ความคืบหน้า กรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุด นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า การกู้กากน้ำตาลออกจากเรือได้หมดแล้ว และทำการตรวจสอบวัดค่าความหวาน พบว่ามีค่าน้อยกว่าเมื่อคืนเหลือ อยู่ที่ 18% โดยส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าตรวจสอบค่าความหวานทุกๆ ชั่วโมง จนกลับมาอยู่ในระดับที่พอใจ ถ้าพบมีติดค้างเพิ่มขึ้นจะมีการสูบน้ำต้นเรือ ซึ่งยังลำเลียงต่อไป ส่วนค่าออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยาพบว่าค่าออกซิเจน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.7 อยู่ในเกณฑ์ปกติของสัตว์น้ำอาศัยอยู่ ส่วนที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดค่าออกซิเจน อยู่ที่ 0.8 มิลลิกรัมต่อลิตร
สำหรับการกู้ซากเรือที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เบื้องต้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การกู้เรือ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการถ่ายน้ำตาล ออกมาไว้ที่เรืออีกลำจนหมดแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างให้นักประดาน้ำ ตรวจสอบรอยรั่ว ก่อนจะเคลื่อนย้าย เนื่องจาก อุปสรรคกระแสน้ำค่อนข้างแรง และเบื้องต้น ได้ประสานกับกรมชลประทาน เพื่อขอลดการปล่อยน้ำ ซึ่งทราบว่า กำลังลดลงอยู่ โดยมีความเชื่อว่า ภายใน 2-3 วันนี้ จะเคลื่อนย้ายเรือได้
2. กรณีตลิ่งที่พัง ทำให้ประชาชนหวั่นเกรงอันตรายจากกระแสน้ำกัดเซาะ จนทำให้บ้านเรือนประชาชน ต้องย้ายหนีออกไปแล้ว จำนวน 2 หลัง ระหว่างนี้ หากกระแสน้ำลดลง เชื่อ คาดว่า 2-3 วัน จะทำการยึดพื้นที่ตลิ่งที่พังคืนมาได้ แต่เบื้องต้น ได้ให้ กรมเจ้าท่า เข้ามาดำเนินการ นำไม้มาปักทำเขื่อนกั้นไว้ก่อน
3. เรื่องคุณภาพน้ำ ที่มีผลต่อสัตว์น้ำ จากการตรวจวัดผลค่าออกซิเจน ยังจุดที่ห่างออกไปประมาณ 20 ก.ม. พบว่า ปลาธรรมชาติ และปลาเลี้ยงในกระชัง ตายหมด แต่ทั้งนี้ จะสามารถแก้ไขฟื้นฟูได้ และจะไม่กระทบเพิ่มขึ้นจากเดิม
(4 มิ.ย.) หลายหน่วยงานระดมกำลังเจ้าหน้าที่แก้ปัญหาน้ำเสียจากเหตุเรือน้ำตาลล่ม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ติดตั้งเครื่องเติมออกซิเจนพระราชทานจากมูลนิธิชัยพัฒนา และช้อนปลาที่โผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำไปอนุบาล
ส่วนการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลในวันที่ 4 ยังคงเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว และส่งผลกระทบในจังหวัดนนทบุรีแล้ว โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ต้องวางแผนแก้ปัญหาได้เพียง 2 ทาง คือหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำกัดเซาะริมตลิ่งเสียหาย และเร่งดูดน้ำตาลทรายที่เหลือในเรือขึ้นมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งในขณะนี้สามารถดูดน้ำตาลที่เหลือขึ้นมาได้เรียบร้อยแล้ว
นายฮาโลน มาทอง อายุ 65 ปี ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน บ้านเสียหายจากน้ำกัดเซาะริมตลิ่ง แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางการทำคันกั้นดินแนวตลิ่งความยาวประมาณ 15 เมตร สูงประมาณ 7 เมตร เพื่อชะลอการไหลแรงของน้ำที่เปลี่ยนทิศ จากเหตุเรือน้ำตาลทรายล่ม แต่คืนที่ผ่านมา ดินริมตลิ่งได้ถล่มไปอีกกว่า 3 เมตร ทำให้ไม่มั่นใจในการป้องกันน้ำที่ไหลเซาะดิน
ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยอยุธยาได้พยายามหาเจ้าของเรือลากจูงที่พลิกคว่ำหายไป ล่าสุดได้พบศพอยู่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถนนทางหลวง 356 แล้ว
ด้านกรมประมงได้สำรวจความเสียหายจากภาวะน้ำเสียพบว่าขยายมาถึงสะพานนวลฉวี จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุนปลาบริเวณนั้นมีอาการลอยหัวขึ้นมาหายใจ เนื่องจากปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำ โดยค่าปกติอยู่ที่ 4-9 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ค่าที่ตรวจได้เหลือเพียง 0.4 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำตลอดลำน้ำที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ สำหรับปลาเลี้ยงในกระชังจากการสำรวจเบื้องต้น ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกษตรกรอำเภอบางปะอิน ได้รับความเสียหาย 15 ราย จำนวน 19 กระชัง อำเภอบางไทร 7 ราย จำนวน 57 กระชัง โดยจะช่วยเหลือตามที่ระเบียบราชการกำหนดไว้
ซึ่งขณะนี้ได้ประสานกรมชลประทานปล่อยน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำดี เจือจางปริมาณน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำสูงขึ้น โดยกรมประมงจะนำปลาในแม่น้ำที่โผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำไปอนุบาลที่สถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์จืด อำเภอบางไทร เพื่อฟื้นฟูสภาพให้แข็งแรงก่อนปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ