หลวงปู่ลี กุสลธโร : พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีในทางธรรม
http://www.dhammajak.net/board/files/lp_lee2_154.jpg
หลวงปู่ลี กุสลธโร
วัดป่าเกษรศีลคุณธรรมเจดีย์ (ภูผาแดง)
อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
“พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งเศรษฐีในทางธรรม”
พระเดชพระคุณหลวงปู่ลี กุสลธโร พระอริยเจ้าแห่งภูผาแดง เป็นหนึ่งในศิษย์พระกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านเป็นศิษย์ใกล้ชิดองค์หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ที่มีอุปนิสัยเป็นปัจเจกกะ มีกิริยาที่น่ารัก จงรักภักดีต่อครูบาอาจารย์อย่างหาที่ติมิได้ ท่านพูดเพียงพอดี ไม่มากไม่น้อย รักสงบ สมถะ สม่ำเสมอ ยินดีในธุดงควัตร มีเมตตาเป็นสาธารณะ ไม่ระย่อในการปราบกิเลส
ท่านได้แสวงหาสถานที่เที่ยววิเวกด้วยการออกเที่ยวธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น ภูวัว ถ้ำจันทร์ จังหวัดหนองคาย และป่าแถวสกลนคร และจังหวัดเลย เป็นต้น
ท่านสามารถภาวนาพิจารณาอสุภะและสุภะกรรมฐาน ตั้งเป็นภาพปฏิภาคนิมิตขึ้นแล้วเพ่งกระแสจิตทำลายเผาผลาญกิเลสได้ตั้งแต่สมัยยังเป็น
ฆราวาส
เมื่อบวชได้เพียง ๑๑ วัน ท่านตั้งใจภาวนาไม่ลดลาความพากเพียร ได้นิมิตว่า “ตนเองเดินทางเข้าไปในป่ากว้าง ผ่านห้วยหนองคลองบึง มีขอนไม้ชาติยาวใหญ่ดำสุดสายตา จึงเดินปีนขึ้นไปไต่ตามขอนนั้นไปเรื่อยๆ พอสุดปลายขอนไม้ชาตินั้น พลันเจอป่าอันรกชัฏมีขวากหนามรกรุงรัง จะหันหลังกลับก็ไม่ได้ จึงต้องพยายามแหวกคมหนามมุดมอดบุกผ่าเข้าไปให้ผ่านป่าอันแสนจะข้ามยากนั้น เมื่อผ่านมาได้ด้วยความยากลำบาก เจอทุ่งโล่งอันเวิ้งว้างมีหอพระไตรปิฏกอันวิจิตรตระการตาตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ จึงก้าวเดินขึ้นไป เห็นห้องหอประตูตู้ กำลังจะเดินเข้าไปเปิด แต่ยังไม่ทันได้เปิด แต่ได้เข้าไปถึง จิตก็ถอนออกจากนิมิตนั้น”
ท่านสรุปความให้ผู้เขียนบันทึกฟังด้วยความตื่นเต้นในธัมโมชปัญญาว่า
คำว่า “ไปจนสุดปลายขอนชาติ” นั้นหมายถึงชาตินี้เป็นปลายชาติ คือ ชาติสุดท้าย
คำว่า “ป่ารกและขวากหนาม” นั้นหมายถึงท่านต้องฟันฝ่าและต้องใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างมากถึงจะถึงวิมุตติ
คำว่า “พบทุ่งโล่ง” นั้น หมายถึง เมื่อข้ามทางอันแสนทรหดและกันดารมาได้ ถึงความเป็นผู้สบายกายใจ โล่งจากกิเลสตัณหา ไม่มีเสี้ยนหนามคือกิเลสตันหาใดเข้ามาทิ่งแทงได้
คำว่า “เห็นตู้พระไตรปิฏก” นั้น หมายความว่า เห็นธรรมที่สัมผัสด้วยใจ ทั้งพระอภิธรรม พระสูตร และพระวินัย
คำว่า “เข้าถึงแต่ไม่ได้เปิดดู” นั้น หมายความว่าถึงธรรมแล้ว แต่ไม่เก่งในเทศนาโวหารในการสอนคน
พรรษาแรกท่านจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม
แม้อายุพรรษามากท่านมักวางตนเป็นเสมือนผู้น้อย มักติดตามหลวงตามหาบัวไปตามสถานที่ต่างๆ เสมือนเณรน้อยๆ ท่านเป็นศิษย์ที่ซื่อสัตย์ เคารพยำเกรงและปฏิบัติตามคำสอนครูบาอาจารย์ อย่างหาที่ติมิได้ ท่านได้รับการยกย่องจากหลางจาว่าเป็น “เศรษฐีธรรม” และหลวงตามักเรียกนามท่านสั้นๆว่า ”ธรรมลี”
ท่านเล่าว่า อดีตชาติท่านเกิดเป็นสุนัขรับใช้องค์หลวงตามาหลายภพชาติ แม้ในภพชาติที่เป็นสุนัข นั้น หลวงตาก็ได้เมตตาอบรมสั่งสอน ดัดนิสัยจนเป็นสุนัขที่มีนิสัยดี ไม่เกเร นอกจากนั้น ท่านยังเคยเกิดเป็นช้าง
ท่านระลึกชาติในภพที่เกิดเป็นช้างว่า ท่านเป็นช้างชื่อว่า “คำต้น” เจ้าของช้างชื่อพ่อส่วน เขามีลูกสาว ๒ คน ชื่ออีหวัน และอีพัน ถูกเขาใช้ลากซุงเสมอ ส่วนนายควาญช้างชื่อว่า “บักคำต้น” เหมือนกับชื่อของท่าน
ท่านระลึกย้อนในภพชาติหลังๆ ของท่านมักเกี่ยวข้องกับหลวงตาเสมอ
อดีตสะท้อนปัจจุบันเป็นที่อัศจรรย์เสมอในบุญบารมี ใครจะคาดคิดได้ว่า พระรูปร่างเล็กๆ อยู่ในป่า ไม่มีโวหารเทศนาต้อนรับแขกผู้มาเยือนเช่นท่านจะสามารถหาทองคำช่วยชาติกับหลวงตาได้ถึง ๕๐๐ กว่ากิโลกรัม คิดเป็นเงินหาน้อยไม่
ท่านสิ้นกิเลสพรรษาที่ ๑๑ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาตีสอง ตรงกับวันพุธที่ ๕ ตุลาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ที่วัดบ้านกกกอก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟัง ว่า
...คืนนั้นฝนตกทั้งคืน ท่านเพลิดเพลินในการภาวนา ธรรม คือ สติ สมาธิ และปัญญา หลั่งไหลเหมือนสายน้ำ จิตเต็มอิ่มในธรรม เดินจงกรมคล้ายกับว่าเท้าไม่ได้เหยียบพื้นดิน นั่งภาวนาคล้าย กับว่าตัวลอยอยู่เหนือพื้น ทำสมาธิทั้งคืนไม่นอน ไม่พักผ่อน ในขณะที่พิจารณาเข้าด้ายเข้าเข็มธรรมขั้นสุดท้าย เสียงเทวดาไชโยโห่ร้องก้องทิวเขาพนา เสียงฆ้องทิพย์ดังกระหึ่มมาเป็นระยะๆ สลับกับเสียงเทวดาไชโยแว่วมาแต่ไกล เสียงสาธุการปานว่าโลกธาตุทั้งมวลหวั่นไหว น้ำตาร่วงอัศจรรย์เกินที่จำมาเล่าได้
คืนนั้นเสวยวิมุตติสุขสุดที่จะพรรณนา ต่อมาท่านได้นำเรื่องธรรมที่ได้รู้เห็นไปกราบเรียนหลวงตามหาบัว ผู้เป็นอาจารย์ทุกประการ
หลวงปู่ลี กุสลธโร ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีจอ ที่บ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
เป็นบุตรของนายปุ่น และนางโพธิ์ สาลีเชียงพิณ ท่านมีพี่น้องร่วมอุทร ๙ คน ชาย ๔ คน หญิง ๕ คน
ท่านเล่าชีวิตในวัยเด็กว่า สมัยเป็นเด็กพ่อแม่ก็พาทำบุญเหมือนกับชาวบ้านทั่วๆไป อายุได้ ๑๒ปี เรียนจบชั้น ป.๓ พออายุ ๒๐ กว่าปีก็ได้แต่งงานกับนางสาวตี ภรรยาตั้งท้องแล้วคลอดลูกออกมาตาย ท่านได้เกิดความสลดใจเป็นยิ่งนัก ท่านเล่าว่า การแต่งงานก็มิได้แต่งกันด้วยความรัก แต่งงานกันตามประเพณีที่พ่อแม่บอกให้แต่งเท่านั้น ท่านเองไม่เคยมีคนที่รัก และยังไม่เคยรักหญิงใดเลย ท่านอยู่กินกับภรรยาได้ ๒ ปี ๖เดือน จึงขอออกบวช เพราะได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐานที่เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์มั่น ที่เดินธุดงค์มาพักยังป่าแถบหมู่บ้านของท่านเก่งนักในการพิจารณาอสุภะกรรมฐาน พิจารณาเมื่อไหร่ ก็ได้เรื่องได้ราวเมื่อนั้น เห็นผลเป็นที่ประจักษ์เป็นอุปนิสัยดั้งเดิมของท่าน
ท่านอุปสมบทที่วัดศรีโพนเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมือวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓ เวลา ๑๖.๑๒ น. โดยมีพระธรรมเจดีย์(จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายานามว่า “กุสลธโร” แปลว่า “พระผู้ทรงไว้ซึ่งความดี”
ท่านเล่าการภาวนานพรรษาแรกว่า “ภาวนาบริกรรม พุทโธ ๆ ๆ เกิดแสงสว่างวาบฉายเข้ามาเห็นภรรยาเดินเข้ามาหา มาได้ระยะห่างประมาณวากว่าๆ จึงล้มลง ร่างกายแรกกระจุยเป็นผุยผง แม้แต่กระดูกก็มองไม่เห็น กลายเป็นดินเป็นหญ้า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สัญญาความจำได้หมายรู้ในรูปนาม ไม่ยึดไม่ติด การภาวนาจะเป็นแบบนี้ได้ต้องเกิดแสงสว่างก่อน จากนั้นการออกพิจารณาทางด้านปัญญาไหลคล่องตัวเหมือนสายน้ำตกจากที่สูงลงที่ต่ำไม่มีต
ิดขัด
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้ติดตามหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ต่อจากนั้นท่านได้ติดตามหลวงตาไปจำพรรษายังจังหวัดจันทบุรี และย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
ในสมัยที่หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท พักอาพาธที่วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม จังหวัดปทุมธานี หลวงปู่ลีมักจะมาเยี่ยมเยียนเสมอ และองค์หลวงปู่เจี๊ยะท่านก็ชื่นชมรักใคร่หลวงปู่ลีเป็นอย่างมากเช่นกัน ท่านทั้งสองจึงเป็นสหธรรมิกที่สนิทสนมกันมาก
สุดท้ายท่านได้สร้างวัดถ้ำผาแดง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ท่านได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้
จากหนังสือ พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
หน้า:
[1]