ไซนัสอักเสบ โรคใกล้ตัวที่ควรรู้
ไซนัสอักเสบ โรคที่เราคุ้นหูเพราะมักจะได้ยินชื่ออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยน
http://sin.stb.s-msn.com/i/39/D92E875E37EEE664189F43155252.jpg
หลายคนเป็นโรคนี้แต่กลับไม่เข้าใจถ่องแท้ว่าโรคนี้คืออะไร หลากหลายเรื่องราวที่เราควรรู้แต่กลับไม่รู้ ไซนัสอักเสบจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรหรือ วันนี้อีแมกกาซีนมีคำตอบมาฝากค่ะ
ไซนัสคืออะไร
หลายๆ คนอาจไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าไซนัสคืออะไร และอยู่ตรงส่วนไหนในร่างกายของเราบ้าง โดยไซนัส (Sinus) นั้นก็คือโพรงอากาศในกะโหลกซึ่งถูกเรียกว่าโพรงไซนัส ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันสี่ตำแหน่งเป็นคู่ๆ ดังนี้
- บริเวณหน้าผาก ใกล้กับหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง (frontal sinus)
- บริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง (ethmoid sinus)
- บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (Maxillary sinus)
- บริเวณกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)
สำหรับหน้าที่ของไซนัสนั้นก็คือการทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และในขณะที่เราพูดก็จะทำให้มีเสียงก้องกังวาลขึ้น อีกทั้งเยื่อบุไซนัสและจมูกจะทำการผลิตน้ำมูกใสๆ เพื่อดักจับฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งเยื่อบุเหล่านี้จะมีขนเล็กๆ พัดพาน้ำมูกลงไปด้านหลังของจมูก และเดินทางผ่านช่องคอ ก่อนกลืนลงไปสู่กระเพาะอาหาร จากนั้นจะถูกกรดในกระเพาะทำลายเชื้อโรคจนหมดไป
รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นไซนัสอักเสบ
สาเหตุของไซนัสอักเสบเกิดขึ้นจากการที่จมูกมีการติดเชื้อ อักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะหวัด ภูมิแพ้ หรือเพราะมีสารระคายเคือง และสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก รวมทั้งเพราะมีฟันกรามที่ผุถึงโพรงรากฟัน เป็นโรคหัด และเกิดอุบัติเหตุที่กระดูกบนใบหน้า ดังนั้นจึงทำให้ท่อที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกมีอาการบวมจนตีบตัน ทำให้มีน้ำเมือกในโพรงจมูกคั่งค้างอยู่ เมื่อมูกภายในสะสมมากขึ้นก็จะมีความหนืด และลายสภาพเป็นกรด ทำให้เชื้อโรคเข้าไป จนกลายเป็น ไซนัสอักเสบ
สำหรับอาการทั่วๆ ไปของผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบนั้นยากที่จะยืนยันได้ชัดเจนทันทีว่าใช่หรือไม่เพราะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดามาก นั่นคือมีอาการไข้ ปวดเมื่อย เจ็บคอ แต่ก็มักจะหายภายใน 7-10 วัน ส่วนอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาจเป็นต่อเนื่องถึง 2-3 สัปดาห์ แต่ความรุนแรงจะลดลงจนหายได้ในที่สุด แต่ถ้าหากเป็นอาการของไซนัสอักเสบล่ะก็ หลังจากที่มีอาการไข้หวัดผ่าน ไปจนถึง 10 วันแล้ว แต่อาการต่าง ๆ กลับไม่ดีขึ้น เป็น หรือดีขึ้นแล้วกลับทรุดลงไปอีก หรือเป็นซ้ำอีก ที่สำคัญคือปวดบริเวณใบหน้า ลักษณะเช่นนี้ให้วินิจฉัยไว้ก่อนว่าอาจป็นอาการของไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกไหลลงรูจมูก หรือไหลลงคอ และอาจปวดตื้อบริเวณด้านข้างจมูก และใบหน้า ถ้าหากท่านมีอาการเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ
จริงๆ แล้วโรคไซนัสอักเสบนั้นไม่ถึงกับเป็นอันตราย เพียงแค่ทำให้รู้สึกรำคาญบ้างเท่านั้น แต่ก็อย่าประมาทไป เพราะในบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้
1. การติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ตาอักเสบและเกิดเป็นฝีรอบตา (Periorbital abcess) มักพบในเด็ก หรือคนชรา ความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ อาการแรกเริ่มคือตาจะบวมเพียงข้างเดียวและแดง หนังตาบวมเจ็บ ลูกตาโปน แต่ก็สามารถรักษาได้โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัด
2. โรคแทรกซ้อนขึ้นสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีใต้เยื่อหุ้มสมอง มักพบในเด็ก หรือคนชรา ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคแทรกซ้อนชนิดนี้อาจก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้
3. ริดสีดวงจมูก เกิดก้อนในจมูกจากภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดจากภูมิแพ้ที่ไม่ลุกลามไปที่อื่น แต่กลับไปเบียดกระดูก แต่เมื่อทานยาแก้แพ้ก็จะทำให้ยุบลงบ้าง รักษาด้วยการผ่าตัด
ไซนัสอักเสบสามารถป้องกันได้แค่เพียงดูแลสุขภาพร่างกายตัวเราให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือบริเวณที่มีฝุ่นควันมากๆ รวมทั้งรักษาสุขภาพปากและฟันให้ดี และถ้าเป็นหวัดก็ควรรีบรักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ เท่านี้ท่านก็ห่างไกลจากโรคใกล้ตัวโรคนี้ได้แล้วล่ะ
ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน
ที่มาข้อมูล : www.e-magazine.info
หน้า:
[1]