abc55 โพสต์ 2012-7-29 01:35:08

วันภาษาไทย

วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นวันภาษาไทยปีนี้จึงอยากให้เพื่อนๆบอกความรู้ต่างๆง่ายๆในภาษาไทยอะไรก็ได้ โดยระบุ ID......เวลา..... วันที่.....ความรู้ต่างๆ ..... (ห้ามซ้ำนะ) ๑ ความรู้ ๕ พลังน้ำใจ ๒๐ Zennyความรู้ใหม่ 10 พลังน้ำใจ 100 Zenny เช่นID : abc55เวลา ๑.๓๕ น. วันที่ ๒๙/ก.ค./๒๕๕๕ความรู้ : ภาษาไทยมีตัวอักษร ๔๔ ตัว **กรุณาอย่าใช้ภาษาวิบัติในกระทู้นี้นะครับ** http://hilight.kapook.com/img_cms2/news_4/board3.jpg

zenior โพสต์ 2012-7-29 02:09:52

ID : zenior
เวลา ๐๒.๑๐ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ต่างๆ : สระในภาษาไทยมี ๒๑ รูป ๓๒ เสียง

[PJ]-FLUK.e โพสต์ 2012-7-29 03:22:16

ID: -FLUK.eเวลา 03.22 วันที่ 29 กรกฎาคม 2555
ความรู้ต่างๆ 1.   คำไทยแท้จะมีแค่พยางค์เดียว เช่น ลุง ป้า น้า อา
                  



thefriday โพสต์ 2012-7-29 06:16:02

ชื่อผู้ใช้ : Thefriday
เวลา : ๐๕.๕๕ น.
วันที่ : ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : รู้ไหมว่าพ.พาน และ ว.แหวน ใช้แทนกันได้
             เนื่องจากภาษาไทยของเรานั้น บางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาลี และสันสกฤต
             ดังนั้น คำบางคำที่เรานำคำบาลี และ สันสกฤต มาประดิษฐ์เป็นคำศัพท์ของไทยเราเอง
             ตัว พ และ ว จึงสามารถใช้แทนกันได้ และยังคงความหมายเดียวกัน เช่น
             นพ - นว (ที่แปลว่า เก้า)
             พิมาน - วิมาน
             พิจารณ์ - วิจารณ์
             เทพะ - เทวะ
             พนา - วนา
             สุพรรณ - สุวรรณ
             เพลา - เวลา
             พิเศษ - วิเศษ
             พัฒนา - วัฒนา
             พรรณ - วรรณ
             พิทยา - วิทยา
             พิจิตร - วิจิตร
             พจนา - วจนะ
             พายุ - วายุ
             ประเพณี - ประเวณี

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำไปใช้กันอย่างถูกต้องนะครับ {:6_174:}

            

asoda123 โพสต์ 2012-7-29 07:34:18

ID...asoda123
เวลา..07.33.. วันที่..29 ก.ค. 2555...
ความรู้ต่างๆ   :   วรรณยุกต์ หรือตัวอักษรแทนเสียงดนตรี ซึ่งมีอยู่ 5 เสียง 4 รูป คือ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา (อีก 1 เสียง คือ เสียงสามัญ)

asoda123 โพสต์ 2012-7-29 07:37:52

ID...asoda123
เวลา..07.36 น. วันที่..29 ก.ค. 2555...
ความรู้ต่างๆ   :ภาษาไทยมีคำพ้อง: ภาษาไทยเรามีคำพ้องทั้งคำพ้องรูปและคำพ้องเสียง ซึ่งเกิดจากอักขรวิธีทางภาษาของเราเอง และเกิดจากการนำคำภาษาอื่นๆเข้ามาใช้แล้วออกเสียงอ่านตามลักษณะคำไทยที่พ้องเสียงกัน แต่คงรูปเขียนตัวสะกดการันค์แตกต่างกันไปตามรูปลักษณะคำเดิม เพื่อแสดงที่มาและความหมายของคำ …
ซึ่งแตกต่างกันเป็นคำๆไป ทำให้เรามีคำใช้มากมายหลากหลายขึ้น ตัวอย่างคำพ้องเสียงในภาษาไทย ที่เกิดจากการแจกรูปพยัญชนะเสียงเดียวกัน …หรือการผันอักษรคู่ เช่น เข่นฆ่า ของมีค่า ตัวข้า – คั่นกลาง ขั้นบันได – หน้าตา น่ารัก – คุณย่า ต้นหญ้า แม่ย่านาง เป็นต้นคำพ้องในภาษาไทยมีอยู่มาก มีประโยชน์ในด้านทำให้มีคำใช้ในภาษาได้มากขึ้น ส่วนปัญหาในการใช้ภาษาคือ จะต้องอ่านเขียนโดยดูข้อความข้างเคียงให้ดี…
และการเขียนจะต้องระมัดระวังตัวสะกดการันต์ให้แม่นยำ มิฉะนั้นความหมายจะผิดพลาด

asoda123 โพสต์ 2012-7-29 07:40:00

ID...asoda123
เวลา..07.39 น. วันที่..29 ก.ค. 2555...
ความรู้ต่างๆ   :ภาษาไทยมีระเบียบภาษาหรือระดับภาษา: คือ การใช้ภาษาให้เหมาะกับความผูกพันตามฐานะของบุคคลในสังคม ที่เรียกว่า ราชาศัพท์ ที่แบ่งฐานะบุคคลตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ ขุนนางข้าราชการ จนถึงสุภาพชน และการแบ่งระดับภาษา (พิธีการ>ทางการ>กึ่งทางการ>สนทนา>ส่วนตัว) ดังนั้น การใช้ภาษาตามระเบียบหรือระดับภาษาจึงเป็นการใช้ภาษาให้เหมาะกับระดับชั้นตามฐานะบุคคลหรือระดับความผูกพันนับถือยกย่องของผู้ใช้ภาษาซึ่งใจความเดียวกันจะใช้กับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แสดงถึงความผูกพันตามฐานะในสังคมและจิตใจที่มีต่อกันในแต่ละคนไม่เท่ากัน เป็นการใช้ภาษาที่…ถ่ายระดับความรู้สึกทางจิตใจออกมาด้วย ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวิธีการใช้ภาษาและวัฒนธรรมทางภาษาสูง แสดงถึงความเป็นชาติที่มีขนบธรรมเนียม จิตใจสูง

asoda123 โพสต์ 2012-7-29 07:42:30

ID...asoda123
เวลา..07.41 น. วันที่..29 ก.ค. 2555...
ความรู้ต่างๆ   :ภาษาไทยมีลักษณนาม: ลักษณนามเป็นตัวบอกรูปร่างและลักษณะของคำนามชนิดต่างๆที่อยู่ข้างหน้า เช่น คน รูป ผล ดวง คำลักษณนามอาจใช้ทับศัพท์ได้ เช่น นิ้ว ตา ห้อง ตำบล หรืออาจมาจากคำกริยาก็ได้ เช่น พับ จีบ ยก ตั้งลักษณนามนี้คนโบราณเรียก คำปลายบาทสังขยา คือ คำตามหลังจำนวนนับเพื่อบอกลักษณะของนามที่อยู่ข้างหน้า เช่น ดินสอ 2 แท่ง ยางลบ 3 ก้อน ช้อน 1 คัน นอกจากใช้ตามหลังจำนวนนับแล้ว ยังใช้ตามหลังนามข้างหน้าเพื่อบอกรูปลักษณะหรือจำนวน ให้ชัดเจน เช่น ไม้แผ่น/กอง/ลำ/ยก/ต้น/มัดนี้การใช้ลักษณนามจึงสามารถทำให้มองเห็น รูปร่าง อาการ ขนาด จำนวน และลักษณะต่างๆของนามนั้นชัดเจนขึ้น เป็นลักษณะเฉพาะที่ดีเรื่องหนึ่งของภาษาไทย

knottz โพสต์ 2012-7-29 14:21:15

ID : knottz
13:54 น. 29 กรกฎาคม 2555

วรรณคดี คือ หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี ถูกต้องตามแบบแผน ส่งเสริมแนวคิดสร้างสรรค์ มีความไพเราะ

คำว่า วรรณคดี ตามตัวอักษรแปลว่า แนวทางแห่งหนังสือ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำว่า วรรณ(สันสกฤต) แปลว่า หนังสือ กับคำว่า คติ(บาลี) แปลว่า การดำเนิน การไป ความเป็นไป แบบ ทาง ลักษณะ

วรรณคดีแบ่งได้ 5 กลุ่ม
1.แบ่งตามวรรณคดีสโมสร
- กวีนิพนธ์ คือ เรื่องที่แต่งด้วยคำประพันธ์ต่างๆ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
- ละครไทย คือ กลอนสุภาพ ใช้ในการแสดง
- นิทาน คือ บทประพันธ์ที่มีคติสอนใจ
- ละครพูด คือ บทพูดที่ใช้ในการแสดง
- อธิบาย คือ เรื่องที่แสดงเป็นศิลปะวิทยา มิไม่ตำราเรียน
2.แบ่งตามเนื้อเรื่อง
- วรรณคดีบริสุทธิ์ คือ วรรณคดีที่ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว
- วรรณคดีประยุกต์ คือ วรรณคดีที่ให้ความรู้ ข้อคิด
3.แบ่งตามลักษณะคำประพันธ์
- ร้อยแก้วคือ คำประพันธ์ที่ไม่มีการสัมผัสคำ
- ร้อยกรอง คือ คำประพันธ์ที่มีการสัมผัสคำ
4.แบ่งตามวิธีบันทึก
- เป็นลายลักษณ์อักษร
- ไม่เป็นลายลักษณอักษร
5.แบ่งตามชนิดคำประพันธ์
- กลอน
- โคลง
- กาพย์
- ฉันท์
- ลิลิต
- กาพย์ห่อโคลง
- กาพย์เห่
- ร่ายยาว

(พิมพ์จากสมุด เพิ่งเรียนเมื่อครึ่งเทอมที่แล้วครับ T T)

suntoshiza โพสต์ 2012-7-29 18:00:45



ธงชาติ และ ภาษา คือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นไทย


      วันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี คือ วันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้น ให้ชาวไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยให้เป็นเอกลักษณ์อยู่คู่ชาติไทยต่อไป


ความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ


       สืบเนื่องจากเมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานและทรงอภิปรายเรื่อง “ ปัญหาการใช้คำไทย ” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่าณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง   

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า...
วันภาษาไทยแห่งชาติ


“...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…” ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ … สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี
   

       รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญ ตั้งแต่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา   

วัตถุประสงค์ของวันภาษาไทยแห่งชาติ มีดังนี้

      1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

      2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542

       3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

       4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

      5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ซึ่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความว่า....

“...ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้
พระราชนิพนธ์เรื่อง ติโต นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ และพระมหาชนก

   ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ...” นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่ สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น


คุณค่าภาษาไทย

เป็นคนไทยต้องรักภาษาไทย
รักษาไว้ให้อยู่ได้เนานานหนอ
อย่าทำร้ายลายลักษณ์ที่ถักทอ
ที่แม่พ่ออนุรักษ์ตระหนักคุณ

ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาชาติ
อย่าประมาทใช้ผิดให้เคืองขุ่น
ครูท่านสอนสั่งไว้เลยนะคุณ
ความว้าวุ่นแห่งภาษาจะมากมี

ถ้าเมื่อใดไร้ภาษาที่มีอยู่
คงอดสูอายเขาไปทุกที่
และอาจสิ้นชาติไทยไปด้วยซี
เพราะวิถีชีวีที่เปลี่ยนไป

ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีค่า
มากยิ่งกว่านพรัตน์เป็นไหน ไหน
มวลหมู่แก้วถึงมีค่ากว่าสิ่งใด
คงมีได้แค่เพียงค่าราคาเงิน

แต่คุณค่าของภาษามีสูงส่ง
ช่วยดำรงความเป็นชาติไม่ขัดเขิน
เพราะภาษาแสดงลักษณ์จำหลักเกิน
กว่าค่าเงินตรา...แต่สง่าอยู่ที่ใจ

เป็นคนไทยต้องรักภาษาไทย
รักษาให้อยู่นานนานจะได้ไหม
อย่าทำลายภาพลักษณ์ความเป็นไทย
โดยที่ไม่รู้ค่าภาษาเอย ฯ

แต่งโดย :อรุโณทัยประพันธ์
ภาษาไทยสวยงาม

ภาษาไทยงดงามด้วยน้ำเสียง
ถ้อยเรียบเรียงหวานหูไม่รู้หาย
สื่อความคิดสื่อความรู้สื่อแทนกาย
สื่อความหมายด้วยภาษาน่าชื่นชม

เกิดเป็นไทยภาษาไทยเขียนให้คล่อง
กฎเกณฑ์ต้องรู้ใช้ให้เหมาะสม
จะพูดจาน่าฟังทั้งนิยม
เจ้าคารมเขาจะหมิ่นจนสิ้นอาย

ภาษาพูดสนทนาพูดจาทัก
เป็นสื่อรักสื่อสัมพันธ์ความมั่นหมาย
แม้นพูดดีมีคนรักมักสบาย
แต่พูดร้ายส่อเสียดคนเกลียดกัน

วัฒนธรรมล้ำค่าภาษาสวย
ทุกคนช่วยออกเสียง “ร” ขอสร้างสรรค์
แม้นออกเสียง เป็น “ล” เขาล้อกัน
คนจะหยันชาติเราไม่เข้าที

สระ “เอือ เป็น “เอีย” ฟังเพลียนัก
บอกที่รัก ช่วยซื้อ “เกีย”..ที่ร้านนี่
ขอ “ซมเซย” จะเชยแท้ แม้พาที
วอนน้องพี่ต้องช่วยกันจรรโลงไทย

ผมได้เลิกแต่งงานในวันนี้
เป็นเลิกดีเลิกงามยามสดใส
ออกเสียงฤกษ์ เป็นเลิก ครั้งคราใด
คงทำให้สื่อสารผิด..คิดเสียดาย

ภาษาไทยงดงามด้วยความคิด
แม้นอ่านผิดก็เขียนผิด..คงเสียหาย
เขียนอ่านไทยให้ถูกด้วยช่วยผ่อนคลาย
สื่อทั้งหลาย..ต้องช่วยกัน..นั้นอีกแรง..

โดย : ครูพิมประพันธ์

"คนรุ่นใหม่ ใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง"

ชินชา โพสต์ 2012-7-29 18:46:03



ID : ชินชา
เวลา : ๑๘:๓๖:๔๔ น.
วันที่ : ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
พยัญชนะไทย มี ๔๔ ตัว

ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง จ ฉ ช ซ
ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต
ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ
ม ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ

รูปสระในภาษาไทยมี ๒๑ รูปดังนี้

ะ เรียกว่า วิสรรชนีย์
ั เรียกว่า ไม้หันอากาศ หรือ ไม้ผัด
็ เรียกว่า ไม้ไต่คู้
า เรียกว่า ลากข้าง
ิ เรียกว่า พินทุ หรือ พิทุอิ
่ เรียกว่า ฝนทอง
่ ่ เรียกว่า ฟันหนู
ํ เรียกว่า นฤคหิต หรือ หยาดน้ำค้าง
ุ เรียกว่า ตีนเหยียด
ู เรียกว่า ตีนคู้
เ เรียกว่า ไม้หน้า
ใ เรียกว่า ไม้ม้วน
ไ เรียกว่า ไม้มลาย
โ เรียกว่า ไม้โอ
อ เรียกว่า ตัวออ
ย เรียกว่า ตัวยอ
ว เรียกว่า ตัววอ
ฤ เรียกว่า ตัว ฤ (รึ)
ฤๅ เรียกว่า ตัว ฤๅ (รือ)
ฦ เรียกว่า ตัว ฦ (ลึ) ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
ฦๅ เรียกว่า ตัว ฦๅ (ลือ) ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว

สียงสระในภาษาไทยมี ๓๒ เสียง ดังนี้

อะ        อา        อิ        อี        อึ        อื        อุ        อู
เอะ        เอ        เเอะ        เเอ        เอียะ        เอีย        เอือะ        เอือ
อัวะ        อัว        โอะ        โอ        เอาะ        ออ        เออะ        เออ
อำ        ใอ        ไอ        เอา        ฤ        ฤๅ        ฦ        ฦๅ

coraline โพสต์ 2012-7-29 21:31:42

ID : coraline
เวลา :21.29น
วันที่ : 29/07/2555
ความรู้ : คำคล้องจอง
หมายถึง คำที่ใช้สระเดียวกัน และมีตัวสะกดอยู่ในมาตราเดียวกัน แต่มีพยัญชนะต้นต่างกัน

ตัวอย่าง คำคล้องจอง
คำคล้องจอง 2 พยางค์ เช่น
นักเรียน เขียนอ่าน การบ้าน ร้านค้า ปลาทอง มองดู ปูม้า ผ้าขาว สาวสวย ช่วยเหลือ เจือจาน ขานรับ

คำคล้องจอง 3 พยางค์ เช่น
คำสอนพ่อ ขอจำไว้ ในใจฉัน คั้นน้ำส้ม ลมพัดแรง
ทำการบ้าน งานมากมาย ความตัวดำ จำให้ดี สีชมพู

คำคล้องจอง 4 พยางค์ เช่น
คนไทยใจดี มีน้ำใจมาก อยากไปเที่ยวป่า อากาศสดชื่น
ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ในบ้าน ร้านขายหนังสือ ถือของมากมาย

pakkaza โพสต์ 2012-7-29 21:34:44

ID : pakkaza
เวลา : ๒๑:๓๓:๔๔ น.
วันที่ : ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

ความรู้ :
วลี หรือ กลุ่มคำ เป็นการนำคำตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาเรียงต่อกันทำให้เกิดความหมายเพิ่มขึ้น มีความหมายมาจากคำเดิมที่นำมารวมมารวมกันแต่ไม่สมบูรณ์เหมือนประโยค วลีส่วนใหญ่มีคำกลางที่สำคัญหนึ่งคำที่เป็นตัวบ่งบอกถึงประเภทของวลี คำนั้นเรียกว่าเป็น "คำหลัก" ของวลี ดังนั้นเราสามารถแบ่งประเภทของวลีตามคำหลักของวลีได้ดังนี้คือ
นามวลี (NP) เป็นวลีที่มีคำนามเป็นคำหลักของวลี เช่น แมวบนเสื่อ, บ้านริมน้ำ
กริยาวลี (VP) เป็นวลีที่มีคำกริยาเป็นคำหลักของวลี เช่น กินข้าว, กระโดดขึ้นลง
บุพบทวลี (PP) เป็นวลีที่มีคำบุพบทเป็นคำหลักของวลี เช่น ที่สุดถนน, หน้าร้านอาหาร
นอกจากนี้ยังมี สรรพนามวลี วิเศษณวลี กริยาวิเศษณวลี สันธานวลี อุทานวลี ฯลฯ ขึ้นอยู่กับประเภทของคำกลาง อย่างไรก็ตาม ในบางภาษาถึงแม้จะไม่มีคำหลักของวลี แต่ก็สามารถเป็นวลีประเภทอื่นได้ เช่นในภาษาอังกฤษ the rich (คนร่ำรวย) เป็นนามวลีที่มีแต่คำวิเศษณ์ ไม่มีคำนามอยู่เลย

thefriday โพสต์ 2012-7-30 01:18:05

ชื่อผู้ใช้ : Thefriday
เวลา : ๐๑.๑๐ น.
วันที่ : ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : คำที่ใช้สระ ใ (ไม้ม้วน) ในภาษาไทยนั้น มีอยู่เพียง ๒๐ คำเท่านั้น
             คำเหล่านี้เป็นคำไทยแท้ และมีครูบาอาจารย์ได้วางหลักไว้ให้เราท่องจำกันง่ายๆ อยู่บทหนึ่ง
             เป็นกาพย์ยานีย์ ๑๑ ที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี นั่นคือ

      ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่   ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ            มิหลงใหลใครขอดู
   จักใคร่ลงเรือใบ      ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้               มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
   บ้าใบ้ถือใยบัว      หูตามัวมาใกล้เคียง
เล่าท่องอย่าละเลี่ยง   ยี่สิบม้วนจำจงดี

อย่างไรก็ดี มีคำที่ใช้ไม้มลายอยู่หลายคำที่มีเสียงซ้ำกับคำที่ใช้ไม้ม้วน จึงควรจดจำไว้ด้วย
คำเหล่านี้ ได้แก่..ไต้(สำหรับจุดไฟ), ไส(ผลักไส) ไห้ (ร้องไห้), ไจ (ด้าย), ไย(ไฉน,อะไร ,ทำไม) ได (สลัดได, แกงได) ไน (ลองไน, ปลาไน),
ไหล (ปลาไหล,เหล็กไหล,เลื่อนไหล,หลับไหล,เหลวไหล)เป็นต้น

มีคำประสมที่ใช้ไม้ม้วนบางคำที่ควรสนใจ เช่น เหล็กใน (อาจเพราะอยู่ในตัวแมลง), หมาใน (ชื่อสัตว์คล้ายจิ้งจอก หากินกลางคืน)
เยื่อใย..ห่วงใย..ชักใย..ยองใย..(ล้วนมาจาก"ใย") นอกนั้นส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้มลายเป็นหลักรวมทั้งคำที่ดัดแปลงมาจากคำในภาษาอื่นๆด้วย


thefriday โพสต์ 2012-7-30 01:49:02

ชื่อผู้ใช้ : Thefriday
เวลา : ๐๑.๑๐ น.
วันที่ : ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : ใช้“การ” และ “ความ” อย่างไรให้งามสม

โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้นมีได้ทั้ง
    คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
    โดยมีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้
      
    ๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ“การ” เป็นส่วนใหญ่
    เช่น การบ้านการเมืองการเรือน การเงินการคลังการครัวการกินการนอนการเคลื่อนไหวการยิ้มการมองเห็นการดำรงชีวิต
    การไหว้การพัฒนาฯลฯเป็นต้น
      
    ๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์ ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอเช่น ความเป็นเพื่อนความเป็นมนุษย์..
    ความเป็นคนดีความมีสติความมีรสนิยมความมีโชคฯลฯ   คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า
      
    ๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนามอาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ“ความ”
หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
            ก. ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่นซื้อขายจ่ายแจกเย็บปักถักร้อย ทักทายไต่ถามสอบสวน..ฯลฯ
         กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”จะใช้“ความ”ไม่ได้
         ข. ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรมหรือโน้มไปทางใจเช่น รักเศร้าเหงาสลดหดหู่เบิกบานหวานชื่นขื่นขมท้อแท้..ฯลฯ
         เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น
      
    รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ”ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้คงอยู่ต่อไปนาน ๆ นะครับ {:6_174:}

thefriday โพสต์ 2012-7-30 02:10:02

ชื่อผู้ใช้ : Thefriday
เวลา : ๐๒.๑๐ น.
วันที่ : ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : สระเอ...ชอบเกเร

เสน่ห์และความงามของภาษาไทยนอกจากความเป็นภาษาที่มีท่วงทำนองการอ่านคล้ายกับเสียงดนตรีแล้ว
ในแง่คำและความหมายของคำ ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง คือ คำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน
ไม่เชื่อลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิครับ

เกเร
(ฟัน) เก
(ตา) เข
เค้เก้
เฉ (ไฉ)
(โซ) เซ
(เตร็ด) เตร่
(ลาด)เท
(หน้า) เบ้
(ขา) เป๋
โยเย
(รวน) เร
(ร่อน) เร่
(ลัง) เล
เหยเก
(หัก) เห
(ตา) เหล่

ไล่เรียงมาตามตัวอักษร เห็นไหมครับว่า ไม่มีคำไหนเลยที่ให้ความหมายว่า “ตรง”
เว้นอยู่เพียงคำเดียว นั่นคือ...


"เด่"   {:6_189:}




thefriday โพสต์ 2012-7-30 03:18:10

ชื่อผู้ใช้ : Thefriday
เวลา : ๐๒.๑๐ น.
วันที่ : ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : คำในภาษาไทยที่ใช้นับเลข ๑ ถึง ๑๐

๑.            ๑. เอก      เช่นเอกภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน)
               เอกลักษณ์(ลักษณ์อันเป็นหนึ่งเดียว)
               เอกพจน์ (คำกล่าวถึงสิ่งๆเดียว หรือ จำนวนเพียงจำนวนเดียว)
       ๒. ทวิ หรือ ทวี
         เช่น   ทวิชาติ(ผู้เกิดสองหน)          ทวิภพ(นวนิยายเกี่ยวกับการข้ามระหว่างสองภพ)         ทวิภาคี (ระหว่างสององค์กร)                    ทวีคูณ (คูณเพิ่มเป็นสองเท่า)
   ๓. ตรี หรือ ไตร      เช่นตรีโลก   (ภพทั้งสามคือ สวรรค์,มนุษยโลก, บาดาล),        ตรีศูล (อาวุธที่เหมือนเป็นหอกมีสามง่าม)       ไตรรงค์ (ธงชาติไทยมีสามสี)
๔. จตุ หรือ จัตุ
เช่น จตุโลกบาล(เทวดา หรือ ท้าวผู้รักษาโลกในทิศทั้งสี่)       จตุรมิตร(มิตรทั้งสี่ เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างโรงเรียนชายล้วนสี่โรงเรียนได้แก่ กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ สวนกุหลาบ และ เทพศิรินทร์)       จตุรงค์(เหล่าทั้งสี่ได้แก่ ช้าง ม้า รถ ราบ)       จัตุรัส (สี่เหลี่ยมที่มีด้านทั้งสี่เท่ากัน)

๕. เบญจ
เช่นเบญจกัลยาณี(หญิงมีลักษณะงามห้าประการ)
   เบญจรงค์(แม่สีทั้งห้า คือดำ แดง ขาว เขียว(คราม) เหลือง)

๖. ฉ (อ่านว่า ฉะ)
เช่นฉกามาพจรภพ(สวรรค์ทั้งหกชั้น คือชั้นจาตุมหาราชิกชั้นดาวดึงส์ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้ นนิมมานรดีชั้นปรนิมมิตวสวัตดี)

๗. สัตเช่นสัตภัณฑ์   (เขาเจ็ดทิวล้อมรอบเขาพระสุเมรุ)
   สัตรัตนะ(แก้วเจ็ดประการของกษัตริย์ได้แก่จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้วมณีแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว

๘. อัฐ, อัษฎ
เช่นอัฐบริขาร (เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแปดอย่าง คือ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็มประคดเอว และ กระบอกกรองน้ำ)
   อัษฎาวุธ(อาวุธแปดอย่างคือ พระแสงหอกเพชรรัตน์ พระแสงดาบเชลย พระแสงตรี พระแสงจักร พระแสงดาบและเขน พระแสงธนู พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย และพระ                        แสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง)
๙. นพ หรือ นว
เช่นนพรัตน์,นวรัตน์, เนาวรัตน์(แก้วเก้าประการ)
   นวโลหะ   (โลหะเก้าชนิด คือ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เจ้าน้ำเงิน สังกะสี ชิน(โลหะเจือประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก) ทองแดงบริสุทธิ์)

๑๐. ทศ
เช่นทศชาติชาดก(เรื่องเล่าเกี่ยวกับทั้งสิบชาติภพของพระพุทธเจ้าก่อนมาประสูติเป็นสิทธัตถะกุมาร)      ทศพิธราชธรรม (ธรรมแห่งพระราชาทั้งสิบประการ)

vagon โพสต์ 2012-7-30 07:30:24

ID : vagon
07:29 น. 30 กรกฎาคม 2555

หลักสังเกตคำสมาส คำสนธิ ในภาษาไทย

สนธิ - เอาคำมา ชน กัน

สมาส- เอาคำมา เชื่อม กัน

d_zap โพสต์ 2012-7-30 09:44:15

ชื่อผู้ใช้ : d_zap
เวลา : ๐๙.๕๐ น.
วันที่ : ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ความรู้ : สำนวนไทย
สำนวนไทย คือถ้อยคําหรือข้อความที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตามตัวหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สำนวน คือถ้อยคำ กลุ่มคำ หรือความที่เรียบเรียงขึ้นในเชิงอุปมาอุปมัยโดยมีนัยแฝงเร้นซ่อนอยู้อย่างลึกซึ้ง แยบคาย เพื่อให้ผู้รับได้ไปตีความ ทำความเข้าใจด้วยตนเองอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งอาจแตกต่างไปความหมายเดิมหรืออาจคล้ายคลึงกับความหมายเดิมก็ได้ สันนิษฐานว่า สำนวนนั้นมีอยู่ในภาษาพูดก่อนที่จะมีภาษาเขียนเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย โดยเมื่อพิจารณาจากข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแล้ว ก็พบว่ามีสำนวนไทยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ เช่น ไพร่ฟ้าหน้าใส หมายถึง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข

bosszaa555 โพสต์ 2012-7-30 19:50:35

ชื่อผู้ใช้ bosszaa555
เวลา 1948
วันที่ 30/07/2555
ความรู้ เด็กไทยร้อยละ 70 พูดภาษาไทยไม่ชัด เช่นการร้องเพลง คำว่า เธอ ก็ออกเสียงเชอ เวลาพิมพ์แชทก็ชอบ ใช้คำสั้นๆง่ายๆ ใช้บ่อยจนลืมว่าคำไทยแท้คืออะำไีรเช่น อยู่ไหน เป็นอยู่หนาย และคะแนนแอดมิชชั่นวิชาภาษาไทย เด็กไทยสอบได้น้อยเป้นอันดับสองรองจากภาษาอังกฤษ   
หน้า: [1] 2
ดูในรูปแบบกติ: วันภาษาไทย