afun โพสต์ 2012-5-31 22:22:35

หัวใจที่ไม่จมน้ำ-copy

ยายไฮ ขันจันทา เกิดที่บ้านโนนตาล ตำบลนาตาล กิ่งอำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี เด็กหญิงกำพร้าพ่อเมื่ออายุสี่ขวบ เรียนหนังสือเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวทำนากับพี่น้องอีกเจ็ดคน บ้านของยายไฮมีฐานะดีกว่าชาวนาอื่นๆ ที่ดินกว่าสองร้อยไร่ สวน วัว ควาย ม้า และโรงสีข้าวหนึ่งโรง
เมื่อโตเป็นสาว ยายไฮแต่งงานกับคำฟอง มีลูกด้วยกันสิบคน ทั้งหมดทำมาหากินอย่างหนักเอาเบาสู้ ยายไฮได้รับมรดกเป็นที่นาหลายสิบไร่
ชีวิตดำเนินอย่างสงบเรียบง่าย จนในปี พ.ศ. 2520 ชะตาชีวิตก็หักเห สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท กระทรวงมหาดไทย ประกาศโครงการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานขนาดเล็กที่บ้านโนนตาล - บ้านของยายไฮ
ยายไฮรู้ดีว่าน้ำจากเขื่อนจะท่วมไร่นาของนางกับเพื่อนบ้านหลายรายจนทำการเกษตรไม่ได้ ยายไฮกับพวกรวมตัวกันทำเรื่องคัดค้านต่อทางราชการ แต่ไม่ได้ผล และถึงแม้ยายไฮไม่เซ็นชื่อยินยอมให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่การสร้างเขื่อนก็เกิดขึ้นจนได้
สองปีต่อมา เมื่อเขื่อนพื้นที่หนึ่งร้อยสามสิบไร่ ความจุ 240,000 ลูกบาศก์เมตรก่อสร้างสำเร็จ ผืนแผ่นดินที่ปู่ย่าตายายส่งทอดมาหลายชั่วคนก็จมใต้น้ำ น้ำเขื่อนท่วมพื้นที่เกษตรกรรมกว่าสี่ร้อยไร่ของชาวบ้านหลายครอบครัว


หลังจากน้ำท่วมไร่นาจนทำนาไม่ได้ ครอบครัวของยายไฮก็แตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศ จากชาวนาที่มีฐานะดีใช้ได้เป็นคนยากไร้ในชั่วข้ามคืน สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องทำงานทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด ออกรับจ้างทำงานทุกประเภทโดยไม่เลือกงาน ตั้งแต่การช่วยชาวบ้านอื่นๆ ทำนา เกี่ยวข้าว เก็บฟืนขาย ขนขี้ควายใส่ไร่นาชาวบ้าน ลูกหลานหลายคนเข้ากรุงเทพฯ ทำงานโรงงานเย็บผ้า ทำความสะอาด ฯลฯ
แต่งานสำคัญที่สุดคือการต่อสู้เพื่อขอทวงความยุติธรรม
ยายไฮเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อร่วมชุมนุมกับกลุ่มสมัชชาคนจน ปลูกเพิงปักหลักใกล้ทำเนียบรัฐบาล สองเดือนหลังการชุมนุมยืดเยื้อ รัฐใช้กำลังสลายการชุมนุม ยายไฮเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เดินทางกลับบ้านในสภาพฝันสลาย ความหวังพังทลาย เมื่อกลับถึงบ้านได้สองวัน บ้านของยายไฮก็ถูกไฟไหม้วอดวาย โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช่วยเลย ยายไฮเชื่อว่าเป็นการลอบวางเพลิงโดยผู้ที่ไม่ต้องการให้พวกเขาชุมนุมเรียกร้อง
การต่อสู้ของยายไฮเป็นไปอย่างยากลำบากและโดดเดี่ยว ไม่เพียงต้องสู้กับอำนาจรัฐ ถูกข่มขู่คุกคาม ยังต้องอดทนกับเสียงดูถูกของเพื่อนบ้านผู้ไม่เข้าใจว่ายายไฮสู้ไปทำไม
ครอบครัวของยายไฮลำบากอย่างยิ่ง ต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำเงินมาต่อชีวิต ยายไฮขายที่ดินสามแปลง ที่นาสองแปลง วัวควาย รวมทั้งบ้าน เหลือพื้นที่ยี่สิบเจ็ดไร่สำหรับปลูกพืชผักเลี้ยงตัวเองอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่าที่ประดังเข้ามามิได้หยุดยายไฮ แต่ไม่มีวันหรอกที่จะยอมแพ้!
ยายไฮเขียนจดหมายร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีว่าครอบครัวของตนกับเพื่อนบ้านถูกข้าราชการท้องถิ่นและผู้เสียผลประโยชน์รังแก ความหวังผุดขึ้นอีกครั้งเมื่อรัฐบาลหยิบเรื่องนี้เข้าที่ประชุมในที่สุดทางราชการยอมจ่ายค่าชดเชยที่ดินและค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้ทำกินในที่ดินนั้น
แต่คำสัญญานั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ช่วงเวลาของการเรียกร้องขอความเป็นธรรมอันยาวนานทำให้เส้นผมสีดำสนิทของยายไฮเปลี่ยนเป็นสีขาว ชีวิตยายไฮถูกกัดกร่อนด้วยความเครียด
ผ่านไปยี่สิบเจ็ดปี หลังจากหมดหวังจากการรอคอยและคำสัญญาว่างเปล่าของนักการเมือง ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547 ยายไฮเรียกลูกหลานทุกคนที่ไปทำมาหากินในเมืองหลวงกลับบ้าน แบกจอบแบกเสียม พากันไปพังเขื่อนทิ้งด้วยมือตัวเอง เพื่อเปิดช่องทางให้น้ำระบายออกจากที่ดินของตัวเอง
ยายไฮไม่กลัวอะไรอีกแล้ว หากต้องต่อสู้กับคนทั้งโลกเพื่อรักษาความเป็นธรรม ก็ไม่ต้องกลัวอะไร
ยายไฮบอกว่า “ถ้าฉันไม่เอาคืน จะให้ฉันเอาที่ไหนมาทำ ฉันก็แก่แล้ว”


การพังเขื่อนทำให้ยายไฮถูกจับและดำเนินคดีข้อหา ‘ทำลายทรัพย์สินทางราชการ’ แต่ภายในข่าวร้ายก็มีข่าวดีแทรกอยู่ ภาพชาวบ้านตัวเล็กๆ กลุ่มหนึ่งทุบเขื่อนด้วยหัวใจที่คับแค้นถึงขีดสุด เป็นภาพแสนสะเทือนใจ สั่นคลอนหัวใจคนทั้งประเทศ เรื่องราวการต่อสู้ของยายไฮกลายเป็นข่าวที่แพร่ในวงกว้าง จนผู้มีอำนาจเบื้องบนจำต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา
ในที่สุด ด้วยแรงกดดันจากสังคม รัฐก็สั่งให้ระบายน้ำออกจากเขื่อนห้วยละห้า คืนที่ดินจมน้ำให้ยายไฮและเพื่อนบ้าน เป็นบทสุดท้ายของเขื่อนห้วยละห้า
ทว่าแม้จะได้ที่ดินว่างเปล่ากลับคืนมา ทางการก็ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายจากน้ำท่วมเรือกสวนไร่นา ยายไฮต้องสู้กับระบบต่อไป จนหลังจาก 32 ปี, 15 รัฐบาล, 13 นายกรัฐมนตรี ยายไฮในวัยเจ็ดสิบเก้า ผมขาวโพลนทั้งศีรษะ ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนให้แก่ยายไฮและเพื่อนบ้าน รวมเป็นเงิน 4.9 ล้านบาท
เขื่อนห้วยละห้าเป็นตัวอย่างหนึ่งของความอัปลักษณ์ของ ‘การพัฒนา’ แบบตาบอด ไม่มองการณ์ไกล และไม่สนใจชีวิตของชาวบ้าน เฉพาะผลประโยชน์จากการตัดป่าเพื่อสร้างเขื่อนก็มหาศาล มากพอทำให้นายทุนและข้าราชการจำนวนหนึ่งทำทุกอย่างเพื่อปิดปากชาวบ้าน นอกเหนือจากเขื่อนห้วยละห้า ยังมีโครงการ ‘พัฒนา’ อีกมากมายที่ไม่ได้คิดละเอียด กระทบกระเทือนชีวิตชาวบ้าน ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม
ยายไฮก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่ไม่ยอมรับข้อแม้ของระบบ ด้วยความเชื่อว่าระบบใดที่ไม่ชอบธรรมแม้มีกฎหมายรองรับก็คือระบบที่ไม่จำเป็นต้องยอมรับ
ยายไฮสอนเราผ่านความเจ็บปวดและความอดทนว่า การต่อสู้อำนาจที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความชอบธรรมและหัวใจเหล็ก มนุษย์เล็กๆ ก็อาจเปลี่ยนเส้นทางประวัติศาสตร์ได้


ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2551-2552 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยายไฮในชุดครุยเป็นหนึ่งในผู้เข้าพิธี รับปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิตตติมศักดิ์ คณะรัฐศาสตร์
ยายไฮบอกว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับปริญญา และมีคนเห็นคุณค่าในการต่อสู้ของตน
มีคนถามว่า “ยายจะเอาปริญญาไปทำอะไร?”
นักสู้จากอีสานตอบว่า จะนำปริญญาบัตรนี้ไปให้ลูกหลานได้ดูว่า ได้มันมาจากความอุตสาหะ ความอดทนต่ออุปสรรคต่างๆ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: หัวใจที่ไม่จมน้ำ-copy