vagon โพสต์ 2013-8-13 02:00:14

เช็ค 10 โรคเลือด คุณเป็นหรือเปล่า

https://fbcdn-sphotos-e-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/1009851_702194459807430_117718088_n.jpg

เช็ค 10 โรคเลือด คุณเป็นหรือเปล่า

โรคเลือดเป็นปัญหาสุขภาพที่ถือเป็นภัยเงียบ เพราะมักมาเยี่ยมเยือนโดยไม่รู้ตัว และบางโรคก็เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม เราจะมาเช็ก 10 โรคเลือดที่คนไทยเป็นกันมากไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาอย่างทันท่วงที

1. โลหิตจางโรควัยสาว
สาเหตุของโลหิตจาง โรคเลือดที่คนไทยเป็นมากที่สุดมักเกิดจากการกินผิด ซึ่งหมายถึงการขาดสารอาหารประเภทโปรตีน นอกจากนั้นอาการอื่นๆ ก็มักเกี่ยวกับความผิดปกติของการทำงานของไขกระดูก หรือบางทีเกิดจากการป่วยเป็นมะเร็ง ต้องใช้ยาหรือเคมีบำบัด ซึ่งเป็นตัวทำลายเลือด ทำให้เกิดโรคโลหิตจางอย่างรุนแรง โดยโรคโลหิตจางสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามินอี (Hemolytic Anemia) ส่วนใหญ่พบในเด็กซึ่งคลอดก่อนกำหนด
2. โรคโลหิตจางชนิดขาดกรดโฟลิก (Megaloblastic Anemia) พบในเด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่ชอบ
รับประทานอาหารประเภทแป้งขาวมากๆ ผู้ที่กินยาแอสไพรินเป็นประจำ และผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ
3. โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anemia) ผู้เป็นโรคนี้มักพบว่ามีความผิดปกติในการดูดซึมสารอาหาร โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่กระเพาะอาหาร
4. โรคโลหิตจางชนิดขาดวิตามินบี 6 (Sideroblastic Anemia)
5. โรคโลหิตจางชนิดที่เชื่อกันว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ (Hereditary and Rare Anemias)

สำหรับสถานการณ์การขาดธาตุ เหล็กในปัจจุบันนั้นเกิดจากภาวะทุพโภชนาการ ส่วนใหญ่เป็นการขาดธาตุเหล็กจากการขาดสารอาหาร ปกติมักเกิดกับเด็กวัยรุ่น และหญิงตั้งครรภ์แต่ตอนนี้เด็กเป็นน้อย วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์กลับเป็นมากขึ้น เพราะผู้ชายพอเข้าใกล้วัยรุ่น ร่างกายเจริญเติบโตเร็วต้องสร้างเม็ดเลือดมากขึ้น ส่วนผู้หญิงก็เสียเลือดไปกับประจำเดือน แต่เมื่อวัยรุ่นปัจจุบันเน้นการควบคุมน้ำหนัก จึงทำให้เกิดภาวะดังกล่าว

How to check
เรามีวิธีการสังเกตอาการที่ส่อว่าเป็นโลหิตจางได้ดัง ต่อไปนี้

มีอาการหน้ามืด อ่อนเพลีย หายใจไม่ออก
ปวดหัว เวียนหัว
นอนไม่หลับ
ผิวซีดหรือค่อนข้างเหลือง
เบื่ออาหาร ช่องท้องและลำไส้มีอาการผิดปกติ

หากมีอาการตรงตามข้างต้น 4 - 5 ข้อพร้อมๆ กันค่อนข้างแน่นอนว่าเป็นโลหิตจาง

2. โรคลิวคีเมีย เมื่อเม็ดเลือดขาวทำร้าย
โรคลิวคีเมีย คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดจากไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวไม่หยุด ทำให้ไปขัดขวางการทำงานของไขกระดูก มีผลทำให้เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดลดลง และเม็ดเลือดขาวไม่มีคุณภาพพบผู้ป่วยในทุกกลุ่มอายุ ไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมีการศึกษาแต่ยังไม่ยืนยันผล ซึ่งรายงานว่า คนที่อยู่บ้านใกล้หรือใต้สายไฟฟ้าแรงสูงก็มีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เพราะอาจมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้ามากกว่าปกติ แต่ผลที่ยืนยันว่าเกี่ยวข้องกัน คือ คนที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยการฉายแสง เช่น การฉายแสงเพื่อทำลายไฝ จะทำให้เม็ดเลือดกลายพันธุ์ หรือการได้รับรังสี ไม่ว่าขนาดไหนก็เป็นปัจจัยเสี่ยง หรืออาจเกิดในผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ มาก่อน ซึ่งเคยรักษาด้วยเคมีบำบัด หลังจากนั้นภายใน 5 - 10 ปีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้อีก

How to check

เลือดจาง มีไข้
เกล็ดเลือดจะต่ำ ทำให้ผิวหนังมีจ้ำเลือดหรือจุดเลือด
เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกจมูก ทั้งๆ ที่ไม่ได้โดนอะไร

3. โรคทาลัสซีเมียเลือกคู่ถูก ป้องกันได้
โรคทาลัสซีเมียเป็นโรคที่พบมาก มีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก ราว 4 - 5 ล้านคนมีผู้ป่วยทาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่ต้องเข้ารับรักษา ต้องมาให้เลือดเป็นประจำราว 2 - 3 หมื่นราย สามารถป้องกันด้วยการตรวจหาคู่เสี่ยง ซึ่งหมายถึง การที่สามีและภรรยาเป็นพันธุกรรมแฝงของทาลัสซีเมียชนิดเดียวกัน ถ้าไม่เป็นคู่เสี่ยงหรือมีพันธุกรรมแฝงคนละชนิดตั้งครรภ์ได้ ไม่เป็นไร ปัจจุบันการฝากครรภ์สามารถตรวจเลือดหาคู่เสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ได้

How to check

มีอาการซีด หากเป็นไข้ ไม่สบาย จะยิ่งซีดลงอย่างรวดเร็ว
อ่อนเพลีย หน้ามืด ไม่มีแรง
มีอาการเหนื่อยกว่าปกติขณะออกกำลังกาย
ตับ ม้ามโต
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก จะตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต ตาเหลืองเล็บและปากซีด ถ้าเป็นชนิดรุนแรงจะมีอาการตั้งแต่ขวบปีแรก แต่ถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรงอาจมาออกอาการตอนโตได้

4. โรคฮีโมฟิเลียพันธุกรรมทำป่วย
โรคพันธุกรรมอันเกิดจากสารพันธุกรรมไม่สามารถควบคุมการสร้างสารให้เลือดแข็งตัว เลือดจึงออกง่ายหรือถ้าเลือดออกในข้อ ข้อก็จะบวม โรคนี้ถ่ายทอดทางยีนแฝงที่มาทางแม่สู่ลูกชาย สำหรับในผู้หญิงจะเป็นยีนแฝง ซึ่งจะไม่มีอาการ

How to check

เลือดออกง่าย
ข้อบวมจากการมีเลือดออกในข้อ

5. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองต่อมโตไม่ใช่เรื่องเล็ก
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยาที่พบบ่อยในประเทศไทย มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสัมพันธ์กับระบบการไหลเวียนเลือดอย่างแยกไม่ออก เพราะระบบไหลเวียนของน้ำเหลืองภายในร่างกายถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบไหลเวียนเลือด

How to check

ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งจะโตขึ้น อาจเป็นต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ขา หรือรักแร้ หากเกิดความผิดปกติที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือที่หนึ่งที่ใด ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นจะบวม โดยไม่ยุบลงใน 2 - 3 สัปดาห์ ในทางกลับกัน หากเกิดจากการติดเชื้อปกติ ต่อมน้ำเหลืองจะยุบลงภายใน 2 - 3 สัปดาห์
วิธีสังเกตมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ให้สังเกตว่าคอจะบวมบริเวณด้านข้างเมื่อกลืนอาหาร บริเวณที่บวมจะไม่เคลื่อนที่ตามการกลืน ในทางกลับกัน หากบริเวณที่บวมอยู่กลางลำคอ เวลากลืนน้ำลายหรืออาหารแล้วบริเวณที่บวมนั้นเคลื่อนที่ตามการกลืนไปด้วย นั่นเป็นอาการความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ไม่ใช่อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

6. โรควอนวิลลิแบรนด์วิกฤติเลือดออกไม่หยุด
โรควอนวิลลิแบรนด์เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จะมีอาการเลือดออกง่ายแต่กำเนิด ซึ่งวอนวิลลิแบรนด์นี้คือ ตัวเชื่อมระหว่างเกล็ดเลือดกับรอยรั่วของหลอดเลือด เมื่อฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำ วอนวิลลิแบรนด์ก็ต่ำลง ทำให้การห้ามเลือดไม่ค่อยดีและมีเลือดออกง่าย ปัจจุบันประชากรของประเทศไทยประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์มีระดับวอนวิลลิแบรนด์ต่ำ

How to check

มีเลือดออกง่ายแต่กำเนิด ห้ามเลือดได้ช้า
ในผู้หญิงประจำเดือนจะมามากผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากทั้งเจ็ดวัน เลือดอาจออกมากจนซีด แต่ไม่ปวดท้อง



7. โรคเลือดข้นหน้าแดงเป็นกวนอูส่อโรค
เกิดจากไขกระดูกสร้างเม็ด เลือดมากผิดปกติ เกิดจากยีนกลายพันธุ์เมื่ออายุมากขึ้น หากเป็นโรคนี้ เลือดจะหนืดข้น อาจจะทำให้เส้นเลือดหัวใจ เส้นเลือดสมองอุดตัน หรือกลายไปเป็นลิวคีเมียได้โรคนี้พบได้ในคนวัย 50 ปีขึ้นไป ทั้งผู้หญิงผู้ชาย

How to check

ใบหน้าและลำตัวจะแดงตลอดเวลา
มีอาการมึนงง เนื่องจากถ้าเลือดข้นมาก การไหลเวียนเลือดจะไม่ดี การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองจึงไม่ดีเท่าที่ควร
อาจมีอาการคันตามตัว

8. โรคไอทีพีเพราะภูมิต้านทานมากเกินไป
เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่เป็นมากในผู้หญิงวัยรุ่นเกิดจากมีภูมิต้านทานมากเกินไป คือมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเท่าเดิมแต่ทำงานมากจนไปทำลายเกล็ดเลือด ส่งผลให้เกล็ดเลือดต่ำอย่างเดียวแต่เลือดไม่จาง

How to check

มีเลือดออกง่าย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง ลักษณะเป็นจุดเลือด จุดเล็กๆ กดแล้วไม่จาง เพราะเป็นเลือดที่มาคั่ง แต่ไม่เจ็บ
อาจมีเลือดออกตามจมูก ปาก และไรฟัน

9. พรายย้ำจ้ำเขียว โรคเลือดลึกลับ
พรายย้ำ จ้ำเขียวอาจเกิดจากเกล็ดเลือดต่ำ เมื่อกระแทกอะไรจึงเกิดเป็นจ้ำเลือด พบในผู้หญิง เพราะอาการจะสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนตัวนี้มีผลทำให้เส้นเลือดแข็งแรง ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเอสโทรเจนต่ำ เส้นเลือดจะเปราะบาง จึงเกิดรอยช้ำที่ผิวได้ง่ายถ้าเป็นมากๆ ควรมาตรวจเพราะอาจมีอาการเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติด้วย

How to check
มีรอยช้ำที่ผิวโดยไม่ทราบสาเหตุบ่อยๆ หากมีอาการรุนแรงอาจมีอาการเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติด้วย
ประจำเดือนมามากกว่าปกติอาจเป็นอาการหนึ่ง ที่แสดงว่าเป็นโรคนี้ได้

10. การติดเชื้อในกระแสโลหิต สาเหตุการตายแห่งยุค
คือ การติดเชื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมาก่อน เช่น ไตอักเสบจากการติดเชื้อ แล้วเชื้อจากไตเข้าสู่กระแสเลือด จะเข้ามาเมื่อไรยังไม่สามารถรู้ได้ ในคนปกติก็สามารถเป็นได้ เช่น ผู้หญิงที่ชอบกลั้นปัสสาวะ อาจทำให้ติดเชื้อที่กรวยไต เป็นไข้ ไม่สบายแล้วไม่รักษา หรือไปซื้อยากินเอง แต่ฆ่าเชื้อไม่ได้ ก็ทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้ เพราะที่กรวยไตมีเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงตลอดเวลา เชื้อก็สามารถแพร่ไปสู่อวัยวะอื่นได้ หากเชื้อลุกลามจนเม็ดเลือดขาวสู้ไม่ไหวก็อันตราย ในกรณีผู้สูงอายุที่มักเสีย ชีวิตด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด เพราะอายุมาก เม็ดเลือดขาวค่อนข้างต่ำและเม็ดเลือดขาวไม่ค่อยแข็งแรงอวัยวะทุกอวัยวะ ถ้าติดเชื้อก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้เท่ากัน อวัยวะที่เป็นบ่อยๆ คือที่กรวยไต เพราะเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ถ้านอนอยู่เฉยๆ อย่างเป็นเจ้าชายนิทรา เจ้าหญิงนิทรา แล้วเกิดการสำลักก็เป็นปอดบวมได้ และทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายด้วย

How to check

มีไข้สูง
หนาวสั่น

อาการข้างต้นนี้บ่งชี้ว่า ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง หากเกิดในผู้สูงอายุต้องรีบตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด และเข้ารับการรักษาได้เรียนรู้สาเหตุและอาการเพื่อรู้เท่าทันโรคกันไประดับหนึ่งแล้ว จะเห็นได้ว่าโรคเลือดสัมพันธ์กับภูมิชีวิตไม่น้อยดังนั้นไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ป่วย การดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยต้านโรคได้ค่ะ

5 สัญญาณเตือนเลือดคุณไม่ปกติแล้ว
เมื่อเลือดมีปัญหาร่างกายจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือดังนี้

1. อารมณ์ซึมเศร้า ไม่สดชื่น
2. อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย
3. หน้ามืดและอาจเป็นลมบ่อย
4. ร่างกายเกิดจ้ำเลือดง่าย หรือเกิดจ้ำเลือดตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
5. ร่างกายไม่แข็งแรง มักติดเชื้อโรคง่าย

ขอขอบคุณข้อมูล จากธนาคารกสิกรไทย

หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: เช็ค 10 โรคเลือด คุณเป็นหรือเปล่า