===> ประวัติและวิธีการทำฝนหลวง <===
ความเป็นมาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง
"...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้
ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มี มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้..."
โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่ออุปโภคบริโภค และเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้งซึ่งมีสาเหตุมาจาก ความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน จากพระราชกรณียกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นับแต่เสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จนตราบเท่าทุกวันนี้ ทรงพบเห็นว่าภาวะแห้งแล้ง ได้ทวีความถี่ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่า ยังเป็นสาเหตุให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ในทุกภาคของประเทศ ทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจโดยรวมของชาติเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ตามเส้นทางที่เคยเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งภาคพื้นดิน ทางอากาศยานดังกล่าว ทรงสังเกตเห็นว่ามีเมฆปริมาณมากปกคลุมท้องฟ้า แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวกัน จนเกิดเป็นฝนได้ เป็นเหตุให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระยะยาวทั้ง ๆ ที่เป็นช่วงฤดูฝน ทรงคิดคำนึงว่า น่าจะมีมาตรการทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยให้เมฆเหล่านั้นก่อรวมตัวกันจนเกิดเป็นฝนได้ ทรงเชื่อมั่นว่า ด้วยลักษณะของกาลอากาศ ภูมิอากาศ และภูมิประเทศของประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเขตร้อน และอยู่ในอิทธิพลของฤดูมรสุมของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน และเป็นฤดูเพาะปลูกประจำปีของประเทศไทย จะสามารถดัดแปรสภาพอากาศ ให้เกิดเป็นฝนตกได้ อย่างแน่นอน ตามที่ทรงเล่าไว้ใน จาก พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้า และวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยา และมีการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งใน และต่างประเทศ จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ในปีถัดมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2512 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งหน่วยบิน ปราบศัตรูพืชกรมการข้าว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุน ในการสนองพระราชประสงค์ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล จึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบว่า พร้อมที่จะดำเนินการ ตามพระราชประสงค์แล้ว ดังนั้นในปีเดียวกันนั้นเอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ และหัวหน้าคณะปฏิบัติการทดลอง เป็นคนแรก และเลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก โดยทดลองหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง (dry ice หรือ solid carbondioxide) ขนาดไม่เกิน 1 ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน 10,000 ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองในขณะนั้น ทำให้กลุ่มเมฆ ทดลองเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางฟิสิกส์ของเมฆอย่างเห็นได้ชัดเจน เกิดการกลั่นรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ ในเวลาอันรวดเร็วแล้วเคลื่อนตัวตามทิศทางลม พ้นไปจากสายตา ไม่สามารถสังเกตได้ เนื่องจากยอดเขาบัง แต่จากการติดตามผลโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
วิธีการทำฝนหลวง 1. เทคโนโลยีฝนหลวง เทคโนโลยีฝนหลวงเป็นเทคนิค หรือ วิชาการที่เกี่ยวกับการดัดแปลงสภาพอากาศ โดยเน้นการทำฝน เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก (Rain enhancement) และ/หรือ เพื่อให้ฝนตกกระจายอย่างสม่ำเสมอ (Rain redistribution) สำหรับป้องกันหรือบรรเทาภาวะแห้งแล้งที่เกิดจากฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วงนั้น เป็นวิชาการที่ใหม่สำหรับประเทศไทยและของโลก ข้อมูลหลักฐาน (evidence) ที่ใช้พิสูจน์ยืนยัน เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับนักวิชาการและผู้บริหารระดับสูง ถึงผลปฏิบัติการฝนหลวงทั้งทางด้านกาย ภาพ (Physic) และด้านสถิติ (Statistic) มีน้อยมาก ดังนั้น ในระยะแรกเริ่มของการทดลองและวิจัย กรรมวิธีการปฏิบัติการฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงติดตามผลการวางแผนการทดลองปฏิบัติการ การสังเกตจากรายงานแทบทุกครั้งโดยใกล้ชิด ทรงหาความรู้และประสบการณ์จากนักวิชาการที่ทรงคุณวุฒิทางด้านอุตุนิยมวิทยา โดยได้รับสั่งให้เชิญ พล.ร.ท.สนิท เวสารัชนันท์ ร.น. อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา พล.ร.ต.พิณ พันธุทวี ร.น. พร้อมด้วยนักวิชาการอื่นๆ มาเป็นคณะทำงานถวาย -ความคิดเห็น วิเคราะห์ผลปฏิบัติการที่ทางคณะปฏิบัติการฝนหลวง ได้ทดลองสังเกตผลการเปลี่ยนแปลงแล้ว ทำรายงานเสนอเป็นประจำ
2. กรรมวิธีการทำฝนหลวง กรรมวิธีการทำฝนหลวงในประเทศไทยที่ใช้เป็นหลักในปัจจุบัน สรุปได้ ดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อเมฆ
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อเร่งหรือเสริมการเกิดเมฆ โดยการโปรยสารเคมีผลละเอียดของเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่ระดับความสูง 7,000 ฟุต ในท้องฟ้าโปร่งใส ที่มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ผงของเกลือโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดความชื้นได้ดี จะทำหน้าที่เสริมประสิทธิภาพของแกนกลั่นตัวในบรรยากาศ (Cloud Condensation Nuclei) เรียกย่อว่า CCN ทำให้กระบวนการดูดซับความชื้นในอากาศให้กลายเป็นเม็ดน้ำเกิดเร็วขึ้นกว่าธรรมชาติ และเกิดกลุ่มเมฆจำนวนมาก ซึ่งเมฆเหล่านี้จะพัฒนาเป็นเมฆก้อนใหญ่ในเวลาต่อมา
ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน เป็นการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเร่งหรือเสริมการเพิ่มขนาดของเมฆและขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆ จะปฏิบัติการเมื่อเมฆที่ก่อตัวจากขั้นตอนที่ 1 หรือเมฆเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก่อยอดสูงถึงระดับ 10,000 ฟุต โดยการโปรยสารเคมีผลแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) เข้าไปในกลุ่มเมฆที่ระดับ 8,000 ฟุต ผงแคลเซี่ยมคลอไรด์ซึ่งมีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดี จะดูดซับความชื้นและเม็ดน้ำขนาดเล็กในก้อนเมฆให้กลายเป็นเม็ดน้ำขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกันจะเกิดปฏิกิริยาคายความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของสารแคลเซี่ยมคลอไรด์เมื่อละลายน้ำ ความร้อนที่เกิดขึ้นจะเพิ่มอัตราเร็วของกระแสอากาศไหลขึ้น (Updraft) ในก้อนเมฆ ทั้งขนาดเม็ดน้ำที่โตขึ้นและความเร็วของกระแสอากาศไหลขึ้นที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยเร่งกระบวนการชนกันและรวมตัวกัน (Collision and coalescence process) ของเม็ดน้ำ ทำให้เม็ดน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากเกิดขึ้นในก้อนเมฆ และยอดเมฆพัฒนาตัวสูงขึ้น ในขั้นนี้ เมฆจะมีขนาดใหญ่ขึ้นและก่อยอดสูงขึ้นไปได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการทรงตัวของบรรยากาศในแต่ละวัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ในบางวันเมฆจะไม่สามารถก่อยอดสูงเกินระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง ( 0 องศาเซลเซียส) หรือประมาณ 18,000 ฟุต เรียกว่า เมฆอุ่น (Warm Cloud) ในบางวันเมฆจะสามารถก่อยอดขึ้นไปสูงกว่าระดับอุณหภูมิจุดเยือกแข็ง เช่น ถึงระดับ 20,000 ฟุต เรียกว่า เมฆเย็น (Cold Cloud) ซึ่งภายในยอดเมฆจะประกอบด้วยเม็ดน้ำเย็นจัด (Super cooled droplet) ที่มีอุณหภูมิต่ำถึง - 8 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนที่สาม : โจมตี
เป็นการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเร่งให้เมฆเกิดเป็นฝน ซึ่งสามารถกระทำได้ 3 วิธี ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเมฆ และชนิดของเครื่องบินที่มีอยู่ ดังนี้
วิธีที่ 1 \"โจมตีเมฆอุ่น แบบแซนด์วิช\" ถ้าเป็นเมฆอุ่น เมื่อเมฆแก่ตัว ยอดเมฆจะอยู่ที่ระดับ 10,000 ฟุต หรือสูงกว่าเล็กน้อย และเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย จะทำการโจมตีโดยวิธี Sandwich คือ ใช้เครื่อง บิน 2 เครื่อง เครื่องหนึ่งโปรยผงโซเดียมคลอไรด์ (Nacl) ทับยอดเมฆ หรือไหล่เมฆที่ระดับ 9,000 ฟุต หรือ ไม่เกิน 10,000 ฟุต อีกเครื่องหนึ่งโปรยผงยูเรีย (Urea) ที่ฐานเมฆ ทำมุมเยื้องกัน 45 องศา เมฆจะเริ่มตกเป็นฝนลงสู่พื้นดิน
วิธีที่ 2 \"โจมตีเมฆเย็น แบบธรรมดา\" ถ้าเป็นเมฆเย็นและมีเครื่องบินเมฆเย็นเพียงเครื่องเดียว เมื่อเมฆเย็นพัฒนายอดสูงขึ้นเลยระดับ 20,000 ฟุต ไปแล้ว จะทำการโจมตีโดยการยิงพลุสารเคมี ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) เข้าสู่ยอดเมฆ ที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ซึ่งมีอุณหภูมิระหว่าง -8 ถึง 12 องศาเซลเซียส มีกระแสอากาศไหลขึ้นสูงกว่า 1,000 ฟุตต่อนาที และมีปริมาณน้ำเย็นจัดไม่ตำกว่า 1 กรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นเงื่อนไขเหมาะสม อนุภาคของสาร Agl จะทำหน้าที่เป็นแกนเยือกแข็ง (Ice Nuclei) และเมื่อสัมผัสกับเม็ดน้ำเย็นจัดในบอดเมฆ จะทำให้เม็ดน้ำเหล่านั้นกลายเป็นน้ำแข็งและคายความร้อนแฝงออกมา ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะเป็นพลังงานผลักดันให้ยอดเมฆเจริญสูงขึ้นไปอีก และมีการชักนำอากาศชื้นเข้าสู่ฐานเมฆเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันเม็ดน้ำที่กลายเป็นน้ำแข็ง จะมีความดันไอที่ผิวต่ำกว่าเม็ดน้ำเย็นจัด ทำให้ไอน้ำระเหยจากเม็ดน้ำไปเกาะที่เม็ดน้ำแข็ง และเม็ดน้ำแข็งจะเจริญเติบโตได้เร็วเป็นก้อนน้ำแข็งที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และจะร่วงหล่นลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งจะละลายเป็นเม็ดน้ำฝน เมื่อผ่านชั้นอุณหภูมิเยือกแข็งลงมาที่ฐานเมฆ และเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นดิน
วิธีที่ 3 \"โจมตีเมฆเย็น แบบซูเปอร์แซนด์วิช\" หากเป็นเมฆเย็น และมีเครื่องบินครบทั้งชนิดเมฆอุ่นและเมฆเย็น เมื่อเมฆเย็นพัฒนายอดสูงขึ้นเลยระดับ 20,000 ฟุต ไปแล้ว จะทำการโจมตีโดยการผสมผสานวิธีที่ 1 และ 2 ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เครื่องบินเมฆเย็นจะยิงพลุสารเคมี ซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) เข้าสู่ยอดเมฆ ที่ระดับความสูงประมาณ 21,500 ฟุต ส่วนเครื่องบินเมฆอุ่น 1 เครื่อง จะโปรยสารเคมีโซเดียมคลอไรด์ที่ระดับไหล่เมฆ (ประมาณ 9,000 - 10,000 ฟุต) และเครื่องบินเมฆอุ่นอีก 1 เครื่อง จะโปรยสารเคมีผงยูเรียที่ระดับชิดฐานเมฆ ทำมุมเยื้องกัน 45 องศา วิธีการนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนสูงยิ่งขึ้น และเทคนี้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่า SUPER SANDWICH
ขั้นตอนที่สี่ : เพิ่มฝน
การโจมตีเมฆในขั้นตอนที่ 3 ทั้งสามวิธี อาจจะทำให้ฝนใกล้จะตกหรือเริ่มตกแล้ว ขั้นตอนที่ 4 นี้ จะเร่งการตกของฝนและเพิ่มปริมาณน้ำโดยการโปรยเกล็ดน้ำแข้งแห้ง (Dry ice) ที่ระดับใต้ฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต เกล็ดน้ำแข็งแห้งซึ่งมีอุณหภูมิต่ำถึง -78 องศาเซลเซียส จะปรับอุณหภูมิของบรรยากาศระหว่างฐานเมฆกับพื้นดินให้เย็นลง ทำให้ฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลง ฝนจะตกในทันที หรือที่ตกอยู่แล้ว จะมีอัตราการตกของฝนสูงขึ้น ลดอัตราการระเหยของเม็ดฝนขณะล่วงหล่นลงสู่พื้นดิน และทำให้ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้นและหนาแน่นยิ่งขึ้น
3. กรรมวิธีการทำฝนหลวง การออกปฏิบัติการแต่ละครั้ง จะดำเนินการเมื่อได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกร, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือประสานงานโดยตรงกับคณะปฏิบัติการฝนหลวง
• ภาคเหนือ สนามบิน จ.แพร่, สนามบิน จ.เชียงใหม่ • ภาคอีสาน สนามบินกองบิน 1 จ.นครราชสีมา, สนามบิน จ.ขอนแก่น • ภาคกลาง สนามบินกองบิน 2 จ.ลพบุรี, สนามบินกองบิน 4 จ.นครสวรรค์ • ภาคใต้ตอนบน สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน, สนามบินค่ายธนัรัตน์ อ.ปราณบุรี หรือสนามบินกองบิน 53 จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยพิจารณาหลักเกณฑ์ ดังนี้
• จำนวนพื้นที่พืชผลทางเกษตรกรรม จะต้องไม่น้อยกว่า 200,000 ไร่ • ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบถึงพืชผลทางเกษตรกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง และไม่ต้องการน้ำ
|