ทะเลรวมรส สดจากระยอง โดย : ชมพูพันธุ์ทาง
คู่มือเที่ยวไทยส่วนใหญ่ให้ข้อมูลตรงกันว่า หากคุณหลงใหล ความมหัศจรรย์ของโลกใต้ทะเล ต้องไม่พลาดทริปดำน้ำในอันดามันถ้าชื่นชอบกิจกรรมชายหาด แสงสียามราตรีต้องที่ภูเก็ต หรือพัทยา ทว่า ใครก็ตามที่ปรารถนาเป็นส่วนตัวประเภทหาดทราย สามลม สองเรา ต้องพยายามควานหาเกาะเล็กๆ ที่ไม่มีในคู่มือการท่องเที่ยว...สำหรับคนรักทะเลที่ไม่ได้ปรารถนาความเป็นที่สุด หากเพียงมองหาสถานที่สักแห่งที่จะทำให้วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นช่วงเวลาแห่งการสะสมพลังงาน คืนความเบิกบานให้กับชีวิตอีกครั้ง ไม่ต้องเตรียมตัวให้วุ่นวาย เพราะห่างจากกรุงเทพฯไปเพียง 200 กว่ากิโลเมตร เท้าที่เคยชินกับความแข็งกระด้างของพื้นปูนจะได้สัมผัสกับความเนียนละเอียดของผืนทราย สายตาที่อ่อนล้าจากหน้าจอคอมพิวเตอร์จะผ่อนคลายด้วยสีฟ้าใสของน้ำทะเล การเมืองสีเหลืองสีแดงจะหายไปทันทีเมื่อปลาหลากสีเข้ามาทักทายนักดำน้ำหน้าใหม่ ขณะที่สีเขียวๆ รอบตัวไม่มีเหตุอันใดให้ต้องหวาดระแวง นอกจากสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอด เรื่องอาหารทะเลสดๆ ไม่ต้องพูดถึง แต่ที่มีมากกว่าคือ ผลไม้หลากชนิดในราคากันเอง ใช่แล้ว...เรากำลังพูดถึงสถานที่พักผ่อนในจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย “ระยอง” เมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้อาทิตย์ตกที่เขาแหลมหญ้า ใครที่เคยไประยอง คงนึกถึงที่พักริมหาดบ้านเพ หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว หรือไม่ก็ตามเกาะต่างๆ โดยเฉพาะ เกาะเสม็ด ซึ่งได้รับสมอ้างให้เป็นเกาะแก้วพิสดาร ปลายทางของคู่รักตั้งแต่รุ่นคุณแม่จนถึงปัจจุบันที่ดูเหมือนจะเป็นชุมชนแออัดของนักท่องเที่ยวไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบแสงสี ชายหาดระยองยังมีที่พักเรียบง่ายท่ามกลางความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาเเหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งนี้ตั้งอยู่ในอำเภอแกลง และอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่บนฝั่งและในท้องทะเล ตลอดจนเกาะต่างๆ ประกอบด้วยเกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะทะลุ เกาะกุฎี เกาะมะขาม และเกาะปลายตีน บ้านพักของอุทยานมีให้เลือกหลากหลายทั้งบนฝั่งและบนเกาะ แต่ทริปนี้เราเลือกพักบนฝั่งบริเวณเขาแหลมหญ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาเตี้ยๆ ติดชายทะเล ที่นี่ยังคงสภาพป่าไว้บางส่วน ขณะที่ชายหาดไม่ต้องห่วงเรื่องความสงบและเป็นธรรมชาติ เพราะอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานฯ ยกเว้นช่วงวันหยุดยาวที่นักท่องเที่ยวอาจเดินทางเข้ามามากจนเกินพิกัด และบางคนก็ไม่ค่อยเคารพกฎ กติกา มารยาทของสถานที่ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์มากกว่าท่องเที่ยว ตามประสาคนชอบแวะ เราแวะเที่ยวโน่น ชิมนี่ตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดน้ำสี่ภาค พัทยาใต้, สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง หรือร้านอาหารที่หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะต้องมาชิมให้ได้อีกหลายแห่ง กว่าจะถึงอุทยานฯ จึงค่อนไปทางบ่ายแก่ กิจกรรมเรียกน้ำย่อยของวันแรกเป็นการเดินสำรวจรอบๆ ที่พัก ซึ่งสิ่งที่ยืนยันสภาพป่าทึบในอดีตที่ลือกันว่าเคยเป็นที่ซ่องสุมของโจรสลัดก็คือ ป้ายเตือนให้ระวังลิงป่าที่ติดอยู่ตามหน้าต่างและใกล้ที่พัก รวมถึงสัตว์ป่า (ตัวเล็กๆ) บางชนิดที่ยังหลงเหลือแม่บ้านเล่าว่า ถ้านักท่องเที่ยวนำอาหารหรือขนมวางไว้แล้วไม่ปิดหน้าต่างประตูให้ดี บางครั้งลิงจะลงมาเป็นสิบๆ ตัวเลยทีเดียว แต่โชคดีที่ยังไม่มีประวัติทำร้ายนักท่องเที่ยว แม้ค่อนข้างเชื่อว่ามีบรรพบุรุษเดียวกัน แต่เพื่อความไม่ประมาทก่อนออกไปกินลมชมวิว หน้าต่างทุกบานจึงได้รับการตรวจตราลงกลอนอย่างแน่นหนาจากที่พักมีป้ายบอกทางลงไปชายหาดและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เราเลือกฝากรอยเท้าบนผืนทรายก่อน อากาศไม่ร้อน แดดไม่แรง และโชคดีที่ฝนไม่ตก เดินไปไม่ทันเหนื่อยก็ถึงสะพานไม้ที่ทอดยาวลงไปในทะเล "ที่นี่เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากเวดดิ้งสตูดิโอ.." ใครบางคนให้ข้อมูลไว้อย่างนั้นเสียดายที่วันนี้ไม่มีว่าที่บ่าว-สาว มีแต่ก๊วนหนุ่ม (เหลือน้อย) กับสาวโสด (สนิท) ที่อาศัยปลายสะพานเป็นที่นั่งทอดอารมณ์ ตามข้อมูลของอุทยานฯ จุดที่น่าสนใจในอาณาบริเวณของอุทยานเขาแหลมหญ้าฯ ได้แก่ หินขาว หินดำ และอ่าวเครื่องบินตก ส่วนด้านทิศใต้จะมีแหลมประดับ ซึ่งบางครั้งเรียก แหลมยา หรือ แหลมหญ้า มีสภาพเป็นดงหญ้าตั้งแต่ชายฝั่งขึ้นไปจนเกือบถึงยอดเขาสวยงามมาก"จากแหลมประดับไปทางทิศตะวันออกเป็นอ่าวสลัดและแหลมตาล มีสภาพเหมือนย่อส่วนจากแหลมพรหมเทพที่เกาะภูเก็ต บริเวณอ่าวสลัดมีดงปะการังใกล้ชายฝั่งที่ยังบริสุทธิ์อยู่" กินลมชมวิวกันจนแสงอาทิตย์เริ่มอ่อนแรง เราเห็นพ้องต้องกันว่าได้เวลาไปชิมอาหารทะเลสดๆ ซึ่งมีให้เลือกมากมายตามแนวชายหาดแม่รำพึง จากนั้นจะได้ไปรอชมพระอาทิตย์ตกกันที่แหลมประดับ การเฝ้ารอแสงสุดท้ายที่นี่ อาจไม่อลังการเท่าแหลมพรหมเทพ แต่ก็ไม่ต้องแย่งชิงมุมเหมาะๆ สำหรับถ่ายภาพ ไม่ต้องฟังเสียงเซ็งแซ่ของผู้คนที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษกับกิจวัตรของพระอาทิตย์ปล่อยให้สายตาลำดับภาพที่อยู่ตรงหน้า ปล่อยให้ความเงียบพาเราเข้าสู่ความจริงที่ว่า..ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เพียงไรทักทายฝูงปลาที่เกาะทะลุ ไปทะเลทั้งที ถ้าเนื้อตัวไม่เปียกและเค็มคงเรียกว่า “ไปไม่ถึง” และถ้าใครกำลังคิดว่า ทะเลระยองจะสวยแค่ไหนกันเชียว ขอให้ลบภาพเก่าๆ ออกไปก่อน จากนั้นมุ่งหน้าไปที่ท่าเรือแถวบ้านเพ ที่มีบริการเรือโดยสารไปเกาะเสม็ด วิธีการง่ายๆ สะดวกและประหยัด คือการซื้อแพ็คเกจทัวร์แบบไป-กลับในหนึ่งวัน เพียงเท่านี้คุณก็จะพบกับมุมมองที่ไม่เหมือนเดิม แต่มีข้อแม้ว่า...วันนั้นฟ้าฝนต้องเป็นใจด้วย โดยไม่มีข้อมูลมาก่อน เราใช้บริการทัวร์ของท่าเรือนวลทิพย์แบบวัดดวง เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงท่าเรือก็สายแล้ว เลือกโปรแกรมดำน้ำดูปะการังที่ เกาะทะลุ เกาะกุฎี และแวะชมฟาร์มปลาที่เกาะเสม็ดรายการนี้รวมอาหารกลางวัน ผลไม้ และเครื่องดื่ม ราคาต่อหัว 650 บาท (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้) ไม่รวมค่าเรือโดยสารไปเกาะเสม็ด เพราะต้องไปขึ้นสปีดโบตที่นั่น45 นาทีโดยประมาณ จากฝั่งถึงเกาะเสม็ดดูเหมือนทุกคนจะใช้เวลาในการเล่าความหลัง..ครั้งแรกที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่(เคย) ประทับใจในหาดทรายขาวละเอียด น้ำทะเลใสๆ และบรรยากาศน่ารักๆ ของที่พักราคากันเอง เสม็ดวันนี้อาจจะมีหน้าตาเปลี่ยนไปบ้าง เหมือนหญิงสาวที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แต่เธอยังคงยิ้มอย่างเป็นมิตร เสียดายที่เราไม่มีเวลาทักทาย...เรือเร็วพาตัดคลื่นไปยังจุดดำน้ำบริเวณเกาะทะลุ ชูชีพพร้อม สน็อกเกิลพร้อม ได้เวลากระโจนลงน้ำ ฟ้าสวยแดดใสส่องให้เห็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ลึกลงไปใต้ผืนน้ำ แม้จะไม่มีปะการังหลากสีหรือปลาสวยงามอย่างทะเลอันดามัน แต่ปลารับแขกอย่างปลาสลิดหินก็ช่วยเติมสีสันให้กับบรรดาผู้คนที่มาลอยคออยู่ด้วยกันได้ไม่น้อย โดยเฉพาะสาวๆ ที่เผลอคิดว่าตัวเองเป็นนางเงือก ว่ายหยอกล้อกับฝูงปลาอย่างสนุกสนานดำน้ำกันพอหอมปากหอมคอ เราขึ้นไปพักผ่อนบน เกาะกุฎี หาดทรายขาวโค้งรับน้ำทะเลสีฟ้าใส กิ่งก้านของต้นไม้เหมือนประติมากรรมริมชายหาด เป็นภาพที่ยากจะละสายตา แต่แล้ว...กลิ่นบาร์บีคิวที่ลอยมาดูเหมือนจะมีอานุภาพมากกว่า ทุกคนเดินไปนั่งประจำโต๊ะ อาหารมื้อนี้ดูจะอร่อยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสับปะรดหวานๆ ที่เอามาแก้ความเค็ม(ของน้ำทะเล)ได้ชะงัด เกาะกุฎี หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เกาะกุด เป็นเกาะหนึ่งในวรรณกรรมของสุนทรภู่ อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะเสม็ด ใกล้กับเกาะนี้ยังมีเกาะขนาดเล็กอีก 2 เกาะ คือ เกาะท้ายค้างคาวและเกาะถ้ำฤๅษี มีหาดทรายสวยงามเหมาะแก่การเล่นน้ำและตั้งแคมป์ รอบเกาะมีแนวปะการังซึ่งบางจุดอยู่ไม่ไกลชายหาดสามารถออกไปสน็อกเกิลได้อย่างสะดวก หรือถ้าใครติดใจน้ำใสๆ หาดทรายสวยๆ ของที่นี่ อยากจะค้างแรมก็ติดต่อหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เพื่อกางเต็นท์แบบแนบชิดธรรมชาติได้เราจบทริปด้วยการไปชมฟาร์มปลา นอกจากชมและถ่ายภาพแล้ว ยังสามารถให้อาหารกับมือ บางตัวแทบจะงับเอามือคนให้ไปด้วยซ้ำ เรียกเสียงกรี๊ดกร๊าดเป็นระยะช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ เผลอแป๊บเดียวสปีดโบตก็พานักท่องเที่ยวกลับมาส่งที่เกาะเสม็ด ร้านอาหารหลายแห่งบนหาดทรายขาวเริ่มจัดโต๊ะเตี้ยๆ ตรงชายหาด บนโต๊ะมีเทียนเตรียมไว้สำหรับดินเนอร์แสนโรแมนติกในค่ำคืนนี้ถึงจะเสียดายเล็กน้อยที่ต้องกลับขึ้นฝั่ง แต่ไม่มีใครเสียใจ เพราะคืนนี้..เราจะกลับไปนอนดูดาวที่เขาแหลมหญ้าระหว่างเรือโดยสารพาคนแปลกหน้านับสิบชีวิตมุ่งหน้าสู่ฝั่ง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะดังขึ้นเป็นจังหวะ แสงอาทิตย์เริ่มจับขอบน้ำส่องประกายสีทองกระเพื่อมไหว นี่อาจไม่ใช่ภาพที่สวยที่สุด แต่เป็นการเดินทางอีกครั้งที่น่าประทับใจที่สุด...
[*]การเดินทาง
ถ้าขับรถยนต์มาเองจะสะดวกที่สุด จากกรุงเทพฯ เดินทางไปได้หลายเส้นทาง เส้นทางแรกใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) เป็นระยะทาง 220 กม. หรือขับไปตามทางหลวงหมายเลข 3 และแยกซ้ายจากถนนสุขุมวิทตรง กม.ที่ 136.5 เข้าทางหลวงหมายเลข 36 เป็นระยะทาง 185 กม. เส้นทางที่ 3 คือไปตามทางหลวงหมายเลข 34 และเข้าทางหลวงหมายเลข 3138 โดยผ่านอำเภอบ้านบึง เป็นระยะทาง 179 กม. เส้นทางที่ 4 ไปตามทางหลวงหมายเลข 3 และเข้าทางหลวงหมายเลข 344 (สายบางนา-ชลบุรี-แกลง) จากตัวเมืองระยองจะมีป้ายบอกทางไปหาดแม่รำพึง สามารถขับรถไปตามถนนเลียบริมทะเล สุดทางถนนจะบังคับเลี้ยวซ้าย อุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดจะอยู่ซ้ายมือ บริเวณบ้านก้นอ่าว ถ.หาดแม่รำพึง-เพ ต.เพอ.เมืองระยองจ.ระยอง สอบถามโทร 0-3865-3034 สำหรับรถโดยสารประจำทาง มีรถของบริษัทขนส่ง จำกัด ทั้งรถยนต์โดยสารธรรมดาและปรับอากาศ ระหว่างกรุงเทพฯ-บ้านเพ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออก (เอกมัย) ถนนสุขุมวิท ประมาณชั่วโมงละคัน ตั้งแต่เวลา 05.00-20.30 น.
[*]ที่พัก
บ้านพักของอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีให้เลือกหลากหลายทั้งบ้านพักเดี่ยว (แอร์, พัดลม) ค่ายเยาวชน และสถานที่กางเต็นท์ นักท่องเที่ยวสามารถจองที่พักได้ด้วยตนเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต www.dnp.go.th เท่านั้น (กรมอุทยานฯไม่มีตัวแทนการจองที่พักกับภาคเอกชนรายใดทั้งสิ้น) จองล่วงหน้าได้ 60 วัน จองต่อเนื่องได้ครั้งละ 3 วัน กำหนดชำระเงินภายใน 2 วันทำการ ณ เคาน์เตอร์ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศเท่านั้น หรือติดต่อเจ้าหน้าที่ทำการจองให้โดยโทรมาที่ 0-2562-0760 หรือจุดจองที่พักในส่วนภูมิภาคหากสนใจพักบน เกาะกุฎี ที่นี่ไม่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว แต่มีเต็นท์ให้เช่า ราคา 200 บาท/คน/คืน ในกรณีที่นักท่องเที่ยวนำเต็นท์ไปเองเสียค่าพื้นที่กางเต็นท์ 20 บาท/คน/คืน (ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-3865-3034 หรือโทร. 0-2561-2919, 0-2561-2921 {:5_119:}ขอบพระคุณครับ{:5_119:}
หน้า:
[1]