นกเงือก รักเดียวใจเดียว สัตว์สัญลักษณ์ของ รักแท้
เพิ่งผ่านพ้นวันวาเลนไทน์ไปหมาด ๆ แต่กลิ่นความรักยังหอมตลบอบอวลอยู่ในใจคู่รักหนุ่มสาวหลายคู่ โดยเฉพาะวันพิเศษแบบนี้ที่หลายคนได้ทำอะไรให้คนรัก นอกจากนี้ คู่รักหลายคู่ยังถือเอาวันนี้เป็นวันดีที่จดทะเบียนสมรสเริ่มต้นชีวิตคู่ อย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในเขตชื่อมงคลต่าง ๆ อย่าง เขตบางซื่อ บางรัก ที่เชื่อกันว่าจะได้มีชีวิตคู่ที่ยังยืนและราบรื่นตลอดไป... แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะมีรักมั่นคงยาวนาน ยังมีสัตว์ประเภทหนึ่งที่มีพฤติกรรมรักเดียวใจเดียว จนได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของ "รักแท้" เลยทีเดียว
โดยสัตว์ที่ถูก ยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของ "รักแท้" นั่นก็คือ นกเงือก (Hornbill) นกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา
สำหรับสาเหตุที่นกเงือกถูกกล่าวขานว่าเป็นสัตว์แห่งรักแท้นั้น เนื่องจากพฤติกรรมของนกเงือกจะใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย อย่างไรก็ดี มีเรื่องเล่าถึงเรื่องราวของความรักของนกเงือกต่อ ๆ กันมาจนทำให้นกเงือกขึ้นชื่อเรื่องความรักแท้ว่า...
นกเงือกนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะเที่ยวบินตามหารักแท้ โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายเที่ยวบินตามหาตัวเมียที่เป็นที่รัก หลังจากบินอยู่นาน นกเงือกตัวผู้ก็ได้พบกับนกเงือกตัวเมียที่หวังว่าคงจะเป็นรักแท้ มันบินหาอาหารต่าง ๆ หลายชนิด มาให้ตัวเมียเพื่อหวังจะได้ครองใจจากตัวเมีย บินไปครั้งแล้วครั้งเล่า และแล้วนกเงือกตัวเมียก็รับอาหารที่ตัวผู้เสนอให้ นั่นหมายความว่าตัวเมียตกลงปลงใจที่จะเป็นรักแท้ของตัวผู้แล้ว
สิ่งต่อไปก็คือ การหารังที่จะเป็นเหมือนบ้านน่าอยู่สักแห่ง ที่จะเป็นเรือนหอใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข นกเงือกแม้จะมีปากที่กว้างใหญ่ แต่ปากของมันไม่ได้แข็งแรงเหมือนนกหัวขวานที่จะสามารถเจาะต้นไม้สร้างรังได้ เอง มันจึงต้องเที่ยวบินหาโพรงไม้ต่าง ๆ ที่สัตว์อื่น ๆ ได้ทำทิ้งไว้อยู่แล้ว นกเงือกตัวผู้ต้องบินหาโพรงไม้เหล่านี้มานำเสนอต่อตัวเมียจนกว่าตัวเมียจะ เป็นที่พอใจ จากนั้น คู่ผัวเมียนกเงือกก็จะได้ร่วมกันให้กำเนิดลูกน้อย ๆ ขึ้นมา ที่น่าสนใจก็คือทั้งสองจะร่วมกันนำเศษไม้ เศษดินต่าง ๆ มาปิดปากทางเข้าบ้านของทั้งสอง ให้เหลือเพียงรูเล็ก ๆ พอที่จะให้ตัวผู้ซึ่งเป็นผู้หาอาหารอยู่นอกบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อความอบอุ่นและเพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ ของตัวเมียและลูกน้อยที่กำลังจะเติบโต ตัวเมียก็จะคอยเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตอยู่ภายในรัง ตัวผู้เป็นผู้บินหาอาหารอยู่ภายนอกให้ตัวเมียกับลูกน้อย เป็นเช่นนี้ทุก ๆ วัน
เวลาผ่านไป ลูกน้อยก็ค่อย ๆ เติบโต แต่อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ตัวผู้กำลังบินหาอาหารให้ตัวเมียและลูกน้อยอยู่นั้น ก็มีคนใจร้ายยิงนกเงือกตัวผู้ เพื่อจะได้ปากนกเงือกที่แสนสวยไปตั้งประดับที่ผนังบ้าน โดยที่ไม่รู้เลย หรืออาจจะรู้แต่ไม่ใส่ใจ ว่าการที่ฆ่านกเงือกตัวผู้ตายไปหนึ่งตัวนั้น เป็นการได้ทำลายชีวิตนกเงือกอีกสองตัวที่รอรับอาหารจากตัวผู้ที่เพิ่งจะ จัดการสังหารไป ทางด้านตัวเมียก็ได้แต่รอ รอ และยังคงรอ รอวันที่ตัวผู้จะกลับมามอบอาหารให้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปตัวเมียก็ยังคงรอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เรี่ยวแรงของตัวเมียและลูกน้อย ก็ค่อย ๆ ลดลง ลดลง และในที่สุดตัวเมียและลูกทั้งสองก็ต้องจากไป โดยไม่รู้ว่าเขาทั้งสองทำผิดอะไร
ปัจจุบัน นกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 55 สายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว นกเงือกจึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ดังนั้น มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น "วันรักนกเงือก" โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นก เงือกให้คงอยู่คู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษาวิจัยและ อนุรักษ์นกเงือกในประเทศไทย
|