Leadership 101 : ภาวะผู้นำผู้นำแนวใหม่
ภาวะผู้นำผู้นำแนวใหม่ คือ นักฟังและผู้สนับสนุนที่ดี การเป็นผู้นำในเศรษฐกิจยุคใหม่ ย่อมมีความแตกต่างไปจากการเป็นผู้นำในแบบเดิมๆ เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงทุกวินาที ลูกน้องคุณก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
คนทำงานสมัยนี้อาศัยอยู่ในสังคมแห่งความรู้อย่างที่เราเรียกว่า Knowledge - based Society ข้อมูลต่างๆ อยู่ใกล้เพียงปลายนิ้วคลิก การเป็นผู้นำสมัยนี้ จึงต้องเปลี่ยนจาก “ผู้บัญชาการ” (commander) มาเป็น “ผู้สนับสนุน” (facilitator) เจ้านายที่เอาแต่สั่งและเผด็จการกับลูกน้องอย่างเดียวนั้นจะรู้สึกว่า การทำงานในบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย และการยอมรับแนวคิดใหม่ๆ เป็นเรื่องยากเย็นสำหรับเขา
ผู้นำแบบเก่าเคยชินกับการบอก หรือสั่งงานลูกน้องแต่เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ ผู้นำแบบใหม่ใช้วิธีตั้งคำถาม ผู้นำแบบใหม่ใช้วิธีตั้งคำถาม ผู้นำแบบเก่ายึดติดอยู่กับวิธีแก้ปัญหาของตนแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ ผู้นำแบบใหม่เปิดกว้างต่อความคิดและข้อเสนอใหม่ๆ ผู้นำแบบเก่าคิดว่าโลกนี้มีเพียงสีขาวกับสีดำ ในขณะที่ผู้นำใหม่มองเห็นเฉดสีเทาเข้มอ่อน
การสื่อสารกับลูกน้องในโลกยุคข้อมูลข่าวสารทำให้ผมรู้สึกดีว่า โลกนี้ไร้พรมแดนจริงๆ ไม่มีกำแพงใดๆ มาขวางกั้นความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้อีกต่อไป ตัวคุณเองและลูกน้องของคุณมีแหล่งข้อมูลเดียวกัน ไม่ว่าข้อมูลนั้น จะเป็นกลยุทธ์การบริหารจัดการล่าสุดจากมหาวิทยาลัย Harvard หรือ Stanford หรือว่าจะเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนจาก CNN ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เหมือนๆ กันหมด
จริงอยู่ครับ คุณอาจจะเป็นเจ้านาย และคุณอาจเป็นคนคอยบอกอะไรต่อมิอะไรให้ลูกน้อง แต่อย่าลืมนะครับว่า มันไม่ได้แปลว่า คุณรู้ดีที่สุด การที่คุณพูดคุยกับเขาในลักษณะของ Facilitator คือ รู้จักป้อนคำถามให้ถูกจุด จับประเด็นสำคัญได้ ให้การสนับสนุนเขา นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วมมากกว่าแล้ว เขายังรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการบริหารด้วย
ถ้าคุณเอาแต่สั่ง สั่ง และสั่ง จงระลึกไว้เลยว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อการเปิดฉากโต้แย้งได้ง่ายๆ ซึ่งในที่สุดคุณเองอาจต้องยอมจำนน ถ้าลูกน้องของคุณมีข้อมูลเหนือกว่า
ผมจะเล่ากรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงให้ฟังเมื่อไม่นานนี้ลูกน้องของผมคนหนึ่งอีเมลมาหาผมเกี่ยวกับวิธีใหม่ในการรับมือ กับเอเยนซีโฆษณาผมไม่เคยได้ยินวิธีนี้มาก่อนเลยถามไปว่า “คุณได้ข้อมูลพวกนี้มาจากไหน” เขาตอบว่า “ผมอ่านมาจากเว็บไซต์ของสำนักงานใหญ่ของบริษัทเราเองครับ”
ผมต้องเปลี่ยนความคิดจาก “ผมถูก” “คุณผิด” มาเป็น “น่าสนใจ” อาจจะจริง ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าข้อมูลข่าวสารมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และก้าวไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยบางสิ่งบางอย่างที่เคยใช้เมื่อวานอาจใช้ไม่ได้ในวันรุ่งขึ้นก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจและนักธุรกิจหลายต่อหลายคนได้เรียนรู้สิ่งนี้ด้วยตนเองดูอย่าง IMF ก็ได้ IMF ยังต้องออกมายอมรับว่า ตนเองให้คำแนะนำที่ไม่ถูกต้องกับประเทศไทยเรื่องการปฏิรูปทางการเงิน ขนาดสถาบันโลกโลกอย่าง IMF ยังต้องรับผิดแล้วเราล่ะ ตัวเราจะเป็นฝ่ายถูกต้องอยู่เสมอได้อย่างไรทางที่ดีที่สุดก็คือ ควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นแล้วร่วมงานเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน
การทำงานร่วมกับคนหลากหลาย ช่องว่างระหว่างวัยอาจเกิดขึ้นได้ คนที่มาจากต่างยุค ต่างสมัยกันย่อมมีการมองโลกที่แตกต่างกันไปคนที่เกิดในยุค Baby Boom คือตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 – 1960 (พ.ศ.2493 – 2503) ก็จะมีความคิดและทัศนะแตกต่างไปจากคนยุค Generation X หรือ ผู้ที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 (พ.ศ. 2513-2523)
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นได้ แต่เราควรพลิกอุปสรรคให้เป็นโอกาส จริงอยู่ที่ความคิดของคุณอาจจะดี แต่ก็ไม่เห็นเสียหายหากจะลองวิธีอื่นๆ ดูก่อน ผมว่ามันคุ้มค่าที่ได้ลองวิธีอื่นดูบ้าง Steven Covey ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Seven Habits of Highly Effective People ที่โด่งดังไปทั่วโลก กล่าวได้ว่าการฟังเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งฟังเขาให้เข้าใจเสียก่อนแล้วค่อยทำให้เขาเข้าใจเรา
การเปลี่ยนมุมจาก “ขาวกับดำ” มาเป็น “สีเทา” นั้น ให้จำไว้ว่า โลกนี้ไม่ได้มีเพียงสองสีเท่านั้นแต่บางครั้งผู้นำหลายๆ คนก็ยังลืม และยึดติดว่า มีเพียงสีขาวกับสีดำสำหรับนโยบายทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม วิธีการบริหารเมื่อ 50 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่ค่อยมีใครนึกถึงคอมพิวเตอร์และเคเบิลทีวีอาจไม่เหมาะสมกับวินาทีนี้อีกแล้ว วันนี้ ผู้บริหารยุคใหม่จึงควรมีทัศนคติแบบ “It depends” หรือ “ยืดหยุ่นตามกรณี” การมีทัศนคติแบบนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น เพราะยิ่งคุณเปิดมุมมองให้กว้าง คุณก็ยิ่งมีทางเลือกมากขึ้นในการแก้ไขปัญหา
มาเป็นผู้นำแบบใหม่ เป็นผู้นำที่เป็นผู้สนับสนุน(facilitator) กันตั้งแต่วันนี้ คุณจะพบว่า ตัวคุณเองจะสบายขึ้น พนักงานของคุณมีส่วนร่วมมากขึ้น แถมยังมีความพึงพอใจในการทำงานมากกว่าเดิมอีกด้วยครับ
โดย เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย - วันพุธที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2547
ขอบคุณมากนะครับ ต้นฉบับโพสต์โดย chaiya333 เมื่อ 2012-4-23 15:29 static/image/common/back.gif
ขอบคุณมากนะครับ
ขอบคุณที่ให้ความสนใจครับ
หน้า:
[1]