วิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุเบื้องต้น
http://www.thaihealth.or.th/sites/default/files/users/user-12897/22istock_000000751169xsmall1_0.jpgกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างปลอดภัยในเบื้องต้น
การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุอย่างไม่ถูกวิธี นอกจากจะส่งผลให้ผู้ประสบเหตุบาดเจ็บรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือกลายเป็นผู้ประสบเหตุเสียเองจากอุบัติเหตุซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงขอแนะวิธีช่วยเหลือและข้อควรระวังในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุในเบื้องต้นอย่างปลอดภัย ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่ประสบเหตุ นำกิ่งไม้มาวาง โบกธง หรือทำสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบ จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางได้ทัน พร้อมสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงสภาพจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หากปลอดภัยจึงเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุได้ สำรวจจำนวนผู้ประสบเหตุ อาการบาดเจ็บของแต่ละคน พร้อมโทรฯ แจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลให้จัดส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มีทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ขั้นตอนที่ 2 ประเมินอาการผู้ประสบเหตุว่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากน้อยเพียงใด จะได้วางแผนช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องปฐมพยาบาลผู้ประสบเหตุที่หมดสติ โดยเฉพาะผู้ที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นและเสียเลือดมากเป็นลำดับแรก
ขั้นตอนที่ 3 หลังจากปฐมพยาบาลในเบื้องต้นแล้ว ให้รีบนำผู้ประสบเหตุส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด พร้อมแจ้งรายละเอียด ลักษณะอาการและการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่ทราบ จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องในระยะต่อไป
ข้อควรระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ดังนี้
- หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้
- กรณีอุบัติเหตุเสาไฟฟ้าล้ม มีสายไฟฟ้าพาดอยู่ใกล้จุดที่ประสบเหตุ ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้
- หากมีน้ำมันรั่วไหล หรือได้กลิ่นก๊าซ ให้รีบดับเครื่องยนต์และออกห่างจากจุดที่เกิดเหตุในระยะไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้
การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกต้องและปลอดภัยในเบื้องต้น มีวิธีที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะบรรเทาอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นของผู้ประสบเหตุได้ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในระดับหนึ่ง
หน้า:
[1]