เกิดเป็นคนต้องพัฒนาตัวเอง
เกิดเป็นคนต้องพัฒนาตัวเอง
คนไทยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๙๐ นับถือพระพุทธศาสนา แต่จะมีสักกี่คนในร้อยคนที่ศึกษาและเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง คงนับถือศาสนาตามพ่อแม่และทะเบียนบ้าน จึงเป็นการประมาทอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงควรหันมาศึกษาศาสนาที่ตนนับถืออย่างจริงจัง อย่าเพียงนับถือศาสนาตามทะเบียนบ้านอยู่เลย เมื่อศึกษาก็รู้แจ้งเห็นจริงจะได้พูดได้เต็มปากว่านับถือศาสนาพุทธอย่างจริงใจ โดยเริ่มจากกล่าวคำถวายตัวเป็นพุทธมามกะและขอถึงพระรัตนตรัยเป็นอุบาสกอุบาสิกาตามลำดับ รักศีลห้าอันเป็นศีลปรกติของมนุษย์ และเริ่มศึกษาคำสั่งสอนให้เข้าใจถึงหลักและแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา สิ่งที่ควรศึกษายิ่งคือ พระไตรปิฎกซึ่งจดจารถ่ายทอดสืบต่อพระพุทธศาสนา ๒,๕๐๐ กว่าปี ยังคงหลักการสำคัญอันสมควรเชื่อถือ การศึกษาขั้นนี้เรียกว่า “ปริยัติ” แล้วน้อมนำมาปฏิบัติด้วยกายและใจที่น้อมโยนิโสมนสิการเรียกว่า “ปฏิบัติ” ให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง เรียกว่า “ปฏิเวธ” อันเป็นแนวทางดำรงชีวิตในสังคมอยู่อย่างเป็นสุข ไม่ทุกข์อย่างที่ประสบพบเจอในสังคมอยู่ทุกวันนี้
หัวใจของพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญให้ปฏิบัติเรียกว่า โอวาท ๓ คือ
๑. ละเว้นความชั่ว
๒. ทำความดี
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
ย่อลงมาเหลือเพียงหนึ่ง คือ “ความไม่ประมาท” ดังปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สงฆ์สาวก ก่อนเสด็จปรินิพพานว่า
“หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิโว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคตเจ้าฯ”
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงย่อคำสอนทั้งหมดของพระองค์ (พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ได้แก่ พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) ลงมา ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ๓ประการ คือ
๑.ศีล ได้แก่ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยหรือศีล เป็นอธิศีลสิกขาคือข้อศึกษาเกี่ยวกับศีลขั้นสูง เป็นวีติกกะมะปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างหยาบ
๒.สมาธิ ได้แก่พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆไปเป็นอธิจิตตะสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับสมาธิขั้นสูงเป็นปริยุฏฐานะปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างกลางอันรัดรึงจิตได้แก่ นิวรณ์ คือกิเลสอันกั้นจิตมิให้เป็นสมาธิ
๓.ปัญญา ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมอันยิ่ง ธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะที่สำคัญเป็นอธิปัญญาสิกขา คือข้อศึกษาเกี่ยวกับปัญญาขั้นสูง เป็นอนุสยะปหาน คือเครื่องละกิเลสอย่างละเอียด อันได้แก่กิเลสนอนเนื่องอยู่ในสันดานเหมือนตะกอนนอนก้นตุ่ม ไม่มีอะไรมากวนก็ไม่แสดงอะไรออกมา
หน้า:
[1]