ยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้น้อย ยิ่งเรียนน้อย ยิ่งรู้มาก
khunvaanshop Skin white / 2013-05-14
เรียนในห้อง(ชั้น)เรียนหลายๆชั่วโมงติดต่อกัน หรือตั้งแต่เช้าถึงเย็น
เป็นสิ่งสำคัญมากๆของการศึกษาไทย เพราะเชื่อว่ายิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเก่งมาก
แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วตรงข้าม คือ ไทยยิ่งเรียนมาก ยิ่งรู้น้อย ประเทศอื่นยิ่งเรียนน้อย ยิ่งรู้มาก
ต้นแบบดั้งเดิมของการศึกษาไทย อยู่ที่การเรียนบาลีนักธรรมของพระสงฆ์ ซึ่งเน้นให้จดแล้วจำตามครูสอนเท่านั้น ใครอยู่ในชั้นเรียนมาก ได้รับยกย่องว่าเรียนมาก รู้มาก สังคมไทยจึงตอกย้ำให้เรียนสูงๆ เรียนมากๆ(ในชั้นเรียน) เพื่อ(รับราชการ)เป็นเจ้าคนนายคน
โดยไม่ให้ความสำคัญการศึกษาวิชาชีพจากประสบการณ์ตรง(แต่อยู่นอกห้องเรียน)เพื่อทำมาหากินและทำมาค้าขายด้วยลำแข้งตนเอง
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้บริหาร ก. ศึกษาฯ แถลงข่าวเรื่องลดชั่วโมงเรียนในโรงเรียน มีสาระสำคัญจะสรุปมาดังนี้
ยูเนสโก กำหนดชั่วโมงเรียนที่เหมาะสมของนักเรียนทั่วโลกอยู่ที่ 800 ชั่วโมง/ปี
แอฟริกา มีชั่วโมงเรียนมากที่สุดในโลกประมาณ 1,400 ชั่วโมง/ปี
ไทย มีชั่วโมงเรียนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากแอฟริกา คือ มัธยม 1,200 ชั่วโมง/ปี ประถม 1,000 ชั่วโมง/ปี แต่ได้ผลการเรียนต่ำลงเรื่อยๆ
ประเทศที่มีผลการเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสูงกว่าไทยหลายเท่า ล้วนมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าไทยทั้งนั้น เช่น
ฮ่องกง มีชั่วโมงเรียนแค่ 790 ชั่วโมง/ปี แต่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาสูงมาก จนติดอันดับ 3 ของโลก
เกาหลีใต้ มีชั่วโมงเรียนต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมง/ปี ญี่ปุ่น ต่ำกว่า 1,000 ชั่วโมง/ปี
ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าไทยหลายเท่า
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ. กล่าวว่า จะปรับลดชั่วโมงเรียนทุกช่วงชั้น อีกทั้งต้องเปลี่ยนทัศนคติของสังคมไทย ที่คิดว่าเรียนมากจะรู้มาก ซึ่งไม่จริง
ศ.(พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษา รมว. ศึกษาฯ กล่าวว่า "การลดชั่วโมงเรียนไม่ทำให้เวลาเรียนของเด็กลดลง แต่เป็นการลดการเรียนในชั้นเรียน เวลาที่เหลือให้เด็กได้เรียนรู้นอกห้องเรียน อาทิ ทำกิจกรรม หรือทำโครงงานต่างๆ"
"ปฏิรูปหลักสูตรอย่างเดียวคงจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ป่วยหนักได้ จะต้องปฏิรูปเรื่องอื่นๆควบคู่ไปด้วย ทั้งการปฏิรูปครู ปฏิรูปไอซีทีเพื่อการศึกษา และปฏิรูปโครงสร้าง"
รศ.ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นด้วยแล้วบอกเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนในชั้นเรียนมากเกินไป จึงไม่มีเวลาไปเรียนรู้ทักษะอื่นๆ
"หลักสูตรของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ใช้มานานกว่า 12 ปีแล้ว เด็กต้องเรียนเนื้อหาซ้ำซ้อน แต่ได้ผลสัมฤทธิ์ต่ำ เหลือเวลาทำกิจกรรมน้อยเกินไป เด็กไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ฉะนั้นต้องทิ้งหลักสูตรเดิมไปเลย แล้วทำหลักสูตรใหม่ขึ้นแทน" ดร. สมพงษ์ บอก (มติชน ฉบับวันพุธที่ 13 มีนาคม 2556 หน้า 22)
แต่เป็นที่รู้กันว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง มีการเรียนการสอนด้วยการเน้นห้องเรียนเหมือนประถม, มัธยม อาจารย์บางพวกยังยืนหน้าห้องแล้วบอกให้นักศึกษาจดตามคำบอกทีละวรรคด้วยซ้ำ โดยห้ามถาม ห้ามเถียง และห้ามคิดต่างจากอาจารย์
ตราบใดที่โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในไทยยังไม่เสมอภาค ไม่ทัดเทียม แล้วการศึกษาไทยจะให้กล้าแสดงความคิดเห็น ชะรอยจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่มา: http://www.toptenthailand.com/23-2033.html
http://women.postjung.com/675071.html
|