Medmayom โพสต์ 2012-7-18 15:32:35

การกินการนอนของมนุษย์ในพระไตรปิฎก


การกินการนอนของมนุษย์ในพระไตรปิฎก

   พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องการกิน – การนอนของพระภิกษุไว้ในข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎกภาค ๓ ในเรื่องอานิสงส์ของข้าวยาคู และการเคี้ยวไม้สีฟัน (แปรงฟัน) ตลอดจนการนอนอย่างมีสติไว้ ดังนี้
   อานิสงส์ของข้าวยาคู ๕ ประการ
๑. บรรเทาความหิว      ๒. บรรเทาความกระหาย
๓. ลมเดินสะดวก         ๔. ชำระลำไส้
๖. ทำอาหารที่ยังไม่ย่อยที่เหลือให้สุก
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘)
   อานิสงส์ของการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ เหล่านี้ คือ :-
๑. สายตาดี                     ๒. ปากไม่มีกลิ่นเหม็น
๓. ประสาทรับรสหมดจด   ๔. ดีและเสมหะไม่รัดรึง
๕. รับประทานอาหารมีรส
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อานิสงส์ในการเคี้ยวไม้สีฟัน ๕ ประการ
เหล่านี้แล”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๘)      อานิสงส์ของผู้หลับโดยมีสติสัมปชัญญะ
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อานิสงส์ ๕ ประการเหล่านี้ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะก้าวลงสู่ความหลับ คือ :-
๑. หลับเป็นสุข      ๒. ตื่นเป็นสุข
๓. ไม่ฝันร้าย      ๔. เทวดารักษา      ๕. น้ำอสุจิไม่เคลื่อน
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อานิสงส์ของผู้ตั้งสติ มีสัมปชัญญะ ก้าวลง
สู่ความหลับ ๕ ประการเหล่านี้แล”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๙)

   อนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการกิน ผู้เขียนได้อ่านบทความของแพทย์ถึงเรื่อง สุขบัญญัติเกี่ยวกับการกิน ๑๐ ประการ ดังนี้
๑. รสไม่จัด      ๒. ไม่ร้อนจัด ๓. ไม่เย็นจัด
๔. ไม่เหนื่อยกาย ๕. ไม่เครียด (ใจ) ๖. จิตร่าเริง
๗. ไม่ดื่มน้ำก่อน ๘. กินครึ่งท้อง
๙. กินเนื้อน้อย ๑๐. พักผ่อนหลังอาหาร
   การค้าขาย ๕ อย่าง ที่อุบาสกไม่ควรทำ
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! การค้าขาย ๕ อย่างเหล่านี้ อันอุบาสกไม่ควรทำ คือ :-
๑. การค้าขายศัตรา (สัตถวณิชชา)
๒. การค้าขายสิ่งมีชีวิต (สัตตวณิชชา)
๓. การค้าขายเนื้อสัตว์ (มังสวณิชชา)
๔. การค้าขายน้ำเมา (มัชชวณิชชา)
๕. การค้าขายยาพิษ (วิสวณิชชา)
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! การค้า ๕ อย่างเหล่านี้แล อันอุบาสกไม่ควรทำ”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๓๒)

   อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล)
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อกล่าวว่า อกุศลราศี (กองแห่งอกุศล)เมื่อกล่าวให้ชอบก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง นิวรณ์ ๕ อย่าง ล้วนเป็นอกุศลราศี คือ :-
๑. กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
๒. พยาบาท ความคิดปองร้าย
๓. ถีนะมิทธะ ความหดหู่ง่วงงุน
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งสร้านรำคาญใจ
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อกล่าวว่าอกุศลราศี (กองแห่งอกุศล) เมื่อกล่าวให้ชอบก็ควรกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ อย่าง นิวรณ์ ๕ อย่าง ล้วนเป็นอกุศลราศี”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๗๔)
คนที่เกิดมาเพื่อประโยชน์ความสุขแก่คนมาก
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! คนดี๑ เมื่อเกิดมาในสกุลย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก คือ :-
๑. แก่มารดา บิดา
๒. แก่บุตร ภรรยา
๓. แก่ทาส กรรมกร และชาวเมือง
๔. แก่มิตร และอำมาตย์
๕. แก่สมณและพราหมณ์
   “เสมือนหนึ่งเมฆฝนใหญ่ เมื่อทำให้ข้าวกล้าสมบูรณ์ก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย 22/50)
   สิ่งที่ขอร้องหรือปรารถนาให้เป็นไปอย่างใจไม่ได้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้ อันสมณะ หรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้ คือ :-
๑. ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าได้แก่เลย
๒. ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าได้เจ็บไข้เลย
๓. ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าได้ตายเลย
๔. ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าได้สิ้นไปเลย
๕. ขอสิ่งที่มีความพินาศไปเป็นธรรมดา อย่าได้พินาศไปเลย

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อสิ่งที่มีความแก่, ความเจ็บ, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่, เจ็บไข้, ตาย,สิ้นไป, พินาศไปแล้ว ย่อมไม่พิจารณาอย่างนี้ว่ามิใช่เราคนเดียวที่มีสิ่งซึ่งมีความแก่, ความเจ็บไข้, ความตาย, ความสิ้นไป, ความพินาศไปเป็นธรรมดาอันได้แก่, เจ็บไข้, ตาย, สิ้นไป, พินาศไป แท้จริงสัตว์ทั้งหลายที่มีการมาการไป การตาย การเกิดทั้งหมด ก็มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ความเจ็บไข้ ความตายความสิ้นไป ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว ฯลฯเราจะพึงเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหล แม้อาหารของเราก็จะไม่ทำความพอใจให้ (รับประทานข้าวไม่ลง) แม้ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามก็จะก้าวลงในกาย แม้การงานก็จะไม่ดำเนินไป แม้ศัตรูก็จะดีใจ แม้มิตรก็จะเสียใจ, เมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯพินาศไปแล้ว เขาก็จะเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหลบุถุชนผู้มิได้สดับนี้ เรากล่าวว่า ถูกลูกศร คือความโศกอันมีพิษแทงเอาแล้ว ย่อมทำตัวเองให้เดือดร้อน.
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ส่วนอริยาสาวก ผู้ได้สดับแล้ว เมื่อสิ่งที่มีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว ย่อมพิจารณาอย่างนี้ว่า “มิใช่เราคนเดียวที่มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา อันแก่ ฯลฯ พินาศไป แท้จริงสัตว์ทั้งหลายที่มีการมา การไปการตาย การเกิดทั้งหมด ก็มีสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดาอันแก่ ฯลฯ พินาศไปเช่นเดียวกัน ก็ถ้าเมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว เราจะพึงเศร้าโศก ลำบากใจ บ่นเพ้อ ตีอก คร่ำครวญ หลงใหล แม้อาหารของเราก็จะไม่ทำความพอใจให้ (รับประทานข้าวไม่ลง) แม้ความเป็นผู้มีผิวพรรณทรามก็จะก้าวลงในกาย แม้การงานก็จะไม่ดำเนินไป แม้ศัตรูก็จะดีใจ แม้มิตรก็จะเสียใจ, เมื่อสิ่งซึ่งมีความแก่ฯลฯ ความพินาศไปเป็นธรรมดา แก่แล้ว ฯลฯ พินาศไปแล้ว เขาก็จะไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่บ่นเพ้อ ไม่ตีอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงใหล อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เรากล่าวว่า ถอนเสียได้ซึ่งลูกศรคือความโศกอันมีพิษที่บุถุชนผู้มิได้สดับถูกแทงแล้ว ทำตนเองให้เดือดร้อน ส่วนอริยสาวกเป็นผู้ไม่เศร้าโศกเป็นผู้ปราศจากลูกศร ย่อมทำตัวเองให้สงบระงับ.
   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ฐานะ ๕ อย่างเหล่านี้แล อันสมณะ หรือพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกไม่พึงได้”
(ปัจจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๕๙)


หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: การกินการนอนของมนุษย์ในพระไตรปิฎก