เมื่อถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก ใช้น้ำแข็งรักษาได้
คนทั่วไปมักมีความเชื่ออย่างผิด ๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ เชื่อว่าบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เมื่อถูกน้ำจะพอง ดังนั้นจึงถือหลักปฏิบัติผิด ๆ กันตลอดเวลาว่า แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกนั้นห้ามถูกน้ำ การปฐมพยาบาลจึงมักใช้น้ำมันมะพร้าว ใช้ยาสีฟันทาเข้าไป บางรายก็ใช้ปูนกินกับหมากทาหรือพอกเข้าไป ผู้เขียนจึงอยากจะขอให้เราเลิกความเชื่อข้างต้นเสีย และแนะนำให้ใช้น้ำแช่น้ำแข็ง มาใช้ปฐมพยาบาลแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แทนการใช้ของอย่างอื่น เพราะน้ำแข็งหาได้ง่ายทั่วไป ถ้าไม่มีน้ำแข็งก็ใช้น้ำเย็นธรรมดานี่แหละ แต่ถ้าใช้น้ำแข็งแล้วจะดีที่สุด ดีกว่าน้ำมันหรือของใดๆ ทั้งสิ้น ในหมอชาวบ้านฉบับที่ 4 ปีที่ 1 เดือนสิงหาคม 2522 คุณหมอเกษียร ภังคานนท์ ก็ได้แนะนำให้ใช้ความเย็นรักษาแผลดีกรีที่หนึ่ง เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ผู้เขียนอยากจะสนับสนุนคุณหมอเกษียรในเรื่องนี้ และอยากจะให้บอกกันต่อๆ ไปให้รู้ทั่วกัน แล้วให้เลิกเชื่อกันเสียทีเรื่องแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกถูกน้ำไม่ได้ นอกจากนั้นการใช้น้ำแข็งช่วยปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกนี้ ไม่ว่าเป็นแผลดีกรีอะไรใช้ได้ทั้งสิ้น
วิธีปฏิบัติ
ถ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นบริเวณแขน ขา นิ้ว ก็ใช้อวัยวะส่วนนั้นจุ่มหรือแช่ในน้ำที่มีน้ำแข็งแช่ไว้ให้เย็นและแช่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทนได้ เมื่อแช่ไปได้พักหนึ่ง ถ้าเย็นมากไปก็เอาอวัยวะส่วนที่แช่ออกชั่วคราว แล้วแช่กลับไปใหม่ ทำอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะหมดไป
ถ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก อยู่ที่ใบหน้าหรือลำตัวให้ใช้น้ำแข็งทุบใส่ถึงพลาสติกแล้วใช้วางบริเวณนั้น หรืออาจใช้ผ้านุ่มๆ ที่สะอาดปูรองไว้ชั้นหนึ่งก็ได้ และใช้ถุงน้ำแข็งวางไว้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้เช่นเดียวกัน ถ้าบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นบริเวณกว้าง หรือเป็นแผลดีกรีที่สามที่ทำให้เกิดแผล ผิวหนังแหว่งไป ซึ่งจำต้องพาไปหาแพทย์ ระหว่างพาไปหาแพทย์ให้ใช้ถุงน้ำแข็งประคบ หรือแช่น้ำแข็งบริเวณที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกนั้นไปด้วย
การรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกด้วยความเย็นนี้ เป็นการรักษาพื้นบ้านที่รูกันทั่วไปในประเทศไอซแลนด์ (Iceland) ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในเขตหนาว ในปี พ.ศ.2503 ได้มีรายงานในวารสารการแพทย์ทางศัลยกรรมตกแต่งของอังกฤษว่า ได้มีหญิงคนหนึ่งอายุ 40 ปี ไปหาแพทย์ โดยให้ประวัติว่า เมื่อตอนเด็กๆ อายุ 2 ขวบ หกล้มแล้วแขนขวาลงไปในหม้อน้ำนมที่กำลังเดือดจนถึงรักแร้ ขณะเกิดเหตุมีหญิงคนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือ โดยอุ้มเด็กขึ้นและเอาแขนเด็กจุ่มลงไปในน้ำเย็นทันที (น้ำเย็นหรือน้ำก๊อก ในประเทศยุโรป มีความเย็นเท่าๆ กับน้ำแช่น้ำแข็งในบ้านเรา) แต่จุ่มลงไปแค่ข้อศอกเท่านั้น เมื่อ แพทย์ได้ตรวจผู้ป่วยหญิงคนนั้นปรากฏว่า แขนขวาจากมือถึงข้อศอกมีลักษณะเหมือนแขนอีกข้างหนึ่งที่ปกติ ส่วนบริเวณที่อยู่เหนือข้อศอกขึ้นไป เป็นแผลเป็นสีน้ำตาลปนขาวกระดำกระด่างน่าเกลียดและต้นแขนลีบเล็กกว่าปลายแขน แสดงว่าความเย็นสามารถป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อที่เกิดจากความร้อนได้เป็นอย่างดี นอกจากรายงานนี้แล้ว ยังมีรายงานอีกหลายฉบับ รวมทั้งรายงานการวิจัยต่างๆ ที่สนับสนุนว่า การใช้ความเย็นปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกนั้นได้ผลดี เพราะ
1. ความเย็นไปลดการบวมการพองของเนื้อเยื่อ
เพราะฉะนั้นถ้าแผลไฟไหม้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะมีการพองเกิดขึ้น การใช้ความเย็นจะทำให้ระงับการพองได้ หรือถ้าแผลลึก การใช้ความเย็นจะทำให้พองน้อยลง เรื่องนี้ใคร ๆ ที่เคยไปอยู่ประเทศหนาวและทำครัวเอง คงจะสังเกตได้ว่าการถูกน้ำร้อนลวกเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นถูกน้ำข้าวกำลังเดือด ๆ กระเด็นใส่มือ ถ้ารีบล้างน้ำเย็นมักไม่ค่อยพอง ซึ่งถ้าอยู่เมืองไทยถูกความร้อนขนาดนั้นจะพองทุกที
2. ความเย็นสามารถทำให้การทำลายของเนื้อเยื่อจากความร้อนน้อยลง
เวลาถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก แล้วปวดแสบปวดร้อนนั้น เป็นเวลาที่เนื้อเยื่อกำลังถูกทำลาย ความผิดปกติต่าง ๆ กำลังดำเนินไป เมื่อถูกความเย็นจะทำให้ยับยั้งการทำลายของเนื้อเยื่อ ทำให้ลดความเจ็บปวดลงด้วยและทำให้แผลที่เกิดขึ้นตื้นกว่าที่ควรจะเป็น หายเร็วกว่า แผลเป็นไม่เกิดหรือเกิดน้อยกว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากผู้ป่วยที่เคยมีอยู่ในวารสารทางการแพทย์ ดังที่เล่ามาข้างต้นนี้แล้ว ยังแสดงให้เห็นได้จากการทดลองในสัตว์อีกด้วย
ก่อนจบบทความนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายจำไว้ง่ายๆ ว่า ใช้ความเย็นรักษาความร้อนที่มา : http://doctor.or.th/node/4747
หน้า:
[1]