zezy02 โพสต์ 2014-1-23 23:22:36

เชิญท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เมื่อโครงการสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชเริ่มทำการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง จึงได้ขุดเจาะพื้นผิวดินลงไปหลายสิบเมตร ทำให้พบว่าใต้พื้นดินมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานความร่วมมือไปยังคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทำการสำรวจบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) จึงพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ เช่น ฐานป้อม ซากเรือไม้ เศษภาชนะดินเผา เป็นต้น สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสมัยอยุธยา ธนบุรี สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อกรมศิลปากรนำความกราบบังคมทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวินิจฉัยและทรงรับสั่งให้อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดี รวบรวมและจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถานกรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีมติให้คณะ ๆ เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานในสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2555 โดยมีหน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่รับผิดชอบ คือ หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช สำนักงานคณบดี และงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ เนื่องจากบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นั้น มีอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ 1 หลังอาคารขนส่งสินค้า 1 หลัง และอาคารโกดัง 2 หลัง ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานของชาติ จึงต้องบูรณะซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์ดังกล่าวให้คงสภาพใกล้เคียงของเดิม และต้องปรับสภาพภายในอาคารให้เหมาะสำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์
ภายในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานประกอบด้วยอาคารทั้ง 4 หลัง ดังนี้
อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 เป็นโถงต้อนรับของพิพิธภัณฑ์เป็นบรรยากาศของสถานีรถไฟ ช่องขายตั๋ว มีเก้าอี้นั่งพัก ที่รับฝากของ เป็นต้น
ชั้น 1 ประกอบไปด้วย
ศิริสารประพาส
ห้องบรรยายสรุป ที่ตกแต่งบรรยากาศเสมือนห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ที่นักศึกษาแพทย์เคยนั่งเรียน ในห้องบรรยาย มีวีดิทัศน์เล่าเรื่องความเป็นมาของพื้นที่และขั้นตอนการเข้าชม
ศิริราชขัตติยพิมาน
หอเทิดพระเกียรติ จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พร้อมพระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมวีดิทัศน์แสดงพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อการแพทย์ การสาธารณสุข และด้านอื่นๆ สถานพิมุขมงคลเขต ห้องกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แสดงพระประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขด้วยภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณี บรรยายด้วยทำนองเสนาะจิตรกรรม “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” นี้เป็นผลงานของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง
ฐานป้อม
เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญยิ่ง มีแนวทางการอนุรักษ์ คือให้เก็บรักษาฐานกำแพงป้อมไว้ตามตำแหน่งเดิมที่ขุดพบด้วยการคลุมด้วยแผ่น Geotextile เพื่อปกป้องวัสดุเดิมก่อน แล้วจึง บูรณะกำแพงต่อขึ้นมาจากฐานเดิมโดยใช้อิฐที่มีขนาดเท่ากับอิฐโบราณ ก่อด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมให้แนวกำแพงสูงจากระดับพื้นปัจจุบันประมาณ 10-20 เซนติเมตรเมื่ออยู่ในห้องสถานพิมุขมงคลเขตจะมองเห็นฐานป้อมได้จากภายในอาคาร จึงจัดแสดงวีดิทัศน์การขุดค้นแนวฐานป้อมที่หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชได้ทำการบันทึกไว้ตลอดการทำงาน พร้อมทั้งวีดิทัศน์เครื่องถ้วยที่ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นี้ ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรีและปริมณฑล เขียนขึ้นโดยชาวพม่าที่เข้ามาแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรี ถึงต้นรัตนโกสินทร์
โบราณราชศัสตรา   
ห้องศาสตราวุธ จัดแสดงศาสตราวุธ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบจากคุณสำรวย สุวรรณสุทธิ (เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ศาสตราวุธชุดนี้มีความสำคัญในด้านศิลปะ อายุ และความหลากหลายของแหล่งผลิต ทั้งดาบไทยภาคกลาง เหนือ อีสาน ดาบญี่ปุ่นผสมศิลปะไทย ดาบลาว ดาบเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประวัติราชการสงครามของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขและทายาท
คมนาคมบรรหาร
การจัดแสดงประวัติสถานีรถไฟธนบุรีประกอบด้วย ห้องฉายภาพยนตร์สี่มิตินำเสนอประวัติความเป็นมาของรถไฟสายใต้ ซึ่งใน พ.ศ. 2443 ได้ใช้พื้นที่บริเวณบางกอกน้อย สร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยเป็นต้นทางการเดินรถ มีปลายทางอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี การเลือกพื้นที่บางกอกน้อยเป็นที่จัดสร้างสถานีรถไฟครั้งนี้มีสาเหตุเนื่องจากเป็นเส้นทางที่สะดวกต่อการเดินทางสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกประกอบกับมีชุมชนหนาแน่นและปากคลองยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักของประชาชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดใช้เส้นทางที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446
ชั้น 2ประกอบไปด้วย
ศิริราชบุราณปวัตติ์
ห้องประวัติศิริราช จัดแสดงเกี่ยวกับ กำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคนั้น พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ทรงพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการแพทย์ของไทย การสอนทางปรีคลินิก เป็นการเรียนทั้งให้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย
สยามรัฐแพทยศาสตร์
ห้องการแพทย์ของไทย จัดแสดงด้วยเทคนิคทันสมัย ให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ เหตุแห่งโรค วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด“ธรรมานามัย” ซึ่งนำเสนอในรูปแบบที่ผู้ชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
เมื่อออกจากอาคารจะมีทางเดินเชื่อมไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ซึ่งสามารถมองเห็นสวนสมุนไพรที่อยู่ด้านล่าง
อาคารพิพิธภัณฑ์ 2
โถงธนบุรีพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจัดเตรียมไว้เพื่อจัดนิทรรศการชั่วคราว จัดเป็นที่ประชุม สัมมนาหรือทำกิจกรรมพิเศษร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกคณะฯ เช่น ชุมชน โรงเรียน เป็นต้น
อาคารพิพิธภัณฑ์ 3
นิวาสศิรินาเวศอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต ซึ่งมีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียง และข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้หลอมรวมเป็น“วิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย” ห้องนี้มีการจัดแสดงหลักดังนี้
เรือโบราณ
ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2551 ระหว่างการก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร กรมอู่ทหารเรือ และพิพิธภัณฑ์เรือไทย ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ 5-7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทจากการเก็บกู้เรือ ซึ่งได้นำมาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย
อาคารพิพิธภัณฑ์ 4
คลังพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นโกดัง ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการใช้งานให้เป็นคลังสิ่งแสดงของคณะฯ ซึ่งมีสิ่งแสดงอีกเป็นจำนวนมาก มีการพัฒนาระบบทะเบียน และการอนุรักษ์วัตถุ สามารถนำมาหมุนเวียนจัดแสดงให้แก่ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ในอนาคต
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 9.00 - 16.00 น. (ยกเว้นวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) อัตราค่าเข้าชมอยู่ในช่วงทดลองระบบ ทดลองบริการ คิดค่าบริการในอัตราพิเศษ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 30 บาท
                                                                                                                                        อย่าลืมแวะไปเที่ยวชมกันนะคราฟ

คุณหญิงอบเชย โพสต์ 2014-1-25 23:32:06

น่าจะมีภาพประกอบซักหน่อยนะคะ

MOOHUN โพสต์ 2014-1-27 00:33:58

ไม่มีรูปเหรอครับ

chuhuhu999 โพสต์ 2014-7-26 22:25:43

น่าสนใจมากคับ

kamamoya โพสต์ 2014-10-1 18:18:01

ขอบคุณครับ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: เชิญท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน