ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__3_172.jpgประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล
วัดป่าดงชน
ต.ดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร
๏ อัตโนประวัติ
“พระครูขันติธรรมารักษ์” หรือ “หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล” พระอริยสงฆ์ผู้ทรงเมตตาธรรม ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ กอปรด้วยศีลและธรรม มีศีลาจริยวัตรอันงดงาม เป็นที่เคารพเลื่อมใสแก่สาธุชนทั่วไปทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งพระภิกษุ สามเณร และฆราวาส ท่านเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยท่านได้ดำเนินตามปฏิปทาของพระธุดงค์กัมมัฏฐานสายพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อีกทั้งเจริญรอยตาม หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ผู้เป็นบูรพาจารย์ จึงถือได้ว่าท่านพระอริยสงฆ์สาวกผู้สืบทอดหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และควรค่าต่อการจารึกไว้อย่างแท้จริง
หลวงพ่อสัมมา มีนามเดิมว่า สัมมา มนต์ทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ณ บ้านนามน ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเจียม และนางหลอย มนต์ทิพย์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง
๏ ชีวิตปฐมวัย
ชีวิตในวัยเด็กเป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาด สุภาพเรียบร้อย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน โอบอ้อมอารี เป็นคนที่มีความเมตตาอารีมาตั้งแต่ยังเด็ก ดังนั้น จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ญาติพี่น้อง รวมทั้งเพื่อนฝูงด้วยกัน
พออายุถึงเกณฑ์ศึกษา โยมบิดา-โยมมารดาได้ส่งท่านเข้ารับศึกษาที่โรงเรียนโคกศรีสุพรรณ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในสมัยนั้น
ครั้นจบการศึกษาแล้ว ท่านได้ช่วยโยมบิดา-โยมมารดาทำนาทำไร่ แบ่งเบาภาระของครอบครัว ช่วยเหลือการงานต่างๆ ทางบ้านของท่านทำอาชีพเกษตรกรรม โดยชาวอีสานส่วนใหญ่นั้นมีอาชีพทำนาทำสวน ทำนาข้าวเลี้ยงครอบครัว ทำนาข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ ทำนาข้าวเลี้ยงคนทั้งโลก จึงถือว่าการทำนาเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติน่ายกย่อง คนทั้งโลกควรสำนึกบุญคุณของชาวนา เพราะความกตัญญูกตเวทีนั้น เป็นเครื่องหมายของคนดี
๏ การบรรพชา
ในสมัยเด็กๆ ท่านเล่าว่า “สมัยเป็นเด็ก หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้มาพำนักจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์) ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ได้ใส่บาตรหลวงปู่มั่น กับตากับยายบ้าง กับพ่อกับแม่บ้าง รวมทั้งได้มีโอกาสไปจังหันหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์)”
ท่านมีความผูกพันกับวัดมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีอุปนิสัยฝักใฝ่ในทางธรรม หลังจากที่กลับจากโรงเรียน ช่วยการบ้านการเรือนโยมบิดา-โยมมารดาแล้ว ก็ไปช่วยพระเณรที่วัดทำความสะอาด ปัดกวาดลานวัด อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์พระเถระผู้หลักผู้ใหญ่ รวมทั้ง ได้เห็นข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทาของพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในองค์หลวงปู่มั่น และพระธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นอันมาก ท่านคิดอยู่ในใจเสมอว่า “เมื่อโตขึ้นเราต้องบวชให้ได้”
เมื่ออายุ ๑๖ ปี ท่านกราบขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาไปบวชเป็นผ้าขาวอยู่กับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ วัดดอยธรรมเจดีย์ บ้านนาสีนวล ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร บวชเป็นผ้าขาวอยู่ ๖ เดือน เพื่อให้ทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติ รวมทั้งศึกษาศีลธรรม ท่องคำบรรพชาเป็นสามเณร
พอได้ทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติ และศีลธรรมพอสมควรแล้ว หลวงปู่กงมาได้นำเข้าไปบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยมี พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์
ภายหลังจากบรรพชาแล้ว ท่านกลับมาพักปฏิบัติธรรมจำพรรษากับหลวงปู่กงมา ที่วัดดอยธรรมเจดีย์เช่นเดิม ซึ่งในสมัยนั้น มีครูบาอาจารย์ลูกศิษย์องค์สำคัญของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลายองค์มาพักจำพรรษาด้วย อาทิเช่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นต้น
http://www.dhammajak.net/board/files/268_1238477290.jpg_622.jpg
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
http://www.dhammajak.net/board/files/268_1243076531.jpg_159.jpg
หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraphparagraph__1_201.jpg
พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต)
http://www.dhammajak.net/board/files/268_1243321982.jpg_297.jpg
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__16_180.jpg
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraphparagraph__178.jpg
๏ การอุปสมบท
ครั้นอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ พัทธสีมาวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมี หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นประธานสงฆ์, พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเทพสุเมธี (หลวงพ่อมหาไพบูลย์ อภิวณฺโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูวิบูลธรรมภาณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาสมบูรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺติปาโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีขันติเป็นที่ตั้ง” เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่ท่านกลับไปปฏิบัติธรรมจำพรรษาที่วัดดอยธรรมเจดีย์เช่นเดิม
๏ การเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรม
ท่านได้มาพำนักปฏิบัติธรรมจำพรรษา และอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ครั้นรู้จักหลักธรรมหลักวินัย ข้อวัตรปฏิบัติดีแล้ว ในบางปีช่วงออกพรรษา ท่านได้กราบลาหลวงปู่กงมา ออกเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปตามสถานที่ต่างๆ ตามป่าเขาลำเนาไพร โดยเฉพาะตามเทือกเขาภูพานท่านจะเที่ยวธุดงค์ไปหมด พอช่วงใกล้จะเข้าพรรษาก็กลับมาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์
สำหรับการออกเดินธุดงค์ของหลวงพ่อสัมมานั้น ท่านจะสลับสับเปลี่ยนกันออกไปกับหลวงพ่อแบน ธนากโร ถ้าหากปีใดหลวงพ่อแบนท่านลาออกไปธุดงค์แล้ว หลวงพ่อสัมมาท่านก็จะอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กงมา ถ้าหากหลวงพ่อสัมมาท่านลาออกไปธุดงค์ หลวงพ่อแบนท่านก็จะอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กงมา หรือในปีใดมีพระมาก หลวงพ่อสัมมาท่านก็จะออกไปธุดงค์ด้วยกันกับหลวงพ่อแบน
ในสมัยนั้น ครูบาอาจารย์ที่พำนักจำพรรษาเพื่อศึกษาข้อวัตร ปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ณ วัดดอยธรรมเจดีย์ มีดังนี้คือ (๑) หลวงพ่อแบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร (๒) หลวงพ่อแสน สุขกาโม วัดภูกะโล้น อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร (๓) หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล วัดป่าดงชน อ.เมือง จ.สกลนคร (๔) หลวงพ่ออ้ม สุขกาโม วัดภูผาผึ้ง อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร และ (๕) หลวงปู่อว้าน เขมโก วัดป่าบ้านนามน (วัดป่านาคนิมิตต์) อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__11_843.jpg
หลวงพ่ออ้ม สุขกาโม
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__44_144.jpg
หลวงปู่อว้าน เขมโก
๏ สร้างวัดป่าดงชน
วัดป่าดงชนแห่งนี้ แต่เดิมนั้นเป็นที่พำนักปฏิบัติภาวนาของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ คณะศรัทธาญาติโยมจากบ้านดงชน ได้ไปนิมนต์พระภิกษุจากวัดดอยธรรมเจดีย์ เพื่อมาโปรดคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านและเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ หลวงพ่อแบน ธนากโร จึงมอบหมายให้หลวงพ่อสัมมา ลงมาโปรดคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้านดงชน
หลวงพ่อสัมมา ได้มาพำนักจำพรรษาและเริ่มสร้างวัดป่าดงชนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เรื่อยมา รวมทั้ง ได้พัฒนาวัดป่าดงชนจนเป็นวัดที่สมบูรณ์แบบถูกต้องตามกฎหมาย มีศาลาการเปรียญ อุโบสถ กุฏิพระสงฆ์ โรงฉันน้ำร้อน และโรงครัว เป็นต้น ส่วนข้อวัตรปฏิบัตินั้น ท่านถือการปฏิบัติตามปฏิปทาสายพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อีกทั้งดำเนินตามแบบฉบับของหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ผู้เป็นบูรพาจารย์
http://www.dhammajak.net/board/files/_1_164.jpg
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
http://www.dhammajak.net/board/files/268_1238576734.jpg_136.jpg
หลวงพ่อแบน ธนากโร
http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__22_673.jpg
พระครูขันติธรรมารักษ์ (หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล)
๏ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
หลวงพ่อสัมมา เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมทั้งเป็นพระนักพัฒนาด้วย ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งพระภิกษุและฆราวาส เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั้งหลาย เป็นที่พึ่งของคณะศิษยานุศิษย์ ดังนั้น ท่านจึงมีหน้าที่การงานด้านพระศาสนาอยู่หลายหน้าที่ ดังนี้
- วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
- วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต สายที่ ๕
- วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดงชน
- วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูขันติธรรมารักษ์” ยังความปลาบปลื้มมาสู่คณะศิษยานุศิษย์ ทั้งพระภิกษุและฆราวาสเป็นอย่างยิ่ง
๏ การปฏิบัติศาสนกิจและพระธรรมเทศนา
หลวงพ่อสัมมา ท่านได้อบรมสั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์และคณะศรัทธาญาติโยม ให้รู้จักธรรมะคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้รู้จักศีลธรรม โดยใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านในแถบภาคอีสานส่วนใหญ่จะนับถือผี เซ่นไหว้ศาลเจ้าปู่ตา นับถือผีนาผีไร่ ถ้าหากว่าเจ็บไข้ได้ป่วยลง ก็จะพากันล้มวัว ล้มควาย ฆ่าเป็ดไก่สุกร เพื่อเลี้ยงเจ้าที่ ไปบนบานศาลกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง ไม่ให้มารบกวนบังเบียด พากันไปดูเจ้าเข้าทรง ไหว้จอมปลวก ไหว้ต้นไม้ใหญ่ ไหว้ภูผาป่าเขาไปก็มี
เมื่อเปรียบเทียบกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแล้วเป็นเรื่องที่ผิด ถือว่าการที่คนป่วยคนเดียวเจ็บไข้แล้วยังไม่พออีก ยังไปเบียดเบียนสัตว์ต่างๆ ให้พลอยรับกรรมตามไปด้วย ไปฆ่าเขาเราก็ผิด ถ้าหากชีวิตเรา เขามาฆ่าเราล่ะ เราจะดีใจไหมล่ะ ลองพิจารณาดูให้ดี คนเรานั้นจะดีจะชั่วก็อยู่ที่ตัวเราทำ ไม่เกี่ยวกับผี ไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศอะไรเลย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว
หลวงพ่อสัมมา ท่านได้นำหลักธรรมคำสอนต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนา มาแนะนำสั่งสอนให้ญาติโยมชาวบ้านเลิกนับถือผี ให้หันมานับถือพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครั้นพอญาติโยมชาวบ้านเจ็บป่วยลง ท่านก็สอนให้สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้แก่เจ้ากรรมนายเวร อย่าได้มีเวร อย่าได้มีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ให้ไปไหว้เจ้าเข้าผีเหมือนเดิม สอนให้บริกรรมภาวนา “พุทโธ” “ธัมโม” “สังโฆ” เอาคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่กราบไว้ ที่บูชา ที่เคารพนับถือ
๏ กิจวัตรประจำวัน
ทุกวันพระ ท่านเมตตาให้ชาวบ้านลงมารักษาศีลภาวนาอยู่ที่วัด พอถึงเวลาเย็นท่านก็จะเป็นผู้นำหมู่คณะพระภิกษุ สามเณร คณะศรัทธาญาติโยมที่ลงมารักษาศีลปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ จากนั้นท่านก็จะแสดงเทศนาธรรมอบรมสั่งสอนด้านจิตตภาวนา ไปจนถึงเวลาอันสมควรแล้วจึงเลิก พอถึงเวลา ๔ นาฬิกา ก็ตื่นขึ้นมาสวดมนต์ทำวัตรเช้า เทศนาธรรมอบรมจิตตภาวนา จากนั้นท่านจะเมตตานำพระภิกษุ สามเณรทำกิจวัตรประจำวัน
ช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาในวันพระ หลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็นเสร็จ ท่านจะเมตตาเทศน์อบรมพระภิกษุ สามเณร รวมทั้งฆราวาสที่มารักษาศีลปฏิบัติธรรม และนำพานั่งสมาธิภาวนาไปจนถึงเวลา ๔ นาฬิกา จากนั้นสวดมนต์ทำวัตรเช้า ครั้นรุ่งอรุณวันใหม่ ท่านจะนำพาพระเณรทำกิจวัตรประจำวัน ทำความสะอาด ปัดกวาดลานวัด
เวลา ๐๖.๐๐ น. ออกบิณฑบาตโปรดศรัทธาญาติโยมภายในหมู่บ้านดงชน
เวลา ๐๘.๐๐ น. ฉันภัตตาหารเช้า พอหลังจากฉันเสร็จ ท่านก็จะกลับกุฏิทำสมาธิภาวนา เดินจงกรม และพักผ่อนอริยาบท
เวลา ๑๓.๐๐ น. ให้การต้อนรับพระเณรและพุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการ หากวันไหนไม่มีใครมา ท่านก็จะทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา
เวลา ๑๕.๐๐ น. ทำความสะอาดกวาดลานวัด
เวลา ๑๘.๐๐ น. สรงน้ำ พอสรงน้ำเสร็จ ท่านก็จะฉันน้ำร้อนและน้ำปานะ ให้อุบายธรรมแก่คณะศิษย์ ตลอดจนคณะศิษย์ได้ถวายการนวดให้องค์ท่าน
เวลา ๑๙.๐๐ น. ทำวัตรสวดมนต์ อบรมจิตตภาวนา
ส่วนกิจวัตรส่วนตัวของท่านนั้น ในทุกๆ วัน เวลา ๐๓.๐๐ น. ท่านจะตื่นขึ้นมาทำความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา สวดมนต์ทำวัตรเช้า ไปจนกว่าจะถึงรุ่งอรุณวันใหม่ แล้วหลวงพ่อสัมมาท่านก็จะออกมาทำกิจวัตรส่วนรวม นี่คือข้อวัตรปฏิบัติและปฏิปทาที่หลวงพ่อสัมมาท่านพาดำเนิน
๏ การมรณภาพ
หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล ท่านถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ เวลา ๐๑.๒๕ น. ณ วัดป่าดงชน สิริอายุรวมได้ ๕๙ ปี ๕ เดือน ๑๙ วัน พรรษา ๓๙ การจากไปของท่านสร้างความเศร้าสลดอาลัยมาสู่คณะสงฆ์ ลูกศิษย์ลูกหา และพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นยิ่งนัก
ท่านได้รับพระราชทานเพลิงศพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๗ หลังจากเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อแบน ธนากโร ซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของหลวงพ่อสัมมา แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร ได้เมตตาเป็นประธานในการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์เพื่อบรรจุอัฐบริขารและอัฐิธาตุให้แก่หลวงพ่อสัมมา ขนฺติปาโล จนแล้วเสร็จและเปิดให้พุทธศาสนิกชนได้มากราบไหว้สักการบูชารำลึกถึงองค์ท่าน ทั้งนี้ หลวงพ่อแบน ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ฯ ด้วย
http://www.dhammajak.net/board/files/__111_359.jpg
หลวงพ่อแบน ธนากโร
หน้า:
[1]