Medmayom โพสต์ 2012-4-17 11:28:05

อาชีพเก่าแก่ แต่ยังทันสมัย


   นครโสเภณี หรือหญิงนครโสเภณี (อังกฤษ: prostitute, common prostitute หรือ whore) หมายความว่า ผู้หญิงประเภทหนึ่งที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี มีความหมายตามตัวอักษรว่า หญิงงามประจำเมือง หรือหญิงผู้ทำให้เมืองงาม เรียกโดยย่อว่า "โสเภณี" "หญิงโสเภณี" หรือ "หญิงงามเมือง" ทั้งนี้ ในภาษาแบบแผนเรียก "นครโสภิณี" หรือ "หญิงนครโสภิณี" ภาษาถิ่นอีสานเรียก "หญิงแม่จ้าง" และภาษาปากเรียก "กะหรี่" "หญิงหากิน" หรือ "อีตัว"
   ที่รวมกลุ่มของหญิงนครโสเภณีซึ่งบางทีก็เป็นที่ประกอบอาชีพด้วยนั้น เรียก "ซ่องโสเภณี" (อังกฤษ: bawdy house, brothel, disorderly house, house of ill fame หรือ house of prostitution) โบราณเรียก "โรงหญิงนครโสเภณี" และภาษาปากว่า "ซ่องกะหรี่"
หญิงนครโสเภณีนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า หญิงโสเภณี หรือโสเภณี ซึ่งเดิมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับ พ.ศ. 2493) ให้นิยามว่า "หญิงงามเมือง, หญิงคนชั่ว" ภาคอีสานเรียกหญิงนครโสเภณีว่า "หญิงแม่จ้าง" คือ เป็นผู้หญิงที่รับจ้างกระทำชำเราสำส่อน โดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง
   "หญิงงามเมือง" นั้น คำนี้ความหมายเดิมหมายถึงเพียงนางบำเรอชั้นสูงประจำนครใหญ่ ๆ หรือนครหลวง มีหน้าที่ปรนนิบัติและบำเรอชายทั้งที่เป็นแขกเมืองและชาวเมืองให้เป็นที่ชอบใจโดยไม่ประสงค์จะมีลูกสืบสกุล เพราะหญิงประเภทนี้ถือว่าถ้ามีลูกแล้วตนก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชายที่จะมาให้บำเรออีก นี้เป็นวัฒนธรรมโบราณของแถบเอเชียตะวันตก
   มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลคือ นางสาลวดี มารดาของหมอชีวกโกมารภัจ นางเป็นนางบำเรอชั้นสูงประจำกรุงราชคฤห์ นครหลวงแคว้นมคธ (ปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อบำเรอชายแล้วก็เกิดตั้งท้องขึ้นจึงอ้างว่าเจ็บป่วยเพื่อปิดความจริงและไม่ยอมพบใครทั้งสิ้นตลอดเวลาตั้งท้องนั้น เมื่อคลอดแล้วได้เอาเบาะหุ้มห่อทารกใส่กระด้งไปทิ้งในเวลากลางคืน เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จไปพบและรับมาเลี้ยงจึงรอดตาย ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า "ชีวก" (/ชีวะกะ/) แปลว่า "ผู้มีชีวิต"
   ที่มีชื่อว่า "นครโสเภณี" นั้น ราชบัณฑิตยสถานว่าเห็นจะเป็นเพราะว่า หญิงพวกนี้อาศัยเมืองหรือนครเป็นที่หาเลี้ยงชีพ หญิงโสเภณีตามชนบทนั้นไม่มี เพราะการเป็นโสเภณีนั้นเป็นที่รังเกียจของสังคม ผู้หญิงพวกนี้จึงอาศัยที่ชุมชนเป็นที่หากิน อีกประการหนึ่ง ในเมืองหรือนครนั้นมีผู้คนลูกค้ามากมาย เป็นการสะดวกแก่การค้าประเวณี
   อนึ่ง ว่ากันตามรากศัพท์แล้ว ราชบัณฑิตยสถานว่า "นคร" แปลว่าเมือง "โสภิณี" แปลว่าหญิงงาม "นครโสภิณี" จึงแปลว่า หญิงงามประจำเมือง หรือหญิงผู้ทำเมืองให้งาม คำว่า "นครโสเภณี" กร่อนไปเป็นคำว่า "โสเภณี" ในปัจจุบันหญิงโสเภณีมักรวมกลุ่มกันในสถานค้าประเวณีที่เรียกกันว่า "ซ่องโสเภณี" ซึ่งในภาษาไทยตามกฎหมายเก่า (พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127) ว่า "โรงหญิงนครโสเภณี" อย่างไรก็ดี หญิงโสเภณีอาจอยู่ตามโรงแรม สถานอาบ-อบ-นวด โรงน้ำชา ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย หรือตามสถานบันเทิง หรืออาจอยู่บ้านส่วนตัวและรับจ้างร่วมประเวณีเฉพาะโอกาสก็ได้
   ลักษณะสำคัญของหญิงโสเภณีคือ ประพฤติตนสำส่อนในทางประเวณี ด้วยการรับจ้างกระทำชำเรากับชายหลายคนเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเป็นหญิงที่ค้าประเวณีกับชายทั่วไป เพราะฉะนั้น ถ้าหญิงร่วมประเวณีกับชายทั่วไปเป็นประจำไม่สำส่อน แม้จะได้รับค่าตอบแทนก็ตาม ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นหญิงโสเภณี
   ตัวอย่างสำหรับลักษณะข้างต้น มีกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีเมื่อนานมาแล้ว ข้อเท็จจริงมีว่า หญิงคนหนึ่งเป็นภริยาเก็บของเศรษฐีคนหนึ่ง ต่อมาเศรษฐีนั้นประสบอุบัติเหตุต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้เธอหวนกลับไปคบกับคู่รักเก่าซึ่งมาหาสู่เธอที่บ้านสองสามครั้งและได้รับรางวัลเป็นเงินจากชายคู่รักเก่านี้ เธอถูกตำรวจจับและถูกลงโทษจำคุกหนึ่งวันฐานประพฤติตนเป็นหญิงโสเภณี ต่อมาเธอได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า เธอมิใช่หญิงโสเภณี จากตัวอย่างกรณีนี้ทำให้นักกฎหมายเยอรมันวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคำว่า "โสเภณี" เสียใหม่ว่า สตรีที่ได้รับรายได้ทั้งสิ้นหรือบางส่วนจากผู้มาเกี่ยวข้องด้วยในทางประเวณีเป็นประจำ ไม่เรียกว่าเป็นผู้ค้าประเวณี
   ส่วนที่ว่า "ค้าประเวณี" นั้นหมายความว่า หญิงใช้อวัยวะของตนเสมือนหนึ่งสินค้า รับจ้างปลดเปลื้องความใคร่ให้แก่ลูกค้าด้วยการร่วมประเวณีด้วย ถ้าเป็นแต่นวดให้ผู้ชาย เช่น หญิงตามสถานอาบ-อบ-นวด โดยมิได้กระทำชำเรา แม้จะได้กระทำการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศอยู่บ้าง ก็มิได้ชื่อว่าเป็นหญิงโสเภณี
   ในสมัยดึกดำบรรพ์ หญิงโสเภณีไม่มีราคาหรือไม่ถือว่าต่ำช้า เพราะในสมัยนั้นไม่ถือธรรมเนียมหรือคุณค่าทางพรหมจารี การสมสู่เป็นไปโดยเสรีและสะดวก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ชาวสลาฟโบราณถือว่า หญิงดีมีค่านั้นจะต้องมีชายรักใคร่เสน่หาร่วมประเวณีมาก่อนสมรส ถ้าสามีตรวจพบว่าภริยาของตนมีพรหมจารีที่ยังไม่ถูกทำลายก็มักไม่พอใจ บางรายถึงขนาดขับไล่ไสส่งภริยาไปก็มี เนื่องจากอุดมคติในเรื่องพรหมจารีมีอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิงบางหมู่แสวงหาเครื่องหมายจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของชายคู่รักเพื่อเก็บไว้อวดชายที่มาเป็นสามี เมื่อเสรีภาพในการร่วมประเวณีมีอยู่เช่นนั้น หญิงโสเภณีในยุคแรกเริ่มเดิมทีก็นับว่าไม่มี
   จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีมีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาเทวีผู้ซึ่งมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ของอินเดียได้แก่พิธีบูชาพระแม่กาลีซึ่งบางทีก็เรียก "ทุรคาบูชา" (ฮินดี: Durgapuja) พิธีเช่นว่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความรู้สึกฝังใจอยู่กับชายคนแรกที่เธอร่วมประเวณีด้วย การสละพรหมจารีดังกล่าวจึงกระทำเพื่อบูชาเทวีเบื้องบนเสีย และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้นก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าชายแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำโชคลาภมาสู่ตน
   การสละพรหมจารีด้วยการร่วมประเวณีกับชายแปลกหน้านั้นบางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน หญิงชาวบาบิโลนโบราณพากันมานั่งคอยชาวแปลกหน้าในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์ (Ishtar) เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธี โดยไม่ว่าเงินที่ชายโยนให้นั้นจะมากน้อยเพียงไร เมื่อได้พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงนั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลาหลายปี
   บางท้องที่ก็มีพิธีกรรมทางโสเภณีเพื่อการศาสนา เช่น นักบวชหญิงร่วมกันจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศดังกล่าวจะส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดเพื่อขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า บางแห่งหญิงสาวอุทิศตนเป็นนางบำเรอประจำวัด เพื่อร้องรำทำเพลงบำเรอพวกนักบวชและพวกธุดงค์ที่มาสักการะเทพเจ้าในสำนักตน ทั้งหมดนี้เป็นจุดกำเนิดของหญิงโสเภณีในปัจจุบัน แต่โสเภณีทางศาสนาดังกล่าวมาแล้วกระทำในคลองจารีตประเพณีของศาสนา ไม่อื้ออึงหรืออุจาดนัก
   ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณีเพื่อสะสมทุนทรัพย์สำหรับสมรส ชายที่สมสู่ไม่ต้องวางเงินบนแท่นบูชาแต่ให้ใส่ลงในเสื้อของหญิง ภายหลังหาเงินได้สองสามปีก็จะกลับบ้านเพื่อแต่งงาน และถือกันว่าหญิงที่ได้ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้วเป็นแบบอย่างของเมียและแม่ที่ดี การปฏิบัติของหญิงโสเภณีประเภทหลังนี้ บางคนก็กระทำไปโดยมิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาเลย มีตัวอย่างเช่นหญิงที่รับตำแหน่ง "มิดะ" ในชนเผ่าชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง
   ครั้นกาลเวลาล่วงมา อารยธรรมในทางวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น การโสเภณีทางศาสนาค่อยเลือนลางจางไป โดยมีโสเภณีทางโลกเข้ามาแทนที่ โรงหญิงโสเภณีโรงแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ โดยเป็นโรงหญิงโสเภณีสาธารณะ เก็บเงินรายได้บำรุงการกุศล ผู้จัดตั้งชื่อ "โซลอน" (Solon) เป็นนักกฎหมายและนักปฏิรูป วัตถุประสงค์ในการตั้งโรงหญิงโสเภณีดังกล่าวมีสองประการ คือ 1) เพื่อคุ้มครองอารักขาความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวของประชาชน มิให้มีการซ่องเสพชนิดลักลอบและมีชู้ และ 2) เพื่อหารายได้บำรุงการกุศลต่าง ๆ
จากนั้นโสเภณีก็ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน
   โดยเหตุที่การค้าประเวณีนำมาซึ่งความเสื่อมเสียทางศีลธรรมและปัญหาสังคมต่าง ๆ นานาดังกล่าว รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยได้พยายามแก้ปัญหานี้อยู่เสมอ แต่สภาพการณ์ก็ยังทรง ๆ ทรุด ๆ เรื่อยมานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยเพิ่งจะเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ โดยพระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ชื่อ "พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127" เหตุผลในการประกาศใช้มีว่า
"...ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า ทุกวันนี้หญิงบางจำพวกประพฤติตนอย่างที่เรียกว่าหญิงนครโสเภณี มีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งโรงหาเงินขึ้นหลายตำบล แต่ก่อนมาการตั้งโรงหญิงนครโสเภณี นายโรงช่วยไถ่หญิงมาเป็นทาสรับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วตั้งเป็นโรงขึ้น ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกทาสเสียแล้ว หญิงบางจำพวกที่สมัครเข้าเป็นหญิงนครโสเภณีก็รับตั๋วจากเจ้าภาษีแล้วมีหัวหน้ารวบรวมกันตั้งขึ้นในท้องที่โรงอันควรบ้างมิควรบ้าง กระทำให้มีเหตุเกิดการวิวาทขึ้นเนือง ๆ อีกประการหนึ่ง หญิงบางคนป่วยเป็นโรคซึ่งอาจจะติดต่อเนื่องไปถึงผู้ชายที่คบหาสมาคมได้ ก็มิได้มีแพทย์ตรวจตรารักษาโรคร้ายนั้น อาจจะติดเนื่องกันไปจนถึงเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตมนุษย์เป็นอันมาก และยังหาได้มีกฎหมายและข้อบังคับอย่างใดสำหรับจะป้องกันทุกข์โทษภัยแห่งประชาราษฎรทั้งหลายเหล่านี้ไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตืขึ้นไว้สืบไปดังนี้..."
   สาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127 มีว่า 1) หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับผู้อื่นหรือล่อลวงมาให้เป็นหญิงนครโสเภณีมิได้เลย มีโทษตามพระราชกำหนดลักษณะข่มขืนล่วงประเวณี รัตนโกสินทรศก 118 ซึ่งโทษนี้ปัจจุบันมีบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาแทนแล้ว 2) หญิงนครโสเภณีทุกคนต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อนจึงจะเป็นได้ และต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนับว่าสูงมากในสมัยนั้น แสดงเจตนารมณ์ในการป้องปรามการเป็นโสเภณีอยู่ในตัว 3) ผู้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน และนายโรงก็เป็นได้แต่ผู้หญิง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง 4) หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย้ง ล้อเลียน เป็นต้น 5) เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไปในโรงหญิงนครโสเภณีทุกเมื่อ เพื่อนำตัวสมาชิกคนใดของโรงมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสักพักใช้ใบอนุญาตในคราวนั้นด้วยก็ได้
   ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดมีแนวคิดที่จะปรับสภาพหญิงนครโสเภณีให้กลับเป็นคนดีของสังคม องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการเลิกค้าประเวณีทั่วโลก โดยใน พ.ศ. 2492 ได้มีการประชุมร่างอนุสัญญาเพื่อการนี้ขึ้น ชื่อ "อนุสัญญาฉบับรวม" (อังกฤษ: Consolidated Convention) มีเนื้อหาสาระเป็นการขจัดการค้าสตรีและการแสวงหาประโยชน์จากหญิงนครโสเภณี เพื่อเลิกการทำให้การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่หญิงนครโสเภณีเพื่อกลับเป็นคนดีของสังคมต่อไปด้วย ซึ่งเมื่อประกาศใช้แล้ว ไทยเองก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้
   ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามจัดตั้งสำนักโสเภณีเพิ่มขึ้นอีก และใน พ.ศ. 2498 ก็ได้มีการห้ามจดทะเบียนโสเภณีเป็นเด็ดขาด ซึ่งรัฐเองก็มีนโยบายจัดการสงเคราะห์หญิงนครโสเภณีขึ้นด้วย ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ครั้งนั้น รัฐบาลดำริจะจัดตั้งนิคมโสเภณีขึ้นเพื่อการดังกล่าว แต่ขัดข้องด้านงบประมาณ โครงการจึงระงับไว้จน พ.ศ. 2499 รัฐบาลได้ร่าง "พระราชบัญญัติห้ามการค้าประเวณี" ขึ้น แต่ไม่สามารถนำเข้าสู่รัฐสภาได้ ใน พ.ศ. 2503 รัฐบาลจึงเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่แทน คือ ร่างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาและประกาศใช้ตามลำดับ ปัจจุบันมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แทนที่แล้ว
   นอกจากกฎหมายหลักข้างต้น ประมวลกฎหมายอาญายังให้ความคุ้มครองแก่หญิงและเอาโทษชายแมงดาซึ่งเป็นกาฝากเกาะกินอยู่กับหญิงนครโสเภณี เช่น กำหนดโทษการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กหญิง เพื่อการอนาจารหรือเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น และกำหนดโทษเอาผิดแก่ชายแมงดาที่ดำรงชีพอยู่จากรายได้ของหญิงนครโสเภณีด้วย เป็นต้น
โทษที่กฎหมายวางไว้สำหรับความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีนี้อยู่ในระดับสูงมาก เพื่อผดุงคุณธรรมของชาติ และให้ความคุ้มครองแก่กุลบุตรกุลธิดามิให้ตกไปในอบายมุข อย่างไรก็ดี การที่หญิงต้องกลายเป็นโสเภณีนั้นมิได้เกิดจากการล่อลวงหรือชักพาแต่อย่างเดียว แต่มีสาเหตุหลายประการดังกล่าวไว้แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและแก้ไขกันไปตราบชั่วชีวิตของสังคม

tavan โพสต์ 2012-4-17 11:43:34

ดีคับ ได้ใจความ ขอบคุณนะครับ

barskk โพสต์ 2012-4-19 23:59:53

ขอบคุณสำหรับ สาระ ครับ

vera โพสต์ 2012-4-20 05:48:48

ขอบคุณมากๆคับ

Medmayom โพสต์ 2012-4-20 06:05:09

ต้นฉบับโพสต์โดย sunce เมื่อ 2012-4-20 05:48 static/image/common/back.gif
ขอบคุณมากๆคับ

เฮโล น้องฟิก ยังสอบไม่เสร็กอีกเหรอ

vera โพสต์ 2012-4-20 06:09:40

ต้นฉบับโพสต์โดย Medmayom เมื่อ 2012-4-20 06:05 static/image/common/back.gif
เฮโล น้องฟิก ยังสอบไม่เสร็กอีกเหรอ

ยังไม่เสร็จเลยคับอีกเป็นเดือนแนะคับ:L
แล้วพี่เป็นไงบ้างคับยังไม่นอนอีกหรอคับ

Medmayom โพสต์ 2012-4-20 06:16:22

ต้นฉบับโพสต์โดย sunce เมื่อ 2012-4-20 06:09 static/image/common/back.gif
ยังไม่เสร็จเลยคับอีกเป็นเดือนแนะคับ
แล้วพี่เป็นไ ...

โชคดีกับการสอบนะครับ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แล้วยอมรับผลอันนั้น ที่น่าจะออกมาดีด้วยเช่นกัน

อ้อ พี่ตื่นเร็วอะ เช้าแล้วที่นี่นะ

vera โพสต์ 2012-4-20 06:24:13

ต้นฉบับโพสต์โดย Medmayom เมื่อ 2012-4-20 06:16 static/image/common/back.gif
โชคดีกับการสอบนะครับ ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แล้วยอม ...

อ้อคับที่นี้เพิ่งตีหนึ่งครึ่งเองคับเีดียวว่าจะนอนแล้วคับ

annopwichai โพสต์ 2012-5-1 10:56:58

ขอบคุณครับ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: อาชีพเก่าแก่ แต่ยังทันสมัย