คนดีคืออย่างไร?
คนดีคืออย่างไร?
คนจะดีมิใช่ดีอยู่ที่ทรัพย์ มิใช่นับพงศ์พันธุ์ชันษา
คนจะดีดีที่การงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี พุทธภาษิต “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา
ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”
คนดีต้องมีและรู้จักหน้าที่ทั้ง ๑๒ สถานะในสังคม (เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้) เพราะหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่
หน้าที่ ๑๒ สถานะ ได้แก่ สถานะพ่อแม่ – บุตร, สามี – ภรรยา,ครู – ศิษย์, เพื่อน – เพื่อน, สมณชีพราหมณ์ – ชาวบ้าน, นาย – บ่าว
พระคุณบุพการี
คุณแม่หนาหนักเพี้ยง พสุธา
คุณมิตรดุจอา กาศกว้าง
คุณพี่พ่วงศิขรา เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร
ศิษย์กับอาจารย์
ช่างหม้อตีหม้อใช่ ตีฉาน
ตีแต่งเอางามงาน ชอบใช้
ดุจศิษย์กับอาจารย์ ตีสั่ง สอนแฮ
ตีใช่ตีจักให้ สู่ห้องอบาย
มิตรแท้
มีมิตรรองรอบรู้ รักสนิท
ดุจอุทรเดียวชิด ชอบหน้า
ความงำเงื่อนงำบิด ปัดเป่า
ท่านว่ามิตรนี้อ้า เอกล้ำเหลือดี
โคลงโลกนิติ
พระพุทธองค์ตรัสสอนหน้าที่ของคฤหัสถ์ และสมณชีพราหมณ์ไว้สองพันกว่าปีแล้ว ให้มีหน้าที่ซึ่งกันและกัน โปรดอ่านพระไตรปิฎกเรื่องทิศหก
ความย่อแห่งพระไตรปิฎก ภาค ๔ เล่ม ๑๑
ทิศ ๖ คือ บุคคล ๖ ประเภท อริยสาวกเป็นผู้ปกปิด (ปฏิบัติชอบ) ทิศทั้งหก คือ ควรทราบว่า
๑.ทิศเบื้องหน้า ได้แก่มารดาบิดา
๒.ทิศเบื้องขวา ได้แก่อาจารย์
๓.ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรอำมาตย์ (“อำมาตย์” เป็นสำนวน บาลี หมายถึง มิตรอย่างเดียว)
๕.ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาสกรรมกร
๖.ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ (คำว่า “พราหมณ์” ก็เหมือน กัน เป็นสำนวนแฝดกับคำว่า สมณะ คงหมายเฉพาะสมณะ)
ครั้นแล้วทรงแสดงการปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหกประเภท ที่เปรียบเหมือนทิศ ๖ เหล่านี้ ฝ่ายละ ๕ ประการ เป็นการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันทุกฝ่าย เช่น มารดาบิดากับบุตรธิดา อาจารย์กับศิษย์ สามีกับภริยา มิตรกับมิตรนายจ้างกับลูกจ้าง สมณะกับประชาชน
สิงคาลมาณพก็เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
(หมายเหตุ พระสูตรนี้ชาวยุโรปเลื่อมใสกันมาก ว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเสนอหลักทิศ ๖ อันแสดงว่าบุคคลทุกประเภทในสังคมควรปฏิบัติต่อกันในทางที่ดีงาม ไม่มีการกดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไป อนึ่ง ในที่นี้ไม่ได้แปลงรายละเอียดทั้งหมด เพื่อรวบรัด ผู้ต้องการทราบรายละเอียดโปรดอ่านหนังสือนวโกวาท ซึ่งพิมพ์เผยแพร่หลายแล้วนับจำนวนล้านฉบับ)
มิตรเทียม ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรเทียม (มิตรปฏิรูปกะ) ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรปอกลอก ๒. มิตรดีแต่พูด ๓. มิตรหัวประจบ ๔. มิตรชวนในทางเสียหายพร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรเทียมทั้ง ๔ ประเภทนี้ประเภทละ ๔ ประการ มิตรแท้ ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรแท้ ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรมีอุปการะ ๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ๓. มิตรแนะนำประโยชน์ ๔. มิตรอนุเคราะห์ (อนุกัมปกะ) พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรแท้ทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ ๔ ประการ
ทุกคนเกิดมาต้องรู้หน้าที่ของตน คนเราเกิดมาทุกคนมีหน้าที่ในสังคมรวม ๑๒ สถานะ ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน ไปตามสถานะนั้นๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องทิศหก ดังนี้
สถานะที่ ๑ ถ้าเราเป็น “ลูก” เราควรปฏิบัติต่อพ่อแม่ ดังนี้
(๑)ท่านเลี้ยงเรามา ควรเลี้ยงดูท่านตอบ
(๒)ช่วยทำการงานของท่าน
(๓)ดำรงวงศ์สกุล
(๔)ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
(๕)เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
สถานะที่ ๒ ถ้าเราเป็น “พ่อแม่” เราควรช่วยเหลือลูก ดังนี้
(๑)ห้ามปรามจากความชั่ว
(๒)แนะนำส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓)ให้ศึกษาศิลปวิทยา
(๔)หาคู่ครองที่สมควรให้
(๕)มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันควร
สถานะที่ ๓ ถ้าเราเป็น “ลูกศิษย์” เราควรปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ดังนี้
(๑)ลุกขึ้นต้อนรับ (ให้เกียรติ)
(๒)เข้าไปหา (เพื่อปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ บำรุง ฯลฯ)
(๓)ใฝ่ใจเรียน (คือมีใจรักเรียน เรียนด้วยศรัทธา รู้จักฟังให้เกิด
ปัญญา)
(๔)ปรนนิบัติช่วยบริการ
(๕)เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ)
สถานะที่ ๔ ถ้าเราเป็น “ครูอาจารย์” เราควรช่วยเหลือลูกศิษย์ ดังนี้
(๑)ฝึกฝนแนะนำส่งเสริมให้เป็นคนดี
(๒)สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
(๓)สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
(๔)ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
(๕)สร้างเครื่องคุ้มกันภัยให้ในทุกสารทิศ
สถานะที่ ๕ ถ้าเราเป็น “สามี” เราควรปฏิบัติตนต่อภรรยา ดังนี้
(๑)ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
(๒)ไม่ดูหมิ่นภรรยา
(๓)ไม่นอกใจภรรยา
(๔)มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ภรรยา
(๕)หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
สถานะที่ ๖ ถ้าเราเป็น “ภรรยา” เราควรปฏิบัติต่อสามี ดังนี้
(๑)จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
(๒)สงเคราะห์ญาติมิตรของทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีด้วยดี
(๓)ไม่นอกใจ
(๔)รักษาสมบัติที่หามาได้
(๕)ขยัน ไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
สถานะที่ ๗ ถ้าเราเป็น “นายจ้าง” เราควรปฏิบัติตนต่อคนงานและคนรับใช้ดังนี้
(๑)จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
(๒)ให้ค่าจ้างรางวัลตามสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
(๓)จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
(๔)ได้ของกินแปลกๆ พิเศษมาก็แบ่งปันให้
(๕)ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
สถานะที่ ๘ ถ้าเราเป็น “คนงาน คนรับใช้” เราควรปฏิบัติตนต่อนายจ้าง ดังนี้
(๑)เริ่มทำการงานก่อนนายจ้าง
(๒)เลิกงานทีหลังนาย
(๓)ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔)ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
(๕)นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
หน้า:
[1]