมากขึ้น ตัวหัวใจเองก็ต้องมีสารอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงตัวกล้ามเนื้อของหัวใจให้เพียงพอด้วยเช่นกัน โดนผ่านทาง หลอดเลือดของหัวใจ ซึ่งต้องมีคุณภาพดี ไม่มีการอุดตันจากคราบไขมัน หรือการเปลี่ยนแปลงของผนังหลอดเลือดหัวใจตามอายุที่มากขึ้น
กล่าวโดยสรุป การออกกำลังกายนั้น จะต้องประกอบไปด้วยการทำงานของ
1. กล้ามเนื้อ ที่ใช้ในการออกกำลังกายต้องดี
2. หัวใจที่ดี เพื่อการทำงานที่หนักมากขึ้นเวลาออกกำลังกาย
3. หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ที่ต้องสมบูรณ์ดี ไม่มีอุดตัน เพื่อการนำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานหนักขึ้น ทำไมต้องระวัง สำหรับการออกกำลังกาย
ผมมีประสบการณ์ได้รับรู้ รับทราบเหตุ
การณ์จริงที่แพทย์รุ่นพี่และเพื่อนที่ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งทั้งคู่มีการออกกำลังกายด้วยการวิ่งบนลู่วิ่งและวิ่งไปตามสวนสาธารณะต่าง ๆ เป็นครั้งคราว ไม่สม่ำเสมอ แต่ทั้งคู่ได้เสียชีวิตไปภายหลังได้ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเหมือนเช่นทุกครั้ง แต่เมื่อใกล้จะหยุดวิ่งในตอนท้ายที่เราเรียกว่า การ warm down หรือ cool down ทั้งคู่ได้ทรุดตัวลงและหมดสติ เจ้าหน้าที่ประจำห้องฟิสเนสเซ็นเตอร์ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะว่าเป็นในคนส่วนน้อยมากสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม แต่ทุก ๆ คนที่ออกกำลังกายก็ควรจะได้เรียนรู้และรับทราบ สิ่งบอกเหตุ หรือ อาการที่ถือเป็นการผิดปกติที่อาจแสดงถึงภาวะของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดซึ่งหากไม่ได้หยุดพักหรือมีข้อสงสัยในอาการเหล่านั้นจนถึงขั้นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ ก็อาจนำไปสู่การสูญเสียก็เป็นได้
อาการอะไรบ้างที่น่าสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวท่าน
ท่านที่ออกกำลังกายควรจะต้องทราบว่าร่างกายและอวัยวะของท่านจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างเวลาออกกำลังกาย แน่นอนว่าเวลาออกกำลังกาย ท่านต้องมีการเหนื่อย หายใจ แรงและเร็วขึ้น หัวใจ ทำงานมากขึ้น ก็แสดงว่าหัวใจต้องเต้นแรงขึ้น ชีพจรก็ต้องเต้นเร็วและแรงตามไปด้วย หายใจแรงและลึกขึ้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ท่านที่ออกกำลังกายประจำก็จะรู้สึกคุ้นเคยการตอบสนองของร่างกายของตนเองอยู่แล้ว สำหรับอาการที่ผิดปกติที่ท่านพึงคำนึงในทางร้ายว่าอาจมีปัญหาร้ายแรงเกิดขึ้นแก่ตัวท่าน ได้แก่;
1. อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจมีการปวดร้าวไปตามต้นแขนซ้ายด้านในหรือบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่กรามหรือบางรายปวดแน่นในหน้าอกเหมือนมีอะไรหนัก ๆ มาทับหน้าอก
2. อาการใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือบางครั้งหยุดเต้นเป็นช่วง ๆ
3. หายใจไม่ออก หรือหายใจไม่ทัน ซึ่งบางครั้งรู้สึกเป็นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายเพียงเบา ๆ หรือปานกลางเท่านั้น
4. บางรายมีอาการเหมือนคนเป็นโรคหืดหอบ ถุงลมปอดโป่งพอง หายใจได้ออกซิเจนไม่เพียงพอ
5. อาการอ่อนเพลียอย่างมาก แขนขาชาหรืออ่อนแรง มีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจต้องคำนึงถึงโรคทางด้านสมองร่วมด้วย
6. อาการใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นและไม่เคยเป็นมาก่อน หรือเป็นมาแล้วใช้เวลานานมากกว่าปกติทั่วไปจึงค่อยดีขึ้น ขอให้พึงสังวรณ์ไว้ในแง่ร้ายแรงเอาไว้ก่อน
หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน
หากว่าท่านออกกำลังกายเป็นประจำ ท่านควรมีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือของท่าน (ซึ่งเชื่อได้ว่าในปัจจุบันนี้มีโทรศัพท์มือถือเกือบทุกคน) หากท่านมีอาการใน 6 ข้อดังกล่าวข้างต้น ท่านอาจต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่าน หากไม่มีแพทย์ประจำตัวขอให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลของโรงพยาบาลที่ท่านมีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินนั้นๆ ซึ่งควรเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สถานที่ออกกำลังกายของท่านนั่นเอง
สำหรับในปัจจุบันในหลายโรงพยาบาลได้จัดให้มีพยาบาลมาทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำเบื้องต้น กรณีมีปัญหาฉุกเฉินทางการแพทย์เกิดขึ้นกับตัวท่าน เช่น รพ.กรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กทม. มีพยาบาลทำหน้าที่เป็น contact center agents ถึง 12 คน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอด 24 ชม. โดยท่านสามารถโทรศัพท์จากบ้านหรือมือถือ เพียงกดหมายเลข 4 หลัก คือโทร. 1719 และหากมีปัญหาที่ยุ่งยากลึกซึ้ง ก็สามารถต่อสายปรึกษาแพทย์โรคหัวใจได้เช่นเดียวกันและเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้รับปรึกษาทั่วประเทศ หากท่านหมุนโทรศัพท์ 1719 จากจังหวัดใดก็ตาม องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็สามารถเชื่อมสายไปยัง contact center ของโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่อยู่ใกล้ท่านได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในกรณีฉุกเฉินแก่ประชาชนทั่วไป
หมดเนื้อหาสำหรับเสาร์นี้อีกแล้วครับ ผมหวังว่าท่านที่ออกกำลังกายประจำหรือท่านที่ออกกำลังไม่ประจำและท่านที่คิดจะออกกำลังกายในอนาคต ท่านคงได้แนวทางการระมัดระวังตนเองจากการสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ขณะออกกำลังกายแล้วนะครับ สวัสดีครับ
ขอบคุณครับ{:5_119:} ขอบคุณมากๆคับ ขอบคุณมากๆคับ
หน้า:
[1]