วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เสถียร จันทิมาธร
ก็ดังที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(สิริจันโท จันทร์) กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่าเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง
แนบแน่นและยาวนาน
ดังที่ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี เล่าไว้ในหนังสือ 'วงศ์ธรรมยุตในภาคอีสาน'
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ขณะที่อยู่ถ้ำไผ่ขวางนั้น
ปรากฏเห็นท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกอยู่ที่วัดบรมนิวาส
กำลังพิจารณาปฏิจจ สมุปบาทอยู่
ท่านเกิดสงสัยแล้วกำหนดเวลาวันที่เท่านั้นเดือนที่เท่านั้น
เมื่อเข้ามากรุงเทพฯจึงเรียนถามท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ท่านก็ตอบว่า
'เป็นอย่างนั้นจริง'
'ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้พูดในที่ประชุมสงฆ์ว่า 'ท่านมั่นเป็นกัลยาณมิตร ควรสมาคม'
ข้อความนี้ สำนวนเขียน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ขยายอย่างพิสดารว่า
'มันต้องอย่างนี้ซิลูกศิษย์พระตถาคตถึงจะเรียกว่าเดินตามครู
พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมดต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง
สมกับธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ปล่อยให้กาละ สถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด
ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน
ต้องทำอย่างท่านมั่นที่ได้ความรู้ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้จึงเป็นที่น่าชมเชย'
จึงสำนวนเขียน พระมหาบัว ญาณสัมปันโน เล่ารายละเอียดการขึ้นธรรมาสน์เทศนาธรรม ณ
วัดเจดีย์หลวง ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อย่างชวนให้ติดตาม
ดังนี้
เมื่อประชาชนทราบว่า ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ มาพักที่วัดเจดีย์หลวง
จังหวัดเชียงใหม่ ต่างก็มากราบนมัสการเยี่ยมและฟังโอวาทท่าน
ในโอกาสที่ประชาชนมามากนั้น ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้อาราธนาท่าน
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นองค์แสดงธรรมให้ประชาชนฟัง
ปรากฏว่า ท่านแสดงธรรมไพเราะเพราะพริ้ง จับใจท่านผู้ฟังมากมาย ไม่อยากให้จบลงง่ายๆ
เทศน์กัณฑ์นั้นทราบว่า ท่านเริ่มแสดงมาตั้งแต่ต้นอนุปุพพิกถาขึ้นไปเป็นลำดับ
จนจบลงในท่ามกลางแห่งความเสียดายของพุทธศาสนิกชนที่กำลังฟังเพลิน
พอเทศน์จบลงท่านลงมากราบพระเถระแล้วหลีกไปหาที่พักผ่อนตามอัธยาศัย
ขณะนั้น
ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์กล่าวชมเชยธรรมเทศนาของท่านในท่ามกลางบริษัทว่า
ท่านมั่นแสดงธรรมไพเราะมากหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก และแสดงธรรมเป็นมุตโตทัย คือ
แดนแห่งความหลุดพ้นที่ ผู้ฟังไม่มีที่น่าเคลือบแคลงสงสัย
นับว่าท่านแสดงได้อย่างละเอียดลออดีมาก แม้แต่เราเองก็ไม่อาจแสดงได้ในลักษณะแปลกๆ
และชวนให้ฟังเพลินไปอย่างท่านเลย
สำนวนโวหารของพระธุดงคกรรมฐานนี้แปลกมาก ฟังแล้วทำให้ได้ข้อคิดและเพลิน ไปตาม
ไม่มีเวลาอิ่มพอและเบื่อง่ายเลย
ท่านเทศน์ในสิ่งที่เราเหยียบย่ำไปมาอยู่นี่แล
คือสิ่งที่เราเคยเห็นได้ยินอยู่เป็นประจำแต่มิได้สนใจคิดและนำมาทำประโยชน์ เวลา
ท่านเทศน์ผ่านไปแล้วถึงระลึกได้
ท่านมั่นท่านเป็นพระกรรมฐานองค์สำคัญที่ใช้สติปัญญาตามทางมรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้จริงๆ
ไม่นำมาเหยียบย่ำทำลายให้กลายเป็นโลกๆ เลวๆ ไปเสียดังที่เห็นๆ กัน
ท่านเทศน์มีบทหนัก บทเบา และเน้นหนักลงเป็นตอนๆ
พร้อมทั้งการคลี่คลายความสลับซับซ้อนแห่งเนื้อธรรมที่ลึกลับซึ่งพวกเราไม่อาจแสดงออกมาได้อย่างเปิดเผยา
และสามารถแยกแยะธรรมนั้นออกมาชี้แจงให้เราฟังได้อย่างถึงใจโดยไม่มีปัญหาอะไรเลย
นับว่าท่านฉลาดแหลมคมมากในเชิงเทศนาวิธีซึ่งหาตัวจับได้ยาก
อาตมาแม้เป็นอาจารย์ท่านแต่ก็ยกให้ท่านสำหรับอุบายต่างๆ
ที่เราไม่สามารถซึ่งมีอยู่เยอะแยะ เฉพาะท่านมั่นสามารถจริง
อาตมาเองยังเคยถามปัญหาข้องใจที่ตนไม่สามารถ แก้ได้โดยลำพังกับท่าน
แต่ท่านยังสามารถแก้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวด้วยปัญญา
เราพลอยได้คติจากท่านไม่มีประมาณ
อาตมาจะมาเชียงใหม่ถึงได้นิมนต์ท่านมาด้วยซึ่งท่านก็เต็มใจมาไม่ขัดข้อง
ส่วนใหญ่ท่านอาจเห็นว่าที่เชียงใหม่เรามีป่ามีภูเขามากสะดวกแก่การแสวงหาที่วิเวก
ถึงได้ตกลงใจมากับอาตมาก็เป็นได้ พระอย่างท่านเป็นพระที่หาได้ยากมาก
อาตมาแม้จะเป็นผู้ใหญ่กว่าท่านแต่ก็เคารพเลื่อมใสธรรมของท่านอยู่ภายใน
พระอย่างท่านมั่นนี้รู้สึกจะหาได้ยากอย่างยิ่ง
ส ะท้อนลีลาและท่วงทำนองการเขียนในแบบ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ครบถ้วน
ความครบถ้วนไม่เพียงแต่อยู่ตรงนำเอารากความเป็นมาแห่งการยกย่องว่าเป็น 'มุตโตทัย'
มาแสดงอย่างดียิ่ง หากแต่ยังนำเอาความสัมพันธ์มากล่าวถึงตามกระบวนการแห่งกัลยาณมิตร
เป็นกัลยาณมิตรระหว่าง พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์