nakedboy โพสต์ 2014-5-11 18:17:56

ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ ในชายสูงวัย

ปัจจุบัน ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในผู้ชายเป็นที่กล่าวถึงกันค่อนข้างกว้างขวาง ผู้ชายหลายรายขวนขวายหาฮอร์โมนทดแทนเมื่อวัยสูงขึ้น บางรายอาจจะมีความจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทนจริง แต่บางรายอาจไม่มีความจำเป็น

การได้รับฮอร์โมนทดแทนโดยไม่ได้มีความรู้อาจทำให้มีอาการข้างเคียง และมีอาการไม่พึงประสงค์ติดตามมาได้ บางคนพยายามเปรียบเทียบการพร่องฮอร์โมนในเพศชายกับผู้หญิงในวัยหมดประจำ เดือน จนกระทั่งมีการเรียกผู้ชาย ที่มีวัยมากขึ้นว่า ‘ชายวัยทอง’ เช่นเดียวกับที่เรียกผู้หญิงในวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงก้าวสู่วัยหมดประจำ เดือน ทั้งๆ ที่ปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงในเพศชายมีความแตกต่างจากในเพศหญิง แพทย์จำนวนมากจึงไม่ยอมรับและเรียกผู้ชายกลุ่มนี้ว่า ‘ชายสูงวัย’ คือมีอายุมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่จะมีภาวะพร่องฮอร์โมนหรือไม่ก็ได้ ผิดกับผู้หญิงที่การหมดประจำ-เดือนเป็นสัญญาณบอกถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป

อาการของผู้ชายที่มีภาวะ
พร่องฮอร์โมนเพศนี้มีความหลากหลาย ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง อีกทั้งอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคและความผิดปกติอื่นๆ ได้เช่นกัน ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศบกพร่อง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง อารมณ์แปรปรวน หลงลืมง่าย นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น

ฮอร์โมนเพศชาย VS ฮอร์โมนเพศหญิง

ฮอร์โมนที่ลดลงในเพศชายมีความแตกต่างจากเพศหญิง อาการต่างๆ จึงค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามวัย คาดการณ์ว่าฮอร์โมนเพศชายจะค่อยๆ ลดลงร้อยละ 1-2 ต่อปีตามปริมาณที่มีอยู่เดิมหลังจากผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี โดยฮอร์โมนเพศชายที่เป็นหลักคือ ‘เทสโทสเตอโรน’ ซึ่งแหล่งที่ผลิตได้แก่ลูกอัณฑะ มีบทบาทหลักด้านพัฒนาการทางเพศ ทำให้เด็กผู้ชายเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นมีเสียงห้าว มีหนวดเครา และมีพัฒนาการของอวัยะเพศมากขึ้น

เซลล์ในลูกอัณฑะเองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลจาก ต่อมใต้สมอง ทำให้ผลิตฮอร์โมนตามปกติ หากเซลล์ในอัณฑะไม่ตอบสนองต่อการควบคุมจากต่อมใต้สมอง ก็จะทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศลดลง การไม่ตอบสนองต่อต่อมใต้สมองอาจเกิดการป่วยเรื้อรังได้เช่นกัน อาทิ เบาหวาน อ้วน ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ฯลฯ

ฮอร์โมนเพศชายจะมีระดับสูงขึ้น 3 ช่วง ครั้งแรกคือในครรภ์มารดา ครั้งที่ 2 คือช่วงอายุ 2-5 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่อเป็นวัยรุ่น ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนประมาณร้อยละ 98 จะจับกับโปรตีนในกระแสเลือด อีกร้อยละ 2 จะล่องลอยเป็นอิสระ ทำให้เซลล์ต่างๆ สามารถใช้ฮอร์โมนนี้ได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้น ปริมาณโปรตีนที่จะจับกับฮอร์โมนก็มีมากขึ้นด้วย ทำให้ฮอร์โมนที่มีความเป็นอิสระลดลง

การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย

อาศัยอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก การตรวจร่างกายโดยทั่วไปมักปกติ แต่อาการจะมีความคล้ายคลึงกับอีกหลายๆ โรค แพทย์จึงต้องซักประวัติอย่างละเอียดและแยกโรคอื่นๆ ออกไป อาการส่วนใหญ่คือมีภาวะซึมเศร้า ร่วมกับมีความต้องการและสมรรถภาพทางเพศลดลง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง นอนไม่หลับ ความจำไม่ดี ขาดความคิดริเริ่ม อย่างไรก็ตาม อาจมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการเช่นนี้ได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคจิตประสาท ภาวะซึมเศร้า โรคทางสมอง โรคทางกล้ามเนื้อ ดังนั้นหากไม่แยกโรคเหล่านี้ออกไป การรักษาอาจไม่ได้ผล หรือแก้ไขไม่ตรงจุด ทำให้อาการเลวร้ายลงได้ ส่วนการตรวจเลือดหาฮอร์โมนเพศชายเพียงตัวเดียว ไม่อาจจะบอกถึงฮอร์โมนว่ามีเพียงพอหรือไม่ การเจาะเลือดจึงต้องหาโปรตีนที่จับกับฮอร์โมนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย ด้วย นอกจากนี้ ปริมาณของฮอร์โมนยังเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาของวัน แนะนำให้ตรวจหาค่าฮอร์โมนในช่วงเช้าเพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอน และต้องเจาะเลือดพร้อมกับค่าของโปรตีนนำไปคำนวณร่วมกับค่าอื่นๆ อีก เช่น น้ำหนัก

การรักษา

ควรให้การรักษาเมื่อมีอาการและพิสูจน์แล้วว่าพร่องฮอร์โมนจริง โดยการให้ฮอร์โมนเสริม ซึ่งมีทั้งรูปแบบการรับประทาน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือปิดที่ผิวหนัง แต่ละวิธีแตกต่างกันเรื่องการดูดซึมและการเผาผลาญที่ตับ เมื่อได้รับฮอร์โมนเสริมจะรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้น กระปรี้กระ-เปร่า ความจำดี กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความต้องการและสมรรถภาพทางเพศดีขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องระวังคืออาการข้างเคียงและความผิดปกติ เช่น ภาวะเลือดข้นเนื่องจากการผลิตเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น หากเลือดข้นมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นโดยเฉพาะ คอเลสเตอรอล มีการเพิ่มขึ้นของค่าเลือดต่อมลูกหมากซึ่งต้องตรวจเป็นระยะ หากมีมะเร็งต่อม- ลูกหมากซ่อนอยู่จะทำให้อาการรุนแรงและโตเร็วได้ อาการข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ความผิดปกติในระบบหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น

แม้การให้ฮอร์โมนเสริมในชายสูงวัยที่มีความบกพร่องของฮอร์โมนเพศ สามารถทำให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังและปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนค่ะ

หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ ในชายสูงวัย