วันหนึ่งในปลายฤดูแล้ง..ที่ห้วยขาแข้ง
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452182.jpgเอ่ยถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแล้ว คนไทยคงนึกถึง "สืบ นาคะเสถียร" นักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้ยิ่งใหญ่ของไทย ที่สละชีวิตของตนเองเพื่ออนุรักษ์และปกปักรักษาทรัพยากรป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ต่อจากนั้น ก็คงอยากชมเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่ห้วยขาแข้งมีอย่างชุกชุมเช่น ช้าง เสือ กระทิง วัดแดง หมาใน และเสือดาว สำหรับนักดูนกอย่างผมแล้ว เมื่อเอ่ยถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นอกจาก"ชื่อ"และ"วีรกรรม"ของ"คุณสืบ" ที่ผุดขึ้นมาในความทรงจำอย่างรวดเร็วแล้ว ยังนึกถึง"นกยูง" ขึ้นมา เพราะปัจจุบันมีผืนป่าเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในประเทศไทยที่ยังมีนกใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้เหลืออยู่ ที่มีมากและรู้จักกันดี คือ ห้วยขาแข้ง นี่เอง
ในป่าห้วยขาแข้งยังมีนกหายากอีกหลายชนิด เช่น นกเงือกคอแดง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ และ พญาแร้ง
เมื่อรวมกับนกนานาชนิดอีกว่า 300 ชนิดที่ดำรงชีวิตท่ามกลางสภาพธรรมชาติหลากหลาย ห้วยขาแข้งจึงเป็นแหล่งรวบรวมของนกเกือบทุกประเภท ตั้งแต่นกทุ่งไปจนถึงนกบนภูเขาสูง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่บรรดานกในป่าเต็งรังที่หาดูได้ยากในผืนป่าแห่งอื่น
สำหรับ พญาแร้ง Red-headed Vulture ไม่แน่ใจว่ายังมีรายงานการพบที่ห้วยขาแข็งหรือไม่-อย่างไร เพราะเมื่อ 20 ปีก่อน พรานกลุ่มหนึ่งได้ลักลอบเข้าไปล่าเสือในห้วยขาแข้งด้วยการวางยาเบื่อใส่เหยื่อ ทว่าแร้งซึ่งเป็นสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวต่อกลิ่นอย่างยิ่ง เข้าไปกินเหยื่อนั้นแทน ส่งผลให้พญาแร้งฝูงสุดท้ายของประเทศ สูญสิ้นไปจากป่าธรรมชาติของไทยนับแต่นั้นมา
เป็นเรื่องเศร้าใจมากที่พญาแร้งประจำถิ่นกลุ่มสุดท้ายที่ประเมินคุณค่าเป็นเงินทองมิได้ ต้องมาตายยกฝูงไปหมดด้วยยาเบื่อราคาซองละไม่กี่สิบบาท
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452179.jpgเดินสำรวจความหลากหลายของนกในป่าเต็งรัง ห้วยขาแข้งhttp://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452158.jpgนกเปล้าธรรมดา (Thick-billed Pigeon)http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452172.jpgนกเขาลายเล็ก (Little Cuckoo Dove) ใน หนังสือแหล่งดูนกทั่วไทยของรุ่งโรจน์ จุกมงคล ระบุว่า ห้วยขาแข้งเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 1,600,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ อ.ลานสัก และอ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก นับเป็นผืนป่ากว้างใหญ่ต่อเนื่องเชื่อมกับเขตรักษาพันสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จนกลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่าชุกชุมที่สุด
ความชุกชุมของสัตว์ป่าและความสมบูรณ์ของธรรมชาติเช่นนี้เองที่ทำให้ห้วยขาแข้งได้รับการจัดตั้งให้เป็น World Heritage เมื่อปี 2534 มรดกอันล้ำค่าของโลกคู่กับทุ่งใหญ่นเรศวร
ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติของห้วยขาแข้ง ประกอบไปด้วยป่าไม้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น และ ป่าดงดิบเขา ตลอดจน ป่าไผ่และทุ่งหญ้าที่กระจายอยู่โดยทั่วไป โดยมีลำห้วยลำธารหลายสายไหลผ่านตลอดพื้นที่ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนกให้ดูมากมายในห้วยขาแข้ง เช่นเดียวกับสัตว์ป่าอื่น ๆ และพบชุกชุมทุกพื้นที่ภายในเขตอนุรักษ์แห่งนี้
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452161.jpgนกกะเต็นลาย (Banded Kingfisher) ,ตัวผู้ ป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลขนาดนี้ พูดไปแล้วก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อนะครับที่เจ้าหน้าที่พนักงานผู้ดูแลป่า หรือที่เราเรียกกันว่า "พิทักษ์ป่า" ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น ไม่สมดุลกันเลยกับความสำคัญของผืนป่าที่เขาต้องเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อรักษาเอาไว้ให้ลูกหลานไทย
เงินเดือนน้อยยังไม่น่าเจ็บใจเท่ากับการเบิกจ่ายเงินเดือนที่ต้องล่าช้าออกไปถึง 2 เดือน ไม่ทราบทำไมล่าช้าขนาดนั้น
ยกตัวอย่างเช่น เงินเดือนอันน้อยนิดของเมษายน กว่าจะได้เบิกจ่ายมาใช้ก็ปาเข้าเดือนมิถุนายนโน่น อธิบดีกรมอุทยานฯ คุณดำรงค์ พิเดช หันมาเอาใจใส่ในสวัสดิภาพและสวัสดิการของลูกน้องเสียหน่อยไม่ดีหรือ
เห็นลูกจ้างชั่วคราวไม่มีหัวใจ และไม่ต้องกิน ไม่ต้องใช้ หรือยังไงกันครับ ???
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452166.jpgนกเขียวก้านทองหน้าผากสีทอง (Golden-fronted Leafbird) http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452167.jpgนกขมิ้นหัวดำใหญ่ (Black-hooded Oriole)http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452159.jpgนกแต้วแล้วธรรมดา (Blue-winged Pitta) ภายในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของห้วยขาแข็ง มีแหล่งให้ดูนกกันมากมายทีเดียว จุดที่น่าสนใจอยู่ทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพียงแค่เริ่มต้นกันที่นี่ก็มีนกให้ชมกันอย่างจุใจ จากนั้นมุ่งหน้าไปตามถนนลูกรังที่ขรุขระบ้าง เป็นหลุมเป็นบ่อบ้างเข้าสู่ สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ผ่าน หน่วยพิทักษ์ป่าฯซับฟ้าป่า ซึ่งเป็นอีกจุดที่มีทั้งนกและสัตว์ใหญ่ให้ชมกัน
เข้าใจว่า การเดินทางไปยังสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ และหน่วยพิทักษ์ป่าฯซับฟ้าป่า เพื่อศึกษาธรรมชาตินั้น ต้องทำเรื่องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสียก่อน ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป นื่องจากเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าชุกชุมและสภาพแวดล้อมเปราะบางต่อการถูกรบกวน
ก่อนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข็งนั้น มีจุดชมนกยูงที่ลงมากินตามลำธารตื้น ๆ นั่นคือ หอดูสัตว์ต้นผึ้ง แต่จะเจอหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลา สภาพอากาศ และพฤติกรรมของคนที่เฝ้าดูด้วย ถ้าส่งเสียงดังละก็เป็นอันจบเห่กัน อดดูแน่ ๆ
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452168.jpgนกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ (Velvet-fronted Nuthatch)http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452174.jpgนกกะรางสร้อยคอเล็ก (Lesser -necklaced Laughingthrush)http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452164.jpgนกแซงแซวปากกา(Crow-billed Drongo) เมื่อท่องไปตามอาณาบริเวณของป่าห้วยแข้งอันกว้างใหญ่ไฟศาล ผมอดเผลอใจไปไม่ได้ที่จะนึกไปถึงคำพูดของนักเดินทางรุ่นก่อน ๆ ที่ล้อเลียนป่าห้วยขาแข้งว่า เป็น "ห้วยขาแข็ง" เห็นทีจะไม่ผิดดังวลีนี้นัก ด้วยว่าการก้าวเท้าเดินดูนกไปตามเทรลหรือถนนลูกรังที่ผาดผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณของที่นี่แล้ว รู้สึกว่า ชีวิตไร้ขีดจำกัด อย่างไรไม่รู้เดินกันตั้งแต่เช้าตรู่จนย่ำค่ำ ก็ไม่มีวันซ้ำรอยมายังจุดเดิม ช่างเป็นป่าที่ unlimited จริง ๆ ผ่านทั้งขี้ช้าง ขี้วัวแดง ขี้หมาใน ขี้เก้ง ขี้กวาง ขี้เสือ สด ๆ ทั้งนั้น ร่องรอยพี่เบิ้มอย่างช้างป่า ออกหากินดินโป่งก็ใหม่เอี่ยมอ่อง
รอยตีนเสือโคร่ง...นอกจากประทับติดพื้นทรายเป็นชัดเจนแล้ว ก็ยังประทับติดตรึงหัวใจของเราด้วย
ถ้ามาเดินป่าห้วยขาแข้งคนเดียว คงไม่กล้าก้าวไปไหนไกลกว่าที่พักเป็นแน่แท้
อากาศช่วงต้นพฤษภาคมในห้วยขาแข็ง ช่างร้อนจริงๆ เดินแบกเป้ถือกล้องในป่าเงียบๆ ต้นไม้เหงา ๆ ว่าหนักแล้ว ยังไม่หนักใจเท่ากับอากาศร้อน แต่พอย่างผ่านขี้ช้าง ขี้เสือ พลันไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิใจรอบกาย ทว่า ความเย็นยะเยือก กลับจู่โจมขึ้นมาจับหัวใจ
ไม่น่าเชื่ออากาศร้อนขนาดนั้น กลับหนาวสุดขั้วหัวใจ !
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452181.jpgต้นปรง ไม้พื้นล่างชนิดหนึ่งของป่าเต็งรังhttp://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452180.jpgไม้ยืนต้นตายซาก ที่อยู่อาศัยของมดแมลง อาหารของนกและสัตว์อื่นๆ หากดูอย่างผิวเผินโดยเปลือกนอกแล้ว หลายคนอาจบอกว่า "ป่าเต็งรัง" ไม่ต่างอะไรไปจากป่าเสื่อมโทรมผืนหนึ่ง ต้นไม้ที่เติบโตก็เล็ก ๆ แกน ๆ พื้นป่าส่วนใหญ่ก็ค่อนข้างโล่งเตียน พื้นด้านล่างก็เป็นดินปนทราย ป่าทั้งป่าดูเงียบ ๆ เหงาๆ ไร้ชีวิตชีวา ไม่มีทิวทัศน์ที่สวยงามให้ชื่นชม
แต่แท้ที่จริงแล้ว ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชและสังคมสัตว์ที่มีลักษณะในตัวของมันเอง เป็นระบบนิเวศน์ที่สำคัญชนิดหนึ่งของธรรมชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ป่าเต็งรัง Deciduous Dipterocarp Forest เป็นป่าผลัดใบที่มีไม้วงศ์ยางบางชนิดเป็นไม้เด่น ที่มีช่วงแห้งแล้งจัดเกินกว่า 4 เดือนต่อปี ดินตื้นกักเก็บน้ำได้น้อยมาก ความสมบูรณ์ของดินค่อนข้างต่ำ ไม้หลัก ๆ ที่เติบโตได้ในป่าชนิดก็เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนทานต่อภัยแล้ง เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ยางเหียง ยางพลวง ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่สำคัญต่อความสมบูรณ์ของสังคม การพักตัวของพืชสีเขียวเกิดขึ้นในฤดูแล้งเมื่อน้ำในดินขาดแคลน พันธุ์ไม้ทุกชนิดผลัดใบทิ้งเพื่อลดการคายน้ำและหยุดการเจริญเติบโต
ต้นฤดูแล้ง ใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งจนหมด กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเมื่อไฟป่าเกิดขึ้น หลักจากไฟผ่านไปพื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดขึ้นอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามาสู่ป่าเต็งรัง
ความร้อนจากไฟยังช่วยไล่แมลงบนพื้นดินหรือใต้เปลือกไม้ให้เผยตัวออกมา กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่านกกินแมลงนานาชนิดอีกด้วย
ในป่าเต็งรัง มีชีวิตอยู่ในทุกตารางนิ้ว ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม เหมือนอย่างที่นักการเมืองกำลังปั้นน้ำเป็นตัว พยายามยกเมฆให้ป่าเต็งรังของ"แม่วงก์" กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม นั่นไงครับ!!!
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452176.jpgแย้ Leiolepis belliana สัตว์ใกล้สูญพันธุ์จากถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452163.jpgลูกงูลายสาบคอแดง Rhabdophis subminiatus ที่พิเศษชนิดยากลืมเลือนก็คือ ไปห้วยขาแข้งรอบนี้ ผมพกเพื่อน"นักดูสัตว์เลื้อยคลาน"ไปด้วย ผมเดินดูนก หมอก็เดินดูงู ผมมองท้องฟ้า หมอก็มองต่ำติดดิน บ๊ะ ... มันช่างสวนทางกันจริงๆ
แต่เราก็มีวิธี"ปรองดอง"ในแบบฉบับของเรา เมื่อเห็นนกบนฟ้าหรือเกาะกิ่งไม้ ผมก็ชี้ชวนให้ดู เมื่อเห็นงู กิ้งก่า กบ เขียด คางคก แย้ ฯลฯ หมอก็เชิญชวนให้ผมเข้าไปดูใกล้ๆ อย่างกับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงที่พบพานได้ทั่วไปในเมืองฟ้ามหานคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของรูปทรงยาว ๆ ที่ไร้เท้าไร้มือด้วยแล้ว หมอยิ่งใคร่อยากดูอยากชมเป็นพิเศษ
อยากดูนกก็อยาก อยากชมสัตว์ป่าก็อยาก แต่ก็ไม่เห็นสมใจนัก ส่วนที่ไม่อยากดูนักอย่างงู ก็ดันออกมาโชว์ตัวให้เห็นถึง 2-3 ชนิด แถมยังเป็น"งูพิษ"อีกต่างหาก
ความจริงงูเงี้ยวเขี้ยวขอก็เป็นสัตว์ที่ไม่ได้พบเห็นยากเย็นอะไรนักตามป่าตามเขา เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตุแบบเน้นๆ เท่านั้นเอง พอมากับนักดูงู หมอก็ชี้ให้ตามโค่นต้นไม้บ้าง ตามกลางทางบ้าง
ไม่รู้จะเรียกว่า โชคดี หรือโชคร้าย.. กันแน่
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452162.jpg งูเห่าพ่นพิษNaja siamensis มีอยู่ชนิดหนึ่งที่เจอ เป็น งูเห่าพ่นพิษสยาม Naja siamensis พิสัยพ่นพิษในระยะทำการไกล 1.5-2 เมตร ถ้าพิษเข้าตา ก็ทำให้ตาบอดได้ หมอก็ยังเข้าไปชื่นชมในระยะใกล้ ส่วนผมรีบเดินออกไปไกลๆ
ไม่ได้กลัวอะไรหรอกครับ แต่กล้องขนาด 400 มม. ของผมนั้น จะเปล่งอาณุภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อถ่ายภาพจากระยะไกลครับ ระยะใกล้ไม่สามารถโฟกัสได้ (โม้ไปอย่างนั้นเอง ความจริงก็กลัวแหละครับ)
พูดไปแล้วจะหาว่าคุย ช่วงกลางคืน ชาวบ้านเขานอนกัน พวกเรายังออกไปส่องสัตว์กันอีกต่างหาก ไม่ได้ไปดูช้างหรือกระทิงอะไรหรอกครับ แค่ไปดู "นกกลางคืน"กับ"สัตว์เลื้อยคลาน" ประเภทที่อาศัยความมืดออกหากินอาหาร
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452169.jpgนกหัวขวานใหญ่สีเทา (Great Slaty Woodpecker)http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452175.jpgนกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง (Common Flameback) ,ตัวผู้http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452178.jpg นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (Black-headed Woodpecker),ตัวผู้ พูดถึงนกที่ห้วยขาแข้งแล้ว จะว่าไปก็พบอยู่หลายชนิดทีเดียวทั้ง เหยี่ยวนกเขาหงอน เหยี่ยวต่างสี เหยี่ยวนกเขาชิครา เหยี่ยวรุ่ง นกตบยุงยักษ์ นกตบยุงหางยาว ไล่ไปจนถึงประเภทชอบเคาะไม้หากินนอนแมลงอย่าง นกหัวขวานสามนิ้วหลัง นกหัวขวานสีนิ้วหลังทอง นกหัวขวานใหญ่สีเทา และอีกหลายชนิด แต่ที่พอจะเป็นเนื้อเป็นหนังนำมาบอกกล่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว ก็เห็นจะไม่พ้น"เหยี่ยวแมลงปอขาแดง" กับ"นกมูม" นั่นแหละครับ ยอมรับเลยครับว่า ที่ห้วยขาแข้งนี่เองมี นกมูม (Mountain Imperial Pigeon) จำนวนมหาศาล เป็นครั้งแรกที่ผมพบเห็นฝูงนกมูมรวมฝูงกันออกหากินลูกไม้และกินน้ำเป็นร้อยๆตัวเช่นนี้ เรียกว่าเวลาตกใจบินขึ้นท้องฟ้าพร้อมๆ กัน เสียงดังพรึ่บพรับยาวนานมาก นึกว่าเสียงลมจากใบพัดของเฮลิคอปเตอร์เสียอีก
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452160.jpgนกมูม(Mountain Imperial Pigeon) นกมูมมีขนาดใหญ่กว่านกพิราบ เป็นนกประจำถิ่น ลำตัวด้านบนมีสีเทาแกมเลือดหมู ลำตัวด้านล่างเป็นสีเทาจางๆ อาศัยอยู่ในป่าดิบ ที่ราบถึงความสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พบบนภูเขา แปลกใจไหมครับที่เราดันมาพบ นกมูม ที่ห้วยขาแข้งซึ่งไม่ได้เป็นป่าดิบ และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ไม่ใช่ภูเขาสูง ถ้าบอกว่า
นกก็เหมือนคนที่ต้องการน้ำดื่มน้ำกินเหมือนกัน ก็คงจะถึงบางอ้อ ..กันแล้วใช่ไหมครับ
เข้าใจว่า ถิ่นอาศัยบนภูเขาของนกมูม ขาดแคลนน้ำ หรือหาน้ำได้ยากในหน้าแล้ง นกมูมจึงอพยพฝูงลงมาหาแหล่งน้ำในป่าห้วยขาแข้ง ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ จุดที่นกมูมหลายร้อยตัวลงกินน้ำในหนึ่งวันนั้น แทบจะไม่เคยซ้ำกันเลย นกจะย้ายจุดกินน้ำไปเรื่อย ๆ ตอนนกบินลงกินน้ำพร้อมกันตามลำห้วยเล็ก ๆ เป็นภาพธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/album_data/201205/11/50531/images/452165.jpgเหยี่ยวแมลงปอขาแดง (Collared Falconet) การเดินทางไปเยือนห้วยขาแข้งครั้งที่สองของผมที่ห่างจากครั้งแรกถึงเกือบ 10 ปี จะสมบูรณ์แบบไปไม่ได้เลยครับ หากไม่เอ่ยถึงพฤติกรรมของเจ้าเหยี่ยวแมลงปอขาแดง (Collared Falconet) ตัวนั้น ....
หลายคนคงคิดว่า เหยี่ยวซึ่งเป็นสัตว์นักล่านั้น มีแต่นกขนาดใหญ่และดูน่าเกรงขาม หากคิดเช่นนี้ ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ครับ เพราะเหยี่ยวแมลงปอขาแดง มีขนาดใหญ่กว่านกกระจอกบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
พฤติกรรมการล่าเหยื่อของเหยี่ยวไซส์จิ๋วชนิดนี้ ชอบเกาะกิ่งไม้และโฉบจับแมลง เช่น ผีเสื้อ แมลงปอ นกขนาดเล็ก และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก กินเป็นอาหาร พบอาศัยอยู่ในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ที่ราบถึงความสูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นนกประจำถิ่นที่พบค่อนข้างบ่อย
ณ ชายป่า เย็นวันหนึ่งหลังฝนตกหนัก ผมย่ำร้องเท้าเดินป่าลุยเข้าไปในดงหญ้า ออกตามหานกตบยุงที่ปกติมักจะหลบหลับอยู่บนพื้นดินในช่วงกลางวัน ผีเสื้อหลายตัวบินขึ้นจากดงหญ้าด้วยความตกใจ ทันใดนั้น ผมเห็นนกตัวเล็ก ๆ พุ่งลงจากกิ่งไม้ระดับสูงกว่าศรีษะผมเล็กน้อย โฉบจับผีเสื้อแล้วตีโค้งไป
เกาะกิ่งไม้ดั่งเดิม ความเร็วประดุจเครื่องบินเจ๊ตแทบดูไม่ทัน แล้วก็ลงมือฉีกกินเหยื่อโดยไม่สนใจมนุษย์ผู้มาเยือนแต่อย่างใด ไม่ใช่ใครที่ไหน เหยี่ยวแมลงปอขาแดง นั่นเอง
ทดลองเดินลุยดงหญ้าอีกครั้ง ผีเสื้อบินขึ้น เหยี่ยวไซส์จิ๋วพุ่งโฉบจับเหยื่อ เป็นอย่างนี้ถึง 3 รอบ จึงเป็นไปได้ว่า เจ้าเหยี่ยวคงมาดักรออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เหยื่อของมันแสดงตัวขึ้นมาจากดงหญ้าเพื่อที่มันจะได้จับกินเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย เก้ง กวาง หรือกระทั่งมนุษย์เองก็ตาม
ในสายตาของเจ้าเหยี่ยวแมลงปอขาแดงนั้น วัว ควาย หรือมนุษย์ คงไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นักเมื่อช่วยเติมเต็มกระเพาะของมัน หรือลูกน้อยที่กำลังเติบโตขึ้น เป็นมนุษย์ต่างหากที่พยายามแบ่งแยกเขา-แบ่งแยกเรา
by BlueHill
อ้างอิงข้อมูล : เว็บไซต์ www.tropicalforest.or.th/p49.htm และหนังสือแหล่งดูนกทั่วไทยของรุ่งโรจน์ จุกมงคล
ขอบคุณมากมาก ขอบคุณมากครับ
หน้า:
[1]