ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ : หัวใจป่าตะวันตก (มาทำความรู้จักกัน) ประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร มีป่าเขตร้อนเหลือราวร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นป่าผลัดใบเขตร้อน (Seasonal Tropical Forest) กับป่าฝนเขตร้อน (Tropical Rain Forest) ในภาคใต้ พื้นที่ป่าส่วนใหญ่แม้จะได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ในรูปแบบอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว ทว่าก็อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่รวมเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่จะเอื้อให้การอนุรักษ์ระบบนิเวศเป็นไปอย่างถาวร ป่าตะวันตก เป็นป่าผืนสุดท้ายของประเทศไทยที่มีพื้นที่กว้างขวาง ใหญ่โตเพียงพอสำหรับเกื้อกูลให้ระบบนิเวศน์ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยคุณลักษณะเฉพาะ 3 ประการ คือ ตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมทางชีวะภูมิศาสตร์ ศักยภาพของความเป็นป่าผืนใหญ่ และความหลากหลายของระบบนิเวศน์อันเป็นถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิต ผืนป่าตะวันตกครอบคลุมป่าอนุรักษ์ 7 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง มีเนื้อที่รวมประมาณ 18,730 ตารางกิโลเมตร (11.7 ล้านไร่) อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ผืนป่าตะวันตกตั้งอยู่ในแนวของเทือกเขาถนนธงชัยที่ต่อเนื่องมาจากที่ราบสูงในประเทศพม่า และพาดไปจรดกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ที่ยังคงรักษาพันธุ์พืชและสัตว์ประจำถิ่นไว้ได้เกือบทั้งหมด อาจมีแรดและอีแร้งเท่านั้นที่สูญพันธุ์ไปแล้ว … ที่สำคัญผืนป่าตะวันตกยังเป็นต้นสายของมวลน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตผ่านแม่น้ำ 3 สายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำสาละวิน ภายในผืนป่าตะวันตกเราสามารถพบป่าเขตร้อนได้เกือบทุกประเภทที่เกิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าผลัดใบ ป่าสน ป่าไผ่ และทุ่งหญ้า
** ภาพเสือดาว กวาง และพังพอนกินปู : เอื้อเฟื้อโดย น้องป่าน ** นอกจากนี้ผืนป่าตะวันตกยังเป็นแหล่งรักษาสมดุลสภาพภูมิอากาศ เป็นป่าต้นน้ำที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้แหล่งน้ำบนดินและใต้ดินมีตลอดเวลาทั้งปี นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติขนาดใหญ่ อันเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่มีคุณอนันต์ต่อมนุษย์ ผืนป่าตะวันตกเปรียบเสมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ … ด้วยที่ลักษณะและที่ตั้งที่อยู่ในรอยต่อของเขตชีวะภูมิศาสตร์ 3 เขตย่อย ทำให้เราสามารถพบเห็นสัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยในเขตซุนด้า (Sundiac Species) เช่น สมเสร็จและนกเงือกหัวหงอก พันธุ์สัตว์ป่าในเขตซิโน-หิมาลายา (Sino-Himalaya Species) เช่นนกแว่นถิ่นเหนือและนกเงือกคอแดง และสัตว์ป่าในเขตอินโด-ไชนีส (Indochinese Species) เช่นไก่ฟ้าพญาลอและเก้งหม้อ … ดังนั้นพันธุ์พืชและสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกจึงเป็นชุมทางสิ่งมีชีวิตที่เปี่ยมคุณค่าอนันต์ ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ : หัวใจป่าตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก และเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเนื้อที่กว่า 4 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก ห้วยขาแข้ง … ได้รับการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2506 เนื่องจากเป็นป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และอาจจะเป็นที่อยู่แหล่งสุดท้ายของควายป่าที่เชื่อกันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ช่วงเวลานั้นห้วยขาแข้งก็ยังไม่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต่อมาในปี พ.ศ.2515 กรมป่าไม้ได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอีกครั้ง และนำภาพควายป่ามายืนยันความสำคัญ … ห้วยขาแข้งจึงได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หลังจากนั้นอีก 20 ปี ได้มีการผนวกป่าทางตอนใต้ของห้วยขาแข้งเพิ่ม ทำให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 2,780 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำของลำห้วยสายหลัก คือ ลำน้ำห้วยขาแข้ง ซึ่งมีความยาวราว 100 กิโลเมตร พากผ่านจากเหนือลงใต้ มีน้ำไหลผ่านตลอดปี ตามสบห้วยจากลำน้ำสายใหญ่ๆหลายสายที่มาบรรจบกับลำห้วยขาแข้งก่อให้เกิดที่ลุ่มกว้างใหญ่ริมห้วยหลายแห่ง ด้วยลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน พื้นที่มีสันเขาต่อเนื่องสองข้างขนานไปกับลำห้วยขาแข้ง ผสมผสานกับความเหมาะสมของสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ปริมาณความชื้น … ทำให้ป่าห้วยขาแข้งเป็นศูนย์รวมระบบนิเวศน์ป่าไม้ที่มีความหลากหลาย จึงมีสัตว์ป่ากระจายถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือและจากตอนใต้ที่กระจายขึ้นมาอยู่ในบริเวณนี้ ทุ่งใหญ่นเรศวร … ตั้งอยู่บริเวณตอนล่างของเทือกเขาถนนธงชัย ทิวเขาส่วนใหญ่พาดจากเหนือลงใต้ ตอนกลางของพื้นที่แผ่กว้างเป็นที่ราบสูง เช่น ทุ่งเซซาโว่ ทุ่งใหญ่นเรศวร … สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ ซึ่งสิ่งมีชีวิตในป่าแห่งนี้มีการปรับตัวจนสามารถทนต่อไฟป่าที่เกิดขึ้นอยู่เสมอได้ ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการสำรวจฝนระหว่างที่มีการผลักดันให้ห้วยขาแข้งเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (พ.ศ.2510-2511) และเนื่องจากทุ่งใหญ่ฯ เป็นผ่าผืนใหญ่ที่อยู่ติดกันซึ่งพบว่ามีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุมมาก จึงเสนอให้ประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกแห่งหนึ่ง และในปี พ.ศ.2517 ทุ่งใหญ่ฯ ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์ฯ บนเนื้อที่ราว 2 ล้านไร่ ต่อมาในปี พ.ศ.2534 ได้รวมป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำโจนบางส่วนที่ยังคงสภาพความเป็นธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ทางตอนใต้ของทุ่งใหญ่ (ส่วนที่เหลือจากการการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ และป่าไม้) ทำให้ทุ่งใหญ่ฯมีพื้นที่ป่ารวมทั้งสิ้น 1.28 ล้านไร่ และทำให้ทุ่งใหญ่ฯกลายเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเมื่อรวมกับห้วยขาแข้งที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ประเทศไทยจึงมีป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ที่ดีที่สุดของประเทศและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
** ภาพวัวแดง หมาจิ้งจอก และหมาไน : เอื้อเฟื้อโดย น้องป่าน ** ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ มีป่าที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์และถูกรบกวนน้อยจากมนุษย์ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตก ที่นี่จึงเป็นสวรรค์สำหรับสัตว์ป่า … เชื่อกันว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ราว 55 ชนิด คิดเป็นร้อยละ 33 ของสัตว์ที่มีถิ่นกระจายในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ และร้อยละ 55 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทย จนอาจกล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งของสัตว์ป่าที่พบในเมืองไทยอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก ในจำนวนนี้มีสัตว์ป่าหายาก เช่น ช้าง เสือ วัวแดง นกยูงไทย เป็นต้น รวมถึงสัตว์ป่าสงวนอีก 6 ชนิด คือ ควายป่า (พบที่ลำห้วยขาแข้งตอนล่างเพียงแห่งเดียว และคาดว่ามีราว 50 ตัวเท่านั้น) สมเสร็จ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน เลียงผา และกวางผา เนื่องจากผืนป่าทั้ง 2 แห่งที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน มิได้ถูกแบ่งหั้นด้วยเส้นสมมุติที่มนุษย์สร้างขึ้น … ทำให้สัตว์ป่าสามารถโยกย้ายถิ่นอาศัยและแหล่งอาหาร โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่เช่น ช้าง ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯถูกรายล้อมด้วยพื้นที่ป่าอนุรักษ์เกือบทุกด้าน ผืนป่าทั้งสองจึงเปรียบเสมือนเป็น “หัวใจของป่าตะวันตก” ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าในการศึกษาวิจัยเรื่องของสัตว์ป่าและระบบนิเวศน์ … ในปี พ.ศ.2519 จึงได้มีการก่อตั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่บริเวณเขานางรำ เพื่อผลิตงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องสัตว์ป่าและธรรมชาติ ในคืนที่อากาศรุ่มร้อน แห้งแล้งในป่าห้วยขาแข้ง … ทำให้อดคิดถึงคนๆหนึ่งที่ทำให้ห้วยขาแข้งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป … สืบ นาคะเสถียร … วีระบุรุษแห่งพงไพร สืบ นาคะเสถียร … ก่อนที่เขาจะมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาเคยมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการสร้างเขื่อนน้ำโจนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และต่อต้านการที่บริษัทไม้อัดไทยจะขอสัมปทานทำไม้ในป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีควายป่าอาศัยอยู่ … ครั้งนั้นชาวอุทัยธานีที่ต่างเห็นคุณค่าของป่าห้วยขาแข้ง ออกมาช่วยกันรวมพลังคัดค้าน และในช่วงนั้นเองมีเหตุการณ์ซุงถล่มที่อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี มึคนตายและบาดเจ็บมากมาย ซึ่งเป็นผลจากการตัดไม้ กรมป่าไม้จึงยกเลิกสัมปทานการทำป่าไม่ทั่วประเทศ … รวมถึงป่าที่ห้วยขาแข้ง เมื่อ สืบ นาคะเสถียร เข้ามาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งในปี พ.ศ.2532 เขาพบความจริงจากป่านี้มากมาย รวมถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานหนัก รายได้น้อยนิด และมีความตายยืนรออยู่จากกลุ่มพวกตัดไม้-ล่าสัตว์ ... หลุมศพที่ถูกติดชื่อเป็นอนุสาวรีย์เพิ่มขึ้นทุกปีในห้วยขาแข้ง งานชิ้นสำคัญที่สุด นอกจากปกป้องป่าและสัตว์ป่าของสืบ ก็คือ การผลักดันให้เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เขาเก็บข้อมูลต่างๆรายงานต่อยูเนสโก และประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา ปัญหาหนักในห้วยขาแข้งยังไม่ได้รับการแก้ไข … เขาใช้วิธีที่จะทำให้ทุกคนได้ยินถึงปัญหาด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก ในเวลาตีสี่ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 นับเป็นการเสียชีวิตที่ยิ่งใหญ่ของคนๆหนึ่ง แต่การเสียชีวิตของสืบ ทำให้ใครๆหันมาดูห้วยขาแข้งอย่าสงจริงจังจนทุกวันนี้ … เสือดำ เสือโคร่ง เสือดาว กระทิง ช้าง และสัตว์ป่าอีกมากมาย อาจจะไม่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ หากสืบไม่ยอมตายในวันนั้น …
สายหมอกลอยเรี่ยคลอเคลียอยู่เหนือยอดไม้ที่มีภูเขาสูงเป็นฉากหลังที่งดงาม … เสียงไก่ป่าขันเจื้อยแจ้วจากชายป่าโหมโรงมาตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดี เปิดฉากเวทีธรรมชาติที่บรรดาสรรพสัตว์โลดแล่นไปตามวัฏจักร .. แดดเช้ายังสาดทอผืนโลกด้วยแสงอันอ่อนละมุน ... นกขมิ้นหัวดำใหญ่บินมาเกาะที่ต้นไม้ใกล้ๆระเบียงที่พัก ตามติดมาด้วยนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง … บนต้นไม้ใหญ่ เจ้านกหัวขวานสามนิ้วหลังทองบินมาเกาะมาเมียงๆมองๆ เป็นภาพที่ดูเลือนลางอยู่บ้าง แต่แจ่มชัดในความทรงจำ ที่นี่ เราสามารถจะพบเห็นนกหัวขวานได้หลายขนิด ทั้งนกหัวขวานใหญ่ นกหัวขวานใหญ่สีเทา หัวขวานเขียวตะโพกแดง หัวขวานเล็กหงอนเหลือง และหัวขวานอีกหลายชนิด นกบ้านๆ ... แต่ก็น่ารักในแบบของตนเอง หมอกเช้ายังห่มคลุมทั่วบริเวณ แนวป่าโดยรอบกลายเป็นฉากหลังที่พร่ามัว “โป่ง” แหล่งรวมของสรรพสัตว์ … ในป่าใหญ่มีแหล่งอาหารมากมายอยู่กระจัดกระจายทั้งพืชและสัตว์ สำหรับกลุ่มสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหารนั้น พวกมันจะได้รับสารอาหารและพลังงานอย่างเพียงพอจากโปรตีนที่ล่าได้ … ส่วนสัตว์กินพืชอย่างเก้ง กวาง กระทิง สมเสร็จ หมูป่า วัวแดง หรือช้าง ลำพังพืชอย่างเดียวมิอาจทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงได้ จำเป็นต้องหา “อาหารเสริม” ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆมาบำรุงร่างกายเป็นครั้งคราว และแหล่งอาหารเสริมเหล่านี้ก็คือ “โป่งสัตว์” นั่นเอง “โป่งสัตว์” เปรียบเสมือนโรงอาหารสาธารณะของป่า ในวันที่อากาศดีและสงบเงียบกลางป่า เราอาจจะเห็นสัตว์กินพืชหลายชนิดลงกินโป่งพร้อมกัน ทั้ง เก้ง กวาง หมูป่า และวัวแดง รวมถึงสัตว์ใหญ่โตมากๆอย่างช้าง รวมถึงสัตว์เล็กอย่าง ลิงแสม ค่างแว่น นกเขาเปล้า นกมูม และนกแก้ว ในขณะที่สัตว์กินพืชกินโป่งเพื่อเป็นอาหารเสริม สัตว์ผู้ล่าประเภทเสือ และหมาในก็อาจจะมาหากินอยู่ใกล้ๆ เพื่อซุ่มดักรอจับเหยื่อที่เป็นสัตว์กินพืชที่มาใช้บริการของโป่งเป็นอาหาร … โป่ง จึงเป็นสายใยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่นี่ ในพื้นที่ห้วยขาแข้งมี “โป่งสัตว์” กระจายเป็นบริเวณกว้าง เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการไป “นั่งห้าง” ซุ่มดูสัตว์ต่างๆที่จะมาลงโป่ง เสมือนเป็นงานเลี้ยงในป่า รวมถึงใช้เวลาเพื่อชื่นชมลีลาของนักแสดงแห่งผืนป่าอย่างใกล้ชิด ชีวิตที่ดำเนินไปไร้การเสแสร้ง บริสุทธิ์และงดงาม … พื้นที่โป่งส่วนใหญ่ถูกขนาบด้วยแนวป่า เพื่อนร่วมทางของฉัน 2 คนเตรียมพร้อม ... มองหน้ากัน แล้วมองไปยังทางเดินเบื้องหน้า กระชับเป้บนบ่าแล้วดุ่มเดิน ... ดูไม่แน่ใจอะไรบางอย่างนิดๆ แต่ก็ตื่นใจรอการค้นพบความงดงามแห่งการเดินทางผจญภัย เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า ช่วงเวลาของการเดินไปสู่ห้างดูสัตว์ผ่านไปตามโป่งธรรมชาตินั้น เป็นช่วงที่ทำให้เรารู้ว่า “ความรู้สึกกลัว ที่ส่งความเย็นยะเยือกไปจับขั้วหัวใจ” นั้นเป็นอย่างไร “ทุกๆย่างก้าวบนทางเดินดินแห้งๆ ขรุๆ ขระๆ เหยียบย่ำบนซากใบไม้ซึ่งทับถมเป็นเนื้อดิน ... ร่องรอยอันของผู้ผ่านทางปรากฏให้เห็นเพียงน้อยนิด โดยรวมแล้วดูเหมือนว่าจะไม่มีผู้ใดมาเยือนที่นี่มากนัก เรามองเห็นมูลของสัตว์ป่าอยู่เต็มไปหมด บางช่วงมองเห็นรอยเท้าสัตว์ใหญ่ที่เป็นผู้ล่า และอยู่ระดับบนของห่วงโซ่อาหาร เช่น ช้างป่า เสือ กระทิง วัวแดง และหมาใน ทั้งที่เป็นรอยใหม่ๆและรอยที่เลือนราง แต่ไม่ทิ้งความรู้สึกย้ำเตือนต่อใครก็ตามที่ผ่านทางมาว่า นี่คืออาณาเขตของสัตว์ป่า … ผมตระหนักว่านี่เป็นเส้นทางที่พิเศษจริงๆ … ชีวิตมากมายจบลงบนทางเดินสายนี้ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ สัตว์ที่เป็นเหยื่อและอาหารของนักล่าแห่งพงไพร หรืออาจเป็นชีวิตของมนุษย์เองก็ได้” “ป่านั้นเงียบจริงๆ ได้ยินกระทั่งเสียงของหัวใจตนเอง .. ใบไม้ที่นิ่งไม่ไหวติง เหมือนรออะไรบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้น … จนกระทั่งเสียงร้องของนกกระแตแต้แว้ดที่ดังต่อเนื่องขึ้นมาตลอดเวลา” เพื่อนของฉันเล่าถึงความรู้สึก “ผมนึกเคืองเจ้ากระแตแต้แว้ดมากมาย มันทำหน้าที่ยามเฝ้าป่า และส่งเสียงร้องให้สัตว์อื่นรู้เมื่อมีผู้บุกรุกพื้นที่เข้ามา … เรายิ่งกลัวอยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าสองข้างแนวป่านั้น จะมีช้าง เสือ วัวแดง หรือหมาไนซุ่มดักรอล่าอยู่หรือไม่ กลัวจะกลายเป็นงานเลี้ยงบุฟเฟ่กลางป่า .. ยิ่งตามองเห็นมูลสัตว์ และรอยเท้าของสัตว์เหล่านั้นมีให้เห็นเกลื่อนกลาดไปหมด ก็ยิ่งกลัวจริงๆ” “... ช่วงที่เดินตามโป่งซึ่งเป็นที่โล่งไปยังห้างซุ่มดูสัตว์นั้น เวลาเหมือนจะเดินช้ามากชัวกัปส์ ชั่วกัลป์เลยทีเดียว ศักดิ์ศรีของสัตว์ใหญ่นักล่าที่อาจจะเจอะเจอ อาจจะทำให้ผมเสียวสันหลังและเกิดอาการสับสนระหว่าง “ความกล้า” และ “ความกลัว” ด้วยระหว่างเรากับนักล่าไม่มีอะไรที่พอจะเป็นที่กำบังได้เลย และคำถามที่ผ่านเข้ามาในหัวก็คือ ผมจะกล้าพอที่จะเผชิญเหตุการณ์นั้นหรือ” เพื่อนร่วมทริปของฉันเล่า ตัวฉันเองแค่ได้เห็นมูลช้างใหม่ๆมากมายที่ริมโป่งก็ล่าถอยแล้วค่ะ … “พี่จะเดินดูนกในบริเวณใกล้ๆนี่ก็แล้วกันนะคะ กลัวสัตว์ใหญ่ และหมาไน คิดว่าอาจจะวิ่งหนีไม่ทัน … อยากอยู่อุ้มหลานก่อน” ... ฉันบอกกับคนอื่นๆ ก่อนที่จะแยกตัวไปดูนกเงียบๆในบริเวณน้ำซับแห่งหนึ่งที่เห็นว่าปลอดภัยจากสัตว์ป่าที่อาจจะเป็นอันตราย อากาศที่ร้อนแรง เปลวแดดแผดเปรี้ยงอยู่ในทุกอณูของอากาศในต้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ป่าแล้ง แหล่งน้ำแห้งขอด … บรรดานกและสัตว์ป่าเรียนรู้ว่า “น้ำซับ” คือสายเลือดที่จะช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอด … นกหลากหลายประเภทจึงแวะเวียนกันมากินน้ำ ฤดูแล้ง … เป็นฤดูที่อบอวลไปด้วยความรัก เป็นช่วงเวลาที่นกจับคู่ สร้างรัง ให้กำเนิดชีวิตใหม่ และสอนลูกบิน ลงท้ายด้วยการนำลูกน้อยออกจากรัง … บางครั้งจึงอาจจะเห็นชีวิตที่เป็นวิถีธรรมชาติของที่นี่ได้อีกด้วย
แต้วแล้ว ... ที่ห้วยขาแข้งมีนกแต้วแล้วธรรมดาอยู่ค่อนข้างมาก ได้ยินเสียงร้องตามราวป่าระงม เพื่อนๆพบได้ตลอดทาง แต่ฉันไม่กล้าออกไปตาม เลยนั่งรอให้นกมาหากินริมน้ำ ... แต่ละวันแต้วแล้วจะออกมาหลายรอบเชียวค่ะ
นกพญาปากกว้าง พบอยู่ 2 ชนิด คือ พญาปากกว้างอกสีเงิน และพญาปากกว้างสีดำ ... ลงมาเกาะริมน้ำซับแค่ชนิดเดียว
นกจับแมลง พบได้หลายชนิดที่นี่เช่นกัน ... จับแมลงจุกดำ จับแมลงอกสีส้ม จับแมลงข้างเหลือง ฯลฯ
กะราง ... มักจะออกหากินเป็นฝูง ส่งเสียงมา ก่อนจะเห็นตัว เห็นกะรางหัวหงอก เลยนึกว่าน่าจะมีสาริกาเขียว ... แต่ผู้รู้บอกว่าที่ห้วยขาแข้งหายากค่ะ
ฉันนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ดูเหมือนจะสูงถึงแผ่นฟ้า มองดูบ่อน้ำมหัศจรรย์เบื้องหน้าที่มีนกน้อยใหญ่แวะเวียนกันมาอาบน้ำ เริงร่าหาอาหาร ... ฉันสูดหายใจ เผลอยิ้มกับความเคลื่อนไหวรอบๆ "บ่อน้ำซับ" ที่เป็นเหมือนเวทีละคร ที่เหล่าสกุณาและสัตว์จำพวกกระรอก ออกมาโลดแล่นแสดงบทบาทของตนเอง ... มีความสุขมากมายกับความเคลื่อนไหวและสุ้มเสียงของป่าที่ลึกเร้นและชวนอัศจรรย์ใจ ที่แห่งนี้อยู่ห่างไกล ที่เกือบจะร้างผู้คนมาเยี่ยมเยือน (ยกเว้นผู้ได้รับการอนุญาติป็นการเฉพาะ) มีเพียงผู้ที่รักการเดินป่าที่หวังจะได้สัมผัสกับหยาดเหงื่อและแรงหอบเหนื่อยเพื่อปลดปล่อยตัวเอง เป็นช่วงเวลายาวนานที่ฉันนั่งมองความเคลื่อนไหวของเหล่าสกุณาตรงข้างบ่อน้ำซับ ... บางครั้งสูดหายใจเข้า-ออก แล้วลืมตาสำรวจธรรมชาติอันเร้นลับที่อยู่เบื้องหน้า ... ใบไม้แห้งที่ร่วงลงจากราวกิ่งอันสูงชัน ผ่านความเวิ้งว้างล่องลอยอ้อยอิ่งไปตามจังหวะของสายลม ... เนิบช้าเหมือนจังหวะดนตรีคลาสสิกในมิวสิกฮอลล์
“นกมูม” … ฉันเคยเห็น เคยถ่ายรูปนกชนิดนี้ในธรรมชาติมาบ้างแล้วจากหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะพบมันเกาะกิ่งไม้สูงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรืออย่างดีก็เห็นแค่เป็นคู่ .. แต่ที่ห้วยขาแข้ง นกมูมมารวมตัวกันเป็นฝูงนับร้อยๆตัว จับตามกิ่งไม้หรือบางครั้งบนสะพานข้ามลำห้วย ... เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นตา ตื่นใจที่สุดค่ะ บางครั้งฉันเห็นมันพร้อมใจกันบินพรึ่บขึ้นทั้งฝูงโดยไม่มีเหตุผล
แซงแซว ... มากมายหลายชนิด มีวิถีและพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองในการดำรงอยู่ แซงแซวปากกา … บินตามกระเล็นไปทุกหนทุกแห่ง … ตามไปจับแมลงจากการคุ้ยขึ้นมาของกระเล็นค่ะ
นกกางเขน ... กางเขนบ้าน 1 คู๋ของที่นี่น่สนใจมาก ไม่นึกว่าจะเจอกลางป่า
เหยี่ยวแมลงปอขาแดง … ได้ชื่อว่าเป็นเหยี่ยวที่มีขนาดเล็กที่สุด ด้วยความยาวของลำตัวแค่ 5 เซนติเมตร แต่แม้จะตัวเล็กแค่นี้ ลีลาการล่าเหยื่อนั้นแพรวพราว น่าดู น่าชม สมศักดิ์ศรีนกนักล่า
ถึงแม้ว่าฉันจะเคยเดินป่า นอนค้างในป่ามาบ้างแล้ว … แต่การค้างคืนในห้วยขาแข้ง (ในสถานที่ที่ปลอดภัย) ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ลืมไม่ลงค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางคืน …ที่มีกวางออกมาเยี่ยมๆมองๆ พอดึกหน่อยก็เป็นเสียงร้องดังๆของช้าง เสือ และหมาในอยู่รอบๆที่พัก ... เป็นการทักทายแห่งผืนป่าที่ระงมมารอบทิศ ภาพด้านบน ... “เสือดาว” ที่น้องป่านถ่ายได้ในช่วงก่อนหน้าที่เราจะมาเยือนที่นี่ … การพบเห็นเสือดาวในธรรมชาติไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยความร้อนแล้ง กลิ่นอายของน้ำและความเย็นดึงดูดให้มันมาที่นี่ บางคืนเราเห็นตาวาวๆของ "นกตบยุงหางยาว" ที่สะท้อนแสงไฟที่ส่องไปกระทบ ... หรือ "นกทึดทือ" ที่เกาะกิ่งไม้ไม่ไกล แต่บินหายลับเข้าไปชายป่าริมสระน้ำใกล้ที่พัก เราตามไปดูอย่างระมัดระวัง … แต่ลงท้ายด้วยการวิ่งแบบไม่คิดชีวิต เมื่อบรรดา “เจ้าของบ้าน” เขาส่งเสียงร้องปรามออกมา เหมือนกับจะบอกว่า เว้นระยะไว้บ้าง (Keep the distance) บ้านนี้ยังไม่พร้อมที่จะให้เข้ามาเยือน 555+ วันรุ่งขึ้นฉันลองออกไปดูสถานที่ ... มองเห็นต้นไม้หักอยู่ริมสระ และมีมูลสัตว์อยู่มากมายริมสระน้ำด้วย การพบเห็นสัตว์หายากในห้วยขาแข้ง (โดยบรรดาเพื่อนๆ) ไม่ว่าจะเป็นนกยูง ควายป่า วัวแดง เสือดาวฯ คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความสมบูรณ์ของสัตว์ป่า และผืนป่าในห้วยขาแข้งได้เป็นอย่างดี และคงจะเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน เป็นความจริงที่ว่า ป่าในเมืองไทยในปัจจุบันนั้น มีอัตราการลดลงอย่างน่าใจหาย ... ป่าที่เหลืออยู่ก็มีสภาพไม่ต่างไปจากเกาะกลางทะเล ขาดการเชื่อมโยงเพื่อถ่ายทอดพันธุกรรมทางชีวภาพ สัตว์ป่าได้รับผลกระทบจากการที่ถิ่นอาศัยถูกทำลาย รวมทั้งการล่าอย่างต่อเนื่องยาวนานของมนุษย์ ... หลายชนิดถึงกับสูญพันธุ์ไปแล้วก็มี “ป่าห้วยขาแข้ง” หัวใจสำคัญของผืนป่าตะวันตก จึงเป็นความหวังสุดท้ายในการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวะภาพ หากเรารักษาผืนป่านี้ไว้ได้ จึงเท่ากับเป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมธรรมชาติของประเทศไทยด้วย ฉันมองขึ้นไปบนผืนฟ้าที่เมฆฝนกำลังก่อตัวหนา เสียงลมพัดวู่หวิว รุนแรงขึ้นทุกขณะ ... ยอดไม้ส่ายเอนตอบรับความแปรปรวน ... ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเป็นหนึ่งเดียวกับจังหวะของเพลงฝนอันเย็นยะเยือกในท่ามกลางผืนป่าของห้วยขาแข้งอันลึกเร้น ---------------------------------- NO DAM … ช่วงเวลาที่ผ่านมา คุณค่าของผืนป่าตะวันตกได้ถูกลดทอนอย่างมากด้วยโครงการต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่า และการตั้งถิ่นฐานของผู้คน … และในช่วงเวลาปัจจุบัน การริเริ่มจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ ที่มีหลายคนเขียนถึงในหลายแง่มุมมาแล้ว หากเราเห็นความสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวะภาพและสมดุลของธรรมชาติสูงสุดของพื้นที่แห่งนี้ … คำตอบที่ยั่งยืนคงหนีไม่พ้นที่จะต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะทำให้ผืนป่าถูกแบ่งแยกออกเป็นหย่อมเล็ก หย่อมน้อย จนกลายเหมือนเกาะแก่งที่เป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า … ควรต้องมีการใช้นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ในรูปแบบของความสมดุลทางระบบนิเวศน์ ด้วยการจัดการระบบนิเวศน์อย่างเป็นเอกภาพ … การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม … การปกป้องอย่างมีส่วนร่วมด้วยระบบป่ากันชน ป่าชุมชน … ท้ายที่สุด เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องร่วมกันดูแลป่านี้ให้คงอยู่ ดังเช่นที่ดวงวิญญาณของผู้พิทักษ์ป่าและสัตว์ป่าได้เคยทำมาแล้วในอดีต … มิฉะนั้นแล้ว มหันตภัยจากธรรมชาติที่เราประสบจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจจะมากอย่างที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นไปได้ ช่วยกันรณรงค์ไม่เอาเขื่อนในผืนป่าตะวันตกนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแม่วงก์ หรือเขื่อนไหนๆ มนุษย์มีทางเลือกอื่นอีกมากมายในการจัดการเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือแม้แต่การทำมาหากิน ... เหลือผืนป่าตะวันตกเอาไว้เป็น “บ้านของสรรพชีวิตในป่า” นะคะ ขอบคุณ : ภาพประกอบมากมายจาก “น้องป่าน” และข้อมูลบางส่วนจากนิตยสาร Nature Explorer |