Medmayom โพสต์ 2012-7-18 15:53:07

ทานมัย


ทานมัย

   พุทธศาสนิกชนสนใจทำบุญ เข้าใจเรื่องการทำบุญมากน้อยแค่ไหน?
   คำว่า “บุญ” หมายถึง ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ใจ ธรรมชาติที่ชำระจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส มีผลได้แก่ความสุขที่เกิดทางใจ
บุญเกิดได้หลายทาง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ดังนี้
   ๑. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ได้แก่ วัตถุสิ่งของให้ธรรมะเป็นทาน เรียกธรรมทาน, ให้อภัย เรียกอภัยทาน
   ๒. ศีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ได้แก่ การปฏิบัติตามข้อห้ามตามที่ทรงบัญญัติในพระปาฏิโมกข์เพื่อกำจัดกิเลส
   ๓. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ได้แก่ การปฏิบัติใจเพื่อกำจัดกิเลส แบ่งเป็น สมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนา
   ๔. ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือกิจการสงฆ์และภาระพระศาสนา
   ๕. อปจายนะมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการมีกิริยาอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ผู้มีพระคุณและคนทั่วไป
   ๖. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว
   ๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงอนุโมทนาในส่วนบุญร่วมกับผู้อื่น
   ๘. ธัมมเทศนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ได้แก่การอธิบายบรรยายธรรมะให้แก่ผู้ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย
   ๙. ธัมมัสสวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ได้แก่ การฟังธรรมและนำข้อธรรมมาประพฤติปฏิบัติให้พ้นทุกข์
   ๑๐. ทิฏฐชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิเชื่อในธรรมและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
บุญย่อลงเป็นได้ ๓ ทางด้วยกัน คือ
๑. ทานมัย คือ บุญที่เกิดจากการให้ทาน
๒. ศีลมัย คือ บุญที่เกิดจากการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย คือ บุญที่เกิดจากการเจริญภาวนา ให้ทานอย่างไรจึงจะได้ผลมาก?
   ทานที่ดีจะให้ได้ผลมาก ต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. วัตถุทานดี
๒. ผู้ให้มีเจตนาดี จิตใจเลื่อมใสแช่มชื่นเบิกบานทั้ง ๓ กาล คือก่อนให้ ขณะให้และเมื่อให้แล้ว
๓. บุคคลดี หมายถึง ผู้ให้และผู้รับทานเป็นผู้ทรงศีลธรรมเปรียบเสมือนผู้ปลูกข้าวบนเนื้อนาบุญที่ดี “อนุตตะรังปุญญักเขตตังโลกัสสะพระอริยสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก”
นักปราชญ์ได้เปรียบเทียบการให้ทานด้วยการอาบน้ำ ๓ แบบ คือ
   ๑. เปรียบด้วยการเอาน้ำโคลนมาอาบตัว ได้แก่ ผู้ที่ปรารภทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น บวชลูกบวชหลาน หรือทำบุญกุศลต่างๆ แล้วฆ่าสัตว์เอามาทำบุญ เลี้ยงเหล้าสุราสนุกสนาน ยิ่งทำยิ่งบาปเหมือนเอาน้ำโคลนมาอาบ ฉะนั้น ตายแล้วไปตกนรก
   ๒. เปรียบด้วยเอาน้ำหอมมาอาบตัว ได้แก่ ผู้ที่ทำทานยังปรารถนาเกิดเป็นมนุษย์รูปสวย รวยทรัพย์ หรือเกิดบนสวรรค์ เสวยทิพยสมบัติ และวัตถุทานนั้นดีได้มาโดยสุจริตไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ได้บุญดีแต่ยังไม่ดีแท้เหมือนเอาน้ำหอมมาอาบตัวฉะนั้นตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์มีทรัพย์สมบัติมากหรือไปเกิดบนสวรรค์
   ๓. เปรียบด้วยเอาน้ำบริสุทธิ์มาอาบตัว ได้แก่ ผู้ที่ทำทานด้วยสติปัญญา คือ วัตถุทานนั้น ได้มาโดยสุจริต ผู้ทำทานตั้งเจตนาว่า “สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพพานังโหตุ ขอผลทานนี้จงเป็นปัจจัยแก่ความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส คือ พระนิพพานเทอญ” ปรารถนาความดับทุกข์อย่างนี้ เปรียบด้วยเอาน้ำบริสุทธิ์มาอาบร่างกายก็สะอาด ผู้มีปัญญาจึงสมควรทำประเภทที่ ๓ นี้ ตายแล้ว มีหวังบรรลุนิพพานเป็นเบื้องหน้าในอนาคตกาล
นิทานชาดกเรื่องนางปัญจปาปา
   (หญิงผู้มีความอันลามก ๕ แห่ง) หญิงที่มีความขี้เหร่ ๕ แห่ง คือมือเก เท้าเก ตาเข จมูกแฟบ ปากเบี้ยว สาเหตุที่นางปัญจปาปา มีความขี้เหร่ถึง๕ แห่ง พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงบุพพกรรม คือ กรรมแต่ปางก่อนของนางไว้ว่า
      ในสมัยอดีตกาลในชาติที่ล่วงมาแล้ว นางปัญจปาปาเกิดเป็นลูกสาวนายช่างหม้อ มีอาชีพปั้นหม้อขาย วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าไปขอบิณฑบาตดินเหนียวเพื่อเอาไปฉาบทาที่อยู่ของท่าน นายช่างหม้อไม่อยู่ อยู่แต่
      ลูกสาว ลูกสาวไม่ศรัทธาเลื่อมใสไม่อยากจะให้ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ยืนรออยู่อย่างนั้น เพราะคิดสงสาร ควรจะช่วยอนุเคราะห์ลูกสาวนายช่างหม้อให้รู้จักบำเพ็ญทานเสียบ้าง เมื่อเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ายืนรอก็นึกรำคาญ แล้วก็มาคิดว่าเราเอาดินเหนียวให้ไปเสียก็จะหมดเรื่องไปให้พ้นๆ เสียที นางก็จับดินเหนียวได้ก้อนหนึ่งแล้วก็โยนดินเหนียวใส่ลงไปในบาตร พลางบอกว่า “เอ้าเอาไปไปให้พ้นๆ” ผลกรรมที่นางทำบุญด้วยความโกรธจับดินเหนียวโยนใส่บาตรจึงเป็นเหตุให้มือเก นางเดินลงส้นเท้าด้วยความโกรธ เป็นเหตุให้เท้าเก นางพูดกับพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยความโกรธ เป็นเหตุให้ปากเบี้ยว นางมองค้อนให้ด้วยความโกรธ เป็นเหตุให้ตาเข ทำจมูกฟิตๆ ด้วยความโกรธ เป็นเหตุให้จมูกแฟบ อานิสงส์แห่งความโกรธ และโกรธพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระอรหันต์ นางจึงมีความชั่วช้าถึง ๕ อย่าง
      พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงไว้ว่า การให้ทานนั้นหากให้ด้วยตนเองก็จะเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ ถ้าชักชวนบุคคลให้ให้ทานก็จะเป็นเหตุให้ได้บริวารสมบัติด้วย บุคคลใดให้ทานด้วยตนเองแต่ไม่ชักชวนบุคคลอื่นให้ให้ทาน เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้าจะมีแต่ทรัพย์สมบัติไม่มีบริวารสมบัติ
      บุคคลใดชักชวนบุคคลอื่นให้ทาน แต่ตนเองไม่ให้ทาน บุคคลนั้นเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้าจะมีแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่มีทรัพย์สมบัติ
      บุคคลใดชักชวนบุคคลอื่นให้ให้ทานด้วยและให้ทานด้วยตนเองด้วยบุคคลผู้นั้นเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้าจะมีทั้งทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ
      ส่วนบุคคลใดให้ทานด้วยตนเองก็ไม่ให้ ชักชวนบุคคลอื่นให้ให้ทานก็ไม่ชักชวน บุคคลผู้นั้นไปเกิดเป็นมนุษย์ในชาติหน้า จะเป็นคนอนาถาหาที่พึ่งมิได้ จะเป็นคนยากไร้แสนเข็ญเพราะเหตุที่ว่าไม่เคยทำทานมาก่อน
      คนมีมักเหี่ยวแห้ง      หวงแหน
กินอยู่สู้ขาดแคลน            พร่องท้อง
คนกากยากไร้แกน            โกยกอบ กินแฮ
เป็นวิบัติขัดข้อง            คิดแล้วหลากเหลือ
โคลงโลกนิติ
“อย่าลืมเติม-อย่าอยู่อย่างกินบุญเก่า”
      เงินเก่ามีอยู่อย่างมาก หากใช้บ่อย
เงินก็น้อยลงได้ใช้หมดสิ้น
บุญเก่ามีอยู่มากมายใช้อยู่กิน
บุญก็สิ้นหมดลงได้หากไม่เติม


moo2010 โพสต์ 2012-7-23 21:36:07

ผมใส่บาตรประจำครับ

Medmayom โพสต์ 2012-7-24 10:44:14

ต้นฉบับโพสต์โดย moo2010 เมื่อ 2012-7-23 21:36 static/image/common/back.gif
ผมใส่บาตรประจำครับ

วัตถุทานนั้น ได้มาโดยสุจริต ผู้ทำทานตั้งเจตนาว่า “สุทินนัง วะตะเมทานัง อาสะวักขะยาวะหัง นิพพานังโหตุ ขอผลทานนี้จงเป็นปัจจัยแก่ความสิ้นไปแห่งอาสวะกิเลส คือ พระนิพพานเทอญ”สาธุ ๆ
หน้า: [1]
ดูในรูปแบบกติ: ทานมัย