“ลมแล้ง” ยาระบาย
http://www.thaihealth.or.th/sites/default/files/users/user-12897/22b0061.jpgลมแล้งเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่ใช้แก้ท้องผูกหรือช่วยระบาย ในงานสมุนไพรสาธารณสุขมูลฐานจัดเป็นยาสมุนไพรคุณภาพดีอีกตัว แต่เมื่อเทียบกับ ชุมเห็ดเทศ มะขามแขก หรือมะขามเปรี้ยวแล้ว ยังใช้ทั่วไปน้อยกว่า
ลมแล้ง หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปคือ คูน หรือ ราชพฤกษ์ เป็นต้นไม้ประจำชาติ และเป็นพรรณไม้ประจำจังหวัดขอนแก่น เป็นพืชในวงศ์ CAESALPINIACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula Linn ที่เรียกกันว่า ลมแล้ง เนื่องจากจะออกดอกในช่วงหน้าร้อน ดอกสีเหลืองบานสะพรั่งเต็มต้น บางต้นก็ผลัดใบเหลือแต่ดอกสีเหลืองท้าทายความร้อน ความสวยงามของดอกคูน ลักษณะและดอกที่สวยงามของคูณ จึงมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Golden Shower ตามลักษณะของดอกนั่นเอง
ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาระบายคือส่วนของเนื้อในฝักคูน เราจะเห็นฝักคูนห้อยระย้าเต็มต้น อย่าทิ้งเด็ดขาด พอฝักแก่ให้เก็บเอามาแกะเอาแต่เนื้อในฝักไว้ใช้เป็นยาระบาย ลักษณะเมื่อแกะออกมาแล้วจะคล้ายคลึงกับมะขามเปียกมาก
สรรพคุณยาไทย กล่าวว่า เนื้อในฝักรสหวานเอียน ถ่ายเสมหะแก้พรรดึก (แก้ท้องผูก) ระบายพิษไข้ เป็นยาระบายที่ไม่ปวดมวน หรือไซ้ท้อง ใช้ในเด็กหรือสตรีระหว่างมีครรภ์ ผู้ที่ท้องผูกเรื้อรัง แก้ไข้มาลาเรีย แก้บิด ถ่ายพยาธิ แก้ตานขโมย ใช้พอก แก้ปวดข้อ
โดยส่วนใหญ่ยาสมุนไพรที่ใช้ในการระบายมักจะทำให้ปวดมวนท้อง กว่าจะได้เวลาขับถ่ายก็ปวดมวนไปหลายตลบ และมีข้อดีคือหญิงมีครรภ์ที่มีภาวะท้องผูกก็สามารถใช้ได้
วิธีใช้ง่ายๆ โดยนำเนื้อในฝักคูน 1 ช้อนชาไปชงร่วมกับน้ำขิงร้อนๆ 1 แก้วกาแฟ กรองเอาแต่น้ำรับประทาน ทำให้ระบายไม่ปวดมวนท้อง
ส่วนอื่นๆ หมอแผนไทยก็นำมาใช้ประโยชน์ปรุงยาได้เช่นกัน ส่วนของ ใบ มีรสเมา สรรพคุณเป็นระบายท้องได้เช่นกัน ฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรคทั้งปวง พอกแก้ปวดข้อ แก้ลมตามข้อ แก้อัมพาต อัมพาตของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ต้มรับประทาน แก้เส้นพิการ แก้โรคเกี่ยวกับสมอง
ชาวอินเดียได้ใช้ใบตำพอกแก้ปวดข้อและลมเข้าข้อ และยังใช้ดอกปรุงเป็นของหวานรับประทานเป็นอาหารและแก้ไข้ได้ด้วย หรือจะใช้น้ำคั้นใบอ่อนๆ ของคูนทารักษากลากวงแหวน ชาวเมืองอินเดียแถบเหนือแม่น้ำสินธุ ใช้ใบโขลกพอกแก้โรคที่ทำให้ปวดข้อและอัมพาต โดย ใช้ใบโขลกถูนวดตามร่างกายส่วนนั้น และสรรพคุณ เหล่านี้ยังถูกบันทึกและกล่าวไว้ในสรรพคุณยาหลวงของอังกฤษและอินเดียด้วย
http://www.thaihealth.or.th/sites/default/files/users/user-12897/22g2821800-61.jpg
เปลือกฝัก รสเฝื่อนเมา ทำให้อาเจียน ทำให้แท้งลูก ขับรกที่ค้าง
เมล็ด รสฝาดเมา แก้ท้องร่วง ฝนผสมกับหญ้าฝรั่น น้ำตาล น้ำดอกไม้เทศ กินทำให้เกิดลมเบ่ง
ดอก มีรสขมเปรี้ยว แก้ไข้ ระบายท้อง แก้พรรดึก แก้แผลเรื้อรัง แก้โรคกระเพาะอาหาร ต้มดื่มแก้ไข้ ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร
ราก รสเมา แก้กลาก เกลื้อน ฆ่าเชื้อคุดทะ ราด ระบายพิษไข้ ถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย แก้เชื่องซึม หนักศีรษะ ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก แก้หายใจขัด แก้ไข้ รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ เกี่ยวกับถุงน้ำดี มีฤทธิ์ถ่ายแรงกว่า เนื้อในฝัก ไม่มีผลข้างเคียง ใช้กับเด็กๆ หรือสตรีมีครรภ์ ได้ดี
เปลือกราก รสฝาด ระบายพิษไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
แก่น รสเมา แก้รำมะนาด
กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด
วิธีใช้ในการดูแลสุขภาพอื่นๆ
1. ขับพยาธิ แก้เด็กเป็นตานขโมย เป็นยาถ่าย ให้ฝักแห้ง 30 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม
2. ใช้เป็นยาระบายในคนที่ท้องผูกเป็นประจำ แก้บิด แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เนื้อในฝักแก่ แกะเปลือกนอก และเมล็ดออกใช้ 4 กรัม (ก้อนขนาดหัวแม่มือ) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย ต้มให้เดือดนาน 5-10 นาที ดื่มครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน ถ้าไม่ถ่ายให้เพิ่มขนาดยาหรือซื้อฝักคูนจากร้านยา เอาท่อนยาวประมาณ 1 คืบ สับเป็นท่อนสั้นๆ ใส่หม้อต้มน้ำประมาณ 1 แก้วครึ่ง เคี่ยวไฟอ่อนๆ จนเหลือประมาณ 1 แก้ว เทเอาแต่น้ำ ดื่มให้หมด หรือจะผสมกับมะขามเปียกหรือน้ำตาลขนาดเท่ากันก็ได้ รับประทานก่อนนอนครั้งเดียว
3. เป็นยาแก้ปวดข้อ ใช้เนื้อตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น
4. เป็นยากระตุ้นให้อาเจียน ใช้เมล็ด 5-6 เมล็ด บดเป็นผงรับประทาน
5. แก้ไข้รูมาติก ใช้ใบอ่อนต้มเอาน้ำดื่ม
6. เป็นยาถ่าย ใช้ใบแห้งบดเป็นผง ชงน้ำดื่ม
7. แก้กลาก และโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา ใช้ใบสดตำให้ละเอียด นำไปพอก หรือใช้ทาถูตามบริเวณที่เป็น
ข้อควรระวัง การใช้ยาต้ม ต้องต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี ถ้าต้มนานเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย กลับทำให้ท้องผูก ยาต้มนี้หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้อาเจียน ฝักที่ไม่แก่จัดจนเกินไปจะใช้เป็นยาระบายได้ดีกว่า
ลมแล้งไม่ใช่มีแค่ความสวย แต่ประโยชน์ครบทุกส่วน ถ้าใครปลูกลมแล้งไว้หรือเจอที่ ไหน ก็สามารถเป็นฝักเก็บดอกมาใช้เป็นยารักษาสุขภาพได้ อย่ามองแค่ความสวย แต่จงมองให้เห็นถึงประโยชน์ของลมแล้งด้วย
หน้า:
[1]