หลวงปู่ศรี มหาวีโร : พระอริยเจ้าผู้มากล้นด้วยบุญบารมี
http://www.dhammajak.net/board/files/lp_sri_122.jpg
พระเทพวิสุทธิมงคล
(หลวงปู่ศรี มหาวีโร)
วัดประชาคมวนาราม อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
พระอริยเจ้าผู้มากล้นด้วยบุญบารมี
พระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นผู้มีบุญญาธิการที่กระทำบำเพ็ญมาแต่บุพเพชาติ ลาภสักการะ ชื่อเสี่ยงปรากฏขึ้นเหมือนของทิพย์ที่หลั่งไหลมาจากสรวงสวรรค์ ท่านได้รับการยกย่องจากหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ว่าเป็นพระผู้มากล้นด้วยบุญบารมีรูปหนึ่งในสายกรรมฐาน
ท่านบรรลุธรรมขั้นสูงในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ โดยได้รับอุบายธรรมอันแยบยลจาก
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
ท่านมีเบื้องหลัง คือปฏิปทาอันแกร่งกล้าน่าอัศจรรย์ สู้ตายเพื่อธรรม กรำศึกในธุดงควัตร หาผู้เปรียบได้ยาก
...ด้วยวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาอันนำมาซึ่งความเลื่อมใส สาธุชนจึงพากันหลั่งไหลกันมากราบมากขึ้นโดยลำดับ มีพระภิกษุสามเณรและสุนุศิษย์มากมายทั่วประเทศ และต่างแดนเช่น อินเดีย จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา
ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุที่วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) วัดผาน้ำย้อย และวัดสาขา ๑๔๕ สาขา ทั่วประเทศ ถาวรวัตถุที่สำคัญยิ่งเป็นมิ่งศรีแห่งบวรพุทธศาสนาที่วัดเจดีย์ชัยมงคล คือ “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ อัฐิธาตุของถูปารหบุคคล เพื่อเป็นที่สักการบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บนยอดเขาผาน้ำย้อยอันงามสง่าเทียมฟ้า
ท่านเป็นผู้มีจิตศรัทธามั่นคงหยั่งรากฝังลึกลงในธรรมของพระตถาคตเจ้าแล้ว และเป็นผู้ถึงซึ่งการนับได้ว่า “สมณศากยปุตติยะ” โดยแท้ คือ ผู้เป็นบุตรเป็นโอรสอันเกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดโดยธรรม เนรมิตโดยธรรม เป็นทายาทโดยธรรม
ท่านเกิดในตระกูล “ปักกะสีนัง” ในวันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือนหก ปีมะเมีย ณ บ้านขามป้อม ตำบลขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม ท่านเป็นบุตรของนายอ่อนสี และนางทุมจ้อย ปักกะสีนัง มีอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖ ในพี่น้องรวมกัน ๑๑ คน
อายุ ๗ ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านขามป้อม โดยมี ท่านพระครูโพธาพิทักษ์ วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์
ในเพศฆราวาสนั้น ท่านเป็นหนุ่มรูปร่างเพรียว ไม่อ้วน มะขามข้อเดียวตันๆ กล้ามเป็นมัดๆ ชอบการชกมวยเป็นกีฬา ชกมวยชนะทุกครั้งจนกระทั่งคนถิ่นแถบนั้นไม่มีใครกล้าขึ้นต่อกรด้วย เพราะใครขึ้นชกด้วยโดนน๊อกคาเวทีแทบทุกราย
เกิดมาไม่เคยฆ่าสัตว์ ไม่กินของดิบ วันศีลไปฟังเทศน์ฟังธรรมจำศีล เป็นคนหมั่นขยัน ทำการงานและร่ำเรียนหนังสือ ไม่เป็นคนขี้เล่น ไม่โกรธเคียดแค้น ทำอะไรทำจริง แข็งแรงเกินคน
ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อมัธยมปีที่ ๑-๒-๓ ที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม จังหวัดมหาสารคาม เมื่อเรียนจบได้บรรจุเป็นข้าราชการครู
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ แต่งงานกับนางสาวสอน แสนยะมูล อายุ ๒๒ ปี มีบุตรด้วยกัน ๔ คน ชาย ๑ คน หญิง ๓ คน
ก่อนที่มารดาท่านจะขาดใจตาย ได้สั่งเสียเป็นเชิงอ้อนวอนรำพึงรำพันว่า
“ศรีเอ้ย ... แม่อยากให้ลูกบวชให้ซัก ๑๐ วัน ๑๕ วัน พอให้แม่ได้พึ่งบุญกุศล จะได้ไปดี ไปสวรรค์ เหมือนอย่างพ่อแม่คนอื่นที่ลูกบวชให้”
เมื่อจบคำสั่งเสียของแม่แล้ว น้ำตาร่วง หัวใจเหมือนจะหลุดหล่นหายไปต่อหน้าต่อตากุมมือแม่ไว้แน่น เห็นน้ำใจของแม่ที่รักท่านยิ่งนัก จึงรีบรับปากแม่ว่าจะบวชให้
ด้วยอุปนิสัยแห่งสาวกบารมีญาณมากระตุ้นเตือน ประกอบกับด้วยความศรัทธาในพระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง ตำบลขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ เวลา ๙.๐๐ น. โดยมี พระโพธิญาณมุณี (คำ โพธิญาโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูศิริธรรมธาดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูสมุห์พันธ์ เป็นอนุสาวนาจารย์
ได้ฉายาว่า “มหาวีโร” แปลความหมายว่า ”ผู้มีความหาญกล้ามาก” ”ผู้สามารถบุกเข้าไปทำลายกิเลสได้” เมื่อบวชแล้วได้ไปศึกษาธรรมกับพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ซึ่งเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าพูนไพบูลย์ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ พรรษาที่ ๕ จึงตัดสินใจเดินทางไปยังวัดบ้านหนองผือ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าไปกราบนมัสการฝากตัวเป็นศิษย์ใต้ร่มธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ดังที่ใฝ่ฝันมานาน
ด้วยความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงปรารภกับตนเองว่า ”ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติอย่างกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ทุ่มเทกำลังอย่างเต็มที่แล้ว ต้องได้ดวงตาเป็นธรรมบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้มันต้องขึ้นอยู่กับเหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล เมื่อเหตุน้อย ผลก็น้อย ถ้าเหตุพอประมาณ ผลก็พอประมาณ ถ้าเหตุมาก ผลมาก ถ้าเหตุพิเศษ ผลก็ย่อมพิเศษ” จึงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า “จะเร่งความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน”
ปี ๒๔๙๓-๒๔๙๔ พรรษที่ ๗ หลังจากท่านพระอาจารย์มั่นนิพพาน ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ธุดงค์ท่องเที่ยววกรรมฐาน และจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
ท่านปฏิบัติอย่างเข้มงวด ๒๒ คืน คือจากตะวันตกดินจนรุ่งอรุณขึ้นมาใหม่ บางครั้งนั่งไม่ลุกถึง ๖ วัน ๖ คืน พิจารณาอริยสัจจ์ ด้วยปัญญาจิตเกิดแสงสว่างเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านถือว่า “ร่างกายกับคุณความดีแตกต่างกันไกลลิบลับ เพราะร่างกายสลายไปทุกขณะ ส่วนคุณความดีดำรงอยู่ชั่วกัลป์”
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เป็นต้นมาท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่ากุงเป็นหลัก บางคราวท่านได้ออกวิเวกไปจำพรรษาทางจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นวัดสาขา
ท่านได้บูรณะปรับปรุงเสนาสนะวัดป่ากุงร้างและตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า “วัดประชาคมวนาราม” ปัจจุบันมีเนื้อที่ ๓๑๔ ไร่ ๒ งาน
สิ่งที่น่ายินดีและปลาบปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่สุดนั้นก็คือ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ได้เสด็จมาทอดพระกฐินส่วนพระองค์ที่วัดประชาคมวนาราม ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ชาวจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นอย่างยิ่ง
แม้ท่านจะอายุย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย ท่านยังนำคณะสานุศิษย์ท่องเที่ยวกรรมฐานเหมือนกับวัยหนุ่มๆ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เที่ยวอบรมสั่งสอนคนที่หลงงมงาย นับถือสิ่งที่ไร้แก่นสารหันมานับถือพระรัตนตรัย ปรากฎว่ารายทางที่ท่านผ่านไป กลิ่นธูปควันเทียน เครื่องสังเวยภูตผี ได้กลับกลายมาเป็นเครื่องบูชาสักการะพระรัตนตรัย
ท่านปรารภว่า “ประชาชนชาวบ้านผู้มีอุปนิสัยในทางธรรม เมื่อได้สนทนาธรรม ได้ฟังธรรมจากท่านซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงแม้เพียงครั้งเดียวก็จะได้รับประโยชน์แ
ละความสุขอันมีพระนิพพานเป็นที่สุดได้เช่นกัน
ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๗ ทรัพยากรป่าไม้บนเทือกเขาเขียวกำลังถูกทำลายเป็นอย่างมากด้วยเหตุนี้ น.อ.ประสิทธิ์ ทองใบใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดสมัยนั้น จึงได้กราบนิมนต์ถวายที่แก่หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านจึงจัดตั้งวัดชื่อว่า “วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม”
ภายหลังสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้ถวายที่ให้ท่านช่วยดูแลรักษาป่าเพิ่มเติม
รวมเป็นจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ ไร่
ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ คณะศิษยานุศิษย์ของท่านขอน้อมกตัญญูกตเวทิตาคุณ จัดงานวันเกิดถวายเนื่องวาระอันเป็นมหามงคลสิริอายุ ๙๐ ปี โดยสร้างพระเจดีย์หินถวายที่วัดป่ากุง ในงานนี้มีหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
มีพระกรรมฐานจากทุกสารทิศมาร่วมสักการะนมัสการ นับว่า “เป็นประวัติการณ์ในวงศ์กรรมฐานอีกครั้งหนึ่ง”
นี่คือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร พระอริยเจ้าผู้มากล้นด้วยบุญบารมี เป็นพระอริยสงฆ์ในสมัยปัจจุบัน เพียงไม่กี่รูปที่ยังทรงธาตุขันธ์ให้พวกเราได้กราบไหว้บูชา
ท่านจึงเป็นผู้ควรแก่การสักการบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การนบไหว้เป็นเนื้อนาบุญไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้แลฯ
จากหนังสือ พระธุตังคเจดีย์ เจดีย์แห่งพระอรหันต์
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
หน้า:
[1]