finex โพสต์ 2011-2-13 03:12:34

วัยไหนๆ ก็เสี่ยง

การดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน มักไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องสุขภาพเท่าที่ควร ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย รวมถึงความเครียด ทำให้มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต) เพิ่มมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะหนุ่มสาว วัยทำงานอายุต่ำกว่า 40 ปี

http://www.thaihealth.or.th/sites/default/files/users/user-12660/hart.jpg
จากผลการเฝ้าระวังตลอดปี 2551 กระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด 148,206 ราย และเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 107,709 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พบมากในกลุ่มวัยทำงานอายุน้อยกว่า 40 ปี ดังนั้น ควรรู้ทันเพื่อรับมือกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

รับมือ...โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด คือ ภาวะที่เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลง หรือหยุดชะงัก อันเนื่องจากมีการตีบ หรืออุดตันในหลอดเลือดแดง (Coronary Artery) แล้วใช้ชีวิตอย่างไรจึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมากแค่ไหน โดยอาจเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต หรืออาจเป็นปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อายุ เพศ กรรมพันธุ์ เป็นต้น

สัญญาณเตือน...โรคหัวใจขาดเลือด

หลายคนคงสงสัยว่า อาการเจ็บหน้าอกหลังจากออกกำลังกาย หรือยกของหนัก แต่นั่งพักสักครู่ก็หาย เป็นสัญญาณเตือนอันตรายหรือไม่ ลองเช็กอาการที่สำคัญของภาวะหัวใจขาดเลือด ดังนี้

1.เจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก คล้ายมีอะไรมาทับ บีบเค้นที่ยอดอก หายใจไม่ออก

2.อาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอ กราม แขนซ้ายด้านใน

3.หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย โดยในเฉพาะเวลาออกกำลังกาย

4.ใจสั่น เหงื่อออกมาก

5.หน้ามืด เวียนศีรษะ

บางรายไม่มีอาการใดๆ ทั้งสิ้น อาจเป็นแบบฉับพลัน รุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือที่เรียกว่า Heart Attack ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม

รู้ได้อย่างไร...เข้าข่ายโรคหัวใจขาดเลือด

ปัจจุบันสามารถตรวจสุขภาพเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดได้ โดยแพทย์จะซักประวัติโดยละเอียด ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตรวจสมรรถภาพหัวใจ ขณะออกกำลัง (EXERCISE STRESS TEST) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (ECHO) เครื่องบันทึกคลื่นหัวใจที่พกติดตัวได้ (HOLTER ONITORING) หรือการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปวิเคราะห์ดูว่า มีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดมากน้อยเพียงใด

เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด ต้องรีบไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

วินาทีแห่งชีวิตมีความสำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เมื่อหลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตัน กล้ามเนื้อหัวใจจะตายภายใน 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะวิกฤติ และอาการอาจเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว อาจมีอันตรายถึงชีวิต หรือมีภาวะแทรกซ้อนภายหลังได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จะทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดี

เคล็ด (ไม่) ลับ....บำรุงหัวใจและหลอดเลือด

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถป้องกันได้ ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ปราศจากไขมัน เน้นรับประทานผัก ผลไม้ให้มากๆ บริหารอารมณ์ไม่ให้เครียดสะสม ควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เท่านี้ก็สามารถป้องกันสุขภาพร่างกายห่างไกลจากโรคหัวใจ และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างปลอดภัย
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: วัยไหนๆ ก็เสี่ยง