arr_tao โพสต์ 2014-3-13 15:28:04

ผีตกบันได


สมัยเด็กผมอยู่บ้านหมี่ ลพบุรี ชาวบ้านส่วนมากยังเชื่อถือผีสางนางไม้ การทรงเจ้าเข้าผี รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนแล้ว ถ้าพูดถึงกรมอุตุฯ คงไม่มีใครรู้จักแน่ ต้องเรียกว่าเป็นปัญญาท้องถิ่นตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

นั่นคือการสังเกตแสงฟ้าแลบเป็นสิ่งสำคัญ แล้วทำนายทายทักปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในช่วงเทศกาล "กำฟ้า" ว่าจะเป็นสัญญาณบอกเหตุดี-ร้ายอะไรบ้าง เช่น...

ถ้าฟ้าแลบทางทิศตะวันออก บ้านเมืองจะมีความสงบสุข พื้นดินอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าฟ้าแลบทางทิศตะวันตก บ้านเรือนจะขัดสน ผู้คนอดอยาก

ส่วนการทำนายว่าฝนจะตกหรือไม่ก็ให้ดูแสงตะวัน ถ้าเป็นสีเหลืองแล้ว วันนั้นอากาศจะร้อนมาก แต่ถ้าแสงตะวันเป็นสีแสด ก็จะมีฝนตกลงมามากมายจนชุ่มฉ่ำ

ถ้าปีไหนสภาพอากาศแปรปรวน ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งพืชพันธุ์ธัญญาหาร เสียหาย ผู้คนพลอยเดือดร้อนเพราะขาดน้ำกินน้ำใช้ ชาวบ้านก็จะจัดการแห่นางแมวเพื่อขอฝน คล้ายกับจังหวัดอื่นทั่วไป

พิธีกรรมแห่นางแมวจะต้องมีการร้องเพลงขอฝนด้วย เท่าที่ผมจำได้มีดังนี้ครับ

"นางแมวเอย ขอฟ้าขอฝน

ขอน้ำมนต์รดหัวแมวเม้า ได้ค่าจ้างค่ามาหามแมว

ถ้าไม่ให้ข้าว ข้าวจะตายฝอย ไม่ให้กลอย กลอยจะตายนิ้ว

แม่พึงเอย อย่าเฝ้าขายลูก ข้าวจะถูก ลูกน้อยจะแพง

ตาแดงๆ ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา"

ต้องยอมรับนะครับว่ามีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล บางทีแมวโดนแห่ โดนน้ำสาด แทบตายแต่ฝนไม่ยักตก แต่บางทีกำลังแห่อยู่ดีๆ ฟ้าสว่างจ้ากลับมืดครึ้ม แล้วสายฝนก็ซัดจั๊กๆ แทบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ขบวนแห่นางแมวแตกกระเจิงก็มี

ประเพณีหรือความเชื่อถือบางอย่างก็ทำให้น่าขนหัวลุกเช่นกัน!

เช่นในพิธีงานศพ เมื่อมีการตายผิดปกติ คือโดนฆ่า โดนงูกัด รวมทั้งฆ่าตัวตาย เรียกว่าตายโหง ทางบ้านผมจะต้องฝังศพไว้ก่อน 3 ปี จากนั้นจึงขุดขึ้นมาเผา เพราะเชื่อกันว่า

ถ้าขุดศพขึ้นมาเผาก่อน วิญญาณอาจจะยังไม่ไปผุด ไปเกิด อาจมาคร่าวิญญาณของญาติมิตรไปสู่ปรโลกด้วยก็เป็นได้

การตายถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยตาย เพื่อนบ้านจะมาช่วยกันคนละไม้ละมือ ตั้งแต่การเหลาไม้ทำโลง ช่วยกันแบกหามโลงศพไปวัด...มีเคล็ดว่า เมื่อศพพ้นบ้านแล้วเจ้าบ้านต้องยกบันไดขึ้นทันที เพื่อไม่ให้ผีกลับขึ้นบ้านได้เด็ดขาด!

บันไดพาดไว้ที่นอกชานนะครับ เคลื่อนย้ายได้สะดวก ตกค่ำก็ยกบันไดขึ้นบ้านแทบทั้งนั้น ป้องกันขโมยขโจรกับสัตว์ร้ายขึ้นบ้านได้ง่ายๆ

ผู้คนในหมู่บ้านจะมาช่วยงานศพกันอย่างพร้อมเพรียง แถมไม่ได้มาตัวเปล่า แต่จะนำอาหารและผลไม้ต่างๆ ติดมือมาด้วย หลายๆ คนก็มานอนเฝ้าศพกันเต็มศาลา เรียกว่า "เป็นเพื่อนผี" หรือ "เฝ้าผี"

จนกระทั่งวันเผา ชาวบ้านก็จะถือไม้กันคนละท่อน มาช่วยก่อกองไฟ เรียกกันว่า "ไปเผาผี..." (เอ่ยชื่อผู้ตาย) ต่อมาผมเคยเห็นคล้ายๆ กันที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสง คราม เชื่อว่าคงมีประเพณีเช่นนี้อีกหลายๆ จังหวัด

เคล็ดขัดยอกเรื่องหามศพลงจากบ้านนี่แหละครับ สำคัญที่สุด!

ท่านว่า ห้ามวางโลงกับพื้นก่อนถึงจุดหมายเด็ดขาด แม้จะเปลี่ยนคนหามก็ห้ามวางโลงกับพื้นก่อน เพราะ เชื่อว่าถ้าหยุดลงเช่นนั้นจะทำให้ผีมีกำลัง แล้วไม่ไปไหน อาจจะสิงสู่คอยหลอกหลอนให้เดือดร้อนกันทั้งหมู่บ้าน ก็เป็นได้

สั่งสอนกันนักหนาว่า "อย่าพาผีเซา" หรือ "อย่าพาผีหยุด" นั่นเอง

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเคยมีเพื่อนบ้านไปช่วยหามศพ "ตาม้วน" ลงจากบ้านแล้วพลัดตกบันได เดชะบุญที่โลงไม่แตก แต่ทำให้โลงผีกระทบพื้นไปแล้ว ไม่ว่าใครๆ ที่มองเห็นล้วนแต่หน้าตาซีดเซียว หวาดกลัวไปตามๆ กัน

กลางค่ำกลางคืน ถ้าใครไม่มีธุระสลักสำคัญจริงๆ จะไม่ยอมออกจากบ้านไปไหนมาไหนเด็ดขาด!

ตอนค่ำๆ มีชาวบ้านหลายคนเห็นตาม้วนนั่งกอดเข่าสูบยาแดงวาบๆ ที่เชิงบันไดวิ่งกระเจิงไปตามๆ กัน... ผมว่าแกคงขุ่นเคืองคนหามศพซุ่มซ่ามมากกว่า แต่ก็ทำให้ขนหัวลุกไปตามๆ กันละครับ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ผีตกบันได