Medmayom โพสต์ 2012-7-18 15:38:56

ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหาร


ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

-ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล-   การเป็นคนดีนั้นเป็นอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชกระแสรับสั่งโดยพระองค์เองไว้หลายแห่งว่า การทำความดีนั้นน่าเบื่อประการถัดไป การทำความดีนั้นมันยาก ทำไมมันยากเพราะมันไปสวนกระแสชีวิตของมนุษย์ เพราะมนุษย์คือสัตว์อย่างหนึ่งที่ถูกกระตุ้นโดยแรงตัณหา แรงอาฆาต กิเลส ความอยาก สังคมมนุษย์หมดปัญหา หมดกิเลส สังคมมนุษย์คงจะเหงาพอสมควร ทั้งประเทศคงเหงา หมอทำคลอดคงไม่ต้องทำคลอดเพราะมนุษย์ไม่เกิดความอยาก อย่างประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ตอนนี้มีแต่สังคมคนแก่ จะหาเด็กเกิดใหม่ไม่ค่อยมี ตอนนี้ทั้งสองประเทศกำลังลำบากมากประการสำคัญต่างๆ เหล่านี้ พระองค์ท่านไม่ได้สอนให้เคร่งขจัดกิเลสโดยสิ้นเชิงคือในฐานะมนุษย์ซึ่งสูงกว่าสัตว์ มีสติปัญญาที่สามารถฝึกให้เกิดขึ้นได้ จะพูดถึงจุดหมายปลายทางคือไม่ได้ให้ลด เลิก ละ กิเลสตัณหา มีมันเถอะมนุษย์เพราะมันเป็นของธรรมชาติ แต่จักต้องควบคุมให้มันมีความพอดี ความสมควรแก่เหตุได้อย่างไร จุดอ่อนอย่างหนึ่งของประชาชนคนไทย คือ เรามีของสูงของดี เรามีจอมปราชญ์แห่งแผ่นดิน ถ้าใช้คำสามัญคือ เรามีอาจารย์ที่มีสติปัญญาที่สูงส่ง แต่เราเป็นนักเรียนที่แย่ นักเรียนที่ไม่ค่อยฟังอาจารย์ กับนักเรียนที่เห็นแต่อาจารย์เท่านั้น ไม่เคยมองอาจารย์เลย
      พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนคนไทยมา ๕๗ ปี เป็นหลักสูตรที่ยาวนานที่สุดเลย แต่นักเรียนคนไทยนั้นเอาแต่ได้ยินพระเจ้าอยู่หัวกล่อมอยู่ทุกวันเลยไม่ว่าจะเป็นการเปิดทีวีก่อนข่าวหลังข่าว มีพระราชกระแสพระราชดำรัส มีภาพพระองค์ท่านในอิริยาบทต่างๆ เราก็แค่ได้เห็นแค่ได้ยิน แต่ไม่เคยฟังตอนที่ท่านสอนว่าอะไร ความจริงสอนเยอะแยะไปหมด สอนวิธีการดำรงชีวิตการดำรงตน สอนวิธีการปฏิบัติงาน สอนวิธีสารพัด เท่านี้ยังไม่พอ ท่านยังทำให้ดูคนไทยนั้นนั่งดูประทับใจ แต่ไม่เคยงัดออกมาจากใจมาปฏิบัติ แต่พอฝรั่งเอามาพูดเราตื่นเต้นมาก หลายๆ คนไปอบรมเรื่องการบริหารนั้นก็ GOODGOVERNANCE แล้วพยายามแปลกัน ธรรมาภิบาล ธรรมรัตน์ มีบางคนแปลว่าสุขปราสาท แปลว่าอะไรไม่รู้ GOOD GOVERNANCE แสดงว่าที่แปลมาไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เขาว่าการบริหารต้องโปร่งใส ก็เฮโลตาม บ้านเมืองอายุพันปีอย่างเราไม่มี GOOD GOVERNANCE เลย จะครองตัวให้อยู่รอดปลอดภัยอยู่ได้จนทุกวันนี้ได้อย่างไร แล้วอีกฟากโลกหนึ่งมีอายุเท่าไร อย่างอเมริกาก็อายุแค่เท่ากับกรุงเทพฯ เท่านั้น เด็กๆ ในบ้านเมืองเรากลับทำตามวิถีชีวิตของเขามาจนบ้านเมืองเราพินาศหมด จนกระทั่งเราลืมวิถีชีวิตของเรามีอะไรเข้ามาก็ใช้ชีวิตแบบอเมริกัน ในขณะนี้สังคมไทยมีโรคบ้า ๔ บ้า
      ๑. บ้าอำนาจ ๒. บ้าเงิน
   ๓. บ้าวัตถุ ๔. บ้าตะวันตก (ฝรั่ง)
   โรค ๔ บ้า ถ้าไม่ขจัดออกจากสังคมไทยจะลำบาก เพราะในตอนนี้ในสังคมไทยเรามีบาดแผลเหวอะหวะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรามาทั้งหมด ๕๗ ปี GOOD GOVERNANCE ของเราลึกซึ้งกว่าของฝรั่งหลายเท่า
      คนเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ไม่ว่าที่ไหน ตามท้องถนน ตามแยกไฟแดง ในบ้านคนเราก็สามารถเรียนรู้ได้ หากมีสติ ปัญญาก็เกิด ต้นไม้ก็แยกกิ่งก้านสาขาออกดอกออกใบ ก็เหมือนบริษัทหนึ่งที่เอาเงินอัดฉีดเข้าไปให้มีสภาพคล่อง ถ้าเป็นต่างประเทศ ตอนนี้ก็เป็นฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้หมดใบ ขาดน้ำท่า เป็นบริษัทใหญ่ๆ ต้องขายกิจการเล็กๆ ออกไปเหลือแค่กิจการหลักของตัวเอง ตอนเดือนเมษายน ร้อนระอุ NPL เต็มตัวเพราะขาดน้ำ แล้วต้นไม้รีบสลัดใบให้หมดก็ต้องรีบออกดอกให้เร็วที่สุด เพราะต้นไม้ใหญ่จะตายต้องรีบมีดอก ออกดอก เพื่อมีเมล็ดเอาไปฝังไว้เป็นพันธุ์ต่อไปข้างหน้า
      ปฏิกิริยาของนักบริหารธุรกิจก็เหมือนกันสุดท้าย CORE BUSINESSก็เอาไม่อยู่ ล้มแล้วก็ตั้งบริษัทเล็กๆ ต่อไปให้เป็นเชื้อต่อ ลงทุนเป็นแสนล้านแต่ในวันนี้พูดกันเรื่อง SMEs เมื่อ ๗ ปี พูดเรื่องโตๆ แต่วันนี้ SMEs เพิ่งรู้ตัวว่าตัวใหญ่ตายหมดแล้ว ต้นไม้มันสอนเรา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเรียนที่ไหนพระพุทธองค์ก็สำเร็จใต้ต้นไม้ ความสำเร็จคือการได้เห็นหมดแล้ว แต่อย่าเห็น อย่างเดียว ให้มอง เมื่อกี้พูดเรื่อง GOOD GOVERNANCE เป็นเรื่องดีที่ทุกองค์กรต้องมี แต่คำถามที่ตามมาคือ เราไม่มี GOOD GOVERNANCE เลยหรือ เมืองเก่าแก่อย่างนี้ไม่มี GOOD GOVERNANCE อยู่ได้อย่างไรทำไมต้องตามฝรั่งด้วย อย่างความโปร่งใสอะไรต่อมิอะไรต่างๆ เชยมากๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเรื่องนี้ตั้งแต่คำว่า GOOD GOVERNANCE ยังไม่เกิดเลย วันที่เสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ได้ทรงประกาศเป็นสัญญากับพวกเราภายใต้ชื่อว่าพระปฐมบรมราชโองการ รับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม”เป็นพื้นฐานในการครองแผ่นดินของพระองค์ ธรรมะของพระเจ้าอยู่หัว นั้นคือทศพิธราชธรรม ไม่ได้หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น แต่พวกเราประชาชนจะต้องปฏิบัติตามด้วย
      ทศพิธราชธรรม มี ๑๐ ข้อ
   ๑. ทาน คือการให้ เป็นการปฏิบัติที่สูงที่สุด และธรรมดาที่สุดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นให้หมดให้เวลาให้พระวรกายให้ทุกสิ่งทุกอย่างต่อแผ่นดิน ๕๗ ปี ทำทุกสิ่งทุกอย่างไม่หยุดนิ่ง
      ๒. ศีล การรักษาศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือครบเป็นธรรมดาอยู่ แม้แต่แมลงสักตัวก็ไม่เคยเห็นทรงฆ่า ตอนไปภาคใต้ พระเจ้าอยู่หัวโดนทากกัด พอขบวนเคลื่อนที่สัก ๒-๓ นาที ก็มีเสียงวิทยุมา ขอหยุดจับตัวยึกยือก่อน มีทากตัวหนึ่งหล่นใส่พระศอ ปรากฏว่าต้องหยุดขบวน พระองค์ท่านก็ดึงมันออกจากพระศอ มีเลือดไหลเป็นทางแล้วค่อยๆ จับไปปล่อยไว้ข้างทาง
      ๓. ปริจาคะ การบริจาคหรือเสียสละความสุขสำราญ บริจาคเป็นการให้เพื่อหวังผล ให้ประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ พระองค์ท่านสร้างเขื่อนกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เสียพื้นที่น้ำท่วมไป ๕๐๐ ไร่ แล้วส่งประโยชน์ให้ ๕๐๐ ไร่ ไม่ต้องสร้าง แต่ถ้าเสีย ๕๐๐ ไร่ แต่ส่งประโยชน์ได้ ๒,๐๐๐ ไร่ถ้าอย่างนี้ ต้องสร้างอุทิศประโยชน์ส่วนมาก อาจจะตรงกับที่พระองค์รับสั่งไม่กี่ปีมานี้ว่า “OUR LOSS IS OUR GAIN” ก็คือว่า “ขาดทุนคือกำไร”
      ๔. อาชชวะ ความซื่อสัตย์ “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้” เราเป็นข้าราชการเป็นข้ารับใช้ในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกคนจึงต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในความซื่อตรง แต่ปัจจุบันกลับมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นในระบบราชการทุกระดับ ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงด้วยแล้วก็ยิ่งทุจริต ผมเป็นคนเดียวที่ได้รับรางวัลครุฑทองคำในฐานะนักบริหารดีเด่น และ โล่ ป.ป.ป. คู่กันทั้งประเทศไทยมีคนเดียว น่าเศร้าไหม ที่ทั้งประเทศ มีปรากฏเพียงคนเดียว บ้านเมืองไทยมีคนดีจำนวนมากแต่ทุกคนหลบเลี่ยงที่จะออกมาต่อสู้กับความไม่ถูกต้องเหล่านี้ วันที่ ๔ ธันวาคมของบางปี “...หากยังคงมีการโกงกินอย่างนี้ ก็มีแต่จะหายนะ...” พระราชดำริของพระองค์นั้นไม่ทำให้บุคคลเหล่านี้กลับใจมาทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง แต่กลับตั้งเป็นขบวนการทุจริตเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่ตนเอง โดยไม่มีความละอายต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่อยู่บนธนบัตร อย่างเรื่องปุ๋ยเพื่อการเกษตร ชาวบ้านเขาเดือดร้อนกันมากอยู่แล้ว ก็ยังซ้ำเติมเอาปุ๋ยปลอมไปให้กับเขาอีก ถือเป็นความผิดที่ร้ายแรงมหันต์
      ในตอนที่ได้รับรางวัลโล่ดีเด่นจาก ป.ป.ป. เคยถาม ป.ป.ป. ว่าใครเป็นผู้ได้รับรางวัลในปีที่แล้ว เขาตอบว่าไม่มี เลยถามต่อไปว่า แล้วปีก่อนนั้นละ เขาตอบว่าไม่มี เลยตัดความ ถามว่า แล้วคนสุดท้ายที่ได้รับรางวัลนี้เป็นใคร คำตอบคือ พล.อ. สิทธิ์ จิระโรจน์ ซึ่งท่านมีช่วงอายุห่างจากผมถึง ๒๐ปี ฟังแล้วก็น่าสลดใจ คนดีหนีหายเพราะกลัวอันตรายและไม่ต้องการเข้ามาแปดเปื้อน อันตรายอย่างไร? เคยมีหน่วยข่าวกรองรายงานผมว่า สถานการณ์ไม่ดีถึงขนาดว่าต้องให้เปลี่ยนรถมาเป็นรถเบนซ์ ๕๐๐ ซึ่งก็รู้กันว่าเป็นรถกันกระสุนไปไหนทีจะลงจากรถต้องใช้มือผลักแล้วเอาเท้าดันเพราะประตูมีความหนาและหนักมาก มองลอดออกไปแต่ละทีตาลาย ทุกปีใหม่แต่ละปีถ้ามีคนให้เงินเต็มกล่องผงซักฟอก ต้องแนะว่า เรารับไม่ได้ แต่ถ้าคืนก็โง่สองเท่าขอแนะนำให้นำไปบริจาคมูลนิธิคนตาบอด ถ้ายังนำมาให้อีกก็มูลนิธิคนหูหนวกถ้ายังไม่หยุดคราวนี้ก็ นู่นเลยมูลนิธิคนบ้า สุดท้ายก็ได้รับความจริงจากคนที่ให้เขาเล่าให้ฟังว่าเป็นธรรมเนียมถ้าไม่ให้จะถูกกลั่นแกล้งสารพัด ฟังแล้วก็สลดใจนักการเมืองข้าราชการที่โกงกินเหล่านี้พอเกษียณอายุแล้วมีบ้านใหญ่โตราวกับวังมีคนบูชากราบไหว้ แต่เบื้องหลังทิ้งภาระไว้ให้กับประชาชน ทำลายแผ่นดิน
       ๕. มัททวะ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยและกิริยามารยาทสุภาพ อ่อนโยน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎร หลายๆ ครั้งที่พระองค์ทรงนั่งพับเพียบต่อหน้าประชาชนเพื่อพูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง วัสดุอุปกรณ์ อาทิเช่น ดินสอที่พระองค์ใช้นั้นต้องราคาถูกที่สุด ฉลองพระบาทคู่ละไม่กี่ร้อยบาท อย่างนักการเมืองไปหาประชาชนก็ไม่มีใครที่จะนั่งคุยกับประชาชนและไม่มีใครอ่อนน้อมถ่อมตนเท่ากับพระองค์ได้หรอก การที่พระองค์ทรงนั่งคุยกับประชาชนอย่างนี้ก็เพื่อทำประชาวิจารณ์ ถามความคิดเห็นของประชาชนและผู้บริหารระดับต่างๆ ในครั้งที่อยู่นราธิวาส พระองค์ทรงให้ไปตามถุงเงิน (ทรงให้ผมชื่อว่าถุงเงิน เพราะควบคุมงบประมาณส่วนกลางอยู่ในเวลานั้น) มายืนใกล้ๆ เพราะต้องการให้จดบันทึก ตั้งแต่บัดนั้นมาผมก็เลยเจ๋อยืนใกล้พระองค์อยู่ตลอด เพื่อทำการจดบันทึกทุกอย่าง
      ๖. ตบะ ความเพียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า ให้เอาชนะใจตนเองให้ไปในทางที่ถูกต้องคิดก่อนพูด คิดก่อนทำ แต่บ้านเมืองของเรามีแต่คนทำก่อนแล้วค่อยคิด ก็เลยทะเลาะกันวุ่นวายเหมือนกับทุกวันนี้
      ๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ ผมไม่เคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงโกรธทรงกริ้วในบางครั้ง เพราะงานเสร็จไม่ทันพระทัย หลังจากที่ทรงดุทุกครั้งจะทรงปลอบขวัญด้วยการให้พระคนละ 1 องค์ เพื่อเป็นการปลอบใจ
      ๘. อวิหิงสา การไม่เบียดเบียน
      ๙. ขันติ ความอดทน
   ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดเคลื่อนในธรรม
   เหล่านี้คือคุณธรรมที่พระองค์มีให้พสกนิกรอยู่ตลอดเวลา๑๔ ปีที่แล้ว ทรงเรียกขึ้นไปเฝ้าฯ ที่สกลนคร ทรงรับสั่งว่าทำแบบราชการแล้วช้า เสร็จไม่ทันการลองทำแบบโง่ดีกว่า ผมก็งงทำแบบฉลาดยังเสร็จไม่ทันเลย ทำแบบโง่จะเสร็จได้อย่างไร ทรงตอบว่าทำแบบ NGOs ไงทรงมีพระอารมณ์ขันเป็นอย่างมากถึงพระราชกรณียกิจ จะมากมายก็ตาม
ในครั้งนั้น พระองค์ทรงจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ผมเองเป็นคนไปจดทะเบียน พอไปส่งเอกสาร ก็พบพนักงานทำเสียงเขียวถามทำไมนายกไม่มาเอง? เลยบอกไปตรงๆ ว่านายกติดธุระ นายกบ้านอยู่ไหน? บ้านเลขที่เท่าไร? ฟังแล้วผมเองก็ตอบไม่ถูก นายกทำอาชีพอะไร? ผมเลยบอกไม่รู้เหมือนกัน เห็นทำหลายอย่างที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง อาชีพก็ไม่มี ไหนเอาชื่อนายกมาดูซิ พอเห็นชื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นนายกมูลนิธิเท่านั้นแหละ ๗ นาทีจัดการทำเอกสารจนเสร็จเรียบร้อย
   พระราชทานชื่อ มูลนิธิชัยพัฒนา ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าการต่อสู้กับความยากจนและความอดอยากของราษฎรเปรียบเสมือนกับการเข้าสงคราม เปรียบได้ดับตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิอันประกอบด้วย รูปพระแสงขรรค์ชัยศรี อันเป็นตัวแทนพระองค์ที่เป็นผู้นำกองทัพ รูปธงกระบี่ธุช เปรียบกับพสกนิกรชาวไทยที่ร่วมรบกับพระองค์ รูปดอกบัว แทนความบริสุทธิ์ ความเบิกบาน และรูปสุดท้ายเป็น รูปพระสังข์หลั่งน้ำ เปรียบดังการหลั่งประโยชน์สุขและความเจริญให้กับพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน คือชัยชนะนั่นเอง
      คำว่า ประโยชน์ นั้น พระองค์ดำริว่าไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวแต่ต้องเป็นประโยชน์สุขก่อให้เกิดผลดีและความสุขใจ อาทิเช่น ถนนรอบเมืองหาดใหญ่ จัดว่าเป็นประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ทุกข์ เพราะเมื่อฝนตกน้ำจะท่วมเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากถนนล้อมรอบไม่มีทางออกของน้ำ ทั้งๆ ที่เมืองหาดใหญ่ติดชายทะเล หรือพื้นที่กลางถนนก่อนถึงจังหวัดเพชรบุรี ได้มีการนำต้นสักมาปลูก สักเป็นไม้ขนาดใหญ่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะเกะกะ ต้องมีการตัดทำลายตั้งแต่ยังมีขนาดเล็ก จัดเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ ซ้ำยังเสี่ยงการต่อต้านจากพวกอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามมาอีก เมื่อจะตัดเมื่อต้นโตเต็มที่แล้ว
   พระองค์ทรงสอนว่า จะทำการอะไรนั้น ให้ยึดหลักภูมิสังคมเป็นหลักแต่ละสังคมนั้นต้องใช้สิ่งที่เหมาะสมกันไปตามแต่สภาพภูมิสังคมนั้นๆ อย่างเช่นการปลูกบ้านยกใต้ถุนสูงของคนในจังหวัดเพชรบุรีเป็นวัฒนธรรมที่มีกันมายาวนาน ในฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วม ชาวบ้านก็สามารถย้ายสิ่งของไปไว้บนชั้นบนของบ้าน พร้อมกับยาเรือไว้พร้อม ในเวลาน้ำท่วมก็ไม่เดือดร้อน เป็นหลักภูมิปัญญาง่ายๆ ที่ยึดหลักภูมิสังคม ซึ่งทุกๆ สังคมก็จะมีวัฒนธรรมที่ดีงามต่างกันไป แต่จะรักษาให้คงอยู่ได้นานเท่าไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนในสังคมนั้นๆ เอง เคยไปกล่าวเปิดงานอนุรักษ์ควาย มีคนกล่าวรายงานว่าเมื่อ ๘ ปีที่แล้ว ควายเหลือ ๒ ล้านตัว ปีที่แล้วควายเหลือ ๗ แสนตัว ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ควายสูญพันธุ์แน่ เลยกล่าวออกไปว่า จริงๆ แล้วไม่สูญพันธุ์หรอก เพราะยังเหลือควายอีกตั้ง ๖๔ ล้านตัว และข้างบนนี้อีก ๑ ตัว เพราะ ฅ ฅน ถูกลบไปหมดแล้ว เหลือแต่ ค ควาย เพียงตัวเดียว
      ย้อนกลับไปในครั้งที่เป็นเลขาฯ สภาพัฒน์ ผมมุ่งให้ประเทศไทยกลับไปสู่แนวทางเดิม ไม่ยึดติดกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากจนเกินไป เพราะไม่ได้สร้างประโยชน์สุขเลย กลับเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่ในเวลานั้นเศรษฐกิจฟองสบู่กำลังเป็นที่นิยม คนจึงด่าผมกันทั้งเมือง วันนั้นเราต้องการเป็นเสือตัวที่ ๕ ของเอเชีย วันที่เราเดินทางไปสู่ อุตส่า- หา- กรรมเป็นวันที่เราเริ่มเดินทางผิด เราต้องหาเงินด้วยการกู้สถาบันการเงินต่างๆ เราต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเราต้องนำผู้บริหารจากต่างประเทศเข้ามาด้วย เมื่อฟองสบู่แตกทำให้เราได้รับปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
      “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การก้าวไปข้างหน้า เราต้องก้าวไปอย่างมั่นคง เหมือนกับบ้านก็ต้องมีเสาเอกที่มั่นคงต้องมีการวางรากฐานของบ้าน” เสาเอกนี้มีความสำคัญมาก ตลอดจนรากฐานของบ้าน ถึงแม้ว่าเมื่อประกอบบ้านเสร็จแล้วก็จะไม่เห็นเสาเอกนี้อีก แต่เราจะสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง เมื่อเราต้องกู้เงิน เราต้องหาเทคโนโลยีเราต้องนำเข้าเทคโนโลยี เราก็เหมือนบ้านที่ไม่มีเสาเข็ม หากจะเข้าสู่สากลจริงๆเราก็ควรค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ไป สู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
      ในช่วงที่ผมบวช ผมได้อยู่กับตัวเอง ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง วันหนึ่งขณะที่กำลังรินน้ำชา สติกำบังตั้งมั่นอยู่ที่น้ำชาที่กำลังรินใส่แก้ว มีกระรอก ๒ ตัววิ่งไล่กันอยู่ข้างๆ สติละไปเหลียวดูที่กระรอก พอหันกลับมาก็เห็นน้ำชาล้นแก้วหกลงสู่โต๊ะ แล้วไหลลงเปรอะเสื่อด้านล่าง ด้วยความตกใจจึงวิ่งนำเอาสบงที่ซักแล้วนำมาเช็ด ทำให้ไม่มีสบงใส่ในวันรุ่งขึ้น น้ำชาที่ล้นก็ยังคงเป็นน้ำชาอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะดื่มกินได้เพราะเสียแล้ว ซ้ำยังทำให้ส่งผลเสียหายต่อสิ่งอื่นๆ ด้วย ดังเช่นการพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าต้องอาศัยความพอดีมิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหาย
      ยกตัวอย่าง มวยในรุ่นเล็กๆ เราสามารถเป็นแชมเปี้ยนโลกได้เพราะเราเป็นประเทศที่รูปร่างไม่สูงใหญ่นัก รูปร่างเท่าๆ กัน เราไม่เสียเปรียบใคร แต่ถ้าเป็นรุ่นใหญ่ๆ เรามีโอกาสโด่งดังน้อยเพราะรูปร่างเสียเปรียบในเรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน อาหารไทยของเราล้วนแต่มีรสชาติอร่อยลึกล้ำแต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไปสนใจอาหารต่างประเทศ แดกแฮมเบอร์เกอร์กันอยู่ตลอด ทำไมต้องใช้คำว่า “แดก” ภาษาไทยเป็นภาษาที่สมบูรณ์ที่สุด คำว่า“กิน” คำเดียวก็สามารถบรรยายออกมาเป็นกิริยาได้หลายลักษณะเช่น แดก กินทาน รับประทาน สวาปาม แฮมเบอร์เกอร์ ไม่สามารถใช้คำว่า รับประทาน ได้ก็เพราะมีขนาดใหญ่มาก ถูกออกแบบมาเพื่อปากฝรั่งโดยเฉพาะ เมื่อทานแล้วต้องอ้าปากให้กว้าง แล้วงับให้หมดภายใน ๔ คำ จากนั้นดื่มโค้กตามเพื่อดันอาหารนี้ลงไปในท้อง อาการลักษณะนี้จึงไม่สามารถเรียกว่า กิน หรือ ทาน ได้เคยเห็นคนพิการแขนด้วนทำแฮมเบอร์เกอร์ โดยเอาแขนที่ด้วนเขี่ยขนมปังให้ตกลงพื้นจากนั้นใช้เท้าแหวกขนมปังให้เป็นสองซีก เอาเศษเนื้อยัดเข้าไปแล้วใช้เท้าประกบกัน เท่านี้ก็เสร็จแล้ว พร้อมแดก ไม่ต้องใช้ภูมิปัญญาอะไร
      อาหารไทยมีรสชาติอร่อย อีกทั้งประโยชน์เสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง ผสมสมุนไพรจากธรรมชาติช่วยให้ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น เป็นภูมิปัญญาชั้นสูงที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ รสชาติก็มีความหลากหลายอย่างขนมจีนแกงไก่ ขณะที่กินแกงขนมจีนแกงไก่อยู่นั้น เราได้รับรสชาตินุ่มๆ ของเส้นขนมจีน ขณะขบโดนเนื้อ ความหวานของเนื้อปนกับน้ำแกงได้รสชาติหวานมัน ขณะที่เคี้ยวอยู่ขบโดนเม็ดมะเขือพวงทำให้มีรสขมๆ เข้ามาเพิ่มเปลี่ยนรสชาติถือว่ามหัศจรรย์ จะกินอาหารกันทีก็นั่งล้อมวง มีข้าวเป็นหม้อถ้าไม่พอก็หุงใหม่ สามารถเลี้ยงดูกันได้อย่างพอเพียง ผิดกับพวกฝรั่งที่มีชีวิตแบบการแข่งขัน ผู้ที่แข็งแรงกว่าย่อมอยู่เหนือคนที่อ่อนแอกว่า ตัวใครตัวมันวัฒนธรรมการกินก็เช่นกัน อาหารแต่ละอย่างถูกทำมาเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น บางคนต้องการกินแบบฝรั่ง เห็นว่าอาหารอร่อยก็แบ่งปันให้โต๊ะข้างเคียงทีนี้ส่งอาหารกันวุ่นไปหมด ขึ้นต้นแบบฝรั่ง แต่สุดท้ายก็ลงเอยแบบไทย อันเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักภูมิสังคม
   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่า ก่อนทำอะไรนั้นต้องมีคำ ๓ คำ คือ (๑) รู้ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะทำอะไร อาทิเช่น การสร้างเขื่อนนักสิ่งแวดล้อมเชื่อแต่ความคิดของฝรั่ง ไม่มีความรู้ ไม่ได้ทำการศึกษา ฝรั่งบอกว่าเขื่อนทำลายธรรมชาติ ก็เห็นดีเห็นงามตามไปด้วย ผลสุดท้ายน้ำฝน ๑๐๐หยด นำไปบริหารใช้ได้เพียง ๘ หยด อีก ๙๒ หยด ทิ้งสูญค่าไป ไม่ยอมศึกษาให้ดีก่อน เอาแต่เชื่อฝรั่งจนเคยตัว คำที่ (๒) คือ รัก ถ้ารู้แล้วอยู่เฉยๆก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนเอาเอกสารวิจัยเก็บไว้ในตู้ คำว่ารักเปรียบเสมือนความเมตตา เป็นแรงผลักดันให้เอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ความคิดเพียงความคิดเดียวย่อมมีความถูกต้องและรอบคอบน้อยกว่าการระดมความคิดเพราะฉะนั้นคำที่ (๓) ก็คือ ความสามัคคี ทำงานอย่างเป็น กลุ่มเป็นก้อนและพร้อมอกพร้อมใจกัน มีความรู้ มีแรงผลักดัน คือความรัก ร่วมกันทำคือความสามัคคี งานก็จะสามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี บ้านเมืองมีการพัฒนาอย่างเป็นปึกแผ่น
      แต่ถ้าไม่สามัคคีกัน มีความแตกแยก พวกนี้เหมือนพวกเชื้อโรคถ้าเมื่อใดเราอ่อนแอมันก็จะเข้าสู่ร่างกายเรา และทำให้เราอ่อนแอลงไปอีก ในขณะเดียวกัน ถ้าเราแข็งแรงมันจะสามารถทำอะไรเราได้ นอกจากนี้เราก็ต้องเรียนรู้ถึงระบบอินเตอร์บ้าง ศึกษาภูมิสังคมของชาติอื่นๆ บ้างว่าเขาไปกันถึงไหนแล้ว อย่างพวกฝรั่ง วันดีคืนดีไม่ซื้อกุ้งเราบอกว่าเพราะอวนของเราไม่มีช่องเต่าออก ซึ่งมันไม่เกี่ยวอะไรกับกุ้งที่ขายให้เขาเลย เราก็ต้องมาลงทุนเปลี่ยนอวนหมดเงินอีกร้อยสองร้อยล้านเพื่อซื้ออวนที่มีช่องเต่าออก เวทีสากลนั้นคือผลประโยชน์ใคร ผลประโยชน์มัน ในหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “THEMILLIONAIRE NEXT DOOR” เป็นหนังสือที่นำเศรษฐี 120 คนมาอธิบายการดำเนินชีวิตตั้งอยู่ในความพอดี ศึกษาภูมิสังคมคมของตัวเราให้รู้แจ้งชัดเสียก่อน จากนั้นใช้ความรักเป็นแรงผลักดันให้เอาความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และทำงาน จนเกิดผลสำเร็จ
    คนไทยทุกคนจึงควรมีแนวทางการดำเนินชีวิตตามรอยพระยุคลบาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่ในศีลธรรม ศึกษาภูมิสังคมของตนเอง ทำงานโดยใช้ รู้ รัก สามัคคี ก็จะสามารถพัฒนาชีวิตให้พบกับความปกติสุขได้ทั้งทางกายและใจ


   บทความชิ้นนี้เป็น “ปาฐกถาพิเศษ” ซึ่ง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาได้บรรยายไว้ ณ โรงเรียนนายทหารอากาศอาวุโส สถาบันวิชาการทหารอากาศชั้นสูง เมื่อวันที่ ๖พฤศจิกายน ๒๕๔๕ นำมาตีพิมพ์ในหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗ วันศุกร์ที่๒๙ พฤศจิกายน-วันพฤหัสบดีที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ หน้า ๑๑-๑๒


หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ปรัชญาความเป็นผู้นำเพื่อการบริหาร