สุขภาพตัวเอง...ที่เราควรรู้
คาโรชิ…โรคของคนขยันทำงานหนักเกินไปอาจตายได้!!! นี่คือคำเตือนสำหรับคนที่ขยันเกินพอดี และไม่น่าประหลาดใจที่ชาวญี่ปุ่นจะเป็นผู้ค้นพบโรคนี้ โดยตั้งชื่อให้ว่า “โรคคาโรชิ” (Karochi syndrome) ซึ่งอาการอยู่ในกลุ่มเดียวกับ “โรคไหลตาย” ที่คนไทยรู้จักกันดี
โรคคาโรชิ มีรายงานการค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มมีการศึกษาตั้งแต่ปี 1970 ที่มาของการจับตาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ เนื่องจากญี่ปุ่นได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประเทศนี้กลับเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในที่สุดนักวิจัยก็พบกับพฤติกรรมตอบโจทย์ ว่าเป็นเพราะคนญี่ปุ่นมีความขยัน อดทน มีความรักและผูกพันต่อองค์กรของตน จึงมุมานะทำงานหามรุ่งหามค่ำ
ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เป็นโรคหัวใจ และเป็นอัมพาตเนื่องจากเลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่ทำงานหนักจะมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่เครียดจากงานมากๆ
คำว่า “คาโรชิ” ของชาวญี่ปุ่น มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษ “Death from overwork” แปลเป็นไทยได้ตรงตัวว่า “เสียชีวิตจากการทำงานหนัก” ด้วยเหตุนี้ในระยะหลังๆ ญี่ปุ่นจึงมีนโยบายรณรงค์ให้ประชาชนพักผ่อนให้มากๆ สนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นออกเดินทางท่องเที่ยว ทำกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนให้พนักงานทำงานล่วงเวลา หรือทำงานมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ต่อสัปดาห์
การไม่ทำงานหนักเกินไปนั้นดีแน่ แต่ไม่ใช่ทำตัวเป็นจอมขี้เกียจ ใช้โรคนี้เป็นข้ออ้างในการไม่ทำงานหรือทำงานน้อยเกินไป เพราะอาจถูกไล่ออกจากงานได้ง่ายๆ
มะเร็งตับ…มัจจุราชหมายเลข 1
ผลการวิจัยล่าสุดพบว่า โรคมะเร็งกำลังเป็นภัยเงียบคุกคามคนไทยทั้งชายและหญิง โดยมะเร็งตับมาแรงเป็นอันดับ 1 สาเหตุหลักเนื่องจากการดื่มเหล้า รองลงมาคือมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม
รายงานสถานการณ์โรคมะเร็งของไทย ในปี 2542 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 87,061 ราย เป็นชาย 41,770 ราย หญิง 45,291 ราย มะเร็งที่พบบ่อยในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับ ปอด และลำไส้ใหญ่ ส่วนในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก เต้านม และตับ
หากไม่มีมาตรการป้องกันอย่างได้ผล คาดว่าปี 2551 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 หรือประมาณ 150,000 ราย โดยเป็นมะเร็งตับมากที่สุด ประมาณ 20,000 ราย มะเร็งปอด 15,000 ราย มะเร็งเต้านม 12,000 ราย มะเร็งลำไส้ใหญ่ 11,000 ราย และมะเร็งปากมดลูก 8,000 ราย
ในการป้องกันไม่ให้คนไทยเป็นโรคมะเร็งนั้น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์แก้ไขพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย โดยเน้นการรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ให้มากขึ้น ส่วนการออกกำลังกาย ก็พยายามกระตุ้นให้ประชาชนออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที
รวมทั้งรณรงค์ให้หญิงไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจหามะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้กว่าครึ่งเลยทีเดียว
ท่านอนเพื่อสุขภาพ
ท่านอนที่ว่าคือท่าในการนอนหลับ ไม่ใช่ท่าในการหลับนอน เพราะการนอนหลับให้สนิทเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของคนเรา และท่ายอดนิยมก็มีอยู่ไม่กี่ท่าดังนี้…
ท่านอนหงาย: คำแนะนำเพื่อความถูกสุขลักษณะในการนอน คือ ควรใช้หมอนเตี้ย หนุนแล้วคอไม่ก้มมาก หลักการที่ถูกต้องคือให้คออยู่ในแนวตรงตลอดเวลา
ท่านอนตะแคง: ควรใช้หมอนสูงขนาดที่รองซอกคอแล้วคออยู่ในแนวตรงพอดี อาจจะมีหมอนข้างไว้กอดเพื่อพยุงแขนและขาที่อยู่ด้านบนไม่ให้เบี่ยงห้อยลงมา เนื่องจากจะทำให้แนวโครงสร้างของสะโพกและไหล่ได้ระดับสมดุลปกติของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดอาการคอ-บ่า-ไหล่ปวดตึง หรือสะโพกขัดกระทั่งปวดเอวหลังตื่นนอน
ท่านอนคว่ำ: ใช้นอนเล่นได้ ไม่ควรใช้นอนจริงตลอดคืน ในการนอนคว่ำหน้าเล่น ครั้งหนึ่งก็ไม่ควรนานเกิน 20-30 นาที ถ้าต้องนอนคว่ำหน้าทำสปา ควรใช้เตียงเจาะรูที่สามารถมุดหน้าลงไปได้ เพื่อไม่ให้คอต้องหันตะแคงนานเป็นชั่วโมง หลีกเลี่ยงอาการปวดคอหลังจากทำสปาจนสบายตัว
ท่าเอกเขนก (กึ่งนั่งกึ่งนอน): เหมาะสำหรับการนอนเล่นเพื่อผ่อนคลาย ในบรรยากาศธรรมชาติสบายๆ เช่น ข้างสระว่ายน้ำ ริมชายหาด หรือริมระเบียง ฯลฯ ในช่วงสั้นๆไม่เกิน 1 ชั่วโมง ท่านี้ไม่เหมาะจะใช้นอนจริงตอนกลางคืน เพราะถ้านอนติดต่อกันนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อหงิก สะโพกงอ และหัวเข่ายึด เป็นผลร้ายต่อสุขภาพมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน
ลองสำรวจดูซิว่าคุณนอนท่าไหน และถูกสุขลักษณะตามคำแนะนำหรือไม่ ถ้าถูกก็ดีไป ถ้าไม่ถูกก็ควรปรับปรุงแก้ไข อ้อ…อย่าลืมสังเกตคนที่นอนเตียงเดียวกับคุณด้วย จะได้เป็นคู่นอนที่สมบูรณ์แบบทั้งตอนที่นอนหลับและหลับนอน
หน้า:
[1]