vagon โพสต์ 2013-8-13 02:45:12

กินอย่างไร ให้เลือดดี?

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย vagon เมื่อ 2013-8-13 02:44

กินอย่างไร ให้เลือดดี?

เลือด...แค่ฟังหลายคนก็กลัวแล้ว ไม่อยากเห็น ผู้ชายสูงใหญ่กำยำล่ำสันบางคน แค่เห็นหรือได้กลิ่นคาวเลือดถึงกับเป็นลมเลยก็มี แต่ผู้หญิงนี่สิคุ้นเคยกับการเสียเลือดอยู่ทุกเดือน เวลาเห็นเลือดมักจะหนักแน่นกว่าผู้ชายเสมอ จึงมีคำถามบ่อยๆ ว่ากินอะไรจึงจะช่วยบำรุงเลือด...

ก่อนที่จะรู้ว่า "กินอย่างไรจะทำให้ เลือดดี?" ต้องรู้ก่อนว่า "เลือดดี" นั้นเป็นอย่างไร? ปกติแล้วจะดูจากการตรวจเม็ดเลือดที่เรียกว่า "ซีบีซี" (CBC = Complete Blood Count) ซึ่งบอกปริมาณเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ที่อยู่ในเลือด ว่ามีมากหรือน้อยเกินไป หากผิดปกติก็ต้องมองหา "โรค" กันแล้ว ค่าปกติของเม็ดเลือดแดง(ค่าความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง) จะอยู่ที่ประมาณ 39-48% อย่างไรก็ตามค่านี้จะแตกต่างไปในแต่ละห้องแล็ป แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกัน ถ้าตรวจแล้วมีเม็ดเลือดแดงน้อยเกินไป เรียกว่า "โลหิตจาง" แต่ถ้ามากเกินไป เรียกว่า "เลือดข้นเกินไป" ซึ่งทั้งสองภาวะนี้หากเกิดขึ้นต้องหาสาเหตุแก้ไข

ส่วนเม็ดเลือดขาวนั้นโดยทั่วไปค่าปกติอยู่ที่ประมาณ 5,000-10,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งถ้ามีมากหรือน้อยเกินไป ก็ถือว่าผิดปกติเช่นกันต้องหาสาเหตุ ส่วนปริมาณเกล็ดเลือดปกติจะอยู่ที่ประมาณ 140,000-400,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร

ก่อนที่ร่างกายจะสร้างเป็นเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ต้องใช้สารอาหารมากมายหลายชนิด ได้แก่ โปรตีนชนิดต่างๆ เกลือแร่ วิตามิน ที่สำคัญคือ ธาตุเหล็ก เพื่อใช้สร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการจับออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆ ทั่งร่างกาย ธาตุเหล็กนี้โดยทั่วไปอยู่ในตับและพืชใบเขียว กระทั่งเลือดของสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น เลือดหมู เลือดวัว ก็มีปริมาณของธาตุเหล็กสูง ธาตุเหล็กที่อยู่ในอาหารจะมีอัตราการดูดซึมของลำไส้ ได้ดีกว่าธาตุเหล็กที่อยู่ในรูปแบบของเม็ดยา ซึ่งหากขาดธาตุเหล็กก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางหรือซีดนั้นเอง

คนที่มีโอกาสขาดธาตุเหล็กจนกระทั่งเกิดโรค เช่น คนที่มีแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง หรือคนที่เป็นริดสีดวงทวาร ทำให้เสียเลือดไปบ่อยๆ เช่นเดียวกับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมากหรือนานผิดปกติในบางครั้ง นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่บริจาคเลือดเป็นประจำ แต่ไม่ยอมรับประทานยาบำรุงเลือด ก็อาจพบภาวะโลหิตจางได้เช่นกันนะครับ ถ้าไม่รู้จักดูแลตัวเองให้ถูกต้องแล้วเกิดโลหิตจางขึ้นมา อาการที่สังเกตได้คือ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ขึ้นบันไดชั้นสองชั้นก็เหนื่อยแล้ว บางคนจะมีอาการเวียนศีรษะได้ง่าย

ส่วนอาหารอื่นๆ ที่มีความสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด ได้แก่ กรดโฟลิก และวิตามินบี 12 ทั้งสองอย่างนี้มีความจำเป็นสำหรับเซลล์ เพื่อใช้ในการสร้างสารพันธุกรรม คือ ดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งอยู่ในนิวเคลียส การสร้างเซลล์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับทุกๆ เซลล์ ก็ต้องมีนิวเคลียส ส่วนโฟลิกและวิตามินบี 12 ส่วนมากจะอยู่ในผักใบเขียวชนิดต่างๆ ข้าวซ้อมมือ ดังนั้นถ้าขาดสารสองชนิดนี้ก็ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ยิ่งถ้าขาดสารอาหารอย่างรุนแรงเม็ดเลือดทุกชนิดอาจลดต่ำลงทั้งหมด ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตแน่นอน

เนื่องจากเม็ดเลือดขาว มีความสำคัญในการที่ร่างกายใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ การที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ จะทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นไข้ไม่สบายบ่อย หรืออาจรุนแรงถึงขนาดติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิตได้ นอกจากนี้การที่เกล็ดเลือดมีหน้าที่ห้ามเลือด ถ้าต่ำไปด้วยแล้วเกิดบาดแผลขึ้น เลือดก็จะไหลไม่หยุด และถ้ามีในระดับที่ต่ำมากๆ เลือดก็อาจจะไหลออกมาได้เองโดยไม่ต้องมีบาดแผล แล้วถ้าเลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ เช่น ในสมอง ก็จะทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น

ส่วนสารอาหารธรรมชาติ ที่มีส่วนในการกระตุ้นภูมิต้านทานของร่างกายของร่างกาย คือ สารไฟโตฮีแม็กกลูตินิน (Phytohemagglutinin) มีอยู่มากในพืชตระกูลถั่ว ดังนั้นการรับประทานถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ เป็นต้น ก็จะช่วยกระตุ้นการสร้างสารแอนติบอดี เสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกายดีขึ้น

ถ้าจะบำรุงเลือดด้วยสารต่างๆ ที่กล่าวมานี้จริงๆ ยังไม่เพียงพอนะครับ เพราะอาหารกลุ่มอื่นๆ ก็ยังจำเป็นต้องรับประทานให้ครบถ้วน เนื่องจากการสร้างเซลล์เม็ดเลือด ก็เหมือนกับการสร้างเซลล์ ที่ยังต้องใช้สารทุกชนิดในการเสริมสร้าง การรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ทั้งคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) โปรตีน (เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อเป็ด เนื้อไก่) ไขมัน (หนังสัตว์ นม เนย) หากขาดสารชนิดใดชนิดหนึ่ง ร่างกายก็อาจเกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกลือแร่ชนิดต่างๆ ที่จำเป็นมาก แม้ว่าร่างกายจะต้องการในปริมาณน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้นะครับ เช่น สังกะสี (Zinc) ทองแดง (Copper) เป็นต้น

แต่ในทางตรงกันข้าม สารอาหารบางอย่างก็เป็นปัญหากับบางโรคได้เช่นกัน อย่างในคนเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย จะมีปัญหา "ธาตุเหล็กคั่ง" หากมีธาตุเหล็กมากเกินไปก็จะสะสมในตับ ทำให้เกิดตับแข็ง หากสะสมในตับอ่อน ทำให้เกิดโรคเบาหวาน หากสะสมที่หัวใจ ทำให้หัวใจล้มเหลวหรือมีน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ หากสะสมที่ผิวหนังทำให้ผิวหนังคล้ำดำ ดังนั้นคนที่เป็นโรคนี้ ถือเป็นข้อห้ามที่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เนื่องเพราะร่างกายมีมากเกินพออยู่แล้ว

ส่วนคนที่เป็นโรคตับ ก็มีข้อห้ามและข้อแนะนำเช่นกัน ถ้าเป็นตับแข็งแต่ไม่รุนแรงมาก จะมีปริมาณโปรตีนในเลือดต่ำ ดังนั้นอาหารที่รับประทาน ควรมีโปรตีนสูงหน่อย จะได้เพิ่มโปรตีนในเลือดให้สูงขึ้น ปัญหาเรื่องการบวมตามตัว แขนขาจะลดลง เช่น ไข่ดาว จะเป็นโปรตีนที่ค่อนข้างสะอาด ของเสียที่เกิดจากเผาผลาญจะมีไม่มาก ในทางตรงกันข้าม หากปัญหาเรื่องตับแข็งอยู่ในขั้นรุนแรงมาก เช่น มีปัญหาของเสียคั่งในเลือด จนทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง สับสนบางครั้ง ถ้าถึงขั้นนี้โปรตีนเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากจะทำให้เกิดของเสียคั่งในเลือดมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการย่อยสลายโปรตีน ทำให้เกิดของเสียมากยิ่งกว่าการย่อยสารอาหารชนิดอื่นๆ

ในคนที่เป็นโรคไต อาหารที่มักจะทำให้เกิดปัญหา คือ อาหารที่มีเกลือแร่ประเภทโซเดียมและโปตัสเซียมสูง เนื่องจากเกลือโซเดียม จะทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้นในคนไตวาย ในขณะที่เกลือโปตัสเซียมจะทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ซึ่งเกลือแร่ทั้งสองจะมีอยู่ในเกลือแกง ในน้ำปลา ในผลไม้หลายชนิด เช่น กล้วยหอม ส้ม เป็นต้น

ดังนั้นการจะบำรุงเลือดให้ดีให้สมบูรณ์ ควรกินอาหารแต่พอดีๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป และเลือกชนิดอาหารให้หลากหลาย ที่สำคัญรู้ทันว่าอาหารชนิดใด เหมาะและไม่เหมาะกับภาวะสุขภาพของตัวเองสำคัญที่สุดครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.hemophiliathai.com/2011/10/blog-post.html
https://fbcdn-sphotos-d-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/644263_702192519807624_1891869009_n.jpghttps://fbcdn-sphotos-d-a.akamaihd.net/hphotos-ak-prn1/644263_702192519807624_1891869009_n.jpg




kopiko68 โพสต์ 2013-8-13 11:52:30

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ครับ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: กินอย่างไร ให้เลือดดี?