หม่องทิน" เล่าเรื่องขนหัวลุกจากแม่สอด
สมัยเด็กผมอยู่แม่สอด เมืองตาก ตอนนั้นยังห่างไกลความเจริญมาก ถึงแม้จะมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่บ้านเรือนก็ไม่ได้สร้างด้วยไม้สักเสมอไป เพราะบริษัทที่ได้สัมปทานส่งออกตัดไม้ล่องแม่น้ำเมยขึ้นเหนือ แล้วขนถ่ายที่สาละวินเพื่อขายให้พม่า
บ้านคนรวยเรียกว่า "เฮียน" เพราะเป็นเรือนไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องแป้นเกล็ดหรือใบตองตึง อย่างหลังนี่อายุราว 4-5 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่แล้ว
ส่วนบ้านคนจนอย่างพวกผมเรียกว่า "ตูบ" เพราะปลูกด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง
ที่คล้ายกันก็คือนิยมสร้างบ้านใต้ถุนสูงแบบไทย เหนือ ใช้ไม้ไผ่รวกทำรั้วบ้านเรียกว่า "สลาบ" ไม้ที่ใช้คือ ไม้กระยาเลย ไม้แดง ไม้เต็ง ตอนที่ผมจำความได้น่ะทางการสั่งให้เลิกไปนานแล้วเนื่องจากไม้ใกล้หมดป่าเต็มที
ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่สรรพวิทยา ใครเรียนเก่งจะได้รับทุนไปเรียนต่อที่จังหวัด วิชาที่ดังมากคือภาษาอังกฤษ ครูเป็นชาวพม่าที่มาสอนตอนเลิกเรียน จะเรียกว่าเรียนพิเศษก็ได้
พูดถึงพม่าสมัยนั้นเป็นแหล่งเจริญ มีสินค้าต่างๆ รวมทั้งหนัง (เงียบ) พม่า ละครพม่า นำมาฉายและแสดงที่โรงหนังศรีเมืองฉอด พวกเราเรียกว่า "โรงหนังกาดมั่ว"
วันดีคืนดีก็มีข่าวว่าพบแร่ทองคำที่ตำบลแม่ตาว จู่ๆ ก็มีแร่ทองคำไหลมาตามลำห้วยมากมาย ชาวบ้านจากเถิน เมืองลำปางมาพบเข้า จึงป่าวร้องให้ชาวบ้านมาช่วยกันร่อนทองเรียกว่า "ตาวคำ" โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ริมห้วยแม่ตาว ร่อนทองจนกระทั่งหมดสิ้นในที่สุด
ที่แม่สอดน่ะชาวบ้านนิยมเลี้ยง "หมูดำ" เอาไว้กินไว้ขายกันด้วย เรานิยมกินหมูดำมากกว่าหมูขาว เพราะมีทั้งเนื้อแดง มัน สามชั้น และเนื้อสันใน ส่วนหมูขาวน่ะมีแต่เนื้อแดงเท่านั้น
ก่อนนั้นโรงพยาบาลยังไม่มีหรอกครับ มีแต่สุขศาลา หมอกับพยาบาลจะออกไปเยี่ยมไข้ตามบ้านบ่อยๆ ชาวบ้านเรียกนางพยาบาลว่า "นางสงเคราะห์" ซึ้งซะไม่มีละครับ
สมัยก่อน ข้าราชการคนไหนถูกย้ายมาแม่สอด ก็แทบหมดอาลัยตายอยากไปเลย ได้แต่พูดปลอบกันว่า...บุญเท่าไหร่แล้วที่ได้อยู่แม่สอด ขืนโดนย้ายไปอุ้มผางมีหวังกระอักเลือด เพราะทั้งห่างไกลและทุรกันดารกว่าแม่สอดมากมายนัก
ใครจะมาแม่สอดต้องถือว่ามีความอดทนสูงจริงๆ คือต้องเริ่มต้นจากศาลากลางจังหวัดตากตอนบ่ายๆ จ้างลูกหาบช่วยยกสัมภาระ แวะค้างคืนที่ "กระแตแม่ท้อ" (สถานีตำรวจแม�ท้อปัจจุบัน) โดยพักนอนแถวริมห้วยเกาะทราย คืนที่สองแวะพักค้างคืนที่บ้านปลารดซึ่งมีศาลาจัดไว้ให้คนเดินทางโดยเฉพาะ
คืนต่อไปต้องพักแรมที่วัดแถวแม่ละเมา มีสัตว์ร้ายชุกชุม ต้องก่อไฟจัดเวรยามกันอย่างรอบคอบ ขืนประมาทพลาดพลั้งมีหวังโดนเจ้าป่าดอดมาขบหัวลากไปกินได้ง่ายๆ
สามวันสามคืนละครับกว่าจะถึงแม่สอด!
ต่อมามีการสร้างถนนลูกรังเชื่อมตาก-แม่สอด แต่กล่าวขวัญกันว่าผีดุเหลือหลาย เพราะเกิดอุบัติเหตุรถ ราชนกันแทบทุกวัน เนื่องจากถนนคดเคี้ยววกวนไปตามไหล่เขาสูงชัน ถ้าชนกันเฉยๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าเสียหลักตกเหวข้างทาง 10-20 เมตร...ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตละครับ
ทั้งล้มตายและบาดเจ็บสาหัสนับร้อย ชาวบ้านเรียกว่า "ถนนสายมรณะ" ต้องหาทางแก้ไขด้วยวิธี "ขึ้นเขาวันหนึ่ง-ลงเขาวันหนึ่ง" แต่ก็มีคนหลงๆ ลืมๆ หรือคึกคะนองจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยๆ
ในที่สุด รัฐบาลออสเตรเลียก็มาช่วยพัฒนาถนนให้ดีขึ้นในปี 2513
ถนนสายตาก-แม่สอด มีอาถรรพณ์น่าขนหัวลุกครับ!
ระยะทาง 80 กิโลเมตรนี้มีศาลเจ้าพ่อพะวออยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 62-63 ตั้งอยู่บนเนินดินด้านขวา ในศาลมีรูปหล่อเจ้าพ่อพะวอ (นายขาว) ยืนถือง้าวด้วยท่วงท่างามสง่าน่าเคารพเลื่อมใส เป็นที่สักการบูชาของชาวจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา
มีประวัติว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง และเป็นนายด่านแม่ละเมา คอยป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามภูเขาเข้ามาในเขตไทย
เจ้าพ่อพะวอเป็นนักรบ ท่านจึงชอบเสียงปืน ผู้ที่เดินทางผ่านหรือไปกราบไหว้จึงยิงปืน จุดประทัด หรือไม่ก็กดแตรถวาย จะเดินทางไปโดยสวัสดิภาพราบรื่นทุกคน
ส่วนพวกที่ไม่เคารพนับถือ มิหนำซ้ำยังไปล่าสัตว์บริเวณเขาพะวอ มักประสบอุบัติเหตุต่างๆ เช่นรถเสีย เจ็บป่วย หลงทาง บางคนก็โดนสัตว์ร้ายจู่โจมเข้าทำอันตรายถึงแก่ชีวิตมาหลายรายแล้ว
ท่านที่จะเดินทางไปเที่ยวแม่สอด อย่าละเลยสักการะเจ้าพ่อพะวอ อย่างน้อยกดแตรถวายท่านก็ยังดี จะได้ไม่ประสบอันตรายหรือเจอะเจอเรื่องขนหัวลุกไงครับ!
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์