ซื้อรอยยิ้มพันตำลึงทอง แด่นางผู้ไม่เคยยิ้ม
สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้เอาสำนวนจีนมาเล่าสู่กันฟังครับ "ซื้อรอยยิ้มพันตำลึงทอง" มีความหมายว่า การทุ่มเทเพื่อสร้างความสำราญจนนำมาซึ่งความหายนะในที่สุด นี่เป็นสำนวนโบราณของจีน ซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ สมัยยุคราชวงศ์โจวตะวันตก โดยมีความหมายถึง การที่บุรุษได้ทุ่มเทความพยายามรวมทั้งทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับหญิงที่ตนรัก จนไม่สนใจว่า สุดท้ายแล้ว จะนำมาซึ่งผลดีหรือร้ายประการใดประมาณปีที่ 770 ก่อน คริสตกาล ประเทศจีนอยู่ในสมัยของราชวงศ์โจวตะวันตก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ถูกปกครองโดย พระเจ้าโจวอิ้วหวาง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ พระองค์มีมเหสีชื่อ นางเป่าสื้อ ซึ่งเป็นสตรีที่งดงามมาก ทว่านับแต่นางเข้าวังมา นางไม่เคยแย้มยิ้มเลย แม้แต่ครั้งเดียว พระเจ้าโจวอิ้วหวางเป็นกษัตริย์ที่ไร้สติปัญญา หลงเชื่อแต่ขุนนางสอพลอ และมักลงโทษขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับพระองค์ ครั้งหนึ่งพระองค์ได้มีรับสั่งให้ลงโทษประหารเสนาบดีผู้หนึ่ง ทว่าบรรดาญาติมิตรของเสนาบดีผู้นั้นได้ช่วยกันกราบทูลขออภัยโทษและได้ถวายหญิงงาม ผู้หนึ่งชื่อว่า เป่าสื้อ ให้มาเป็นสนมของพระองค์ โจวอิ้งหวางทรงหลงใหลนางตั้งแต่แรกเห็น ขึงละโทษตายแก่เสนาบดีผู้นั้น จากนั้นไม่นานก็ทรงเลื่อนตำแหน่งให้เป่าสื้อเป็นมเหสีโดยทรงถอดมเหสีองค์เดิมออกไป ทว่านับแต่เข้าวังมา นางเป่าสื้อไม่เคยยิ้มเลยแม้แต่ครั้งเดียว โจวอิ้งหวางทรงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้นางยิ้มออกมาได้สักครั้ง ถึงกับประกาศไปว่า หากผู้ใด ทำให้มเหสีของพระองค์ยิ้มได้ พระองค์จะพระราชทานทองคำพันตำลึงเป็นรางวัล การ "จุดไฟล้อเจ้าเมืองเล่น" ต่อมามีขุนนางสอพลอผู้หนึ่งเสนอ อุบายให้โจวอิ้งหวางไปสร้างพลับพลายังเขาหลีซานและจุดหอไฟแจ้งเหตุเรียกกองทัพหัวเมืองทั้งปวงให้มาชุมนุมที่นั่นโดยกราบทูลว่า หากพระมเหสีเห็นทัพหัวเมืองทั้งปวงถูกหลอกให้มาชุมนุมโดยไม่มีสาเหตุแล้ว น่าจะเกิดขบขันจนยิ้มออกมาได้ โจวอิ้วหวางเห็นด้วย จึงให้ทำการดังนั้น ครั้นเมื่อ นางเป่าสือ ได้เห็นทหารนับหมื่นนับแสนจากหัวเมืองทั้งปวงถูกหลอกให้มาชุมนุมพลยังเขาหลีซานจนเกิดชุลมุนวุ่นวายไปทั่วนั้น นางก็แย้มสรวลออกมาเล็กน้อยด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย แต่ก็ทำให้โจวอิ้วหวางทรงพอพระทัยและตบรางวัลขุนนางเจ้าความคิดถึงพันตำลึงทอง ทว่าการจุดหอไฟแจ้งเหตุ หลอกกองทัพหัวเมืองมาในครั้งนั้น ทำให้เจ้าเมืองทั้งหลายไม่พอใจเป็นอันมาก ครั้นต่อมาไม่นาน เจ้าแคว้นเซินซึ่งเป็นบิดาของอดีตพระมเหสีที่ถูกถอดจากตำแหน่งได้หันไปสมคบกับชนเผ่าฉวนหรงที่อยู่นอกด่านยกทัพบุกเมืองหลวงของราชวงศ์โจวตะวันตก เขตแดนราชวงศ์โจว ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (ราว 1050 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 771 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เมื่อเกิดข้าศึกยกมารุกรานเมืองหลวงจริงๆ โจวอิ้วหวางก็สั่งให้จุดหอไฟแจ้งเหตุเพื่อเรียกบรรดาทัพจากหัวเมืองต่างๆมาช่วย ทว่าในครั้งนี้ หามีกองทัพใดยกมาไม่ ด้วยกลัวว่าจะถูกหลอกเป็นตัวตลกเช่นดังครั้งก่อน ทำให้ทัพข้าศึกตีเมืองหลวงแตกและปลงพระชนม์โจวอิ้วหวางลง ส่วนนางเปาสื่อถูกจับตัวไป ยิ้มของนางต่อมาถูกเรียกว่า "ยิ้มพันตำลึงทอง" ซึ่งเป็นยิ้มที่นำความวิบัติ มาสู่ราชวงศ์โจวโดยแท้ ต่อมา พวกอ๋องต่าง ๆ ได้ยกทัพมาช่วยตีข้าศึก แล้วตั้งโจวผิงหวาง โอรสของโจวอิวหวาง เป็นกษัตริย์ต่อไป ราชวงศ์โจวจึงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก เรียกว่า ราชวงศ์โจวตะวันออก หรือ ตงโจว (Eastern Zhou) หลังจากนั้น ราชวงศ์โจวก็บัญชาอ๋องต่าง ๆ ไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากอ๋องต่าง ๆ ต่างแข็งเมืองและรบกันเองระหว่างแว่นแคว้นเพื่อต้องการเป็นใหญ่ทำให้ราชวงศ์โจวตะวันตกตัองล่มสลาย และนี่คือที่มาของสำนวน ซื้อยิ้มพันตำลึงทอง
|