วันนี้ขอคุยยาวนะครับ
ในสมัยก่อน การติดเชื้อในกระแสเลือด มีชื่อว่า “เลือดเป็นพิษ” ครับ
ติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นคำกว้างๆครับ หมายถึงภาวะที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ เชื้อราครับ ซึ่งถ้าแพทย์บอกว่าติดเชื้อในกระแสเลือดก็มีโอกาสที่จะความดันเลือดต่ำเนื่องมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายหรือสารพิษจากเชื้อโรคครับ
สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด
มีเชื้อโรคอยู่หลายชนิดครับที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อราได้เช่นกัน
การติดเชื้อในทุกอวัยวะก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น…
- การติดเชื้อในปอด(ปอดอักเสบ)
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ(กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง(ผิวหนังอักเสบจากแบคทีเรีย)
- การติดเชื้อในทางเดินอาหาร(ถ่ายเหลวจากการติดเชื้อ)
- การติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
การติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆเหล่านี้ เมื่อเชื้อมีการแพร่กระจายก็ทำให้เกิดการติดเชื้อต่อไปจากอวัยวะนั้นเข้าสู่กระแสเลือดครับ
โอกาสเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากขึ้น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (ระบบป้องกันเชื้อโรคของร่างกายไม่ทำงานได้ดีเพียงพอ) เช่นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยAIDS ก็มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย
- เด็กแรกเกิด เพราะว่าระบบภูมิคุ้มกันยังไม่เจริญพัฒนาได้ดีพอ เด็กแรกเกิดจะมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ย ซึ่งอาการหลักก็คือมีไข้ และเด็กแรกเกิดจำเป็นต้องได้รับยาปฎิชีวนะ(ยาฆ่าเขื้อ)ครับ
- ในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวาน ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดครับ
- ผู้ที่ทำการเปลี่ยนอวัยวะที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดโอกาสที่จะร่างกายจะต่อต้านอวัยวะที่เปลี่ยนใหม่ ก็จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดก็สามารถติดเชื้อในกระแสเลือดได้บ่อยกว่าด้วยครับ
อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด
ถ้าคุณมีการติดเชื้อในกระแสเลือดคุณจะ…
- ไข้จะเป็นอาการหลักครับ แต่ว่าในผู้สูงอายุอาจไม่มีไข้ก็ได้
- หนาวสั่น
- หัวใจบีบตัวเร็ว หรือหายใจเร็ว
- สับสน
- ปัสสาวะออกน้อย
- บางคนอาจมีผื่นขึ้นตามตัว หรือปวดตามข้อมือ ข้อศอก หลัง สะโพก หัวเข่า และข้อเท้า
คุณควรไปพบแพทย์ทันทีที่คุณมีไข้ และ…
- คุณได้รับยาเคมีบำบัด
- คุณเคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- คุณเป็นเบาหวาน
- คุณเป็นAIDS
- คุณมีไข้ และหนาวสั่น
- เด็กแรกเกิดที่มีอายุน้อยกว่า 60 วันร่วมกับมีไข้ ไม่ยอมกินนม หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ซึมลง
- เมื่อมีคนในครอบครัวสับสน ซึมลง ร่วมกับมีไข้
การตรวจเพิ่มเติม
ในโรงพยาบาลแพทย์อาจสั่งตรวจดังต่อไปนี้
- การเจาะเลือดเพื่อนับปริมาณของเม็ดเลือดขาว (ถ้ามีการติดเชื้อ ร่างกายจะตอบสนองโดยการปล่อยเม็ดเลือดขาวออกมามากขึ้นครับ เพื่อฆ่าเชื้อโรค) และตรวจดูความผิดปกติในระบบเลือดอื่นๆ
- นอกจากนี้ยังส่งเลือดไปทำการเพาะเชื้อว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้น โดยปกติมักใช้เวลา 24-72 ชั่วโมงขึ้นกับชนิดของเขื้อโรคครับ
- แพทย์อาจสั่งตรวจเสมหะ และการตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการสั่งตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะหรือกรวยไตอักเสบหรือไม่
- การเจาะน้ำไขสันหลังจะทำเมื่อแพทย์สงสัยการติดเชื้อในระบบประสาท หรือถ้าคุณมีฝี แพทย์ก็จะเจาะฝีเอาหนองออกเพื่อส่งหาว่าเป็นเชื้อชนิดใด
- CT scan จะทำเมื่อแพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อที่อื่นๆในช่องท้องครับ เช่นเป็นฝีในตับ หรือฝีในม้ามและทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา
- แพทย์อาจทำการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูอัตราการบีบตัวของหัวใจด้วยครับ
การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉินครับ การรักษาควรเริ่มต้นโดยเร็วที่สุด
- การให้ออกซิเจน อาจจะให้เป็นหน้ากากออกซิเจนหรือการใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้ามีข้อบ่งชี้ครับ
- ขึ้นกับผลการตรวจเลือด แพทย์อาจสั่งการรักษาด้วยยาปฎิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อ)เป็นหลักทางเส้นเลือด ในการเริ่มยา แพทย์จะใช้ยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้หลากหลายชนิดครับ เพราะเราไม่ทราบว่าเชื้อตัวใดที่เป็นสาเหตุ จึงให้ยาแบบเหมากวาดเรียบ แต่พอภายหลังที่ผลเพาะเชื้อออกมาแล้ว เราจะทราบว่าเชื้อชนิดใดที่เป็นสาเหตุ และให้ยาได้ตรงกับเชื้อให้มากที่สุด
- แพทย์จะสั่งน้ำเกลือ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันต่ำครับ
โดยทั่วไปแล้วแพทย์มักจะให้นอนโรงพยาบาลจนกว่าผลเพาะเชื้อจะออกมา ยกเว้นแต่ว่าความดันเลือดของคุณต่ำเนื่องจากการติดเชื้อ หรือมีไข้สูงที่อาจจะต้องนอนโรงพยาบาลนานครับ
การติดเชื้อในกระแสเลือด กับการดื้อยาของเชื้อ
ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดรักษาได้ค่อนข้างยากครับ
โดยทั่วไปการติดเชื้อในกระแสเลือดมักเริ่มต้นมาจากการติดเชื้อที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หลังจากนั้นเชื้อก็จะแพร่พันธฺ์กระจายไปตามกระแสเลือด
ซึ่งการรักษาคือให้ยาที่จำเพาะตรงกันกับเชื้อ ซึ่งในทางปฎิบัตินั้นทำได้ค่อนข้างลำบากเพราะบ่อยครั้งที่ตรวจเพาะเชื้อไม่พบ หรือหาอวัยวะเริ่มต้นที่มีการติดเชื้อไม่พบ ทำให้ไม่ทราบว่าน่าจะติดเชื้อโรคชนิดใด จึงให้ยาได้ไม่ตรงกับเชื้อครับ
ปัญหาอีกประการหนึ่งของการรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดคือ การดื้อยาของเชื้อชนิดนั้นๆครับ ปัจจุบันมีเชื้อโรคดื้อยาอยู่มากมาย ทำให้ยาปฎิชีวนะใช้ไม่ได้ผล บางครั้งเชื้อดื้อยาทุกตัว (ซึ่งก็จนปัญญาเหมือนกัน เพราะไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้)
สาเหตุของเชื้อดื้อยาเกิดจากการใช้ยาฆ่าเชื้อมากเกินความจำเป็น และใช้ไม่ถูกต้องนั่นแหละครับ
เช่น เป็นไข้ หวัด น้ำมูกใสเล็กๆน้อยๆก็ใช้ยาแก้อักเสบหรือฉีดยาแก้อักเสบ(ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่จำเป็น เชื้อจะมีโอกาสดื้อยา แล้วเราจะไม่เหลือยาให้ใข้เมื่อคราวจำเป็นครับ) หรือการรับประทานยาไม่ครบตามแพทย์สั่ง เป็นต้นครับ
การใช้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบที่ถูกคือใช้เท่าที่จำเป็นครับ เพราะต่อไปในอนาคตจะไม่มียาให้ใช้ครับ
เชื้อโรคเป็นสิ่งมีชีวิตครับ ดังนั้นเชื้อโรคก็มีการปรับตัวเช่นกัน เพื่อความอยู่รอด ยิ่งเราพัฒนายาฆ่าเชื้อไปมากเท่าไหร่ เชื้อโรคก็จะแข่งขันปรับตัวแข่งกับยาชนิดใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหากใช้ยาปฎิชีวนะไม่ถูกต้อง เราจะไม่เหลือยาฆ่าเชื้อให้ใช้เมื่อจำเป็นครับ
......"
ขอบคุณ