เรือเอกไชยเหินหาว
เรือเอกไชยเหินหาวเป็นเรือประเภทเรือเอกขัยในลำดับชั้นของเรือพระที่นั่งในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งเกือบเทียบเท่าเรือพระที่นั่งกิ่ง ทำหน้าที่เป็นเรือคู่ชักใช้นำหน้าหรือชักลากเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คู่กับเรือเอกไชยหลาวทองหรือสำหรับชักลากเรือพระที่นั่ง ในกรณีที่ฝีพายไม่เพียงพอ ปัจจุบันเก็บรักษาที่ พิพิธภัณฑสถานเรือพระราชพิธี คลองบางกอกน้อย
ประวัติ
เรือเอกไชยเหินหาวสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ เรือลำนี้ได้ถูกระเบิดได้รับความเสียหายใน สงครามโลกครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี ๒๔๙๑
ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ จากหัวและท้ายเรือเดิม โดยกรมอู่ทหารเรือ วางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เริ่มสร้างเมื่อ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๘ ลงน้ำเมื่อ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๐ จากนั้นจึงทำการตกแต่งตัวเรือโดยช่างแกะสลักทำงานประมาณ ๑๔ เดือนช่างรักปิดทองทำงาน ๖ เดือน ช่างเขียนลายรดน้ำทำงานประมาณ ๖ เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ ๔ เดือน ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ทำการซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุซึ่งชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่และอื่นๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยมี บริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ
ลักษณะเรือ
โขนเรือ เป็นไม้รูปดั้งเชิดสูง เขึยนลายรดน้ำรูปเหราหรือ จรเข้ ปิดทอง
ขนาด : ความยาว ๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๒.๐๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๖๐ เมตร
กำลัง : ๓.๐๐ เมตร
เจ้าพนักงานประจำเรือ : ฝีพาย ๓๘ นาย นายท้าย ๒ นาย
หน้า:
[1]