ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชาย
คู่สมรสโดยเฉพาะเพศชายที่เลือกคุมกำเนิดด้วยการทำหมันชายนั้น ควรมีความเข้า ใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำหมันชาย ก่อนการตัดสินใจ และจะช่วยลดความวิตกกังวลต่างๆ ลงในระหว่างและภายหลังการทำหมันชายอีกด้วย ความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อการทำหมัน ชาย มีดังนี้
1. การทำหมันชายเป็นการผ่าตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อป้องกันไม่ให้ มีเชื้ออสุจิปนออกมาในน้ำกามที่หลั่งออกมา หาใช่การตัดเอาลูกอัณฑะออกเพื่อตอนไม่
2. การทำหมันชายไม่มีผลทำให้พละกำลังการทำงานหนักตามปกติลดลง
3. การทำหมันชายไม่มีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ความรู้สึกต้องการและ ความพึงพอใจทางเพศ การแข็งตัวขององคชาติ ตลอดจนการเข้าถึงจุดสุดยอดจนหลั่ง น้ำกามนั้นจะเป็นปกติ
4. การทำหมันชายเป็นการคุมกำเนิดประเภทถาวร การผ่าตัดแก้หมันในภายหลัง จึงได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ หากยังต้องการมีบุตรอีกควรเลือกใช้วิธีการคุม กำเนิดประเภทชั่วคราวอื่นแทน
5. การทำหมันชายมีอัตราความสำเร็จของการคุมกำเนิดไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ แต่มี อัตราความล้มเหลวของ การคุมกำเนิดต่ำมากเมื่อเทียบกับวิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ
การเตรียมตัวก่อนการทำหมันชาย
คู่สมรสที่เลือกการทำหมันชายเป็นวิธีคุมกำเนิด ควรมีบุตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป เนื่องจากการผ่าตัดแก้หมันชายเพื่อต้องการมีบุตรอีกในภายหลังนั้น ได้ผลตั้งครรภ์ไม่ถึงร้อยเปอร์เซนต์ บุตรคนสุดท้องควรมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากเด็กในขวบปีแรกมักจะป่วย เป็นโรคอันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ง่าย
ประวัติโรคประจำตัวที่สำคัญ ควรระวังและต้องเรียนให้แพทย์ทราบทุกครั้ง ได้แก่ ภาวะเลือดออกผิดปกติและเลือดแข็งตัวช้า เช่น มีจ้ำเลือดหรือห้อเลือดตาม ตัว ประวัติเคยแพ้ยาโดยเฉพาะยาชาจากการผ่าตัดครั้งก่อน ซึ่งแพทย์จะได้ใช้ เป็นข้อมูลเลือกวิธีการผ่าตัดทำหมันที่เหมาะสมต่อไป
โรคติดเชื้อต่างๆ ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ชายภาย นอก ได้แก่ ตุ่มหนองที่ผิวหนังถุงอัณฑะ หูดที่องคชาติ เป็นต้น ควรจะรับรักษา ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อเกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัด ทำหมันชาย การเตรียมตัวโกนขนรอบบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก เพื่อความสะดวกและ สะอาดระหว่างการผ่าตัดทำหมัน การดูแลปฏิบัติตัวหลังการทำหมันชาย เนื่องด้วยหลังเสร็จสิ้นการทำหมันชายผู้รับการทำหมันสามารถกลับบ้านหรือกลับ ออกไปปฏิบัติงานได้เป็นปกติ การดูแลปฏิบัติตัวด้วยตนเองจึงมีความสำคัญ เพื่อป้องกัน ภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น การปฏิบัติตัวเหล่านี้ ได้แก่
1. ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณแผลผ่าตัดที่ถุงอัณฑะในวันแรกหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยลดอาการบวม ความเจ็บปวด และป้องกันการเกิดห้อเลือด
2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักหรือยกของหนักเป็นเวลา 3 วัน
3. งดการมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์หลังทำ หมันชายทันทีนั้น จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเจริญเข้าต่อกันของท่อทางเดินของ เชื้ออสุจิที่ตัดและผูกแยกจากกันแล้ว ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว
4. ใช้การคุมกำเนิดชั่วคราวประเภทอื่นแทนหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ กระทั่ง ตรวจพบว่าเป็นหมันโดยถาวรคือ ไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา
5. ควรรับการตรวจ น้ำกามที่หลั่งออกมาภายหลังทำหมันชายไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ เพื่อความแน่ใจว่าเป็นหมันโดยถาวร คือไม่พบเชื้ออสุจิ และควรตรวจติดต่อกัน 2 ครั้งเพื่อความมั่นใจ ระยะเวลาการเป็นหมันโดยถาวรหลังทำหมันชาย การเป็นหมันโดยถาวร หลังทำหมันชายนั้น หมายถึง การตรวจไม่พบเชื้ออสุจิใน น้ำกามที่หลั่งออกมา ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการหลั่งน้ำกามออกมา มากกว่า ระยะเวลาหลังการทำหมันชาย โดย
ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80-90 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ภายหลังที่มีการหลั่งน้ำกามออกไปแล้ว 12-15ครั้ง
ผู้ที่ทำหมันชายกว่าร้อยละ 80 จะตรวจไม่พบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมาหลัง การทำหมันแล้ว 6 สัปดาห์ โดยไม่สัมพันธ์เกี่ยว ข้องกับความบ่อยครั้งของการหลั่ง น้ำกาม
เชื้ออสุจิที่เหลือค้างอยู่ในท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ จะสูญเสียความสามารถในการ เคลื่อนไหวใน 3 สัปดาห์ภายหลังทำหมันชาย
ไม่ควรตรวจพบเชื้ออสุจิในน้ำกามที่หลั่งออกมา ภายหลังทำหมันชายแล้ว 3 เดือน หากตรวจพบและยังมีการเคลื่อนไหว อยู่ แสดงว่าเกิดความล้มเหลวในการผ่าตัด ทำหมันชาย
การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิด มีความล้มเหลวน้อยกว่าร้อยละ 1 ทั้งนี้จะขึ้น อยู่กับเทคนิควิธีการตัดและผูกท่อทางเดิน ของเชื้ออสุจิ รวมทั้งประสบการณ์ความ ชำนาญของแพทย์ที่ทำ
สรุป
การทำหมันชายเพื่อการคุมกำเนิดนั้น จัดเป็นหัตถการการผ่าตัดที่ง่ายและได้ผลดีในการ คุมกำเนิดอย่างถาวร เทคนิคการผ่าตัดทำหมันชายใหม่ๆ ในปัจจุบัน ช่วยลดผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นลงได้มาก ซึ่งอาจเป็นผลให้การทำหมันชายในวันข้างหน้าเป็นที่นิยมมากขึ้น เพศชาย ส่วนใหญ่มักจะคิดกังวลและมีความสับสนว่า การทำหมันชายเป็นการตอนตัดลูกอัณฑะออกทิ้ง จนไม่สามารถทำงานหนักได้เป็นปกติ และมีความเสื่อมถอยในสมรรถภาพทางเพศ การทำ ความเข้าใจและรับคำปรึกษาจากแพทย์ จะช่วยป้องกันความเข้าใจผิดเหล่านี้และลดความ กังวลลง จากการศึกษาวิจัยในอดีตกระทั่งปัจจุบันพบว่า การทำหมันชายยังเป็นวิธีการที่ ปลอดภัย และไม่มีผลเสียต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย