ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา
http://www.chirayu-poonsapaya.com/images/chirayu-poonsapaya.jpgศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันพุธที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรีของนายฮันส์ ไกเยอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมัน และนางเจียม ไกรยง ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา ขณะอายุ ๓ ปีครึ่ง บิดามารดาได้นำไปถวายตัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระพันปีหลวง) ได้รับพระราชทานชื่อ “พูนทรัพย์” แต่เนื่องจากยังเล็กมาก จึงทรงฝากให้สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธรทรงเลี้ยงดูไปก่อน โดยโปรดให้นอนหน้าพระแท่นบรรทม ท่านได้เจริญวัยอยู่ในพระราชวังพญาไท เป็นเวลานานถึง ๒๐ ปี ทำให้ท่านมีกิริยาวาจามารยาทเรียบร้อย งามสง่า
ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา มีแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่วัยเด็ก สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงภรณ์จึงทรงสนับสนุนให้ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินี เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้าเรียนต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำเร็จเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรก และได้รับราชการในสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้รับทุนบาเบอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แล้วจึงโอนมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้สมรสกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้เป็นองคมนตรี แม้จะไม่มีบุตรธิดา แต่ท่านทั้งสองก็ครองชีวิตคู่ด้วยความสุขสมบูรณ์ เป็นตัวอย่างของคู่ชีวิตที่รักใคร่กลมเกลียวกันตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า ๕๐ ปี ทั้งยังช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกันในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ในระหว่างที่รับราชการในคณะอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้เห็นการณ์ไกลด้านการศึกษาและความสำคัญของการฝึกหัดครูระดับปริญญา จึงริเริ่มให้มีแผนกครุศาสตร์เป็นแผนกเล็ก ๆ ในคณะอักษรศาสตร์ และได้พยายามบุกเบิกให้ก้าวหน้า จนยกระดับขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก นับเป็นคณบดีหญิงคนแรกของประเทศไทย ท่านได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งติดต่อกันนานถึง ๑๔ ปี ท่านเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาพยาบาลศึกษา (ปัจจุบันเป็นคณะพยาบาลศาสตร์) เพื่อผลิตครูและผู้บริหารงานด้านการพยาบาลให้แก่กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ท่านยังก่อตั้งแผนกจิตวิทยาและแผนกพลศึกษา (คณะจิตวิทยาและคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาในปัจจุบัน) ขึ้นในคณะครุศาสตร์ และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นทั้งครูและกัลยาณมิตรของศิษย์ เป็นนักวิชาการและนักการศึกษาที่อุทิศตนตามอุดมคติของครุฐานนิยธรรม เป็นผู้นำและต้นแบบของนักบริหารที่มี วิสัยทัศน์กว้างไกล เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมและเมตตาธรรม ตลอดช่วงชีวิตการรับราชการ ท่านได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาอย่างเต็มที่ด้วยมุ่งมั่นที่จะสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับการศึกษาของประเทศโดยรวม
นอกเหนือจากงานในราชการแล้ว ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ยังปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือสังคมอีกหลายด้าน อาทิ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการมูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็น ประธานคณะผู้ก่อตั้ง สมาคมสตรี อุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และเป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและนายก สโมสรซอนต้า กรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการ การศึกษา การพัฒนาเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ตลอดจนการยกสถานภาพสตรีไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ
ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นผู้ที่มีความห่วงใยในการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ท่านได้เป็นประธานกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งในที่สุดรัฐบาลได้ยอมรับข้อเสนอของกรรมการชุดนี้ ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ และประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฏาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมวิชาการ เรื่องการใช้ภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕
ด้วยจิตใจที่มีแต่ให้และจิตใจที่นึกถึงสังคมส่วนรวมตลอดเวลา ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้มอบที่ดินชายทะเลหาดแสงจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง จำนวน ๒ ไร่ ๕๔.๓ ตารางวา ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในกิจการของคณะครุศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ “ ศูนย์บริการวิชาการ จิรายุ - พูนทรัพย์” ภายใต้การดูแลของ คณะครุศาสตร์ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินและบ้านที่ท่านพำนัก แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ คณะครุศาสตร์และกรุงเทพมหานคร จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ให้เยาวชนและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้
หลังจากเกษียณอายุราชการ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ยังมีกุศลจิตคิดผดุงสังคม โดยการเป็นกรรมการสภา นายกสโมสร และประธานมูลนิธิที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ สภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สโมสรซอนต้า กรุงเทพฯ มูลนิธิกตเวทิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชีวิต จิตใจของท่านเปี่ยมด้วยความเสียสละ ทำงานโดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ผลงานของท่านปรากฏประจักษ์ชัดทั้งในระดับชาติและนานาชาติมาเนิ่นนาน จะเห็นได้จากรางวัลและเกียรติคุณที่ท่านได้รับเป็นจำนวนมาก ทั้งการได้รับการยกย่องจากสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยให้เป็นนักการศึกษาดีเด่น ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นปูชนียาจารย์คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการ ประกาศเกียรติคุณในฐานะบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่การศึกษาของชาติอย่างสูงยิ่ง ในการจัดงาน ครบรอบ ๑๐๐ ปี กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกและทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซึ่งทรงพระราชทานเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ที่กระทำความดีความชอบ เป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน อันเป็นเกียรติประวัติสูงสุด
แม้ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา จะล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยแล้ว ท่านยังคงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดีเยี่ยม ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ ประธานกรรมการ ที่ปรึกษาสมาคม สโมสร ที่ท่านก่อตั้งหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งงานที่เกี่ยวกับราชการอีกหลายตำแหน่ง ยังไม่นับงานเฉพาะกิจที่ท่านได้รับเชิญไปให้คำแนะนำช่วยเหลืออยู่เสมอ เมื่อคำนึงถึงอายุของท่านแล้ว กล่าวได้ว่าท่านเป็นผู้สูงอายุที่ทำงานหนักมากท่านหนึ่ง
ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานหลายทศวรรษ ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ได้อุทิศตนให้กับการศึกษาของชาติและงานสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อ ส่วนรวมเป็นอเนกประการ เหนือสิ่งอื่นใด ท่านได้ดำรงตนและดำเนินชีวิตตามหลักสัปปุริสธรรม มีความหนักแน่นมั่นคงด้วยคุณธรรมและหลักการอันสูงส่ง เป็นประทีปและหลักชัยที่ส่องสว่าง เป็นที่พึงน้อมบูชา เทิดทูนด้วยศรัทธา และยึดมั่นเป็นแบบฉบับได้ด้วยความชื่นชมยินดี ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๒ เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการสรรหาผู้สูงอายุ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม เสนอ โดยเห็นสมควรประกาศสดุดีเกียรติคุณ ศาสตราจารย์ ท่าน ผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ในฐานะผู้สูงอายุแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๒ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตามสืบไป
ขอบคุณมากครับขอขอบคุณคุณงามความดีของท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ขอบคุณมากมาก คนที่ทำดีเพื่อสังคมช่างมีจิตใจที่ประเสริฐจริงๆ ขอบคุณมากๆ นะ ครับ{:5_128:}{:5_128:}{:5_128:}
หน้า:
[1]