Leadership 101 : ภาวะผู้นำ ล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด
"ภาวะผู้นำ" สามารถล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด โดย ดร. ชัชวลิต สรวารี หากมีใครสักคนมาพูดกับผมว่า คนนั้น คนนี้ เกิดมาเพื่อเป็น "ผู้นำ" หรือมี "ภาวะผู้นำ" มาตั้งแต่เกิด ผมคนหนึ่งละที่จะขอค้านแบบหัวชนฝา เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการเป็นผู้นำ หรือ ภาวะผู้นำ ที่เกิดขึ้นในตัวของบุคคลๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะสามารถเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติได้เลย การที่คนๆ หนึ่งจะเป็นผู้นำได้นั้น จะต้องเกิดจากการฝึกฝน การเรียนรู้เลียนแบบ ทั้งจากประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สะสมมาในห้องเรียน นอกห้องเรียน ฯลฯ
และยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำนั้นก็ยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ภาวะผู้นำ วุฒิความสามารถ ตลอดจนมุมมองของผู้นำนั้นยังเป็นสิ่งที่สามารถล้าสมัยได้ ไม่มีผู้นำคนไหนที่จะสามารถนำได้ทุกเวลาทุกสถานการณ์ เพราะความต้องการภาวะผู้นำของแต่ละสถานการณ์ย่อมจะแตกต่างกัน ภาวะผู้นำที่นำได้ดีในสถานการณ์หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผลในอีกหลายๆ สถานการณ์
ฉะนั้น การที่ผู้นำคนหนึ่งๆ จะรักษาภาวะความเป็นผู้นำของตนเองได้ในระยะยาวนั้น ก็จะต้องได้รับการอบรมฝึกฝนประเมิน จำลองตนเองในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงสามารถปรับตัวและแนวคิดให้เข้ากับปัจจัยภายนอก ภายใน ที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องยอมรับและรู้จักตนเองว่าสถานการณ์บางอย่างตนเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าไปเป็นผู้นำได้
ในแง่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลแล้ว ผู้นำก็คือผู้ที่จะต้องพยายามทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจและมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์องค์กร รวมถึงเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้นำจะต้องทำให้ผู้ตามทุกคนมีความรู้สึกรับผิดชอบ แสดงความเป็นเจ้าของและร่วมหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับงานที่ตนควบคุมดูแลอยู่
นอกจากนี้ ผู้นำยังจะต้องสร้างแรงจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมกับคนในองค์กรแต่ละคน และโค้ชให้คนเหล่านั้นสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอยู่เสมอ
สิ่งที่ผู้นำจะขาดเสียมิได้ คือ "ผู้ตาม" ดังนั้นจึงมีประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้นำแต่ละคนว่า ทำอย่างไรจึงจะมีผู้ตามได้ รวมไปถึงว่า ความรู้สึก ความมุ่งมั่น ตลอดจนการอุทิศตนของผู้ตามนั้น หรืออีกนัยหนึ่งผู้นำจะมีความสามารถในการสร้างอิทธิพลและแรงดลใจกับผู้ตามได้ในลักษณะใดได้บ้างและมากน้อยเพียงใด
มีประเด็นหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยกันเล่นๆ ในเรื่องความสามารถของผู้นำและความรู้สึกของผู้ตามว่า เมื่อผู้นำสั่ง "กระโดด" ผู้ตามบางคนอาจจะถามกลับว่า "กระโดดทำไม?" หรือบางคนก็อาจถามว่า "จะให้กระโดดสูงเท่าไร?" ซึ่งคำถามที่สองนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น การทุ่มเท และการอุทิศให้ของผู้ตามในระดับที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
คุณลักษณะของผู้นำที่สร้างความรู้สึกต่อผู้ตามในระดับที่แตกต่างกันนี้เกิดจากภาวะผู้นำภายในตัวของผู้นำเอง ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่ทำให้ผู้นำแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เกิดภาวะผู้นำที่สามารถชักจูงผู้ตามให้ทำงานอย่างสมัครใจ ทุ่มเท และมีความสุขในการทำงานประจำวัน ตลอดจนสร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่ผู้ตาม เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร
ดังนั้น การพัฒนา ผู้นำจึงจำต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผู้นำแต่ละคนเพื่อหาความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้นำต้องการแสดงออกต่อผู้ตาม กับความรู้สึกที่ผู้ตามรับรู้ได้ ซึ่งในบางกรณีอาจแตกต่างกันได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นหมายความว่า ผู้นำนั้นมี "ภาวะผู้นำ" อยู่ในระดับต่ำ
บุคคลที่จะเป็นผู้นำได้นั้นจำเป็นต้องรู้จัก คุณลักษณะพื้นฐานต่างๆ ของตนเอง อันได้แก่ Motivate หรือแรงจูงใจ Values หรือสิ่งที่ผู้นำเห็นว่าสำคัญและแสดงออกบ่อยครั้ง Managerial Style หรือสไตล์การบริหาร Climate หรือบรรยากาศการทำงาน ซึ่งได้แก่ความรู้สึกของผู้ตามที่ตนเองได้สร้างขึ้นต่อผู้ตามในหน่วยงานที่ควบคุมดูแลอยู่
การพัฒนาผู้นำ จึงได้แก่ การที่ทำให้ผู้นำได้รู้จักตนเองอยู่เสมอ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนคุณลักษณะต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และจะต้องสามารถรับรู้ได้ว่าการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆนั้น เป็นการแสดงออกจากคุณลักษณะพื้นฐานของตน หรือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องฝืนทำเพื่อประโยชน์ขององค์กร
เช่น ผู้นำ ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นคนที่รักพวกพ้อง ก็มักจะคำนึงถึงความสุขของพนักงานมากกว่าผลงาน ซึ่งในบางกรณีอาจจำเป็นที่จะต้องฝืนความรู้สึกเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสนทนาเกี่ยวกับผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานกับพนักงานซึ่งอาจจะมีความใกล้ชิดกัน ทำให้ผู้นำนั้นอาจเกิดความเครียดขึ้นได้ เนื่องจากการฝืนทำในสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของตน หรือในอีกหลายกรณีที่ผู้นำจะต้องสร้างอิทธิพลโน้มน้าวจิตใจพนักงานให้ทำตาม แต่โดยธรรมชาติแล้ว ผู้นำนั้นเป็นคนที่ไม่ชอบต่อล้อต่อเถียงก็อาจจะเกิดความเครียดได้เช่นกัน และความเครียดที่เกิดขึ้นนี้มักส่งผลที่ลบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
คุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำจะต้องมีอย่างหนึ่งคือ ทักษะในการฟัง โดยที่การฟังนั้นนอกจากจะเป็นการจับใจความของผู้พูดแล้ว ยังจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงความรู้สึกนึกคิดในเบื้องลึก ตลอดจนสิ่งที่ผู้พูดมีความกังวลอยู่ และพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากเรื่องราวต่างๆ นั้น ผู้นำมักจะต้องฟังมากกว่าพูด เพื่อที่จะสามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อมาถึงตรงนี้ ผมก็จะขอเกริ่นถึงความแตกต่างระหว่าง "ผู้นำ" กับ "วีรบุรุษ" ว่า สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ วีรบุรุษ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการฟัง และไม่จำเป็นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ย่อมได้
นอกจากนี้ผู้นำยังจะต้องมีทักษะในการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือให้กลุ่มคนบรรลุเป้าประสงค์โดยจะต้องสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านทรัพยากร (Facilitator) ผู้ให้กำลังใจและสร้างแรงจูงใจ (Cheerleader) รวมถึงผู้ประสานสัมพันธ์ (Coordinator) นั่นหมายถึง การเป็นผู้นำนั้นจะต้องเน้นไปยัง คน กลุ่มคน ที่จะต้องเล่นบทผู้ตามในแต่ละสถานการณ์และช่วงเวลา ไม่ใช่ที่ตัวงานหรือระบบที่ตนเองต้องรับผิดชอบ
เมื่อพูดถึงเรื่องภาวะผู้นำ ผมมักจะระลึกถึงประโยคคุ้นหูหนึ่งที่พูดว่า "สถานการณ์สร้างผู้นำ" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เสมอในทุกๆ องค์กร ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงภาคการเมือง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอีกมุมของประโยค "สถานการณ์สร้างผู้นำ" ว่าผู้นำได้มาจากสถานการณ์นั้นๆ สามารถที่จะหมดวาระลงได้เช่นกัน เมื่อสถานการณ์นั้นจบสิ้นลง
ขอบคุณมากนะครับ ต้นฉบับโพสต์โดย chaiya333 เมื่อ 2012-4-23 15:29 static/image/common/back.gif
ขอบคุณมากนะครับ
ขอบคุณที่สนใจครับ ต้นฉบับโพสต์โดย Rolls-Royce เมื่อ 2012-4-23 18:38 static/image/common/back.gif
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
แต่พอสถานการณืนั้นผ่านไปอาจกลายเป็น ...อะไรที่ตรงข้ามเลยก็ได้
หน้า:
[1]